“ประโยชน์บอกเล่า” เรื่องราวดีๆ จากผู้คนหลากหลายความฝัน หลากหลายอาชีพ

ในยุคสมัยที่ทุกคนเป็นสื่อได้ แม้กระทั่งคนตัวเล็กตัวน้อย หากมีแนวคิดดีๆ ผนวกกับความสามารถในการใช้เครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสม ก็สามารถผลิตสื่อสร้างสรรค์ได้

เมื่อมี “ประโยชน์” เราจึงอยาก “บอกเล่า” จึงกลายมาเป็น “ประโยชน์บอกเล่า” ที่จะพาทุกๆ คนไปฟังสาระและประโยชน์จากผู้คนหลากหลายอาชีพ ผ่าน PYBL Podcast  ซึ่งรับฟังได้ทุกที่ทุกเวลา มี ขจีมาส สุภาพันธุ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ได้รับทุนสนับสนุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ปี 2565  จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

“ประโยชน์บอกเล่า” มีเนื้อหารายการที่ชวนผู้คนไปฟังแนวคิด มุมมองความคิด การใช้ชีวิต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจจากแขกรับเชิญหลากหลายอาชีพ ทั้งแวดวงศิลปะ ครีเอทีฟ ภาพยนตร์ Virtual Art นักร้อง-นักแต่งเพลง 

 
วิภู บุนนาค เด็กหนุ่มผู้หลงใหล ทศกัณฐ์

เนื้อหาน่าสนใจตอนหนึ่งของ “ประโยชน์บอกเล่า” คือ เรื่องราวของ ขวัญ – วิภู บุนนาค โขนยักษ์รุ่นใหม่ของสถาบันคึกฤทธิ์ เด็กหนุ่มผู้ที่หลงใหลชื่นชอบวรรณกรรมรามเกียรติ์มาตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะตัวละคร ทศกัณฐ์ 

ขวัญ - วิภู บุนนาค

ขวัญ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 2 เล่าว่า “จุดเริ่มต้นมาจากตอนที่ขวัญเรียนชั้นประถมอยู่ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งมีชมรมโขน ตอนแรกอยู่ชั้น ป.4 ป.5 จำได้ว่าไม่อยากให้ถึง ป.6 เลย ไม่อยากเรียน เพราะรู้สึกว่าการเรียนมันจะมีดัดมือ ดัดแขน มันดูเจ็บ ดูทรมานมาก รู้สึกไม่อยากให้ถึงวันนั้น แต่พอถึงวันนั้นจริงๆ เรากลับย้อนกลับไปคิดถึงสมัยเด็กๆ สมัยก่อนผมชอบดูรามเกียรติ์ แต่ไม่ได้แอดวานซ์ถึงขั้นอ่านหนังสือร้อยแก้วร้อยกรอง ผมดูเป็นการ์ตูน เป็นรามเกียรติ์ mini Idol เป็นซีรีส์ ดูแล้วชอบตัวละครตัวหนึ่งมากคือทศกัณฐ์ ความชอบนี้เลยทำให้เราอยากเรียนโขน” 

“เด็กคนอื่นเค้าอยากเป็น Superman เป็น Spiderman แต่ผมอยากเป็นทศกัณฐ์ ก็เริ่มเปิดใจเรียน ถามว่าเหนื่อยมั้ย เหนื่อยมาก ตอนแรกการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนก็จัดแบบไม่ได้ซีเรียสมาก เรียนเพื่อรู้ เมื่อเรียนเพื่อรู้เสร็จ เราก็รู้สึกชอบ แต่ก็ไม่รู้จะไปเรียนต่อที่ไหน เราก็ว่างไป 1 ปี ตอน ม.1 เป็นปีที่เราหาตัวเอง ผมไปลองดูทุกอย่าง ไปศึกษาภาษาขอม แต่พอถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่ ก็ไปคุยกับเพื่อนว่าทำโขนกันมั้ย ก็คุยกันว่าโรงเรียนไม่มีก็ทำกันเอง แล้วเชิญคนมาสอน นี่เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นที่มาที่สำคัญสำหรับผมมากๆ” 

