ปราชญ์ชาวบ้าน –ผู้กำกับหนัง เล่าเบื้องหลัง“มหัศจรรย์เมล็ดพันธุ์เหนือมิติ”
“คนเราเกิดมาไม่ได้สร้างอะไรให้โลกเลย มีแต่มาใช้จากโลก
ทั้งอากาศ ต้นไม้ พื้นดิน ทรัพยากร ไม่เคยมีใครสร้างเลย มีแต่คนมาเอา
เอาแล้วก็หมดไป แล้วลูกหลานจะอยู่อย่างไร”
พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบุรีรัมย์
ภาพยนตร์เรื่อง “THE MAGIC SEEDS – มหัศจรรย์เมล็ดพันธุ์เหนือมิติ” เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดแนวคิดและองค์ความรู้ที่มีคุณค่าของพ่อผาย สร้อยสระกลาง และพ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านจากบุรีรัมย์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุกความคิดให้คนในสังคมกลับมามองเรื่องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรโลกในบริบทของตัวเอง
“พ่อคำเดื่อง ภาษี” ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบุรีรัมย์ บุคคลสำคัญของภาพยนตร์ ทั้งเนื้อหาที่เป็นแกนหลักของเรื่องและให้เกียรติร่วมแสดงในภาพยนตร์ และผู้กำกับภาพยนตร์ “เอ็ม- ศิววงศ์ แซ่ล้อ” ให้สัมภาษณ์ใน รายการสาระสารพันกับ สวท.บุรีรัมย์ วันที่ 16 มกราคม 2567
ลูกหลานจะอยู่อย่างไร ถ้ารุ่นเราไม่สร้างขึ้นมา
พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบุรีรัมย์ กล่าวว่า ที่มาที่ไปของเรื่องนี้คือเรามีเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานที่รวมกันทำงานขับเคลื่อนอยู่ ทำเรื่องไร่นาสวนผสม เกษตรผสมผสาน เป็นภาคประชาสังคมที่ทำเรื่องพวกนี้มานาน เราก็พยายามหาทางออก แก้ปัญหาให้ชาวบ้านในภาคอีสาน ทำไปทำมา คนก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ก็มาศึกษาดูงาน หลังจากนั้น เราก็ได้ออกรายการทางวิทยุ โทรทัศน์ มาเรื่อยๆ คนก็สนใจมาศึกษาดูงาน ก็มีทางคุณหมออยากทำภาพยนตร์ ก็มีการประสานกับคุณพิม -พวงเพชร ที่เป็นหัวหน้าโครงการหนังเรื่องนี้ ก็ไปหาสปอนเซอร์มาลงทุน ผลปรากฏว่า คราวนั้น คุณพิมก็พยายามทุ่มเท ถอดบทเรียนต่างๆ ไปนำเสนอ แต่เนื่องจากในยุคนั้น 10 กว่าปีที่แล้ว เรื่องของเราอาจจะคิดล้ำหน้าเกินไป เขาอาจไม่เข้าใจ คนที่ลงทุนก็มีความต้องการอยากได้แบบนั้นแบบนี้ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องธรรมชาติเขาไม่เอา เขาก็บอกเนื้อหาดีนะ แต่ก็ตัดนั่นตัดนี่ สุดท้ายก็ทำมาได้ 3-4 ตอน คือเรื่อง “ต้นไม้ของพ่อ กับหมอชนบท” เป็นเรื่องราวของพ่อผายและพ่อคำเดื่อง เหมือนเป็นภาค 1 ของหนัง Magic Seed
