Go Inter ! เป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง อริญชัย รัตนวิจิตร ผู้กำกับ “ปันหยี I Sea You”

ช่วงปี 2566 ที่ผ่านมาภาพยนตร์กองทุนสื่อฯ หรือภาพยนตร์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีการเปิดตัวฉายในโรงภาพยนตร์ หลายเรื่อง อาทิ โขนภาพยนตร์ หนุมาน WHITE MONKEY , บินล่าฝัน – A Time To Fly และ Duck Academy แน่นอนว่า  ภาพยนตร์เหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความรู้สึก Fell Good ซึ่งเป็นมูลค่าที่ประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ง่าย

และในปี 2566 นี่เอง ที่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ทุนสนับสนุนประเภทเปิดรับทั่วไปกับโครงการสร้างภาพยนตร์ เรื่อง “ปันหยี I Sea You” ของ อริญชัย รัตนวิจิตร 

 

อริญชัย คือคนที่นิยามตัวเองว่า เป็น Producer, Creative, Director, Editor and Photographer of Film & Commercial Art ใน Bio อริญชัย ระบุว่า  เขาทำหนังตั้งแต่เรียนปี 1 เรื่อง “Don’t be late | อย่าให้สาย”  เพื่อส่งเข้าประกวดในองค์กรระดับโลกเฝ้าระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ของ UNFPA และเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์จริงๆ ตั้งแต่อยู่ปี 2 ผลงานของ อริญชัย มีทั้ง หนังสั้นเช่น   อย่าให้สาย,  กำปั้น,  ห้องขังห้องสุดท้าย,   #แค่ได้…คิดถึง, รักในวัยเรียน, งานสารคดี เช่น  แค่นี้ก็ดีแล้ว  โปรเจคต์ร้าย…กับชายคนนั้น นอกจากนี้ก็มีผลงานภาพยนตร์โฆษณาหลายเรื่อง

ประเด็นน่าสนใจที่จะหาคำตอบก็คือ “ปันหยี I Sea You”  และ อริญชัย  มีความโดดเด่นอะไร จึงทำให้กองทุนสื่อฯ อนุมัติงบประมาณ ให้สร้างภาพยนตร์ 

อริญชัย รัตนวิจิตร ผู้กำกับ “ปันหยี I Sea You”

Media Trust Thailand  พูดคุยกับ  อริญชัย ในงานบวงสรวงเปิดกล้องภาพยนตร์ “ปันหยี I Sea You”  เพื่อหาคำตอบ 

 
อยากให้เล่าถึงที่มาและแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องนี้

ภาพยนตร์ชื่อเรื่อง “ปันหยี I Sea You”  ที่มาคือเราเห็นประกาศจากกองทุนสื่อฯ ว่าสามารถของบประมาณมาสร้างภาพยนตร์ได้ ซึ่งในปีนั้นเราเจอสถานการณ์ทั้งโควิดและการเมือง สิ่งที่เราทำได้คืออยากทำหนังสักเรื่องด้วยบริษัทของเราเอง เพื่อกระจายความรัก กระจายความเข้าใจออกไป เราอยากสร้างโลกที่เต็มไปด้วยความรักและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เลยนึกถึงสถานที่หนึ่งที่เคยไปตอนอายุ 16 นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมลงไปใต้แล้วไปเจอเกาะปันหยีที่อยู่กลางทะเล ซึ่งไม่มีดินเลย เราเลยเอาตรงนั้นมาต่อยอด

