กองทุนสื่อฯ เตรียมจัด Creative Content Creator Conference ดึงมือฉมังวงการบันเทิงระดับโลก

หลังกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมมือ KOCCA สร้างความสำเร็จกับการงาน K-EXPO Thailand 2023 การต่อยอดงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Content ของไทย กำลังจะก้าวไปอีกขั้นกับการจัดงาน “International Creative Content Creator Conference” ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงแนวคิด และเปิดแผนการทำงานที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

 
ทราบว่าปีหน้า กองทุนสื่อฯ จะจัดงานลักษณะ Content Expo

ไม่ใช้คำว่า Expo เป็น International Creative Content Creator Conference เป็นความร่วมมือกับ Kocca และจัดคล้ายการประชุมวิชาการ ประชุมกัน 3 วัน เป็นงานระดับโลกที่เชิญคนในอุตสาหกรรมบันเทิง ตั้งแต่คนเขียนบท ผู้กำกับ งาน Production ร่วมถึงช่องทางจัดจำหน่าย เราต้องการสร้างเวทีให้กับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงและกระตุ้นบรรยากาศให้ผู้ผลิต Content ในประเทศไทยได้เรียนรู้กระตือรือร้น

 
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
แนวคิดงานนี้ต่อยอดมาจากความร่วมมือกับ Kocca อย่างไร

เราต้องการสร้างโอกาสในการพัฒนาผู้ผลิตหน้าใหม่ๆ จู่ๆ ให้เขามา อยากเป็นผู้ผลิต เขามองไม่เห็นภาพ แต่เขาได้เห็นได้ฟังประสบการณ์จากผู้กำกับระดับโลก จากคนเขียนบทระดับโลก ซึ่งเราจะเชิญมา มีทั้งเกาหลี จีน อินเดีย ล่าสุด ผู้กำกับจากอินเดียต้องการเข้ามาคุยกับกองทุนสื่อฯ เขาสนใจที่จะมาทำ Content ในประเทศไทย ทำไมมีเทศกาลหนังเมืองคานส์ ทำไมไม่มีเทศกาล Bangkok Film ซึ่งเราเริ่มทำ ตอนนี้เดอะ เนชั่น กำลังทำอยู่เราก็ไปร่วมสนับสนุน มีงานพบปะผู้ผลิตสารคดีทั่วโลกที่ฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นเมืองไทยต่อไปเป็นที่รู้กันเลยว่า 1 ปีจะต้องมี  Creative Content Creator Conference ช่วงเวลาที่จัดจะเป็นต้นเดือนกันยายน

 
ผู้กำกับจาก Bollywood ที่จะมาคุย ชื่ออะไร

Pan Nalin เขาต้องการมาหาผู้ร่วมทุนทำหนัง


พักหลังๆ เห็นกิจกรรมสร้างคน ของกองทุนสื่อฯ มีค่อนข้างชุก

ตอนนี้ยังมีอีกหลายหลักสูตรอบรมที่จะตามมาอีกมาก เราไม่สามารถบุกได้ในช่วงปลายปี เพราะงบประมาณยังไม่มา

 

 

ภารกิจการสร้างคน ถือเป็นนวัตกรรม หรือเปล่า

เป็นงานที่ระบุใน พรบ. กองทุนสื่อฯ มาตรา 5 เขียนชัด การพัฒนาศักยภาพผู้ลิตแล้วเราก็ไปดูตัวแบบจากเกาหลี ว่าทำอย่างไร ก็พบว่า เกาหลีทำอย่างเป็นกระบวนการมาก มีการสร้างสิ่งอำนวยสะดวกให้ตั้งแต่เด็กรุ่นใหม่ เด็กอยากจะเขียนบท อยากจะเต้น อยากจะเป็นผู้กำกับ มีให้เรียนหมด สอนให้ทำ Start up ด้วยสอนให้ทำธุรกิจ นั่นเป็นที่มาที่เราก็มีโครงการ Hackathon ให้เขาเสนอโครงการ pitching เราหาผู้ลงทุนมาให้อย่าง จั่นเป็ง Pro Max ได้ผู้ลงทุน 1 ล้านบาท ตอนนี้ไประดมทุนได้มา 10 ล้าน และรอระดมงวดต่อไปอีก 10 ล้าน เขาจะสร้างหนัง นี่คือแนวทางสร้างคนทั้งหมดเลย

 
จั่นเป็ง จะเดินแนวธุรกิจเหมือน ไทบ้าน หรือเปล่า แต่เป็นของคนภาคเหนือ

น่าจะคล้ายๆ

 

กองทุนสื่อฯ มีแนวคิดจะสร้างศูนย์เรียนรู้รองรับ Content Creator หรือเปล่า

มีอยู่ในแผนเลย เราจะต้องมีคล้ายๆ TMF Academy หรือ  Media Learning Center ที่เป็น working Space และเราไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกรุงเทพ ควรจะมีทุกภูมิภาค อย่างที่นครศรีธรรมราช ผมก็ได้ไปคุยกับคุณนาคร บวรรัตน์ มาแล้ว ที่อื่นๆ เราก็อยู่ระหว่างการพูดคุย

 
งบประมาณกองทุนสื่อฯ ปีหนึ่งไม่มาก แต่ต้องมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้

ก็ต้องขอเพิ่มงบประมาณ

 

ความเคลื่อนไหวในการเสนอแก้ไข พรบ.ฯ กองทุนสื่อฯ

เป็นไปตามกฎหมาย คือ จะมี พรบ.การประเมินผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมาย ตั้งมาแล้วครบ 5 ปีต้องประเมินว่า ที่ดำเนินการมาประสบความสำเร็จไหม ต้องมีอะไรปรับปรุงไหม ซึ่งในมุมผมต้องถือว่าประสบความสำเร็จ แต่มี 2-3 เรื่องที่ต้องแก้ เช่นเรื่องปีงบประมาณของเรากับแหล่งทุน ไม่ตรงกัน ปีงบประมาณกองทุนเริ่ม 1 ตุลาคม ตามปีงบประมาณแผ่นดิน ขณะที่ กสทช.ต้องรอไปอีก 3 เดือน  อันที่สอง อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาทุน ตอนนี้เป็นของอนุกรรมการบริหาร ซึ่งมีที่มาจากสัดส่วนภาครัฐมากไปหน่อย ซึ่งจะมีการสรุปความเห็นเข้า ครม.