ภารกิจสร้างคน We are the reporters : สื่อเพื่อขับเคลื่อนสังคม

‘สื่อมวลชน’ วิชาชีพที่นับว่ามีบทบาทหลากหลาย ไม่ว่าจะในฐานะกระจกสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ฐานะ Watchdog หรือ Gatekeeper แต่สิ่งหนึ่งที่สื่ออาจมีส่วนร่วมในทางสังคมคือการขับเคลื่อน ทั้งให้สังคมมีสวัสดิภาพ ความเป็นธรรม หรือแม้แต่เพียงบอกเล่าเรื่องราวเปิดปมปัญหาที่ซุกซ่อนในสังคม อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนทางสังคม

การสร้างสื่อ และสร้างคน เป็นภารกิจที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดโครงการ กิจกรรมบ่อยครั้ง ซึ่ง KPI ที่คาดหวังคือ ต้องเกิด Impact เพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลง 

เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่กองทุนสื่อฯ จับมือสำนักข่าว The Reporters และ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จัด Workshop อบรม “We Are The Reporters : สื่อเพื่อขับเคลื่อนสังคม” เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567  โดยกลุ่มเป้าหมายครั้งนี้มีนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ สื่อมวลชน ให้ความสนใจเข้าร่วมคับคั่ง แต่ที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจากองค์ความรู้แล้ว ประสบการณ์ จิตวิญญาณ สำนึกของคนข่าว ซึ่งถ่ายทอดผ่านเวทีเสวนา “บทบาทสื่อในการขับเคลื่อนสังคม”  โดยวิทยากรที่เป็นคนข่าวมืออันดับของจริง ไม่ว่าจะเป็น อนุวัต เฟื่องทองแดง ช่องวัน 31, อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ไทยรัฐออนไลน์, มนตรี อุดมพงษ์  ข่าวสามมิติ ,ฐปณีย์ เอียดศรีไชย The Reporters และ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งก็มี โปรไฟล์เป็นคนข่าวมาก่อน

 
คนทำข่าว ไม่ใช่แค่”อาชีพ” แต่คือ “วิชาชีพ”

ดร.ธนกร เปิดประเด็นพูดคุยในเวทีเสวนาว่า ไม่ได้มาคุยกันในฐานะคนทำสื่ออย่างเดียว แต่คุยในฐานะที่เป็นคนทำข่าว เป็นคนทำข่าวที่มีจิตวิญญาณ ต้องการชวนทุกท่านใช้ทักษะวิชาชีพของสื่อมวลชน หรือการเป็นคนข่าว ในการขับเคลื่อนสังคม 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เมื่อพูดถึงการขับเคลื่อนสังคม ดร.ธนกร ระบุว่า ถ้าหากเราไม่ค่อยใส่ใจในประเด็นสังคม ก็จะรู้สึกเบาๆ หน่อย แต่ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบนโลกนี้ เราจะเห็นอะไรเยอะแยะมากมาย

“ลองให้หลับตานึกภาพง่าย ๆ ว่า ถ้าเราเปรียบสังคมเหมือนแม่น้ำสายหนึ่งที่ไหลเอื่อยๆ อยู่ เราจะเห็นเลยว่าบางวันน้ำสกปรกมาก บางวันเราเห็นน้ำมันใส ทำให้เรามีความสุข เราเห็นปลา เราเห็นวัชพืช มันก็เป็นแม่น้ำที่เราปรารถนา แต่วันไหนที่เราเห็นมีน้ำเน่าลอยมา มีเศษวัสดุอะไรเต็มไปหมดเลย เราก็มีความรู้สึกอึดอัดขัดใจ จริงๆ แล้วคนทำข่าวก็เหมือนคนที่นั่งอยู่ริมตลิ่ง มองว่ามันเกิดอะไรขึ้นในแม่น้ำสายนี้ แล้วก็เอามาบอกกับผู้คน ชวนคนมาบอกว่า แล้วจะปล่อยให้แม่น้ำสายนี้มันเน่ายิ่งไปกว่านี้อีกหรือ หรือว่าเราจะทำให้มันสะอาด” 

