กองทุนสื่อฯ บ่มเพาะ ผู้ผลิตสื่อน้ำดี ปีที่ 2

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัด “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ(บ่มเพาะ) ปีที่ 2″ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะบ่มเพาะแนวคิดพลังสื่อสร้างสรรค์จากคนตัวเล็กก็สามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีได้ 

การจัดทำโครงการ “พัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ (บ่มเพาะ) ปีที่ 2” ดำเนินการภายใต้แนวคิด “บ่มเพาะนักสร้างคอนเทนต์ที่เชี่ยวชาญเพื่อยกระดับงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สังคม” เพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของจรรยาบรรณ และ ความรับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีแห่งการสร้างสรรค์สื่อน้ำดีมีคุณภาพให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้เพื่อนำไปพัฒนาทักษะ ศักยภาพ และ มาตรฐานการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีจรรยาบรรณและรับผิดชอบต่อสังคม เติบโตเป็นผู้ผลิตสื่อที่มีคุณภาพในอนาคต โดยจัดโครงการบ่มเพาะ ครั้งแรก ในข่วงปลายปี 2564 

ทั้งนี้ ทางโครงการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 40 คนต่อภาค แบ่งการอบรมไปตามภูมิภาคทั้ง 4 ภาค มีระยะเวลาอบรม 2 วัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเปิดรับผู้ประกอบการสื่อดั้งเดิมหรือสื่อใหม่, ผู้ผลิตหรือผู้สร้างสรรค์เนื้อหา , ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อ และมีถิ่นพำนัก/ทำงาน อยู่ในภาคที่สมัคร โดยจัดอบรมตามภาคที่ได้รับคัดเลือก (ออนไซต์)

   – ภาคเหนือ วันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมดวงตะวัน จ.เชียงใหม่

   – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 2-3 มีนาคม 2567 ณ โรงเเรมชีวาโขง จ.นครพนม

   – ภาคใต้ วันที่ 16-17 มีนาคม 2567 ณ โรงเเรม S22 Hotel จ.สุราษฎร์ธานี

   – ภาคกลาง วันที่ 23-24 มีนาคม 2567 ณ โรงเเรม TKPalace กรุงเทพฯ

สำหรับเนื้อหาในการอบรม มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ Pitching for Changes, เทคนิคการวิเคราะห์เทรนด์, เทคนิคการเขียนโครงการ, ภูมิทัศน์สื่อ 2570, เทคนิคการเล่าเรื่อง, ถอดประสบการณ์ และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์สื่อในปัจจุบัน 

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดกิจกรรมปฐมนิเทศ พร้อมกันทั่วประเทศ (ออนไลน์) วันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2567 สำหรับผู้ผ่านการคัดเลือกจากทั้ง 4 ภูมิภาค โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษ 

ดร.ธนกร กล่าวว่า โครงการนี้ชื่อ “บ่มเพาะ” ผมคิดว่าเราไม่ใช่ผู้บ่ม เราไม่ใช่ผู้เพาะ จริงๆ แล้วทุกคนมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อจะพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กัน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ย้ำเสมอว่า กระบวนการสร้างผู้ผลิต ไม่มีใครเก่งกว่าใคร เพียงแต่เราพยายามสรรหาต้นกล้า อายุเท่าไหร่ไม่เกี่ยว คนที่จะมาเป็น content creator คุณจะเป็นใครก็ได้ กองทุนสื่อฯ ทำหน้าที่เมื่อเจอต้นกล้าแล้วก็พยายามหาที่ที่โล่งๆ อากาศดีๆ หาปุ๋ยดีๆ รดน้ำพรวนดิน ทำนุบำรุง เพื่อให้ทุกท่านได้เจริญงอกงามและผลิดออกผล 

โครงการนี้ปีนี้ทำมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามภารกิจที่กฎหมายบัญญัติไว้ พรบ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 มาตรา 5 วงเล็บ 2 คือ กองทุนสื่อฯ ต้องสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิต ซึ่งวัตถุประสงค์ข้อแรกคือการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีผู้สร้างที่มีศักยภาพด้วย จริงๆ วัตถุประสงค์ในมาตรา 5 มี 7 ประการ แต่ 2 ข้อที่เราจะพูดกันวันนี้คือการสร้างสื่อกับการสร้างคนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

เรื่องการสร้างคนเราเพียรพยายามมาก เรามีหลักสูตรต่างๆ เราจับมือกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จับมือกับสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ จับมือกับสถานี Arirang ของเกาหลี ทำ MOU กับ KOCCA มา 2 ปีแล้ว เพื่อที่จะเอาวิทยากร เอาองค์ความรู้ว่าต่างประเทศเขาทำกันอย่างไร การสร้างมุมมองในการสร้างคอนเทนต์ต้องทำอย่างไร ให้เกาหลีมาสอนเรื่องการเขียนบท นี่คือที่มาว่าทำไมเราถึงให้ความสำคัญในเรื่องการบ่มเพาะ