 
ความสำเร็จไม่มีทางลัด

“เราเริ่มที่จะทำก็รวมเด็ก ม.1-ม.3 ทำโขนมัธยม การเรียนการสอนของที่โรงเรียนก็จะเป็นวิชานาฎศิลป์ปกติ เป็นรำไทย ไม่ได้เรียนโขน แต่เราชอบโขนเราก็ทำขึ้นมาเอง ก็ทำแบบที่เป็นเด็ก เราก็ต้องอาศัยครูมาสอน ผมก็ปรึกษากับคุณแม่ คุณแม่เรียนนาฎศิลป์มาก่อน คุณแม่ก็ดูว่าชอบจริงรึเปล่า พอเห็นว่าเราชอบจริงก็พาเราไปเรียนพิเศษ ไปเรียนกับครูต๋อง – ปกรณ์ วิชิต ทุกวันนี้ท่านก็ยังสอนที่วิทยาลัยนาฎศิลป์ ศาลายา ซึ่งครูเก่งมาก ตอนแรกผมเห็นครูเล่นตอนศึกไมยราพ โขนพระราชทาน แต่ตอนนั้นผมก็ไม่รู้จักท่าน พอคุณแม่พาไปเรียนบอกไปเรียนกับครูต๋อง ครูนั่งอยู่หน้าตึกโขน ก็นึกว่าโหยครูคนนี้เลยเหรอ เราจะรอดมั้ย เรายังเป็นเด็กอ้วนอยู่เลย ครูจะทุบเรามั้ย สรุปครูก็สอนซึ่งท่านสอนไม่หมกเม็ดเลย ครูก็สอนว่าเราต้องอดทนนะถ้าเราจะเรียนโขน มันไม่ได้ง่าย ไม่ได้สบาย จำได้ว่าผมถามครูว่ามีเทคนิค มีทางลัดมั้ย ครูตอบว่าไม่มีหรอก มันต้องเมื่อย ต้องปวด ต้องเจ็บกันทุกคน คำๆ นี้มันเข้ามาในหัวแล้วเราคิดว่าครูทำได้ รุ่นพี่เค้าทำได้ เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน

“ถ้าเปรียบเทียบผมกับทศกัณฐ์ ความแตกต่างก็คือผมไม่ใจร้อนขนาดนั้น ทศกัณฐ์เป็นคนใจร้อน อยากได้อะไรต้องได้ โดยไม่สนวิธีการ ซึ่งเป็นปัญหา แต่สำหรับผม ผมจะเลือกใช้วิธีการในการได้มาที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ส่วนความเหมือนคือ อาจจะเรียกว่าเป็นกิเลสก็ได้ เราอยากได้ เราอยากทำ เราก็ต้องไปให้ได้ โดยที่ไม่ย่อท้อ 

ในมุมดีของทศกัณฐ์เขาเป็นคนมีเมตตา หนุมานออกอุบายว่ามีปัญหากับกองทัพพระราม เลยเข้ามาสวามิภักดิ์กับทศกัณฐ์ ทีแรกทศกัณฐ์ก็ไม่ไว้ใจ แต่ด้วยความใจอ่อน ก็เลยยกตำแหน่งเป็นลูกให้เลย เพราะเห็นว่ามีความจงรักภักดี คิดว่าเป็นจุดที่ดีของทศกัณฐ์ไม่กี่จุดในเนื้อเรื่อง ตอนเราแสดงทั้งทำนองเพลง การส่งอารมณ์กัน เราก็จะรู้สึกอินตามไปด้วย” 

 
ใช้หัวใจในการแสดง สร้างอารมณ์ทะลุหัวโขน

“การแสดงโขนที่ใส่หัวโขน ทำให้ไม่เห็นการแสดงอารมณ์ทางสีหน้า ขวัญมองว่า ทุกศาสตร์ไม่ได้มาจากหน้าอย่างเดียว มันต้องมาจากข้างใน หลายคนถามว่าทำไมหัวโขนทศกัณฐ์หน้าเปลี่ยน จริงๆ มันมาจากข้างใน ถ้าเราสร้างให้เศร้า ความเศร้ามันจะทะลุหน้ากากออกมา ถ้าเราโกรธ มันจะจะทะลุหน้ากากออกมาเอง” 

“นอกจากนี้ ก็มีโอกาสได้เรียนกับครูแอ๋ว – อรชุมา ยุทธวงศ์ เป็นเรื่องที่โชคดีมากๆ เป็นการสอนที่ลึกซึ้งมากๆ ไม่เหมือนเรียน เหมือนไปนั่งคุยกับผู้ใหญ่ที่พร้อมจะเข้าใจเราทุกเรื่อง จำได้ว่าผมบอกว่าผมเป็นคนที่กดดันตัวเอง อยากทำแล้วต้องทำให้ได้ ครูก็พูดมาคำนึงว่าลองหัดเหลวแหลกให้ได้บ้าง พอมันตึงเกินไปจะไม่มีความสุข พอมาคิดก็ใช่ ถามว่าทำยากมั้ย ทำยาก แต่มันต้องเกิดจากความเข้าใจก่อนว่าถ้าเราทำแบบนั้นเราจะเหนื่อยนะ เราก็จะไม่ทำ หลังจากวันนั้นมันเหมือนการรีเซ็ตทุกอย่าง ทำอะไรอย่าไปตึงกับมันมาก 

