ส่องความว้าว ! “TMF MOOC” คอร์สเรียนฟรี เพื่อรู้เท่าทันสื่อ

ช่วงนี้ภารกิจในการ “สร้างคน” ผ่านโครงการต่างๆ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีการเปิดตัวค่อนข้างชุก ล่าสุดกับปัญหาสื่อที่มีปริมาณมากมายมหาศาล ทำให้การรับมือกับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ จำเป็นต้องหามาตรการ และพัฒนากระบวนการต่อเนื่อง ในงานแถลงข่าวโครงการหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์เกี่ยวกับการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์เกี่ยวกับการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้ใช้สื่อได้อย่างรอบรู้และมีวิจารณญาณ ในหลักสูตร “รู้สื่อ รู้ Safe” โดยจัดทำหลักสูตรเรียนฟรี ผ่านแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายและเป็นที่นิยมอย่าง MOOC (Massive Open Online Course) ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนา “ TMF MOOC”  เพื่อสนับสนุนภารกิจนี้ และคาดว่าจะสามารถ Launch แพลตฟอร์ม ให้สามารถลงทะเบียนเรียนฟรีได้ราวเดือนมีนาคมนี้ “ TMF MOOC”   มีลักษณะการทำงานแบบไหน ทำไมผู้ร่วมงานแถลงข่าวต้องร้องว้าว เพื่อทราบถึงกลไกลการทำงาน

หลักสูตร รู้สื่อ รู้ Safe

ศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา หัวหน้าโครงการ รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักสูตร รู้สื่อ รู้ Safe จะเปิดประสบการณ์ใหม่ในการทำความเข้าใจและมีทักษะในการป้องกันตนเองและผู้อื่นจากสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ โดยเป็นการนำตัวอย่างจริงในประสบการณ์เข้ามาอยู่ในหลักสูตรมากขึ้น ดีกว่าเป็นการบรรยายไปเรื่อยๆ 

รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา หัวหน้าโครงการ รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับวิธีการออกแบบหลักสูตร ใช้กระบวนการวิจัยเป็นฐาน คือเริ่มจากการสำรวจความต้องการจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและผู้ประกอบการวิชาชีพทั่วไประดับต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้รับมาออกแบบพัฒนาเป็นเนื้อหาและหลักสูตร จากนั้นนำไปสอบถามความคิดเห็น ปรับปรุงแก้ไขและนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและยืนยันรับรองคุณภาพสื่อก่อนนำไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม 

ซึ่งผลการเก็บข้อมูลมีมากมายมหาศาล จึงใช้ AI ในการวิเคราะห์คำ และจัดเป็นหมวดหมู่ โดยพื้นฐานคือผู้ที่ไปสำรวจต้องการเรียนรู้ด้านสื่อเพราะไม่ค่อยมีประสบการณ์การเรียน แต่ปัญหาและข้อจำกัดในการเรียนรู้ส่วนมากคือหลักสูตรออนไลน์จะยาวและน่าเบื่อ ดังนั้น การที่ทำให้อยู่ในระดับ 5 นาที น่าจะเหมาะสม โดยประสบการณ์การเรียนออนไลน์ มีทั้งเคยเรียนและไม่เคยเรียน ดังนั้น น่าจะเข้าไปเติมเต็มในส่วนนี้ได้ 

รศ.ดร.อติวงศ์ สุชาโต รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีบทบบาทในการพัฒนา TMF MOOC กล่าวถึงแพลตฟอร์ม TMF MOOC ว่า ข้อดีของแพลตฟอร์ม MOOC คือเป็นแพลตฟอร์มเว็บ ที่เรียนรู้ออนไลน์ด้วยตนเอง เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา เข้าถึงด้วยอุปกรณ์ใดๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีสเปกเครื่องสูง และไม่ต้องดาวน์โหลดแอพเพิ่มเติม 

รศ.ดร.อติวงศ์ สุชาโต รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ในบทบาทของคณะวิศวะฯ ยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาร่วมสนับสนุน เพราะนอกจากเนื้อหาดีๆ แล้วเราอยากให้เทคโนโลยีมาเสริมประสบการณ์โดยองค์รวมของการเรียนรู้ ดังนั้น แพลตฟอร์มที่เลือกมาออกแบบและพัฒนาก็มีประวัติศาสตร์มาพอสมควร ควรเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ไปยาวๆ มั่นใจว่าเรียนแล้วไม่พัง” รศ.ดร.อติวงศ์ ระบุ

 
เปิดความล้ำ “ TMF MOOC”

สำหรับขั้นตอนการใช้งาน TMF MOOC สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ tmfmooc.com โดยผู้ใช้งานจะต้องสร้างบัญชีผู้ใช้และล็อกอินด้วยอีเมล์ ซึ่งตอนนี้พัฒนาระบบเกือบสมบูรณ์แล้ว เหลือขั้นสุดท้ายคือการย้ายของขึ้นไปอยู่ที่ที่เหมาะสม ซึ่งน่าจะเปิดตัวให้ใช้งานในเดือนมีนาคม 

