Short note เนื้อหาอบรม Jae-eun Kim เจ้าของบทซีรี่ย์ดัง Iris – Bad Guy

“ถ้าวิชาคณิตศาสตร์มีสูตรการเรียน วิชาการเขียนบทละครก็น่าจะมีสูตรได้เหมือนกัน”

คุณ Jae-eun Kim นักเขียนบทจากเกาหลีใต้ เจ้าของผลงานดังอย่าง Iris / Bad Guy / Iris for Movie เริ่มต้นการบรรยายของเขาด้วยประโยคที่เรียกเสียงฮือฮาในห้องเรียน

เขาขยายความว่า ทุกวันนี้ในประเทศเกาหลีมีหนังสือ How To เขียนบทละครและภาพยนตร์ถึง 1011 หมวด!! ถ้าแยกเป็นจำนวนเล่มก็มหาศาลนับไม่ถ้วน แปลว่างานเขียนบทได้รับความนิยมสูงมาก แต่การอ่านหนังสืออย่างเดียวก็ใช่ว่าจะสำเร็จ เพราะการทำงานจริงมันคนละเรื่อง การเขียนบทต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความลุ่มลึก และนำความรู้มาประกอบกับความจริงได้อย่างเหมาะสม 

เขาจึงนำประสบการณ์เขียนบทของตนเอง มาถอดเป็น “สูตร” ให้เหมือนสูตรคณิตศาสตร์เรียกว่า  A formula of writing ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้ 

1. สร้างเสน่ห์ของตัวละคร 

     เสน่ห์ หรือ แรงดึงดูด มักเกิดขึ้นกับคนที่มีอะไรคล้ายกัน ประกอบด้วยความปรารถนาและความเห็นอกเห็นใจ  ซึ่งเสน่ห์ของตัวละครไม่มีสูตรตายตัว ยกตัวอย่างเช่น…. 

     ซีรี่ย์เรื่อง My love from the star นางเอกเป็นซุปตาร์ที่ร่ำรวย สวย ไฮโซ แต่แอบไปร้านเช่าการ์ตูน เพื่อกินบะหมี่คลายเครียด มีความเป็นมนุษย์ที่บกพร่อง ซึ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ไม่มีระยะห่าง 

     เรื่อง The Good Doctor และ House ตัวเอกเป็นหมออัจฉริยะที่เจ็บป่วยและพฤติกรรมมีปัญหา 

     เรื่อง Queens Gambit นางเอกกำพร้า สู้ชีวิตแต่ชีวิตสู้กลับ 

     เรื่อง Joker ตัวละครน่าเวทนา ก่อนจะร้ายเขาเคยดีมาก่อน แต่ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

 2. กำหนดรูปแบบของละคร ซึ่งแบ่งออกเป็น… 

     Romantic comedy การตามหารักแท้ ฝ่าฟันอุปสรรคของความรัก 

     Melo drama การเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่ง

     Success story ตัวละครที่ต้องไขว่คว้าความสำเร็จ

     Revenge story การแก้แค้น ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก 

 

3. สร้างเรื่องให้สนุก

    ไม่ว่าจะเป็นละครรูปแบบใด ความสนุกของละครก็คือ การออกแบบสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรคและความยากลำบากให้ตัวละครต้องฝ่าฟัน ซึ่งวรรณกรรมคลาสสิคมากมายที่อยู่เหนือกาลเวลา จะเป็นต้นแบบให้สร้างสรรค์เรื่องใหม่ ๆ ได้ แต่ควรปรับให้เข้ากับยุคสมัย 

 
กลยุทธ์ Logline

คุณคิมแนะนำให้ฝึกการสร้าง Logline หรือการดึงประเด็นสำคัญของเรื่องมาย่อให้เหลือเพียงบรรทัดเดียว เพื่อควบคุมทิศทางการเขียนบท 

     สูตรการเขียน Logline คือการตั้งคำถาม “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า……..”

     เขายกตัวอย่าง Logline ให้เห็นภาพ เช่น

     เรื่อง The Good Doctor = ตัวเอกจะเป็นหมออัจฉริยะได้ไหม ถ้าป่วยเป็นออทิสติก 

     Taken’s = นักฆ่าวัยเกษียณ จะปกป้องครอบครัวได้ไหม ถ้าศัตรูคือองค์กรขนาดใหญ่

     Mission impossible = พระเอกจะเอาชนะกลุ่มก่อการร้ายได้ไหม ถ้าองค์กรต้นสังกัดทำผิดแผนตลอด 

Jae-eun Kim นักเขียนบทจากเกาหลีใต้
กลยุทธ์เพิ่มมูลค่าให้กับบทละคร

ทุกวันนี้ตลาดซีรี่ย์เกาหลีไปไกลมาก หลายครั้งเขาต้องนำเสนอบทละครเพื่อขายในระดับนานาชาติ จึงต้องเพิ่มความพิเศษของงานให้มากขึ้นด้วยองค์ประกอบ 3 ข้อ