ตอนนั้นครูถามว่ามีปัญหาอะไร อยากให้ช่วยแก้เรื่องอะไร ผมบอกว่าผมรู้สึกว่าเวลาร้องเพลงผมจะร้องแบบแข็งๆ ผมใช้เทคนิคได้ แต่ไม่มีอารมณ์ออกมาเลย ครูบอกว่าเป็นเพราะผมสนใจเทคนิคมากเกินไป อยากทำให้ได้ เราเลยลืมโฟกัสเรื่องอารมณ์ อีกวันหนึ่ง ครูให้ไปวิเคราะห์ทศกัณฐ์มา ผมวิเคราะห์ไป 4-5 หน้า แล้วก็เล่าให้ครูฟัง ครูบอกให้ผมสรุปสั้นๆ ผมก็นั่งคิดอยู่นานมาก ผมก็ไม่รู้จะพูดคำไหน ครูก็บอกว่าถ้าเป็นครู ครูจะบอกว่า อารมณ์ของตัวละครทศกัณฐ์คือ “กูใหญ่ กูต้องได้” พอครูพูดออกมา อารมณ์มันสะท้อนกลับเข้ามาในตัวเราเลย เรารู้เลยว่าหัวใจของทศกัณฐ์คืออะไร เลยเป็นคำตอบที่หามานานว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้หัวโขนหน้าเปลี่ยน เราเอาคำนี้มาเบลนกับสถานการณ์ที่แสดง ใช้หัวใจในการแสดง ให้มันออกมาจากหัวใจ ครูก็ถามว่าเข้าใจสิ่งที่ครูพูดมั้ย ผมตอบว่าเข้าใจครับ ตอนนั้นน้ำตามันเอ่อออกมา สิ่งที่เราหาคำตอบมา 4 ปี ได้คำตอบมาจากคำไม่กี่คำของครู”

 
โขน คุณค่าที่มีต่อชีวิต

“โขนให้คุณค่าผมตั้งแต่การเริ่มฝึก ให้ความกล้าที่จะฝึก กล้าที่จะทำ ให้ความอดทน อดทนกับความปวด ความเจ็บของการค้างท่า ทางนาฏศิลป์จะเรียกว่าการแช่ท่า ที่สำคัญคือให้โอกาสดีๆ ในชีวิต ประตูสำคัญในชีวิตที่ผ่านมามาจากโขนทั้งหมด จากแต่ก่อนเป็นเด็กอ้วน ไม่ชอบขยับเขยื้อนร่างกาย แต่โขนทำให้เราลุกมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อเวลาออกแสดงแต่งตัวแล้วจะได้ดูสง่า ดูสมบทบาท อย่างที่สอง ให้โอกาสทางด้านการศึกษา ผมเรียนเพลินพัฒนาจนถึง ม.3 แล้วอยากไปเรียนที่อื่นต่อ เราก็ไม่ใช่คนเรียนดีมาก 

ผมอยากเรียน มศว.ประสานมิตร ฝ่ายมัธยม ซึ่งมีวิชาเอกศิลปะการแสดงอยู่ ที่นั่นจะมีสายการเรียนเยอะมาก เรียนแยกสายเพื่อเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่ทิ้งวิชาการ เราก็ไปซื้อหนังสือมานั่งอ่าน ฝึกทำข้อสอบ ซ้อมชุดการแสดง วันที่ไปโรงเรียนสอบรอบปฏิบัติ รำแค่ 4 คำร้อง อาจารย์ก็สั่งให้หยุด เราก็ตกใจว่าอาจารย์ดูแค่นี้เหรอ อาจารย์บอกไม่เป็นไร เราต้องอยู่ด้วยกันอีกนาน ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสอบติดไหม ปรากฏว่าสอบติด พอเข้าไปก็มีความสุขมาก เรียนโขน 1-2 วัน/สัปดาห์ แล้วรายวิชาที่โรงเรียนใส่เข้ามาก็เป็นเรื่องศิลปะการแสดงหมดเลย ซึ่ง amazing มาก ทำไมถึงเรียนในสิ่งที่รักได้มากขนาดนี้ โดยที่วิชาสามัญก็ยังบาลานซ์ได้อยู่ เป็น 3 ปีที่มีความสุขมากๆ นอกจากนี้ ก็มีโอกาสได้ไปเล่นที่ศูนย์วัฒนธรรม โรงเรียนให้โอกาสเด็กที่เล่นโขนกับโรงเรียน ก็ได้ไปต่างประเทศ ไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ไปแสดงโขนให้คนต่างชาติดู เป็นตัวแทนประเทศไป เรารู้สึกเหมือนเป็นดารา” 