เรื่องของข้อมูลข่าวสาร ปีก่อนหน้ามีปัญหาเรื่อง disinformation เยอะ มาปีนี้เป็นเรื่องภัยออนไลน์ เราได้รับผลกระทบจาก technology disrupt หรือ media disrupt มา 2 ปี พฤติกรรมการใช้ชีวิตจากช่วงโควิดก็เปลี่ยน ปีนี้เราไม่ได้ disrupt จาก technology จาก media อย่างเดียว เรา disrupt จากโลกที่เราไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมแก๊งค์มิจฉาชีพออนไลน์มันเยอะแยะมากมาย และทุกคนตกเป็นเหยื่อได้หมดเลย นี่คือด้านลบของสื่อ ของความเป็นดิจิทัล แต่ด้านบวกก็มีมากมายมหาศาล 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

วันนี้เราต้องภาคภูมิใจว่าคนเล็กคนน้อยมีพื้นที่ ทุกคนเป็นทั้งผู้รับสื่อ ผู้สร้างสื่อ เป็นผู้ส่งสื่อ เป็นผู้บริโภค โอกาสตรงนี้ถ้าเป็นยุคก่อน สมัยก่อน ยุคสื่อดั้งเดิมมันยากมาก สำหรับผม ผมคิดว่ามันเป็นพื้นที่ทางประชาธิปไตยที่ทุกคนได้มีโอกาสทางการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการสื่อสาร ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามทั้งหลาย 

ประเทศไทยเราตัวเลขเฉลี่ยในการใช้โทรศัพท์มือถือ 10-11 ชั่วโมง แล้วข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลเข้ามาหาเรามันเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทไหน อันนี้เราต้องถามตัวเอง สิ่งที่กองทุนสื่อฯ อยากให้มีหลักคิดในการมาทำงานเป็น Content Creator สิ่งที่อยากปูพื้นไว้สำหรับโครงการนี้คือ สื่อมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนทุกคน สื่อมีอิทธิพลค่อความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และพฤติกรรม อยากจะให้เป็นข้อคิด ข้อแลกเปลี่ยนว่า สื่อมีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนในสังคมมากมายมหาศาล อันที่สอง ณ เวลานี้ เราต้องยอมรับความจริงว่าข้อมูลข่าวสารเชิงลบที่มันวิ่งมาหาเรา มันอาจจะมีมากกว่าข้อมูลข่าวสารเชิงบวก เพราะข้อมูลข่าวสารเชิงลบอาจจะมี agenda บางอย่างที่แฝงอยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะหลอกเอาเงินเรา หลอกเอาผลประโยชน์ มีเบื้องหลังทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะสร้าง content ดีๆ เราจำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันสื่อที่ไม่ดีเสียก่อน ภัยออนไลน์วันนี้ใช้ความกลัวของคน ทำให้กลัว ทำให้โลภ หรืออาศัยความเป็นคนดีมาหลอก อันนี้เราต้องรู้เท่าทัน

ส่วนรู้เท่าทันแล้ว ทุกคนมีพื้นที่แล้ว ต้องการสร้างสื่อดีๆ ถามว่าสื่อดีๆ เป็นอย่างไร ง่ายๆ ถ้าเรารับสื่อนั้นแล้วยิ้มได้ รู้สึกรักตัวเอง รู้สึกอยากทำอะไรดีๆ รักคนรอบข้าง อยากดูแลพ่อแม่มากกว่านี้ ดูสื่อแล้วกระตุกเราให้คิด เป็นสื่อสร้างสรรค์ทั้งสิ้น ชุมชนเล่าเรื่องราวแล้วทำให้คนอยากติดตาม อยากค้นหา ก็เป็นสื่อสร้างสรรค์ทั้งสิ้น 