ดร.ธนกร  กล่าวว่า ความเป็นสื่อ ใครที่ไม่อยู่ในวงการนี้อาจไม่อิน เพราะนี่ไม่ใช่แค่อาชีพ แต่เป็นวิชาชีพ ถ้าใจไม่รัก ทำไม่ได้ ถ้าทำแล้วความสุข คือใช่เลย การทำงานที่ต่อยอดให้คนอื่น วันที่ได้ต่อสู้ให้คนอื่น แล้วผลสัมฤทธิ์เกิดจากการทำงานข่าวของคุณ ความรู้สึกมันยิ่งกว่าได้รางวัล ซึ่งจริต จิตวิญญาณแบบนี้ เป็นหัวใจสำคัญ ถ้ามีจิตวิญญาณที่รักความเป็นธรรม เห็นปัญหาแล้วอยากจะพูด เห็นคนลำบากแล้วอยู่นิ่งไม่ได้ ใครไม่สนใจก็ได้ แต่ฉันต้องสนใจ ไม่ชอบการทุจริต มันจะผลักดันไปสู่การเป็นสื่อมวลชน เป็นผู้สื่อข่าว เชื่อว่าจิตวิญญาณแบบนี้ยังมีอยู่ การโตขึ้น ก็ต้องบริหารจัดการสภาพแวดล้อมตัวแปรมากมาย ต้องใช้ความอดทน ใช้สติปัญญา ความรอบคอบมากขึ้น 

“ยกตัวอย่างสื่อที่มีความสมดุล และนำเสนอสิ่งที่คนสนใจ และเรื่องที่ควรสะท้อนสังคมไปควบคู่กัน เช่น ไทยรัฐออนไลน์ มีการนำเสนอข่าวหวยที่คนสนใจ แต่ก็นำเสนอประเด็นสังคม และเรื่องราวสาระอื่นๆ ที่ประชาชนควรรู้ไปควบคู่กัน หรือ ข่าวสามมิติ ที่ชัดเจนในประเด็นทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น และเรื่องที่อาจมีอะไรอยู่เบื้องหลัง”

ดร.ธนกร  กล่าวว่า วันนี้ทุกคนเป็นสื่อมวลชนอิสระ เป็นสื่อมวลชนที่ดีได้ สิ่งที่อยู่ใต้น้ำที่เรายังไม่เห็น มีมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะทำให้น้ำสะอาด เพียงแต่เรามีใจ เพียงแค่เราริเริ่ม มีทั้งถูกซุกซ่อนไว้มากมายมหาศาล จึงอยากให้ทุกคนช่วยกัน

 
อนุวัตจัดให้ ต้องมีความสุขในการทำงาน

อนุวัต เฟื่องทองแดง ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ประกาศช่องวัน 31, GMM25, อนุวัตทั่วไทยทางช่องวัน 31, เพจ อนุวัตจัดให้  ได้พูดถึงความสุขในการทำงานสื่อ ว่า ต้องมีความสุขในการลงมือทำก่อน เพราะถ้าไม่มีความสุข จะไม่ทำ เพราะงานเหล่านี้ต้องใช้เวลา

“ถ้าวันหนึ่งคุณรู้สึกขี้เกียจที่จะทำในสิ่งที่คุณทำ คุณเลิกทำเถอะ เพราะว่ามันไม่มีแรงบันดาลใจ แต่ถ้าวันหนึ่งเหนื่อยขนาดไหน แต่ต้องลุกขึ้นมาพูดหน่อย ทำคลิปหน่อย ไปนู้นหน่อย ไปนี่หน่อย อันนั้นแหละแปลว่าคุณยังมีไฟ ถ้าคุณยังมีไฟ ทำต่อเลยครับ แล้วมันจะสร้างอะไรให้กับสังคมเยอะมาก”

