บทบาทของสื่อท้องถิ่น นอกเหนือไปจากฉากหน้าด้านการสื่อสารแล้ว การสร้างกลไกการทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ ก็เป็นพลังเงียบจากคนตัวเล็กๆ ที่ใช้กระบวนการสื่อสารผลักดันให้ประเด็นปัญหาในพื้นที่ขยายเป็นประเด็นสาธารณะ และนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้เช่นกัน ในพื้นที่ภาคเหนือ มีสื่อท้องถิ่น ตลอดจนคนทำสื่อเล็กๆ ที่สามารถสร้างผลสะเทือน สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ บางครั้งก่อบทบาทได้มากกว่าสื่อกระแสหลัก กรณีของพะเยาทีวี และเครือข่ายสื่อแม่ฮ่องสอนบ้านเรา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถถอดโมเดลไปปรับประยุกต์สำหรับใครที่หวังสร้างสื่อท้องถิ่นได้
พะเยาทีวี นิยามสถานะตัวตนว่า เป็นสื่อชุมชน เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาท้องถิ่น ดำเนินกิจกรรมและให้บริการข้อมูลข่าวสารโดยไม่แสวงหากำไร
ชัยวัฒน์ จันธิมา บรรณาธิการ พะเยาทีวี เคยเขียนถึงเจตนารมณ์ของพะเยาทีวีว่า คือการยุยงส่งเสริมให้ประชาชนคนดูสื่อ ได้ลุกขึ้นมาเป็นคนทำสื่อ สร้างสื่อ ผลิตสื่อ เป็นเจ้าของสื่อ ….ให้มีสื่อเป็นของตนเองในการฟื้นฟู อนุรักษ์ พัฒนา ท้องถิ่น
พะเยาทีวี นำเสนอข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก มียอดผู้ติดตามประมาณ 1.3 แสนคน เนื้อหาสาระข่าวสารมีทั้งความเคลื่อนไหวเครือข่ายการพัฒนาหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น การตรวจสอบข้อมูลลวง
ชัยวัฒน์ เล่าบนเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการขับเคลื่อนและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระดับภูมิภาค ประจำปี 2566 ครั้งที่ 4 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 ว่า พะเยาทีวี เป็นสื่อเล็กๆ ที่ให้บริการข่าวสาร และให้บริการชุมชนเรื่องอื่นๆ คือ งานให้ความรู้ งานเวทีสาธารณะ และงานวิจัยและพัฒนา โดยทำงานกับเครือข่าย ให้ความสำคัญกับภาคี ให้ความสำคัญกับคนที่ทำงานภาคประชาสังคม หรือกลุ่มเครือข่ายชุมขนต่างๆ โดยได้รับทุนจากกองทุนสื่อฯ และจากหน่วยงานอื่นหลายแห่ง
ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ความพึงพอใจจากงานที่ทำไม่ใช้ชิ้นงาน แต่เป็นกิจกรรมที่ลงไปในชุมชน และงานที่โดดขึ้นมาคืองานถ่ายทอดสด งานประเพณี หรืองานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ช่วงโควิด มีคนติดตามพะเยาทีวีเพิ่มค่อนข้างเยอะ พะเยาทีวีไม่ได้เป็นสื่อใหญ่ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับให้คนดูเป็นคนทำ และมาเป็นเจ้าของ เราอยากเห็นโมเดลแบบพะเยาทีวีเยอะๆ ในทุกจังหวัด แต่เปลี่ยนชื่อไป เหมือนทีมฟุตบอลในแต่ละจังหวัด ซึ่งตอนนี้เพจระดับอำเภอ และระดับจังหวัดจะเป็นตัวเข้าถึงชุมชนมากที่สุด และน่าจะเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจมาก หลายเพจมียอดติดตามไม่มาก แต่การมีส่วนร่วมของชุมขนค่อนข้างเยอะ เยอะกว่าสื่อกระแสหลักด้วยซ้ำไป