ตัวละครและพล็อตเรื่องเป็นอย่างไร

เรื่องนี้มีคนเขียนบท 3 คน ตอนแรกเลยเราไม่ได้สร้างตัวละครที่เป็นหมอ แต่มีไอเดียว่า อยากให้มีเรื่องราวของคนที่มีความต่างทางศาสนาหรือวัฒนธรรม มาอยู่ที่ปันหยี ซึ่งมีความแตกต่างทั้งศาสนา วัฒนธรรม และภาษา อยากให้คนกรุงเทพฯ แท้ๆ ไปเจอกับพื้นที่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน เลยเกิดเป็นตัวละครขึ้นมาเป็นตัวละครหลักคือ ปาร์ค หมออินเทิร์นซึ่งมาเรียนหมอเพราะอยากรักษาแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย แต่ตอนเรียนปี 5 แม่ก็มาจากไป เขาจึงเหมือนสูญเสียทุกอย่างในชีวิต พอเรียนจบก็ไปทำงานใช้ทุน ปาร์ค จับสลากได้โรงพยาบาลพังงา ก็ไปทำงานรักษาคนไข้แบบไม่มีแพชชั่น เป็นหมอที่ไม่ดี จนมีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องติดทัณฑ์บนกับอาจารย์หมอ (แสดงโดย เป็ป-ณพสิทธิ์ เที่ยงธรรม) ซึ่งถ้าในปีนี้ ปาร์ค เป็นหมอที่ดีไม่ได้ ก็จะเรียนไม่จบและต้องอยู่ที่พังงาต่อ ด้วยความที่เขาไม่อยากอยู่พังงาต่อ ก็เลยต้องพยายามเป็นหมอที่ดีให้ได้ ซึ่งความพยายามเป็นหมอที่ดี กลายเป็นว่า เขาได้ไปเป็น Hero ของเกาะ และหลงรักคนไข้ หลงรักผู้คน หลงรักวัฒนาธรรมบนเกาะปันหยี เมื่อกลับมากรุงเทพฯ ก็รู้สึกว่าไม่มีที่ไหนเหมือนปันหยีอีกแล้ว ก็ถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจะอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือจะกลับไปปันหยี 

 
ทราบมาว่าหนังดังตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ

 เรื่องนี้โชคดีได้ พี่เป็ป-ณพสิทธิ์ มาเป็น Executive Producer ได้พี่บอย Hollywood Thailand มาร่วม distribute หนังเรื่องนี้ให้นักแสดงเต็มที่มากๆ ตอนนี้หนังก็ไปดังที่อินโดนีเซีย ทั้งๆ ที่ยังไม่เสร็จด้วยซ้ำ เพราะมีประวัติเล่าว่าต้นกำเนิดของชาวปันหยีมาจากอินโดนีเซีย มาจากชวามาปักธงที่นี่ เขาก็สนใจเพราะมีความเกี่ยวพันกัน บวกกับแฟนคลับของนักแสดง อย่าง “กิ่ง-อารียา” หรือ “เชฟ – ไชสวัสดิ์” ที่มีฐานแฟนคลับกว้างมากๆ 

มีสำนักข่าวจากฝั่งอินโดนีเซียที่ลงข่าวหนังเรื่องนี้ ก็มีการติดต่อมาอยากให้เอาหนังเรื่องนี้ไปฉายที่อินโดนีเซีย ก็เลยมองว่าเป็น Soft Power อย่างหนึ่ง จากเรื่องราวที่เป็นเรื่องของเกาะปันหยี และคลิปตัวอย่างที่เราปล่อยออกไป ทำให้เขาสนใจมากๆ และนางเอกของเราก็เป็นมุสลิมด้วย เขาก็ค่อนข้างสนใจ รวมไปถึงการอยู่ร่วมกันของคนต่างศาสนา ซึ่งผมมองว่า ไม่มีที่ไหนเหมือนประเทศไทย เขาก็คงอยากเห็นมุมมองอื่นๆ เรื่องการอยู่ร่วมกันของคนต่างศาสนาด้วย

 
วางคิวถ่ายทำไว้อย่างไร

เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราถ่ายทำไปแล้วประมาณ 3 คิว และจะลงใต้ไปถ่ายอีก 10 คิว ช่วงปลายเดือนมกราคม 

 

คาดว่าจะถ่ายทำเสร็จและเข้าโรงเมื่อไหร่

น่าจะไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่ถ่ายทำเสร็จก็ต้องไปทำ Post production ต่อ และในช่วงเดือนพฤษภาคม จะเอาหนังไปที่ market ที่เมืองคานส์ ลองไปเปิดตลาดดูว่ามีชาติไหนสนใจซื้อหนังของเราไปฉายไหม ซึ่งตามแพลนจะฉายที่เมืองไทยประมาณกลางเดือนพฤษภาคม