“นอกจากการเล่นโขนแล้ว ผมชอบร้องเพลง การร้องเพลงที่โรงเรียนก็ทำให้เราได้มาร้องเพลงที่ CU Brand ซึ่งประตูที่ทำให้เราได้ร้องเพลงก็มาจากโขนอีก” 

“เรื่องความร่วมสมัยของการเรียนโขน ประเด็นเรื่องการศึกษาเป็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่ เราเรียนโขน เราไม่จำเป็นต้องไปประกอบอาชีพด้านนาฏศิลป์เต็มตัว เราทำเพราะความรัก เพื่อมีโอกาสไปเรียนในสถาบันที่เราต้องการไปเรียนได้ และถ้าพูดถึงบริบทปัจจุบันกับโขน สำหรับคนรุ่นผม มันทำให้เรามีความอดทน มีวิชั่นในการมอง เห็นการทำงานของผู้ใหญ่ด้วยมุมมองที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้น ทำให้เราเห็นรูปแบบการจัดการแสดง ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่และแกร่งมากขึ้น ทั้งด้วยรายวิชาที่ต้องอดทนด้วยเรื่องร่างกายแล้วก็ยังต้องอดทนในการฝึกฝนเพื่อที่วันหนึ่งเราจะได้ไปเป็นตัวละครที่เราฝัน ที่เราตั้งไว้” 

 
หลากหลายเรื่องราว “ประโยชน์บอกเล่า”

“ประโยชน์บอกเล่า” ยังมีเรื่องราวน่าสนใจจากผู้คนที่หลากหลายให้เลือกฟัง อาทิ 

     – “เฮเลน” Helen Stettler ผู้จัดการศิลปิน & ผู้จัดการ Tour Concert พื้นที่ระหว่างโลก 2 ใบ ในความเป็นศิลปิน และ Tour Manager และเทศกาลดนตรีไหนที่ศิลปินทุกคนอยากไปร่วม 

      – Brand Stylist มือทอง ผู้คิด Campaign ที่เคยโด่งดัง “ทวงคืนผัดกะเพรา”ชินดิส ทิพย์สุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชิงรุก จำกัด 

     – เปิดประสบการณ์กว่าจะเป็น “ดารา ศิลปิน” กับ ฐกร อินทร์เมือง

     – จากเรื่องเล่าขานสู่ภาพยนตร์สยองขวัญแห่งปี “ธี่หยด” ทำความรู้จักกับตัวตนของ กฤตานนท์ กิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์ เจ้าของเรื่อง และ ดร. สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ คนเขียนบท “ธี่หยด” 

     – การใช้ไอเดียสร้างสรรค์ผลงาน Never stop creating จนประสบความสำเร็จ กับเมฆ-เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จํากัด (มหาชน)

     – “เมื่อคู่พ่อ-ลูก ต่างวัยต่างยุค กลับชอบเส้นทางสายอาชีพดีเจเหมือนกัน” เรื่องราวสนุกๆ ของพ่อลูก วิโรจน์ ควันธรรม กับ วงศธร ควันธรรม  

     – “จากงาน PR เมื่อได้รับทาบทามให้มาเป็นผู้จัดการดูแลดารา มวลรวมในชีวิตการทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร” กับ เอ็ม- อุษณีย์ ศรีแสง 

     – ฟังแม่ตั้ม – วรรณดาลักษณ์ เสตสุวรรณ แม่ของ เขื่อน – เคโอติก กับมุมมองความคิด เมื่อ “คนข้างหลัง” เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับ “คนข้างหน้า”

     – ศิลปินระดับตำนาน “แหม่ม-พัชริดา วัฒนา” บอกเล่า…..หลากหลายเรื่องราวในการที่ใครบางคนจะก้าวมาเป็นศิลปินนักร้อง

     – ภูมิ วิภูริศ ศิลปินอินดี้จากไทย จากก้าวที่หนึ่ง เดินทางไกลไปถึงการทัวร์รอบโลก 

สรุป

“ประโยชน์บอกเล่า” น่าจะเป็นอีกแรงบันดาลใจในการการผลิตสื่อที่ทุกคนซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถเรียนรู้ได้ การเพิ่มจำนวนสื่อดี สื่อสร้างสรรค์  ยิ่งมากเท่าไหร่ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

ติดตาม ประโยชน์บอกเล่า ได้จากช่องทาง 

 

เพจ ประโยชน์บอกเล่า PYBL

https://www.facebook.com/DDAYPYBL

 

Spotify ประโยชน์บอกเล่า PYBL 

https://open.spotify.com/show/0DD26jSVudJavU3Xx9OgJ8?si=0d81f06a59ef49be&nd=1&dlsi=adb9257f91b04adf

 

Youtube ประโยชน์บอกเล่า PYBL

https://www.youtube.com/@PYBL./featured