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย The Reporters และ อนุวัต เฟื่องทองแดง ช่องวัน 31

อนุวัต กล่าวว่า ตัวเองสนุกที่จะทำ และเมื่อได้เห็น Feedback มาแล้วดีใจ โดยคลิปที่ได้ทำคือการสร้างความรู้ให้กับคนที่เข้ามาดู ผู้ชมเกิดการถกเถียงกัน นั่นคือสิ่งที่ชอบ 

“แม้แต่สิ่งที่มันเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าพลังโซเชียลในการทำสื่อของเรา แล้วทำให้มันเป็นพลังบวก มันมหาศาลมาก อันนี้เป็นสิ่งที่มันจับต้องได้” 

อนุวัต ยกตัวอย่าง รายการอนุวัตทั่วไทยว่า รายการดังกล่าวไม่ใช่แต่เพียงท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เป็นการใช้กุศโลบายในการแฝงเข้าไป เพราะเชื่อว่าทุกวันนี้หากใช้การพูดวิชาการผู้ชมจะไม่ฟัง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือความเป็นกิจกรรม จึงครีเอทรายการเพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ 

 
ไทยรัฐต้องตอบสนองความใคร่รู้ของคน

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา กล่าวว่า ไทยรัฐออนไลน์ มีเป้าหมายเพื่ออยากทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น แต่จะเห็นว่าในแต่ละส่วนอย่างออนไลน์ กลุ่มผู้เสพข่าวของออนไลน์นั้นมีความโตขึ้น รวมไปถึงกลุ่มคนใหม่ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาและอ่านข่าวด้วย จึงต้องมีการออกแบบเนื้อหาให้ครบถ้วน

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ไทยรัฐออนไลน์

“เรารู้สึกว่า มีความจำเป็นที่จะต้องปรับโฉม ปรับภาพลักษณ์ ซึ่งไม่ใช่แค่ Packaging แต่เป็นเรื่องของการเลือกประเด็นข่าวข้างในด้วย”

อรพิณ กล่าวว่า ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจดูแล้วเป็นคอนเซ็ปต์ที่จับต้องยาก ไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับไทยรัฐ โดยกลุ่มที่อ่านไทยรัฐมีหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป จนถึงผู้ที่กำหนดนโยบาย ดังนั้นการออกแบบเนื้อหาในแต่ละวันคือต้องครบทุกอย่าง

“เราต้องทำเรื่องข้อเท็จจริง แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เรารู้ว่ามันจะอยู่รอดได้ คือต้องตอบสนองต่อความใคร่รู้ของคน ซึ่งหลายเรื่องก็คือต้องทำให้มันสนุก ต้องทำให้มันบันเทิง แต่สุดท้ายแล้วทั้งหมดที่ทำไปมันคือต้องสร้างปัญญา แล้วปลายทางสุดท้ายสิ่งที่ทำไปในการสื่อสาร คือจบที่เราต้องทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่ทำไปมันทำให้ชีวิตคนดีขึ้นหรือเปล่า”

อรพิณ กล่าวว่า บางวันมีข่าวหลากหลายมาก ทั้งออนไลน์ หรือหนังสือพิมพ์ ก็จะมีข่าวสีสันที่ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์ แต่แท้จริงแล้วมีหลักคิดข้างในอยู่ว่า ข่าวนี้สนุก และคนอ่านชอบ เมื่อมาอ่านแล้วก็ตามไปอ่านข่าวอย่างอื่น เช่น ข่าวหวย เพราะฉะนั้นก็จะมีการรายงานข่าวหวย ไปพร้อมกับข่าวการเมือง ซึ่งคือกลุ่มคนอ่านเดียวกัน แต่มีความสนใจที่หลากหลาย