เราก็มีแนวคิดว่าคนเราเกิดมาไม่ได้สร้างอะไรให้โลกเลย มีแต่มาใช้จากโลก ทั้งอากาศ ต้นไม้ พื้นดิน ทรัพยากร ไม่เคยมีใครสร้างเลย มีแต่คนมาเอา เอาแล้วก็หมดไป แล้วลูกหลานจะอยู่อย่างไร ถ้ารุ่นเราไม่สร้างขึ้นมา เราก็คิดว่าการสร้างธรรมชาติมันสร้างได้ เริ่มต้นจากเล็กๆ เราเพาะกล้าแล้วก็ปลูกแล้วมันก็โต มันก็จะเจริญเติบโตไป ภายภาคหน้าลูกหลานจะได้กราบไหว้บูชาบรรพบุรุษว่าวางแผนไว้อย่างดี ทำสิ่งแวดล้อมทำธรรมชาติไว้ให้เขา แต่นี่กลายเป็นบรรพบุรุษพยายามไปแย่งทรัพยากรธรรมชาติในโลกก่อนคนที่ยังไม่เกิด 20-30 ปีข้างหน้า ไปแย่งน้ำมัน ไปแย่งแร่ แย่งเอาก๊าซ แย่งคลื่นสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ คือแย่งกันหมด แล้วลูกหลานจะอยู่ดีกันได้อย่างไร ปลาในทะเลก็หมดแล้ว อากาศดีก็เสียหมดแล้ว วิธีคิดแบบนั้นเป็นมิจฉาทิฐิ
คุณพิมก็ไปมาหาสู่กันบ่อยจากการทำหนังเรื่องที่แล้ว ทีนี้เราก็เข้าใจตรงกันแล้วว่าเราต้องสร้างทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเราก็สร้างประจำอยู่แล้วล่ะ แต่พอคุณพิมมาถาม เราก็คุยเรื่องนี้ คุยกันไปหลายรอบ เราก็คุยลึกขึ้นๆ คุณพิมก็เห็นว่ามันมีประเด็นหลักๆ เลยนะ วิธีคิดของปราชญ์ขับเคลื่อนบุรีรัมย์เนี่ยมันลึกมาก เป็นอีกมิติหนึ่ง เขาก็เอาเรื่องราวไปคุยกับอาจารย์ศัลยา ที่ทำบทภาพยนตร์ อาจารย์ก็บอกเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่จะไปหาคนลงทุนที่ไหน ผู้ผลิตทั่วไปก็จะมีธงของตัวเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างเราเขาจะเอาไหม สุดท้ายก็พยายามหาแหล่งทุน สุดท้ายก็ได้แหล่งทุนที่เข้าใจเรื่องนี้ ก็ทำไป แต่ก็มีปัญหาอยู่ดี ลดงบประมาณลงแต่เนื้อหาเท่าเดิม ก็เอา เราทำในชนบทของเราเองก็น่าจะโอเคอยู่หรอก
เราอยากขยายแนวคิดไปสู่ชาวบ้านทั่วไป คนที่จะสร้างทรัพยากรสู่โลกมีคนคิดน้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าไม่สร้างก็จะไม่มี มีคนเริ่มก่อนบ้าง ก็ดีขึ้น แต่ก็ทำเล็กๆ อยู่ในที่ตัวเอง แต่ถ้าเราจะให้ทุกหย่อมหญ้าเขียวไปทั่ว ก็ต้องมีหลายเรื่อง ต้องมีเรื่องสื่อ ก็น่าจะไปได้เร็ว ก็ตกลงกันว่าจะทำ ก็เอาเนื้อหาเราเป็นหลัก ตีปี๊บกันที่บุรีรัมย์ ซึ่งที่อื่นก็ถอดบทเรียนไปทำได้
ภาพยนตร์สร้างแรงบันดาลใจฟื้นฟูธรรมชาติ
พ่อคำเดื่อง เล่าถึงบรรยากาศการถ่ายทำว่า ไปถ่ายกันหลายที่ ที่สวนก็มาถ่าย การถ่ายทำก็ยากหน่อย เพราะความคิดของเรากับคนสร้างหนังก็คิดต่างกันหน่อย คนที่ทำหนัง ก็ไม่อยากเทียวไปเทียวมาถ่ายบ่อยๆ บางทีก็ถ่ายตอนต้นกับตอนท้ายวันเดียวกัน แค่เปลี่ยนเสื้อผ้า ทีนี้ชาวบ้านเราก็คิดเรื่องนี้ไม่เป็น เวลามาถ่ายกันก็จะมึนหัว ก็จะยากหน่อย