ลักษณะของการเรียนรู้จะมีหลักสูตรต่างๆ ให้เลือกเรียน 4 หน่วยการเรียนรู้ สามารถเข้าไปดู เลือกเรียนอะไรก็กดเข้าไป จะมีการลงทะเบียน ซึ่งลงทะเบียนเรียนได้ฟรีทั้งหมด เมื่อลงทะเบียนเข้าไปแล้ว ลักษณะของปรัชญาในการชวนเรียนคือ การเรียนจะต้องเข้าใจง่าย  เข้ามาแล้วรู้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไร 

ใน learning part ของการเรียน TMF MOOC ในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ จะค่อนข้างตรงไปตรงมา ไล่จากบนลงล่าง เหมือนการใช้เว็บปกติ หลักๆ แล้วเหมือนเป็นเกมที่ท้าทายตัวเองนิดหนึ่งว่า เราจะเห็นเลขใหญ่ๆ ในการเรียน MOOC ตรงนี้จะเป็นเหมือนพลังขับเคลื่อนให้เรียนรู้ เห็นความก้าวหน้า เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จ เมื่อไปถึง 100% นั่นก็คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ 

ในกระบวนการของการเรียน จะมีการดูคลิปวิดีโอ ซึ่งใน TMF MOOC เป็นคลิปที่สนุกมาก เวลาดูคลิปก็จะมีความก้าวหน้าในการดูคลิป และมีฟีเจอร์สำคัญคือเร่งสปีดได้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กยุคปัจจุบัน และเมื่อเรียนจบจะได้รับ certificate ให้ดาวน์โหลด 

วิชา รู้สื่อ รู้ Safe จัดทำโดยกองทุนสื่อฯ เพื่อทุกคนที่ต้องการทำความเข้าใจและใช้สื่อในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิชานี้เหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้สามารถใช้สื่อได้อย่างรอบรู้และมีวิจารณญาณ สอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทย

ผู้ใช้จะได้เรียนรู้ผ่านการชมคลิปวิดีโอ ที่มีทั้งหมด 12 คลิป ความยาวแต่ละคลิปประมาณ 5 นาที และในตอนท้ายของทุกคลิปจะมีคำถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้และจดจำ และมีเอกสารสรุปเนื้อหาให้ดาวน์โหลด 

 

วิชารู้สื่อ รู้ Safe แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 หน่วยการเรียนรู้ คือ 

หน่วยที่ 1 การเข้าถึงสื่อในชีวิตประจำวัน

     บทที่ 1 เข้าใจสื่อในชีวิตประจำวัน

     บทที่ 2 การเข้าถึงสื่อในชีวิตประจำวัน

     บทที่ 3 การประเมินและวิเคราะห์สื่อ

หน่วยที่ 2 การใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

     บทที่ 1 สื่อดิจิทัลและความปลอดภัย

     บทที่ 2 สิทธิและความรับผิดชอบในการใช้สื่อ

     บทที่ 3 ความคิดสร้างสรรค์และเครื่องมือดิจิทัลในการผลิตสื่อ

น่วยที่ 3  ทักษะการมีความรอบรู้ด้านสื่อ

     บทที่ 1 การทำความเข้าใจทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

     บทที่ 2 การวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์สื่อ

     บทที่ 3 การใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการสร้างสื่อ

หน่วยที่ 4 การพัฒนาทักษะความรู้ด้านสื่อ

     บทที่ 1 ความสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อในชีวิตประจำวัน

     บทที่ 2 การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และเครือข่ายการเรียนรู้ดิจิทัลในการสร้างสื่อ

     บทที่ 3 การใช้เครื่องมือที่ทันสมัย และ AI ในการสร้างสื่อ 

ในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ จะมีแบบทดสอบประจำหน่วย จำนวน 7 ข้อ ที่คุณจะต้องทำให้ผ่านด้วยคะแนนมากกว่า 80% หรือไม่น้อยกว่า 6 ข้อ เพื่อรับใบสำคัญรับรองการเรียนรู้ แต่หากไม่ผ่าน ก็สามารถดูวิดีโอและทำแบบทดสอบซ้ำได้ 

 

TMF MOOC เป็นอีกช่องทางการเรียนรู้ที่กองทุนสื่อฯ และภาคีเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นการสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนสามารถรับมือสื่อในยุคดิจิทัลได้อย่างรู้เท่าทัน โดยมีรูปแบบและฟีเจอร์การใช้งานที่ประยุกต์ให้เข้ากับวิถีของคนในยุคปัจจุบัน แต่การบรรยายสรรพคุณมาทั้งหมดอาจทำให้ผู้อ่านยังไม่เห็นภาพ อดใจรอสักนิดมีนาคมนี้ได้ใช้จริงแน่