 
ต้องหาทุนสนับสนุนจากที่อื่นเพิ่มไหม

ก็หาเพิ่มครับ และทางกองทุนสื่อฯ ก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไร เราก็หาทุนมาเสริมได้ ถ้าทุนเราไม่พอ ความแฟร์ของกองทุนสื่อฯ คือถือลิขสิทธิ์คนละครึ่ง เวลาเราเอาหนังไปทำอะไรก็มาคุยกัน ค่อนข้างเปิดในการให้ผมเอาหนังออกไป 


เห็นว่าเพิ่งเปิดบริษัท เป็นบริษัทน้องใหม่

ตัวบริษัทเปิดมาไม่นานมาก ก่อนหน้านี้ผมทำงานมาค่อนข้างหลากหลาย เขียนบทภาพยนตร์ เป็น producer ภาพยนตร์ พอหลังๆ ลูกค้าเข้ามาหาเรามากขึ้น เลยคิดว่าเราโตพอที่จะเปิดบริษัทเอง พอเปิดได้ 1 เดือน ก็ไปเจอประกาศเปิดรับโครงการของกองทุนสื่อฯ เลยส่งเรื่องนี้เข้าไป ก็ถือว่าเป็นบริษัทที่ใหม่มากๆ 

 
ทำไมหนังเพิ่งเริ่มถ่ายทำ

ความเข้มข้นของกองทุนสื่อฯ จากที่เรานำเสนอโครงเรื่องไปแล้ว แต่การพัฒนาบทแต่ละขั้นของกองทุนสื่อฯ จะมียิบย่อยเยอะมาก เช่น บทแข็งแรงหรือยัง บทเป็น Soft Power หรือยัง คนจะอยากดูหนังเรื่องนี้ไหม แล้วเขาก็ค่อนข้างคาดหวังมากๆ ว่าหนังเรื่องนี้จะไปได้ไกล เลยทำให้ทางกรรมการของกองทุนสื่อฯ ยังไม่ปล่อย ผมก็ต้องกลับมาแก้บทจนเป็นเวอร์ชั่นที่ 7 ดราฟท์ที่ 15 ที่ใช้ถ่ายปัจจุบันนี้ มันต้องผ่านกระบวนการ เราตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ ต้องมีกรรมการของกองทุนสื่อฯ มาช่วยกันดูว่าตรงไหนที่ยังไม่ดีพอ ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีเหมือนกันว่าเราต้องคิดหลายๆ ทาง เนื่องจากผมเลือกประเด็นเรื่อง Soft Power ไป พี่ที่ดูแลบท เขาก็ทำหนัง ทำละครมาเยอะพอสมควร คือมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะจุดเลย คนนี้ดูบท คนนี้ดู production คนนี้ดูภาพรวมว่า massage ของเราเป็นอย่างไร กว่าจะผ่านแต่ละ draft แต่ละ version ก็ใช้เวลาประมาณปีครึ่ง

 
อะไรที่ทำให้กองทุนสื่อฯ เชื่อมั่น

ผมเสนอสิ่งที่เป็น fact ตอนที่ present อย่างจริงใจที่สุด ไม่มีหน้ากาก ผมจะบอกเขาว่ามันดีอย่างไร และไม่ดีอย่างไร มีตรงไหนที่ยังรู้สึกไม่มั่นใจ แต่ถ้าได้ทุนก็จะไป research เพิ่มเติม และเอามาเติมเต็มในส่วนที่มันหายไปให้สมบูรณ์ที่สุด คือมองว่าเวลาเราไปทำงานให้ใคร สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมยึดมั่นคือ เราจะไม่โกหกลูกค้า หรือโกหกใครเลย เพราะถ้าเราได้ทุนมา วันหนึ่งเราทำตามที่เราบอกเขาไม่ได้ หรือเราไม่รู้จริงๆ ก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่เสียหายมากๆ สำหรับผม