“จุดเริ่มต้นของพะเยาทีวีคือความขัดแย้งในพื้นที่ ปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ่อไปปราบม็อบ ลูกชายกระโดดขึ้นรถ แล้วไปตีกัน แล้วกลับบ้านมากินข้าว ก่อนจะมาเป็นพะเยาทีวี ผมทำงานวิทยุ หนังสือพิมพ์ สื่อชุมชนมาก่อน ทำงานร่วมกับไทยพีบีเอส ทำเคเบิลเรื่อยมา และมาสนใจนโยบาย กสทช.เรื่องทีวีดิจิทัลระดับชุมชน ซึ่งหยุดไปในช่วง คสช. จนมาถึงตอนนี้ก็จะเริ่มวางแผนโรดแมพเรื่องโทรทัศน์ชุมชนกันใหม่”
ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือไม่ว่าเราจะเป็นสื่อประเภทไหน จะเล็กจะใหญ่ แต่พรมแดนของปัญหามันเหมือนเดิม ปัญหาฝุ่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาค้ามนุษย์ ปัญหาโรคระบาด ปัญหาความเหลื่อมล้ำมันยังมีอยู่ และในสถานการณ์ชุมชน อย่างภาคเหนือ ผลกระทบเรื่องพรมแดน หลายเรื่องก็เป็นปัญหาที่ทับซ้อนกันอยู่
“สถานภาพของสื่อชุมชนมีทั้งเป็นเจ้าของช่องเอง เป็นเจ้าของสื่อเอง บางคนยังอาศัยช่องของคนอื่น หรืออาศัยแพลตฟอร์มของคนอื่น วันดีคืนดี เขาจะปรับเปลี่ยน จะปิดกั้น เราก็ไม่ได้เป็นเจ้าของสื่อจริง ก็มีผลต่อการพัฒนาชุมชน มีผลต่อการเข้าถึงของพี่น้องประชาชนในชุมขนเช่นกัน ข้อจำกัดของชุมชนเองก็มี คือจริงๆ เรามีช่องเยอะ แต่ไม่มีเครื่องรับ กฎระเบียบของภาครัฐก็มีส่วนที่จะสนับสนุนให้เกิดสื่อชุมขน เรามีข้อจำกัดในการสร้างสื่อชุมชนให้มีบทบาทในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี หรือเครือข่ายที่เรามีอยู่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่มีองค์กรที่มาเชื่อมให้เราเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน พะเยาทีวีก็พยายามมีเพื่อน อยากขยายไปที่ต่างๆ แต่ก็มีข้อจำกัด”
ชัยวัฒน์ กล่าวว่า แม้ว่าพะเยาทีวีจะเป็นสื่อเล็กๆ แต่ก็ใช้หลายๆ วิธีในการขับเคลื่อนประเด็นในพื้นที่ ความคิดที่แตกต่างทางการเมือง 20 ปีผ่านไปก็ยังอยู่ แต่เรื่องน้ำในกว๊านพะเยาที่เราต้องกินต้องใช้ก็ยังอยู่ เราก็เอาเรื่องประเด็นสาธารณะมาทำ มาชวนพูดคุย เสนอว่าจะทำอย่างไร เราอยากได้ธรรมนูญกว๊านพะเยา เราจัดเวทีขึ้นมา ได้ข้อเสนอมา งานนั้นใช้เงินจัดงาน 2 แสน แต่ทำให้จังหวัดก็ได้งบมาพัฒนา 3-400 ล้าน ก็ทำให้เห็นว่าเราขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสนามบิน เรื่องรถไฟ เราจะทำยังไง ถนน R3A ที่ผ่านทุ่งนาขนาดใหญ่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนพะเยา ต่างๆ เหล่านี้ สิ่งเล็กๆ ที่เราทำก็ส่งผลได้
“สิ่งที่ตั้งใจคือทำให้สื่อท้องถิ่นของเรามีส่วนทำงานพัฒนาให้ชุมชนต่อไป มันไม่ได้ตอบโจทย์ในเชิงนโยบายมากนัก แต่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ คนในชุมชนของเรา เป็นฐาน เป็นคลังทรัพยากร ทำให้เรามีไว้ให้ลูกๆ ของเรา เหมือนเมล็ดพันธุ์ เมล็ดข้าวในชุมชนของเรา”
ชัยวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า ไม่ใช่ภารกิจหรืองานของคนใดคนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือพวกเราต้องทำหน้าที่ และทำหน้างาน คือประสบการณ์ที่เราอยู่ในแต่ละส่วนให้ดีที่สุด ไปที่ไหนก็อยากยุยงให้คนเข้ามาทำสื่อ อยากให้มีการทดลองเรื่องต่างๆ และปฏิบัติการจริงในหลายๆ เรื่อง ให้มีต้นแบบในแต่ละเรื่อง ในแต่ละพื้นที่ และทำอย่างไรเราจึงจะมีเครือข่ายในแต่ละเรื่อง แต่ละปัญหา เราจะจัดระบบองค์ความรู้ หรือระบบเครือข่ายอย่างไร
