กองทุนสื่อฯ รุก สร้างมูลค่าเพิ่มผลงานสื่อ บุกแพลตฟอร์มดัง หวังตีตลาดนอก

การประกาศรับสมัคร ผอ.ฝ่ายพัฒนามูลค่าเพิ่มและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ แสดงให้เห็นว่า ภารกิจการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลงานของกองทุนสื่อฯ มีความคืบหน้าชัดเจน Media Trust Thailand สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ธนกร ศรีสุขใส  ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่ออัพเดทภารกิจที่ต้องถือว่าเป็นการเปิดแนวรุกที่ท้าทาย

 
ความคืบหน้าในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลงานของกองทุนสื่อฯ

ทรัพย์สินทางปัญญาของกองทุนสื่อฯ ผลงานที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 เรามีหลายชิ้นและผลงานบางชิ้นทำครั้งเดียว แต่ไม่ได้ตายไป เช่น ภาพยนตร์ ในปี 2566 ที่ผ่านมาเราก็ริเริ่มที่จะเอาผลงานของเราที่ผลิตเอง หรือผู้รับทุนผลิตไปจดลิขสิทธิ์ ตอนนี้เรามีชิ้นงานที่จดลิขสิทธิ์แล้วประมาณ 40 ชิ้นงาน และกำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เด่นๆอย่าง เช่น ละครซีรีย์เรื่องนักสืบสายรุ้ง ภาพยนตร์เรื่อง A time To Fly ซึ่งเพิ่งไปได้รางวัลมาจากประเทศจีน  เป็นรางวัล ช้างทองเชิดชูเกียรติภาพยนตร์ดีเด่น ในงานสัปดาห์ภาพยนตร์นานาชาติล้านช้าง – แม่โขง (Golden Elephant Honor for Outstanding Film to the 5 th Lancang – Mekong International Film week) ระหว่างวันที่ 22-26 ธันวาคม 2566 ณ นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ตอนนี้กำลังจะไปฉายในงานเทศกาลที่ญี่ปุ่น และส่งประกวดอีกหลายประเทศ นอกจากนี้ยังจะมีภาพยนตร์ที่จะเปิดตัวในปีนี้ก็คือ พระร่วง ซึ่งคิดว่า ไม่น่าจะผิดหวังเพราะผ่านการตกผลึก ทีมผู้สร้าง ผู้กำกับ ถือว่า มีฝีมือ ตั้งใจทำงานกันเต็มที่ เรื่องโขนภาพยนตร์ จริงๆ ก็ยังไม่ได้เอามาทำให้เกิดมูลค่าทางการตลาดอย่างเป็นจริงเป็นจัง และยังมีงานของผู้รับทุนอีกหลายชิ้นงานที่อยู่ระหว่างการผลิต เช่น ละครเรื่องมนต์รักกันตรึม ที่นำเสนอศิลปะอีสานจากบุรีรัมย์ ปันหยี I Sea You ภาพยนตร์ที่เนื้อหาส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวและเรื่องราวของความรัก

จะเห็นได้ว่า เราต้องการเอาผลงานเหล่านี้มาเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ เราก็เล็งไปที่การผลิต Content หรือ ส่งเสริมให้ผลิต Content แล้วส่งออกไปขายในต่างประเทศ ในรูปแบบต่างๆ ทั้ง ฉายเป็นภาพยนตร์ ขายลิขสิทธิ์ การขายให้ Platform ในระบบ Live Stemming  หรือ พวก Netflix เป็นต้น ปีที่แล้วก็เลยมีการขอปรับโครงสร้างส่วนงานของสำนักงาน เพิ่มฝ่ายพัฒนามูลค่าเพิ่มและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ซึ่งบอร์ดให้ความเห็นชอบได้ประกาศเป็นข้อบังคับว่าด้วยการแบ่งส่วนงานของกองทุนสื่อฯ แล้ว ภายใต้กรอบอัตรากำลังเดิมเราสามารถที่จะรับตำแหน่ง ผอ.ฝ่ายนี้ได้ วันนี้กองทุนสื่อฯ รุกไปอีกขั้น คือต้องการมืออาชีพที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของธุรกิจ Content เข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สามารถดีลกับตลาดในต่างประเทศได้ มีความรู้เรื่องภาพยนตร์ อุตสาหกรรมบันเทิง ภาพยนตร์ แบบไหนตลาดเป็นอย่างไร เป็นอีกขั้นหนึ่ง ขั้นต่อไปกองทุนสื่อฯ หวังว่าจะเป็น Content Provider ที่เข้มแข็ง จะเป็นหน่วยงานกลางที่ส่งเสริมผู้ผลิต Content ในประเทศไทยและนำ Content นั้นไปขายต่างประเทศ ขายเรื่องราวดีๆ ที่ทำให้คนไม่ใช่รู้จักคนไทย มาเที่ยวเมืองไทย แต่มาเที่ยวอย่างเคารพไม่ใช้มาปู้ยี่ปู้ยำ มาเที่ยวอย่างนักท่องเที่ยวคุณภาพ มาซึมซับกับสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม

