ปิดจุดเสี่ยงละเมิดลิขสิทธิ์ ยุค Generative AI

ในปี 2567 ปัญญาประดิษฐ์หรือ Generative AI ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสร้างข้อมูลข่าวสารและสื่อในรูปแบบต่างๆ ส่งผลกระทบไปสู่ทุกวงการ โดยเฉพาะวงการ Content Creator เพราะ AI สามารถสร้างภาพ เขียนบท แก้ไขรูป ตัดต่อ หรือแม้แต่ลอกเลียนเสียงของมนุษย์ได้แล้ว คำถามก็คือ ผลงานที่ถูกสร้างสรรค์โดย AI นี้จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายหรือไม่?

ช่วงปลายปีที่ผ่านมากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดในงานเสวนาวิชาการเชิงนวัตกรรม (Think Tank) เพื่อยกระดับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปี 2 โดยในงานดังกล่าวมีการเสวนา Bridging Humanity and AI : จะเป็นอย่างไร เมื่อมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ร่วมมือกันสร้างสรรค์สื่อ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองการใช้ AI ในวงการสื่อ ยกระดับการทำงานในอนาคต มีการบรรยายให้ความรู้จากวิทยาการผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ในหลากหลายวงการ

หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจก็คือ “Generative AI ใช้อย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์” โดยวิทยากรได้แก่ ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อัศวิน อัศวพิทยานนท์ Senior Graphic Designer บริษัท DataX จำกัด และศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงานกำกับดูแลและคุ้มครองผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นในยุคที่สื่อต่างๆ เข้าถึงได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว 

ศิริลักษณ์ อธิบายถึงนิยามของกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ว่า “ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้” ซึ่งตีความว่า “ผู้” หมายถึงบุคคล ดังนั้นผลงานที่สร้างโดย AI จึงยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับปัจจุบัน 

ศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา

แต่ถ้าผลงานนั้นเกิดจากการที่มนุษย์ได้ใช้ความวิริยะพยายามในการสร้างสรรค์ผลงานออกมา แล้วให้ AI ช่วยต่อเติม ตกแต่ง และเก็บรายละเอียดให้ ก็จะถือว่ามนุษย์เป็นเจ้าของผลงานนั้นด้วย ซึ่งผลงานของผู้สร้างสรรค์จะครอบคลุมถึง การเขียน prompt หรือคำสั่งที่มีความยากซับซ้อน ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ความพยายาม เพื่อก่อให้เกิดผลงานในเชิง Generative AI ออกมา 

ส่วนคำว่า ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่นโดยงานที่สร้างสรรค์ ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครอง และผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีแม้ยังไม่ได้จดทะเบียน 

 
AI – draft / มนุษย์- craft

หากตีความตามนิยามกฎหมายข้างต้นก็สรุปได้ว่า ลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นทันที เมื่อมีมนุษย์ได้ใช้ความพยายามวิริยะอุตสาหะสร้างสรรค์ผลงานออกมา ซึ่งครอบคลุมถึงผลงานที่มีการใช้เครื่องมืออย่าง AI ในการผลิตด้วย 

โดย AI มีบทบาทเป็นผู้ขึ้นโครงร่างและมนุษย์เป็นผู้เจียรนัยผลงาน หรือ AI–draft / มนุษย์-craft และลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นกับส่วนที่เป็นผลงานของมนุษย์ทันที แม้จะยังไม่ได้จดแจ้งลิขสิทธิ์ก็ตาม 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกฎหมายลิขสิทธิ์จะให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ครอบคลุมผลงาน 9 ประเภทเท่านั้น ได้แก่

1. งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ บทความ บทกลอน งานประพันธ์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์

2. นาฏกรรม เช่น ท่าเต้นหรือท่ารำที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว

3. ศิลปกรรม เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย

4. ดนตรีกรรม เช่น เนื้อร้องและทำนองเพลง 

5. โสตทัศน์วัสดุ เช่น วีซีดี คาราโอเกะ คลิปวิดีโอในช่องออนไลน์ต่างๆ  

6. ภาพยนตร์ทุกประเภท

7. สิ่งบันทึกเสียง ได้แก่ วัสดุบันทึกเสียงทุกประเภท เช่น ซีดีเพลง USB หรืออุปกรณ์อื่นๆ