“บ้านแต่ละหลังจำเป็นต้องมียาสามัญประจำบ้าน มียาของตัวเอง มีตัวอย่างชัดมากในช่วงโควิดที่คนจะวิตกเรื่องคนติดโควิดกันมาก พะเยาทีวีก็สร้างความน่าเชื่อถือตรงนั้น ทำให้ชาวบ้านรอฟังจากพะเยาทีวีก่อน ตอน 2 ทุ่มก่อนว่าเป็นหรือไม่เป็น ก็ทำให้สื่ออื่นๆ สื่อที่ส่งตามไลน์ ตามช่องทางอื่นๆ ถูกควบคุมด้วยระบบของมัน ซึ่งเป็นเรื่องของนิเวศน์ในพื้นที่ อีกเรื่องหนึ่งคือการเชื่อมโยงกับระบบยาทั้งหลาย ต้องมีวัคซีน มีเรื่องอื่นๆ อีกที่จะมาป้องกันเรื่องพวกนี้ สำหรับผม ผญาคือปัญญารวมหมู่ อย่าผูกขาดว่าพะเยาทีวีจะถูกเสมอ ต้องมีสื่ออื่นๆ ที่จะมาตรวจสอบพะเยาทีวี มีกลไกอื่นๆ ที่จะทำให้ระบบของการสื่อสารปลอดภัยจริงๆ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะเราไม่ใช่แค่คนทำสื่อ แต่เราคือคนในท้องถิ่น ในชุมชน เรามีลูก มีมรดกที่จะต้องให้ลูกหลานเรา ซึ่งไม่ใช่แค่เงิน ที่ดิน แต่มันหมายถึงสติปัญญา”
ขณะที่ เครือข่ายสื่อแม่ฮ่องสอนบ้านเรา ซึ่งนิยามตัวตนว่าเป็น สื่อเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน แม้จะเพิ่งเปิดตัวเพจ มีผู้ติดตามประมาณ 500 คน แต่ทีมคนทำงาน โดยเฉพาะสร้อยแก้ว คำมาลา ต้องถือว่าอยู่ในแวดวงสื่อ มายาวนาน ทั้งในบทบาทนักเขียน กวี และคนทำสารคดี
สร้อยแก้ว กล่าวในเวทีเสวนาเดียวกันนี้ว่า เป็นคนแม่ฮ่องสอน และพบว่ามีอะไรหลายอย่างที่อยากสื่อสาร แต่เงื่อนไขของการทำข่าว ไม่เพียงพอ และไม่ใช่ต้องการแค่สื่อสารออกไป เราเห็นว่าตรงนั้นมีปัญหาเยอะและรู้ว่างานสื่อสามารถผลักดัน เปลี่ยนแปลงอะไรได้ พอดีมีโอกาสไปทำงานกับวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ซึ่งใช้งานวิจัยมาแก้ไขปัญหาความยากจน
สร้อยแก้ว กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีหน่วยงานเคยบอกว่าเป็นจังหวัดที่มีความสุขที่สุด น่าอยู่ที่สุด แต่แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่คนยากจนที่สุดในประเทศ และติดอันดับมาทุกปี เข้าไปในหมู่บ้าน เข้าไปคุยกับชาวบ้าน เห็นความแตกต่างสูงมาก ระหว่างคนเมืองกับคนในหุบเขา เราไม่ได้ต้องการให้คนในหุบเขามีชีวิตแบบคนเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาควรได้คือ ควรได้โอกาสเหมือนเรา โอกาสที่เขาจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหน อย่างไร เช่น เรื่องถนนหนทาง สาธารณูปโภคเบื้องต้น เคยมีงบประมาณหน่วยงานท้องถิ่นมาให้ทำถนน แต่ด้วยเงื่อนไขของอุทยานฯ เงื่อนไขของกฎหมายต่างๆ ทำให้ไม่สามารถทำถนนเข้าไปได้ งานอย่างนี้ สื่อจะช่วยได้มากในการขับเคลื่อนหรือผลักดันทำให้องค์กรท้องถิ่นกล้าทำอะไรมากขึ้น
“มิติที่น่าสนใจคือปีนี้เราเห็น สส.มีแนวคิดคล้ายกันในการผลักดันเรื่องปัญหาทรัพยากรและที่ทำกินของขาวบ้าน ทุกวันนี้ประชากรส่วนใหญ่ของแม่ฮ่องสอนยังอยู่ในเขตป่าเขา และยังไม่มีสิทธิ์หลายๆ อย่างแบบที่คนไทยมี และเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน นี่เป็นปัญหาที่เราในฐานะสื่อมวลชนตระหนัก พยายามจะผลักดัน แต่ก็คิดว่าเราคนเดียวไม่เพียงพอแล้ว ปีที่แล้วเราก็รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ และมีกิจกรรม workshop เด็กๆ ก็ตั้งใจจะเขียนโครงการขอทุน”