และบทก็เขียนมาให้เราต้องพูดให้ตรงเป๊ะทุกคำ ทั้งที่เนื้อหามันคิดจากเราไป คำบางคำมันอาจจะแย้งกับวิธีคิดเรานิดหน่อย ก็ต้องเอาอย่างเขา ทีนี้พอ 3-5 รอบ มันชักมึน จะลืมคำหน้าคำหลัง ก็จะเครียด บางทีก็เรื่องฝนตก พวกกล้องพวกอุปกรณ์จะกลัวกันมาก ก็จะสนุกสนานวุ่นวาย แบบงงดีเหมือนกัน อย่างนั่งกัน 20-30 คน แค่คนหนึ่งขยับไป 2 นิ้ว ก็ต้องไปจับมาที่เดิม ก็ยากหน่อย แต่ก็สนุกสนานดี อย่างท่านผู้ว่าฯ ก็มาร่วมแสดงด้วย ตอนแรกท่านก็จะงงๆ เหมือนกัน มาถึงก็ให้ท่านกล่าวปิดก่อน แต่ท่านก็เร็ว สคริปต์นิดเดียวท่านก็กล่าวปิดได้ เสร็จปุ๊บก็ตัดมา แล้วค่อยให้ท่านกล่าวเปิดทีหลัง
เราก็หวังว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดเหมือนเรา คิดในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรื่องสนุกสนานอย่างเดียว บางคนต้องการความรู้ แต่ไม่มีคนสร้างหนังแบบนี้มาให้ คนที่ไปดูหนังเรื่องนี้จะได้คิดอีกมิติหนึ่ง มิติที่คนไม่ค่อยพูดกัน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างสิ่งแวดล้อม ก็จะมีคำถามมากมาย หนังเรื่องนี้ก็จะคลี่คลายข้อสงสัยไป อย่างคำถามว่าปลูกต้นไม้เมื่อไหร่จะโต คำตอบก็คือปลูกเมื่อไหร่ก็โตเมื่อนั้นแหละ ปลูกต้นไม้เมื่อไหร่จะได้ตัด ถ้าไม่ปลูกก็ไม่มีวันได้ตัด ถ้าปลูกเมื่อไหร่ก็มีโอกาสได้ตัดเมื่อนั้น แล้วต้นไม้ต้นหนึ่งเมื่อปลูกแล้ว เราอาจจะใช้เวลาปลูก 3 นาที แต่มันโตให้เรา 100 ปี ทำงานให้ฟรีโดยไม่ขอข้าวขอน้ำกิน แต่เราทำ 3 นาทีคุ้มมั้ย มีเรื่องอยู่ในนั้นเยอะแยะมากมาย คนก็จะคิดว่าอ๋อ ไม่น่าลืม จริงๆ ปลูกน้อยหน่า 3 นาที ได้กิน 20 ปี ปลูกมะนาว 1 ปีที ได้กิน 100 ปี ไผ่ 1 ปี กิน 80 ปี มันมีวิธีแบบนี้ในโลก ก็จะฉุกคิด ทุกคนรู้แต่ลืมคิด หนังเรื่องนี้ก็จะกระตุกความคิดให้กลับมาตั้งหลักใหม่ มาคิดเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ถ้าคนเข้าใจเรื่องนี้ ก็สามารถกลับไปทำได้ ไม่ยากเกินไป เป็นเรื่องง่ายเหมือนเส้นผมบังภูเขา
อันที่สอง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากตัวบุคคลและสิ่งที่ทำ ไม่ใช่เรื่องมโน สามารถไปดูได้ และพื้นที่พวกนี้ก็ไม่ใช่ของปราชญ์เท่านั้นนะ มันมีเยอะแยะในบุรีรัมย์ ก็จะเป็นแรงบันดาลใจได้ อันที่สาม พอทำไปได้ก็จะเสริมกำลังใจทั้งคนที่ทำอยู่ก่อน หรือคนที่กำลังตัดสินใจ จะเอาบ้างไม่เอาบ้างก็จะได้มั่นใจมากขึ้น อันสุดท้าย เดี๋ยวนี้โลกมันเปิด หลังจากฉายเสร็จ เราก็สามารถตัดสั้นๆ มาลง Youtube หรืออะไรพวกนี้ไว้ดูได้ ส่งให้ดูกันได้ ดูกลับไปกลับมาได้เยอะ ถ้ามันเป็นได้ก็เท่ากับจังหวัดบุรีรัมย์เราเดินรุกหน้าไปเตรียมการที่จะสร้างทรัพยากรให้โลกเพื่อจะส่งมอบให้ลูกหลาน ก็รู้สึกว่ามันมีใจร่วมกันที่จะทำเป็นหนึ่งเดียวกัน