อรพิณ กล่าวถึงการที่ไทยรัฐจับประเด็นเรื่องสังคมว่า เพราะเป็นความสำคัญของวิชาชีพสื่อมวลชน คือ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แล้วขณะนี้เกิดปัญหาหลายอย่าง นอกจากเรื่องทัศนคติทางการเมืองแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังคงมี และปัญหาทางเศรษฐกิจเราจะไปแก้อย่างไร เราจะมีบทบาทอย่างไรที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น 

“ต้องค่อยๆ ให้ข้อมูล เก็บความเห็นที่หลากหลาย มีสกู๊ป มีข้อมูลข้อเท็จจริง ต้องทำแพ็คข้อมูลไปให้รอบด้าน แล้วถึงวันหนึ่งต้องกลับไปคุยกับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ว่าปัญหามันขนาดนี้แล้วนะ คุณเอายังไงดี”

 
3 มิติ ผู้บุกเบิกรายการข่าวดึก

มนตรี อุดมพงษ์ กล่าวว่า รายการข่าวสามมิติเป็นรายการที่ดึก 22.00 น. ขึ้นไป ซึ่งเป็นเวลาทางเลือก ดังนั้น รายการไม่สามารถเล่าเรื่องให้คนฟังได้หมดทุกคน แต่จะต้องเจาะกลุ่มเฉพาะทาง ซึ่งจะขยายฐานไปเรื่อยๆ และนั่นเป็นโอกาสในการเติบโต

มนตรี อุดมพงษ์ ข่าวสามมิติ

“เป้าของเราขณะนั้นเพื่อจะเปลี่ยนแปลงสังคมคือ กลุ่มคนนอนดึก กลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน คนที่มีเวลาดูข่าวในช่วงนี้ จบละครแล้วดูข่าวต่อ เพราะฉะนั้นเป้าหมายของเราที่จะทำข่าวพวกนี้ ก็คือการขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นวาระทางสังคม เวลาเราน้อยแต่เราก็ใช้ประเด็นที่เป็นเมนหลักของสังคม แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความบันเทิง ความบันเทิงก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ เราไม่สามารถที่จะเสิร์ฟอาหารที่มันเป็นอาหารหนักๆ สเต็ก ได้ทุกมื้อ เพราะมันย่อยยาก บางวันเราก็อยากจะกินโจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว เพราะสมองเราต้องการแบบนั้น ที่มันมีความหลากหลาย ในข่าวก็เหมือนกัน” 

 
สรุป

ในโลกปัจจุบันที่มีคำพูดว่า ทุกคนเป็นสื่อได้ เป็นความจริงส่วนหนึ่งเพราะคำว่าสื่อ ครอบคลุมหลายมิติ แต่การทำสื่อในมิติของคนข่าวก็คงเหมือนที่ ดร.ธนกร กล่าวเอาไว้ว่า คนข่าว  ไม่ใช่แค่อาชีพแต่คือ วิชาชีพ 

 

“อยากบอกน้องๆ คนรุ่นใหม่ว่า จริตแบบนี้ จิตวิญญาณแบบนี้ จะเป็นหัวใจอันหนึ่งเลย ถ้าคุณมีจิตวิญญาณแบบนี้ คุณรักความเป็นธรรม คุณเห็นคนที่ตกระกำลำบากแล้วคุณรู้สึกว่าคุณอยู่นิ่งไม่ได้ คุณเห็นปัญหาและอยากจะพูด คุณเห็นว่าอันนี้ไม่ถูกต้องแล้วคุณรู้สึกว่า ใครไม่สนใจไม่เป็นไรแต่ฉันต้องสนใจ อันนี้จะผลักดันคุณไปสู่วิชาชีพที่ทำให้คุณมีความเป็นสื่อมวลชน เป็นผู้สื่อข่าว” ดร.ธนกร ทิ้งท้าย

ขอบคุณภาพประกอบจาก : The Reporters