 

ย้อนไปเรื่อง A time to fly คิดว่า ความสำเร็จมาจากอะไร

หนึ่ง เป็นต้นแบบของการสร้างภาพยนตร์ มาจากการที่เนื้อเรื่อง BASE ON TRUE STORY ซึ่งจริงๆ แล้ว เรื่องราวที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมีเยอะมาก และภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถนำเสนอได้ดีภายใต้ต้นทุนที่มีอยู่ ซึ่งจะเป็นการจุดประกายว่า การสร้างภาพยนตร์เราไม่ต้องกังวลเรื่องทุนสร้างมาก 

 
ผู้ผลิตรุ่นใหม่น่าจะนำกรณีนี้เป็นตัวอย่างกับการอาศัยกลไกของกองทุนสื่อฯ มาทำตามฝันของตัวเอง

การสนับสนุนทุนของกองทุนฯ แม้จะมีข้อจำกัดบ้าง แต่เราได้คนมีฝีมือมาทำงานเยอะ และกล้ายืนยันว่าถ้าข้อเสนอดีจริง คุณได้ทุนสนับสนุนแน่นอน

 

ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ที่จะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้

คือหนังไปง่ายที่สุด ซีรี่ย์ ละคร เราก็ทำส่วนอื่นๆ มุมของเรา Soft Power ทุกรูปแบบในมุมของกองทุนสื่อฯ ก็คือ การใช้สื่อไปสร้างให้สิ่งที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมได้เป็นที่รู้จัก เพราะฉะนั้นเวลาเราจะไปใช้ Soft Power ในการส่งเสริมอาหารไทย ต้องไปแฝงไว้ในรูปของภาพยนตร์  ละคร ไม่ใช่เราจะไปจัดกิจกรรมเพื่อขายอาหาร อาจจะเป็น คอนเสิร์ต ละครสั้น ละครซีรีย์ ภาพยนตร์

 
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ก่อนหน้านี้ความพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดำเนินการอยู่บ้าง แต่อำนาจต่อรองมีน้อย วันนี้มีความพร้อมมากกว่าอย่างไร

อำนาจต่อรองน้อยเพราะอดีตที่ผ่านมา ภาคเอกชนก็อยู่ในลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ขาดการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐ อันนี้ดู Pain Point ก่อน สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมา การส่งเสริมของภาครัฐเพิ่งจะตื่นตัวในระยะหลังๆ เพราะฉะนั้นเวลาเอาไปขาย งานของเราก็ยังมีชิ้นงานไม่มากให้เขาเลือก พอเขาปฏิเสธเราก็ไม่มีตัวอื่นขายแล้ว แต่วันนี้เราคิดทำทั้งกระบวนการ คือ ส่งเสริมที่จะให้มีการสร้างวงจรของการผลิตสื่อสร้างสรรค์ หรืออุตสาหกรรมบันเทิงตั้งแต่เริ่มต้นด้วยงาน Creative งานเขียนบท งานพัฒนาผู้กำกับที่มีความสามารถหลากหลาย มีความถนัดที่แตกต่างกัน งาน Production ของเราต้องถือว่าเก่งพอสมควรอยู่แล้ว พวกงาน CG คนไทยทำได้ดี แต่งานที่ยังเป็นจุดอ่อนคืองานจัดจำหน่าย ซึ่งถ้ารัฐหลายหน่วยงานมาช่วยกัน เอกชนไม่ต้องมาแบกภาระมากจนเกินไป เทศกาลภาพยนตร์เราควรมีการคัดเลือกภาพยนตร์ แล้วสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เขาจะเดินทางไป  ก็จะทำให้ Content ของไทยมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้นเรื่อยๆ 


การทำภาพยนตร์ที่มีกรอบต้องมีเนื้อหาปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะโดนใจตลาดหรือเปล่า

เราชัดเจนว่า เราทำไม่ใช่เอาเงินอย่างเดียว แน่นอนว่าเนื้อหาต้องเชิงบวก ซึ่งเราคิดว่า การทำเนื้อหาเชิงบวกไม่ใช่เป็นข้อจำกัด เช่น ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ นำเสนอเรื่องราวของผู้คนที่สามารถมาสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งหลายประเทศก็ทำและประสบความสำเร็จ เราก็ทำหน้าที่ภายใต้ขอบเขตของเรา 


ในอนาคตเราจะเห็นภาพการนำภาพยนตร์ของกองทุนสื่อฯ ไปตามเทศกาลต่างๆ

ถูกต้อง เราก็ตั้งเป้าอย่างน้อยภาพยนตร์ที่กองทุนสื่อฯ มีส่วนร่วมสนับสนุน ทั้งการให้ทุน 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ การร่วมผลิต หรือ ร่วมผลิตแบบที่เราไม่ต้องให้ทุนเยอะ อย่างน้อยปีละ 10 เรื่อง เราก็มาบริหารจัดการเพื่อจะเอาไปเผยแพร่ต่างประเทศ