การดูหนังเรื่องนี้แต่ละคนอาจจะเข้าถึงสาระสำคัญที่ต่างกัน
“เอ็ม-ศิววงศ์ แซ่ล้อ” ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า เนื้อหาหนังเรื่องนี้เป็นองค์ความรู้ค่อนข้างเยอะ พอเอามาทำเป็นภาพยนตร์ก็มีรายละเอียดหลายแง่มุม เวลาไปคุยกับพ่อคำเดื่อง ทุกครั้งที่ไป เรารู้สึกเหมือนพ่อคำเดื่องพาทะลุมิติตลอดเวลา เราก็เอาความรู้สึกแบบนั้นมาเล่าเรื่องในภาพยนตร์เรื่องนี้ และทุกศาสตร์ได้ผ่านการทดลองมาเป็นเวลานาน และได้คำตอบในการเข้าไจธรรมชาติกระจ่างแจ้งแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้แค่นำองค์ความรู้เหล่านั้นมาย่อยและเสนอในรูปแบบของความบันเทิง เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายและนำไปปรับใช้กับตัวเองได้ในหลายๆ ด้าน
ปกติการถ่ายทำภาพยนตร์ เราจะเริ่มจากจากการเขียนบทก่อนแล้วค่อยไปหาโลเคชั่น แต่ข้อดีของเรื่องนี้คือเรามีตัวจริง มีปราชญ์อยู่จริง มีสถานที่อยู่จริง เราสามารถลงไปหาข้อมูลได้ก่อน เรามีช่วงเวลาที่ลงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมตอนเขียนบท พอไปเห็นสถานที่จริงมันทำให้เราสร้างภาพได้ชัดขึ้นก่อนที่เราถ่ายทำด้วยซ้ำ แล้วเราไปทุกครั้งถ่ายรูปกลับมา คุยกับทีมงาน เรารู้สึกว่าบุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่แสงสวยมาก รูปสวยแทบจะทุกเวลา เช้า กลางวัน เย็น สวยหมดเลย มีความยากครั้งแรกที่เริ่มจะถ่ายทำ คือเราอยากเก็บความสวยงามให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่บางทีก็มีเรื่องสภาพอากาศ ถ่ายๆ อยู่ฝนตกก็มี เราโดนฝนไปหลายคิวเหมือนกัน ก็ต้องยกกล้องวิ่งหนีกัน แล้วค่อยไปถ่ายกันใหม่ ก็สนุกเหมือนกัน และโลเคชั่นแต่ละที่ก็มีความเมจิคอยู่ ตอนที่เราเขียนบทกันก็ยังไม่รู้ว่าภาพนั้นจะออกมาอย่างไร แต่พอเจอสถานที่จริง เราแทบจะไม่ต้องทำอะไรกับสถานที่นั้นเลย อย่างสวนของพ่อคำเดื่องเอง ที่ดาวดวงใหม่บนโลกใบเดิม หรือที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านแสงจันทร์ ของอาจารย์ไพรัตน์ ทั้งสองที่นี้เป็นที่ที่มหัศจรรย์สำหรับผมมาก เพราะหันไปทางไหนก็ถ่ายได้หมด
เรื่องนักแสดง ก่อนหน้าที่เราจะไปถ่ายทำ เรามีการซ้อมบทกัน มีการ workshop กัน ทุกคนก็ยังมองภาพไม่ออกว่าธรรมชาติจะเป็นอย่างไร ความอุดมสมบูรณ์ต่อหน้าตัวเองจะเป็นอย่างไร แต่พอไปถึงสถานที่จริงมันช่วยในการส่งอารมณ์ให้กับตัวแสดง ทำให้เราได้คำพูด ได้สายตาที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์แบบนั้นจริงๆ มีอยู่จริงในประเทศของเรา เราได้สัมผัสตรงนั้นในหนัง ก็ค่อนข้างสมบูรณ์เลยทีเดียว