8. งานแพร่เสียง แพร่ภาพ เช่น รายการโทรทัศน์ รายการออนไลน์ต่างๆ

9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ เช่น การเพ้นท์ ศิลปะบนร่างกายหรือการสัก เป็นต้น

 ปัจจุบันประเภทของงานที่มีการใช้ AI ในการผลิตมากที่สุดก็คือ ภาพวาด ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ หนังสือ และบทเพลง 

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า  ลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นทันทีที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ประเทศไทย และประเทศต่างๆ กว่า 140 ประเทศ ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญากรุงเบิร์น ส่วนการไปจดแจ้งลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเป็นขั้นตอนการบันทึกข้อมูลการใช้งานลิขสิทธิ์ เพื่อให้มีเอกสารหลักฐานสำหรับการพิสูจน์ในชั้นศาลหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น 

ซึ่งกระบวนการฟ้องร้องสิทธิ์ใช้ชั้นศาล จะมีการสืบพยานโดยมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเภทมาพิสูจน์กรรมสิทธิ์ในผลงานนั้นๆ 

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ ศิริลักษณ์ แนะนำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานควรแสดงความเป็นเจ้าของไว้ในงานนั้นๆ ด้วย เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ในภายหลัง โดยสามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 


เทคนิคปกป้องสิทธิ์ตนเองและไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น

“ไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น และป้องกันไม่ให้ผู้อื่นละเมิดสิทธิ์เรา” เป็นคาถาป้องกันและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับนักสร้างสรรค์ในยุคดิจิตอล ศิริลักษณ์ แนะนำเทคนิคการนำภาพ คลิปวิดีโอ หรือผลงานใดๆ จากต้นทางมาใช้ในงานสร้างสรรค์ว่า  

“ควรมีการขออนุญาตและเก็บข้อความการอนุญาติไว้เป็นหลักฐานเพื่อปกป้องตนเอง เพราะหากเป็นการนำผลงานไปใช้ในพื้นที่สาธารณะ ก่อให้เกิดรายได้หรือผลประโยชน์ร่วมด้วย จะเข้าข่ายการใช้ประโยชน์จากผลงานนั้นๆ ซึ่งหากไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของผลงาน จะมีความผิดตามกฎหมาย”

สำหรับฐานความผิดการละเมิดลิขสิทธิ์ จะแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ดังนี้ 

การละเมิดลิขสิทธิ์ในขั้นต้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการนำกับผลงานต้นฉบับไปใช้ประโยชน์  มีโทษดังนี้

– การทำซ้ำ ดัดแปลง  และเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท

– นำไปทำเพื่อการค้า จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

การละเมิดลิขสิทธิ์ในขั้นรอง ซึ่งทำกับผลงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์และถูกทำปลอมขึ้นมา โดยผู้กระทำรู้อยู่แล้วและนำไปใช้ประโยชน์ จะมีโทษดังนี้ 

– นำผลงานดังกล่าวไปหากำไร โดยขายหรือให้เช่า เผยแพร่สู่สาธารณชน แจกจ่ายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท

– นำไปทำเพื่อการค้า จำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

ท่องคาถา เช็คให้ชัวร์

ในยุคที่มนุษย์และปัญญาประดิษฐ์อย่าง AI ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ซึ่งกฎหมายให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์เฉพาะส่วนที่เป็นความสามารถของมนุษย์ ดังนั้นการนำผลงานต่างๆ ในโลกออนไลน์มาใช้ประโยชน์ ก็ควรตรวจสอบต้นทางของผลงานนั้นๆ เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

และในกระบวนการตรวจสอบลงโทษทางกฎหมาย ยังต้องระวังมิจฉาชีพที่สวมรอย แฝงตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเรียกร้องค่าปรับจากผู้ประกอบการ จึงต้องมีการตรวจสอบผู้อ้างตัวอีกชั้นหนึ่ง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้แอบอ้างด้วย