1. High concept เขามีสูตรง่าย ๆ สำหรับการออกแบบเนื้อเรื่องขั้นสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาดและสร้างความประทับใจ ดังนี้

     สูตร High concept = วัตถุดิบ หรือข้อมูลสดใหม่ + Topic สัจธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง

 

2. Empathy ความเห็นอกเห็นใจ

     เป็นปัจจัยสำคัญ ที่กระตุ้นทำให้ผู้ชมเข้าถึงตัวละคร เช่น เห็นใจในชะตากรรมและความไม่ยุติธรรม ที่ตัวละครได้รับ หรือทำให้ผู้ชมเกิดความกลัวว่า วันหนึ่งเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นกับเราก็ได้ 

 

3. Creative and cliché’ ความสร้างสรรค์ ผสมผสานกับ ความคลาสสิค 

     วิธีนี้คือการหยิบเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ให้แปลกแหวกแนวและคาดไม่ถึง

อาการจมดิ่งไปกับตัวละคร

นอกจากการถ่ายทอดความรู้ คุณคิมยังเล่าถึงภาวะที่นักเขียนบทเกาหลีพบเจอได้เสมอ นั่นคือภาวะจมดิ่งกับตัวละครจนถอนออกไปไม่ได้ ตัวเขาเองต้องเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่หมกมุ่นกับตัวละครมากไป และความดุเดือดของอาชีพนักเขียนของคุณคิมก็คือ ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกล็อคตัว จับขังอยู่ในห้องของโรงแรมเพื่อปั่นบทให้เสร็จทันการถ่ายทำ เป็นโศกนาฎกรรมและฝันร้ายของนักเขียนบทละครเกาหลีอย่างเขาเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้คือเนื้อหาบางส่วนจากการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนานักเขียนบทละครโทรทัศน์ไทย “ Storyteller intensive program with Korean professional screenwriter 2023 ” ระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 66 ณ โรงแรม สวิสโซเทล กรุงเทพฯ รัชดา จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์

นอกจากคุณ KIM Jaeeun แล้ว ก็ยังมีนักเขียนบทอีกสองคนได้แก่  คุณ  Jung Yoon-Jung เจ้าของผลงานเรื่อง Misaeng และ คุณ  Park Hye-Jin เจ้าของผลงานดังอย่าง Café Minamdang ที่เดินทางมาร่วมเป็นวิทยากรด้วย

ในช่วงท้ายการอบรมทั้งสามได้ให้ข้อมูลที่ทำให้เห็นว่าเบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจซีรี่ย์เกาหลี มาจากการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างครบวงจร โดยเฉพาะ “งบประมาณ”  โดยมีการจัดสรรงบประมาณท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการสร้างซีรี่ย์เฉพาะของพื้นที่ต่าง ๆ 

และมีงบประมาณสำหรับการพัฒนานักเขียนบทโดยเฉพาะ ทำให้นักเขียนบทมีโอกาสไปฝึกอบรมถึงเมืองอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างฮอลลีวูด ได้พบปะผู้คนหลายวงการเพื่อนำมาเป็นข้อมูลเขียนบท ผ่านการเชื่อมโยงของหน่วยงานภาครัฐ เช่น นักบินอวกาศ 

ไปจนถึงมีโรงเรียนเขียนบทละครโดยเฉพาะ ซึ่งมีตั้งแต่ระดับ 1- 4 และมีการประกวดนักเขียนบทหน้าใหม่อยู่เสมอ เพื่อเฟ้นหานักเขียนบทที่เก่งกาจ

กลับมาที่ประเทศไทย การสนับสนุนเงินทุนเพื่อฝึกอบรมนักเขียนบทโทรทัศน์อาชีพในครั้งนี้ เป็นความพยายามครั้งสำคัญของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักเขียนบทโทรทัศน์ในระดับมืออาชีพ ให้มีทักษะสร้างสรรค์ละครที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย นำไปสู่การสร้างสรรค์เนื้อหา (Content) และการคิดโครงเรื่อง (Plot) และศิลปะของการเล่าเรื่อง (Storytelling) เพื่อผลิตบทละครโทรทัศน์ที่แปลกใหม่และน่าสนใจต่อไปในอนาคต 

โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงความตั้งใจในครั้งนี้ว่า 

“เราอยากเห็นผลงานดี ๆ สักเรื่องที่สะท้อนภาพประเทศไทย สามารถนำไปฉายต่างประเทศได้ ทุกคนเข้าถึง ทันสมัย ไม่ใช่ยัดเยียด ต้องการมืออาชีพที่สร้างมูลค่าจาก Soft Power ให้เหมือน King The Land ของเกาหลีที่มาถ่ายทำในประเทศไทย”