สร้อยแก้ว กล่าวว่า อยากทำได้แบบพะเยาทีวี เพราะแม่ฮ่องสอนมี 7 อำเภอ และมี 13 ชาติพันธุ์ แม่ฮ่องสอนมีเรื่องราวเยอะมาก เพิ่งไปหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาว ที่บ้านห้วยปูแกง และเพิ่งรู้เมื่อไม่นานมานี้ว่ากะเหรี่ยงคอยาวไม่ใช่คนไทย เขาเจอปัญหาสงครามพม่าแล้วอพยพมา แต่เราเห็น ททท. ใช้กะเหรี่ยงคอยาวมาเป็นตัวโฆษณาการท่องเที่ยว แล้วได้ผลด้วย นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเยอะมาก เม็ดเงินเข้าประเทศเยอะมาก แต่คุณภาพชีวิตของเขาไม่ดีเท่าที่ควร อาหารการกินก็แค่ประทังอยู่ให้ได้ เขามีรายได้อย่างเดียวคือการท่องเที่ยว เขาไม่มีที่ทำกิน ซึ่งมีช่วงท่องเที่ยวแค่ 2 เดือน ช่วงเวลาที่เหลือนักท่องเที่ยวไม่มาเลยเพราะเขาซีเรียสเรื่องหมอกควัน PM 2.5 มาก ก็เป็นปัญหาหนึ่ง พอทำข่าวเสร็จแล้วออกมา ก็เกิดคำถามว่า เราจะช่วยอะไรเขาได้นอกจากการสื่อสารออกไป ปีนี้เราเลยคิดว่า จะรวบรวมคอนเทนต์ที่เป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเชิงนโยบาย หรือประเด็นเล็กๆ และอยากอบรมเยาวชนเรื่องการผลิตสื่อ อยากให้เด็กๆ ทั้ง 7 อำเภอ มาช่วยกันเก็บประเด็นในพื้นที่ของตัวเอง และมาผลิตสื่อด้วยกัน ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เด็กใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์
“ตอนนี้กลุ่มแม่ฮ่องสอนบ้านเราก็มีเครือข่ายที่เข้มแข็งระดับหนึ่ง มีทีมที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ทั้ง 7 อำเภอ มีทีมที่ปรึกษา เป้าหมายในระยะยาว เราหวังจะเห็นการผลิตสื่อจากทั้ง 7 อำเภอ ทั้งระดับผู้ใหญ่และระดับเด็ก”
สร้อยแก้ว กล่าวว่า มีอีกประเด็นหนึ่งของแม่ฮ่องสอน แม่สะเรียงกับสบเมย เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านโดนหลอกเยอะมาก ชาวบ้านถึงจะมีมือถือแต่ไม่รู้เท่าทัน โดนหลอกกันหลายแสน บางคนหมดตัวกันเลย เด็กและเยาวชนก็ไม่เท่าทันสื่อเยอะ เราก็พยายามที่จะออกแบบกันว่าเราจะปรับตรงไหนให้ชาวบ้านรู้เท่าทัน และปรับทิศทางของเยาวชนไม่ใช่ให้เลิกเล่นโทรศัพท์ แต่จะให้เล่นอย่างไรให้มีประโยชน์กับตัวเขา
สร้อยแก้ว กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องจิตสำนึก ในฐานะของคนๆ หนึ่งที่เป็นพลเมืองของประเทศนี้ และเป็นคนที่เกิดและเติบโตในจังหวัดแม่ฮ่องสอน อยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่เป็นภาระให้กับสังคม อยากทำสิ่งดีๆ และอยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนที่บ้านเกิดให้ดีขึ้นด้วยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือ
ภาพประกอบ : เชียงใหม่นิวส์
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional". |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other. |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |