“บางลำพูเป็นย่านเก่าเขาเล่าขาน
ประวัติศาสตร์เป็นตำนานแหล่งเรียนรู้
ศิลปวัฒนธรรมยังค้ำชู
จนวันนี้เป็นครูรู้ที่มา
บางลำพูพูดได้ใคร่ขอบอก
ใคร ใคร ขออยากรู้คู่ศึกษา
เป็นเรื่องเก่าเล่าขานกาลก่อนมา
ถึงเวลาให้ทุกท่านได้อ่านดู
บางลำพูฤกษ์ดีวันนี้หนอ
ไม่ต้องรอหนังสือที่อยากถาม
บางลำพูไม่เคยหลับทุกโมงยาม
เสน่ห์งามตามวัฒนธรรมของบางลำพู”
บทประพันธ์ของป้านิด – อรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพู สะท้อนให้เห็นการต่อสู้ที่ผ่านกาลเวลาในการฟื้นฟูบางลำพู ย่านเก่าแก่อีกย่านหนึ่งในเขตเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งช่วงหนึ่งกระแสการพัฒนาที่ขาดการจัดการที่ดีเกือบทำให้ชุมชนแห่งนี้สูญเสียอัตลักษณ์ที่เป็นต้นทุนสำคัญของย่าน
ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นทั้งผู้สูงอายุ คนเก่าคนแก่ในพื้นที่ คนหนุ่มสาว และเด็กๆเยาวชน รวมตัวเป็นประชาคมบางลำพู แสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ผลักดันฟื้นฟูชุมชนที่มีเอกลักษณ์นี้ให้ฟื้นฟูกลับมาด้วยประโยคที่เป็นธงนำขับเคลื่อนคือ “เสน่ห์บางลำพู”
“เทศกาลเสน่ห์บางลำพู ตอน ถนนเด็กเดิน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สวนสันติชัยปราการ ป้อมพระสุเมรุ และพิพิธบางลำพู มีกิจกรรมที่ผู้จัดระบุว่า เป็นการนำเสนอเรื่องราวของบางลำพู สร้างประสบการณ์ใหม่ สัมผัสเรื่องราว เรื่องเล่าจากชุมชนในมิติการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ผู้เข้าร่วมได้รู้จักบางลำพูในแง่มุมต่างๆ ผ่านการเล่าของคนในพื้นที่ สร้างสรรค์และคิดรูปแบบกิจกรรม โดยเด็กและเยาวชน เพื่อให้ผู้คนได้เห็นถึง “เสน่ห์” แบบ “บางลำพู” ที่แท้จริง โดยเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงคือ ทำให้เกิดการพัฒนาย่านบางลำพูอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
“เสน่ห์บางลำพู ตอน ถนนเด็กเดิน” เป็นการจัดเทศกาลที่ชุมชนใช้เทศกาลเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเปิดบ้าน เปิดชุมชน ให้คนนอกได้เข้ามาทำความรู้จักของดีที่พวกเขาภาคภูมิใจแบบสนุกๆ สบายๆ เป็นธรรมชาติ นำโดยกลุ่ม “ไกด์เด็กบางลำพู” (ประชาคมบางลำพู ชมรมเกสรลำพู & เสน่ห์บางลำพู) ร่วมด้วยพี่เลี้ยงจากกลุ่ม “สนใจ” เป็นคนคิด ริเริ่ม หาทุน วางแผน ออกแบบ ลงมือทำ ใช้พื้นที่บอกเล่าเรื่องราว และฝึกฝน บ่มเพาะเด็กๆเยาวชนที่จะเป็นผู้นำแถว 2 แถว 3 ในการรักษาเสน่ห์บางลำพู โดยมีกิจกรรม อาทิ
#WORKSHOP งานศิลปะทำมือ “ของดีบางลำพู” ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรมร้อยพวงมาลัย, ปักชุดโขนฉบับมือใหม่, ทำดอกไม้จากมะกรูด
#SHOW แสง สี เสียง หนังกลางแปลง และการแสดงจากเด็กและเยาวชน มีการจัดเทศกาลดนตรีกรุงเทพมหานคร “โปงลาง มหานคร” โดยศิลปิน “เต๋า ภูศิลป์” และ “ฤทธิชัย เพชรมุนินทร์”
#TALK เรื่องเล่าของย่านบางลำพูจากหลากหลายมุมมอง เช่นเวทีเสวนา เล่าเรื่องย่าน (บางลำพู) ผ่านคน โดยอาจารย์ไพจิตร ศุภวารี, อาจารย์วินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง และอาจารย์ชัยชนะ บุญนะโชติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ เวทีเสวนาเรื่องเล่าจากนักเล่าเรื่องบนแผ่นฟิล์ม
#EXHIBITION เรื่องราวของต้นลำพูและหิ่งห้อย
#FOOD ตลาดอาหาร ขนม และเครื่องดื่มจากร้านค้าชุมชน
#BOOTH เปิดตัวของที่ระลึก แบบใหม่ล่าสุด