คิดว่าหนังของเราไปสนับสนุนหรือสร้างมูลค่าของศิลปวัฒนธรรมในแง่เศรษฐกิจอย่างไร

ถ้าดูหนังเรื่องนี้ มีหลายคนมากที่ไม่รู้จักเกาะปันหยี ถ้าผมไม่มีโอกาสได้ไป ผมก็ไม่รู้จักเช่นกัน หนังเรื่องนี้จะมีเรื่องอาหารที่สดมากๆ อร่อยมากๆ และอาหารใต้ที่ไม่เหมือนที่อื่น เช่น เมนูหมึกผัดน้ำดำ ที่ไม่เหมือนที่อื่น หลังจากผมกลับมาจากปันหยี ก็พยายามหารสชาติแบบนั้น แต่มันก็ไม่เหมือน กลิ่นหอมของปลาหมึกซึ่งไม่เหมือนที่ไหน ไม่มีอะไรเหมือนเลย ความสด รสชาติ หน้าตา ไม่มีที่ไหนเหมือนเลย นอกจากปลาหมึกแล้ว ก็มีอย่างอื่นอีกที่ผมก็ใส่เข้าไป เช่น น้ำพริกกุ้งเสียบ ซึ่งน้ำพริกกุ้งเสียบของเกาะปันหยีเป็นอะไรที่โด่งดังมากๆ หรือการที่เขาลงไปจับปูข้างล่างบ้านแล้วเอามาทำกับข้าวให้เรากินได้เลย ข้าวยำที่ปันหยีก็ไม่เหมือนที่อื่น ตอนที่เราไป research ล่าสุด ก็ไปเห็นชาวบ้านไปจับปูดำไข่มา มองแล้วก็อยากกินมาก เขากำลังนั่งมัดปูอยู่ เราก็ไปซื้อมา แล้วเอาไปให้ทางร้านทำ ซึ่งร้านที่ผมชอบที่สุดในเกาะปันหยีคือร้านไม้ไผ่ ซึ่งอยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน 

อย่างในหนังตัวพระเอกแพ้ปูตั้งแต่เด็ก เลยไม่ได้กินมาตลอด แต่มากินปูที่ปันหยีแล้วไม่แพ้ ซึ่งมีทีมงานบางคนที่แพ้ปูแพ้กุ้ง แต่มาลองกินที่ปันหยีแล้วปรากฏว่าไม่แพ้ ซึ่งแปลกมาก ก็คุยกันว่าลองมากินที่กรุงเทพฯ ว่าแพ้อีกไหม ถ้ากินแล้วแพ้ก็อาจจะเป็นที่ความสด หรืออย่างอื่น 

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว เรื่องวัฒนธรรมของชุมชนชาวมุสลิม อาจจะมีหลายๆ คนที่ไม่รู้ว่ามุสลิมเขาใช้ชีวิตอย่างไร หรือวัฒนธรรมในแต่ละอย่างเขามีเหตุผล ที่มาที่ไปอย่างไร อีกอย่างหนึ่งคือ unseen มีจุดบางจุดที่ยังไม่มีใครเคยเห็น แต่ไม่ได้ไกลจากเกาะปันหยี ในหนังเรื่องนี้ก็จะได้เห็นด้วย หรืออย่างเขาตะปู ที่คนไทยรู้จักแต่อาจจะลืมไปเที่ยวแล้ว ก็มีแต่ต่างชาติ ไม่มีคนไทยเลย 

ผมมีเพื่อนอยู่พังงา หลายคนอาจจะมองพังงาเป็นทางผ่าน ผมมีโอกาสเข้าไปคุยกับผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ก็บอกว่าเป็นโปรเจกที่ดีนะ เพราะไม่อยากให้พังงาเป็นแค่ทางผ่าน อยากพัฒนาตรงนั้นตรงนี้ อยากให้มีสนามบินมาลง พอเราทำหนังเรื่องนี้ อาจจะมีคนอยากมาเที่ยวพังงามากขึ้น แปลนเมืองของพังงา ถ้าเราอยู่ตรงกลางเมือง เราจะเห็นภูเขาที่โอบกอดเรา เห็นภูเขาล้อมรอบเรา ซึ่งเราไม่เคยเห็นที่ไหนเป็นแบบนี้ ซึ่งมันสวยมากๆ เลยเอาเรื่องพวกนี้มาต่อยอด ผมคิดว่าเป็น Soft Power อย่างหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกอยากจะมาที่นี่ หรือดูหนังจบแล้วอยากจะออกไปเที่ยว ไม่ว่าส่วนไหนของประเทศ ซึ่งก็คือการออกไปกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน