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้คิดไกลไปกว่านั้นคือการเห็นความสำคัญของปัญหาสังคม เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข เปลี่ยนแปลง แล้วเราจะทำอย่างไร อำนาจเราก็ไม่มี เงินเราก็ไม่มี อยากบอกว่า สื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งของคนเล็กคนน้อยที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ ให้เราเชื่อในสิ่งนี้ ถ้าเราเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น มีชุมชนที่มีรายการเราไปถ่าย มีคลอง แล้วน้ำเน่า ทุกคนไม่ใส่ใจ อาจจะมีบางคนที่เคยพยายามแล้วแต่รู้สึกว่าพยายามแล้วก็แค่นั้น ทำอยู่คนเดียว คนอื่นไม่เห็นใส่ใจเลย วันดีคืนดี ก็มีคนลุกขึ้นมาพร้อมๆ กัน ด้วยความคิดว่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าปล่อยให้ชุมชนของเราสกปรก น้ำเน่า ขยะ แมลงวันตอมเต็มไปหมด คนในชุมชนก็ล้วนได้รับผลกระทบเชิงลบทั้งสิ้น เราไม่ต้องรอภาครัฐ เราลุกขึ้นมาจัดการกัน ก็เริ่มจากเขียน โพสต์ แชร์ แลกเปลี่ยน ทั้งออนไซต์ ออนไลน์ จากนั้นก็จะมีคนเริ่มเข้ามาให้ความร่วมมือมากขึ้น ร่วมทำกิจกรรมมากขึ้น ในที่สุด การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในชุมชนก็สามารถทำได้ คลองซึ่งเป็นคลองที่เคยสกปรก มีน้ำเน่า ก็กลายเป็นคลองที่สะอาด และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พิสูจน์ให้สังคมโลก หรือประชาคมภายนอกเห็นว่า นี่คือการจัดการของชุมชน ทุกอย่างใช้สื่อทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ผมอยากให้ทุกคนตระหนักว่าพลังอำนาจของพลเมือง พลังอำนาจของคนในโลกดิจิทัลทุกวันนี้ เรามีอำนาจอยู่ในมือ อำนาจนั้นก็คือการใช้สื่อที่สร้างสรรค์ และกองทุนสื่อฯ เชื่อเสมอมาโดยตลอดว่าสื่อที่สร้างสรรค์สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ 

การอบรมในหลักสูตรนี้ จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสื่อ ภูมิทัศน์สื่อ ความเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรม จากสื่อดั้งเดิมไปถึง Metaverse หรือ AI รวมถึงทักษะที่จะใช้ ผมอยากจะเพิ่มไปอีกส่วนหนึ่งว่า สิ่งที่อาจจะไม่ได้อยู่ในหลักสูตร สิ่งที่อาจจะไม่ได้อยู่ในเนื้อหาที่คณาจารย์ วิทยากรชองเรามาสอน แต่ท่านละเลยไปไม่ได้ ข้อแรกคือ เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งชองสังคม เราเห็นโลกเป็นแบบไหน ถ้าเราเห็นโลกต่างกัน เราอย่าทะเลาะกันได้ไหม อันที่สอง เราเห็นโลกที่เป็นปัญหา เราเป็นคนด่วนสรุปหรือเปล่า เราเป็นคนหูเบาหรือหูหนัก ใครบอกอะไรเราเชื่อเร็ว หรือเราคิดใคร่ครวญก่อน เวลาเรามองปัญหา คนทำสื่อจะเห็นว่าหลายปัญหาเรามองแต่เฉพาะปัจเจกบุคคลไม่ได้ มันจะมีสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังปรากฎการณ์ที่เรามองเห็น ถ้าเราเริ่มคิดแบบนี้ เราจะทำสื่อ ทำ content ได้ดีขึ้น หลายๆ ครั้งเราอาจจะทำงานเชิงความคิดน้อยไปสำหรับคนทำสื่อ 

ถ้าคนที่มาอบรมในครั้งนี้ มีความรู้สึกร่วมกัน เห็นปัญหาร่วมกันในบางเรื่อง เราไม่จำเป็นต้องเห็นร่วมกันทุกเรื่อง แล้วเรามาทำแคมเปญรณรงค์ จบหลักสูตรนี้ เราอาจจะหาประเด็นที่เป็นจุดร่วม แล้วมาสร้าง content แบบที่ตัวเองถนัด แล้วเอามาแชร์กัน คนใต้ก็ทำแบบอัตลักษณ์ท้องถิ่นภาคใต้ คนเหนือก็ทำแบบคนเหนือ แต่เป็นปัญหาที่เรามีร่วมกันในสังคม แล้วใช้ความเป็น content creator ของทุกคนมาขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน แล้วกองทุนสื่อฯ ก็เข้าไปสนับสนุน ก็เชื่อว่าหลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรที่สนุก และทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เมื่อจบแล้วทุกคนจะรู้สึกว่าเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้นเอง 

 

เราเชื่อว่าท่ามกลางปัญหาชองประเทศ ของสังคม ซึ่งมีปัญหามากมายมหาศาล เราไม่อาจคาดหวังกับองค์กรหรือหน่วยงานใดได้ ก็ใช้สมองสองมือของเราเล็กๆ สร้างสื่อขึ้นมา ก็เชื่อว่าสังคมจะดีขึ้นได้