สำหรับตัวหนังเอง ความพิเศษที่อยากให้คนดูสัมผัส อันดับแรก ตัวเอกของเรื่องเราอยากให้เป็นตัวแทนของเด็กรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าการไปหาอะไรบางอย่างแล้วยังไม่มีคำตอบ บางทีอาจจะอยู่ในความรู้สึกลึกๆ บางอย่างที่คุณไม่เคยค้นเจอในตัวเองมาก่อนก็ได้ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ไม่จำเป็นต้องไปหาที่ไหนไกล อาจจะอยู่ในบ้านตัวเอง ความพิเศษอีกเรื่องหนึ่งคือ การดูหนังเรื่องนี้แต่ละคนอาจจะเข้าถึงในสาระสำคัญที่ต่างกันจาก 5 เมล็ดพันธุ์นี้ ต้องคอยดูว่าดูจบแล้ว แต่ละคนจะรู้สึกอย่างไรกับ 5 เมล็ดพันธุ์นี้ หรือสามารถเอาส่วนหนึ่งส่วนใดที่ประทับใจไปปรับใช้กับชีวิตตัวเองได้ อันนี้เป็นส่วนสำคัญ
ตอนนี้เวอร์ชั่นแรกเสร็จแล้ว อาจารย์ศัลยา กำลังช่วยดู และปรับให้สนุกมากยิ่งขึ้น ก็อาจจะมีการ re-edit อีกครั้ง สองครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อหาสมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้คนดูได้รับความบันเทิง ความสนุก และสาระมากที่สุด ส่วนเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ขับร้องโดย พี่ปาน-ธนพร และพี่เอ๊ะ-ละอองฟอง ตอนนี้เพลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว MV ใกล้คลอดแล้ว น่าจะได้ฟังภายในเดือนนี้ ซึ่งถ้าได้ดู MV แล้วจะอยากดูหนังทันที
เอ็ม ทิ้งท้ายว่า ทีมงาน และนักแสดงทุกท่าน ตั้งใจที่จะมอบสาระ สารที่มีความรู้ดีๆ จากปราชญ์ชาวบ้าน และชาวบุรีรัมย์ให้ไปสู่สายตาของทุกท่าน และสร้างความบันเทิงให้ทุกคนได้รับสารดีๆ และนำไปปรับใช้กับชีวิตได้ครับ
ภาพยนตร์เรื่อง “THE MAGIC SEEDS – มหัศจรรย์เมล็ดพันธุ์เหนือมิติ” ได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) ปี 2566 โดยมีกำหนดฉาย ดังนี้
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 งานเยือนศิลป์ แผ่นดินปราชญ์ ม.ราชภัฏบุรีรัมย์
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 โรงภาพยนตร์เอ็มวีพี บุรีรัมย์ ทวีกิจ ซุปปอร์เซ็นเตอร์ จ.บุรีรัมย์
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ม.ราชภัฏศรีสะเกษ
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ม.ราชภัฏนครราชสีมา
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ม.ราชภัฏมหาสารคาม
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ม.ราชภัฏสกลนคร