 
Mood & Tone ของหนังเรื่องนี้เป็นแนวไหน

เป็นหนังแนว Romantic Drama Comedy เป็นหนังที่ feel good มากๆ แต่พอถึงตอนที่มีการสูญเสีย หรือตัวละครต้องตัดสินใจก็จะมีความดราม่า แต่เป็นดราม่าที่ไม่ถึงขั้นร้องไห้ แต่เป็นช่วงชีวิตหนึ่งของตัวละครที่ต้องเจอ หนังของเราเป็นประเภทหนังยาวฉายโรง ประเภท  Romantic Drama Comedy ซึ่งจะมี 3 รสอยู่ในหนังเรื่องนี้ และที่ผมเลือกทำหนังรัก เพราะหนังรักเป็นหนังที่สื่อสารง่ายที่สุดไม่ว่าประเทศไหนในโลกนี้ นั่นหมายความว่าผมกำลังเพิ่มโอกาสที่จะไปฉายที่ประเทศต่างๆ ได้ 

 
ฐานะผู้กำกับฯคาดหวังอะไรกับงานนี้

ผมคาดหวังมากๆ ตอนนี้ผมอายุ 28 ปีแล้ว จริงๆ ผมอยากจะเป็นผู้กำกับตั้งแต่อยู่ ม.2 ผมใช้เวลาเดินทางมาค่อนข้างนานแล้ว วันนี้ผมได้เป็นผู้กำกับ ทุกวินาทีของการทำงานของผมค่อนข้างที่จะซีเรียสนิดหนึ่ง ว่าต้องการจะได้อะไรออกมา หนังเรื่องนี้ massage ที่ผมอยากให้ไปถึงคนดู ตอนนี้เหมือนผมกำลังมีลูกคนหนึ่งที่อยากให้เขาเติบโตออกไปเป็นคนดีของสังคม ผมคิดว่าผมเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศนี้ได้ เราทำได้แค่ให้กำลังใจ ให้ความรัก หรือมาดูหนังเราแล้ว happy แค่นี้เราโอเคแล้ว ไม่ได้หวังว่าหนังจะต้องร้อยล้านพันล้าน massage ที่เราอยากให้คนดู คือเขามาดูแล้วกลับไปมี Passion กลับไปทำสิ่งที่เขาอยากทำด้วยความรักของเขา เลยมองเป้าว่าคนดูมาดูหนังแล้วเขาได้ massage นั้นจากเราหรือเปล่า นั่นคือความคาดหวังของผม 

ส่วนหนังจะออกไปได้ไกลมากๆ ก็เป็นอีกเป้าหนึ่ง ซึ่งผมอยากพิสูจน์ตัวเองให้ทางกองทุนสื่อฯ หรือใครหลายๆ คนด้วยว่าผมสามารถพาหนังเรื่องนี้ไปได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นน้องใหม่ เป็นผู้กำกับหนังยาวเรื่องแรกก็ตาม อยากจะพามันออกไป หรือจะเป็นผลพลอยได้กลับมาที่บริษัทของผมด้วย ถ้าหนังเราได้ go Inter 

 
เรื่องการลงโรงฉาย เจรจากับใครบ้าง

ตอนนี้คิดว่าจะเป็นเมเจอร์ พี่บอยบอกว่าเราจองวันฉายแล้วฉายได้เลย แต่ผมไม่แน่ใจเรื่อง process แต่กระบวนการทั้งหมด เราเป็นคนทำเอง เราดีลเรื่องโรงฉายเอง