เทศกาลเสน่ห์บางลำพู ตอน ถนนเด็กเดิน ในวันเปิดงานเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 มีความเป็นพิธีการอยู่บ้าง แต่ก็ทำให้เห็นความร่วมมือจากเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ อาทิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งให้งบสนับสนุนปี 2566 ภายใต้ชื่อโครงการผลิตสื่อสร้างสรรค์ เสน่ห์บางลำพู เล่าย่าน ผ่านคน , กรุงเทพมหานคร, กรมธนารักษ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปานทิพย์ ลิกขะไชย รองประธานชมรมเกสรลำภู กล่าวว่า กิจกรรมเทศกาลเสน่ห์บางลำพู จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนในย่านบางลำพู ซึ่งหนึ่งในไฮไลท์ของปีนี้ คือการให้ความสำคัญกับต้นลำพู ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งวาระที่อยากจะฟื้นให้ต้นลำพูผลิบาน โดยขณะนี้มีต้นกล้ากว่าร้อยต้นจะปลูกกระจายให้ทั่วย่านบางลำพู พื้นที่นอกจากนี้ส่วนสำคัญของกิจกรรมเสน่ห์บางลำพู เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ ในชุมชน ที่อยากจะพัฒนาชุมชนบางลำพูแห่งนี้
“โต๊ะเก้าอี้ที่พวกท่านนั่ง เด็กๆ ยกกันเองทุกวันหลังเลิกเรียน เราจะเจอกันทำงานกันถึง 3-4 ทุ่ม ทุกคนยกบอร์ดกันเอง ลงพื้นที่จัดกิจกรรมทุกอย่าง”
วีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ขอชื่นชมทีมงานซึงเป็นกลุ่มเด็กๆ ที่มีความตั้งใจอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องราวของชุมชน อยากจะสื่อสารให้กับคนหลายๆ คน การสร้างความสุขให้กับพี่น้องในชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่นี้
กิจกรรมนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเป็นความสุขของประชาชน ต้องขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้ กองทุนสื่อฯ ยินดีที่จะอยู่เคียงข้างกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นความสุขให้กับประชาชนต่อไป
“กองทุนสื่อฯ ให้ความสำคัญกับสื่อที่สร้างสรรค์และปลอดภัยในลักษณะนี้ เราเป็นกองทุนเล็กๆ ที่พยายามจะให้พื้นที่ของคนเล็กๆ ที่สามารถสร้างสรรค์สื่อที่ใหญ่ๆหรือเป็นประโยชน์ต่อสังคม”
ชลทิตย์ ไชยจันทร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาทรัพย์สินมีค่า กรมธนารักษ์ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของกิจกรรมครั้งนี้ มีเด็กๆ จากชุมชนและชมรมเกษรลำพูเป็นแกนหลักในการจัดงาน โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมธนารักษ์คอยเป็นพี่เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดเตรียมสถานที่ รูปแบบการจัดกิจกรรม เมื่อจัดกิจกรรมเรียบร้อยแล้วยังได้นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ด้วย ซึ่งเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับต้นลำพู นับว่าเป็นการใช้ประโยชน์ให้เกิดการคุ้มค่ามากที่สุด
นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเด็กๆ ในพื้นที่ นับเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคกิจกรรมชมพิพิธภัณฑ์ตามรอยต้นลำพู กิจกรรมสร้างเสริมสำหรับเด็กและการแสดงจากเด็กๆ ย่านบางลำพูแห่งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชุมชนในย่านบางลำพู เพื่อยกระดับพิพิธภัณฑ์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ เป็นแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional". |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other. |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |