เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย วัยเก๋าต้องรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล

หลายปีที่ผ่ามาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้เกิดชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal ที่ผู้คนเดินทางน้อยลง แต่เข้าถึงสื่อออนไลน์มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคระบาด

แม้สถานการณการณ์ของโรคระบาดจะคลี่คลายลงแล้ว แต่พฤติกรรมการเสพติดสื่อของผู้สูงวัย ก็ไม่ได้ทุเลาลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้นโดยสถิติล่าสุดพบว่าผู้สูงวัยใช้สื่อออนไลน์กว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน 

อีกด้านหนึ่งโครงสร้างประชากรของไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว โดยมีผู้ที่อายุเกินกว่า 60 ปี ประมาณ 20% และจะเพิ่มเป็น 30% ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า 

สองปัจจัยข้างต้นทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ตกเป็นเหยื่ออันโอชะของมิจฉาชีพ ที่แฝงตัวมาทางสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ โดยแต่ละปีมีผู้สูงอายุสูญเสียทรัพย์สินไปประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ด้วยเหตุนี้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงสนับสนุนโครงการ “สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อสร้างความเท่าทันสื่อและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้ก้าวทันเทคโนโลยีดิจิตอลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และปรับใช้ในชีวิตประจําวันได้อย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี และมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน และสังคม 

นำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิต สร้างรายได้และผลผลิตให้กับตนเองและสังคมได้ โดยมีสโลแกนของโครงการฯ ว่า

“สื่อเปลี่ยน ผู้สูงอายุปรับ ผลิตสื่อได้ ใช้สื่อเป็น เห็นค่าในตนเอง สร้างประโยชน์ให้กับสังคม”

โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2  มีหลักสูตรการอบรมทักษะให้ผู้สูงอายุผลิตสื่อของตนเองได้ด้วยโทรศัพท์มือถือ ผ่านหลักสูตรตั้งแต่ สอนการถ่ายทำ  ตัดต่อ ทำภาพกราฟิก ด้วยโทรพศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ใช้รูปแบบการอบรมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom

วันที่ 28 – 30 กันยายน ทางโครงการฯ ได้จัดกิจกรรม “มอบทักษะการผลิตสื่อดิจิทัล 2566” โดยดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Yold Digital Literacy: วัยเก๋ารู้เท่าทันสื่อดิจิทัล : รู้ทันสื่อ ข่าวลือ ข่าวลวง ไม่เชื่อ ไม่ส่งต่อ” โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมออนไลน์จากทั่วประเทศกว่าร้อยคน 

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและอยู่ในวิชาชีพสื่อมายาวนาน เขาได้ปูพื้นความรู้ให้ผู้สูงวัยเข้าใจหลักของการผลิตสื่อว่า มีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ เทคนิคการผลิตหรือ Production ความรู้เรื่องสื่อในโลกดิจิตอล และหัวใจที่สำคัญซึ่งมีอยู่ในตัวผู้สูงวัยทุกคนอยู่แล้วคือ เรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรง 

และในฐานะผู้บริหารองค์กรสนับสนุนแหล่งทุนผลิตสื่ออย่างกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เขาต้องการส่งเสริมให้คนวัย 55 ปีขึ้นไป เตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณ เพราะในอนาคตเมืองไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากไทยมีอัตราการเกิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 2 ปีซ้อน โดยมีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึงปีละ 5 แสนคน ขณะที่สัดส่วนประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ว่างงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีทักษะเรื่องการสร้างสื่อ เพื่อต่อยอดเป็นรายได้และดูแลคุณภาพชีวิตในอนาคต  

 
สื่ออยู่กับเรา เราอยู่กับสื่อ

การเท่าทันสื่อเป็นหัวใจของใช้สื่อ เพราะสื่อมีผลกระทบทั้งบวกและลบ โดยเฉพาะกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามากับสื่อออนไลน์ แต่ละวันมีผู้สูงวัยที่ตกเป็นเหยื่อกว่าพันราย สะท้อนว่ามิจฉาชีพชุกชุมและมีสื่อร้ายแพร่ระบาดในโลกออนไลน์ จึงจำเป็นที่ผู้อายุต้องมีความเท่าทันสื่อและเท่าทันตนเองด้วย เพราะผู้สูงอายุที่เปลี่ยวเหงามักจะกลายเป็นเหยื่อ จึงจำต้องปกป้องตัวเองให้เป็นและป้องกันคนอื่นให้ได้ แต่ก็ไม่ควรกลัวเกินไป เพราะทุกคนสามารถร่วมเป็นผู้สร้างสื่อที่ดีได้

เขาแนะนำเทคนิคการสร้างความเท่าทันสื่อไว้ 7 ขั้นตอนที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ ตั้งแต่การประเมินผลกระทบของสื่อนั้น ๆ ก่อนจะเทใจเชื่อ ฝึกการวิเคราะห์ความหมายของสื่อที่ได้รับ ทั้งภาพ ข้อความและคอมเมนต์ต่าง ๆ ว่าเนื้อหาที่แท้จริงคืออะไร ฝึกการแยกแยะองค์ประกอบของสื่อ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น วิเคราะห์ผู้สร้างและผู้อยู่เบื้องหลัง ที่เหลือคือการเปิดรับ จัดการ และต่อยอดสื่อนั้นได้อย่างเหมาะสม

สิ่งสำคัญของการเท่าทันสื่อก็คือ การรับรู้ได้ว่าสื่อทุกชนิดมีผู้สร้าง และผู้สร้างก็มีเป้าหมาย ดังนั้นต้องเท่าทันจุดประสงค์ของสื่อว่าเกี่ยวพันกับ ธุรกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม สื่อมีจุดประสงค์ที่ซ่อนอยู่เสมอ

 
สื่อสร้างสรรค์ หรือ ไม่สร้างสรรค์ แยกแยะอย่างไร

ดร.ธนกร อธิบายเกณฑ์ชี้วัดไว้ง่าย ๆ ดังนี้

สื่อปลอดภัย-สื่อสร้างสรรค์ มีนิยามอยู่ในมาตารา 3 ของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 ว่า

“สื่อที่มีเนื้อหาส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และความมั่นคง ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนและ ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและสังคม รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคี และสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างเป็นสุข

ดังนั้นสื่อสร้างสรรค์ จึงต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อและทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้คน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีให้สังคม และสื่อควรทำหน้าที่กระตุ้นเตือนให้เห็นความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ เพื่อให้สังคมพร้อมรับผลที่ตามมาได้ รวมถึงมองเห็นปัญหาและหาทางออกร่วมกัน 

ขณะที่มีการกำหนดลักษณะของ สื่อไม่ปลอดภัย-ไม่สร้างสรรค์ ไว้ดังนี้

1 ขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม เช่น เน้นเนื้อหาด้านเพศ ภาษา และความรุนแรงเพียงเพื่อเรียกเรตติ้ง

2 ก่อให้เกิดความแตกแยก ยั่วยุ และสร้างความเกลียดชังทางสังคม

3 ส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซ้ำเติม “เหยื่อ” ก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ

4 ขัดต่อกฎหมายและละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น สื่อที่มุ่งเน้นการขายสินค้า หากำไรทางธุรกิจ สร้างโฆษณาเกินจริง ทำให้ผู้รับสื่อหรือผู้บริโภคได้รับความเสียหาย

5 ขัดต่อหลักจรรยาบรรณสื่อ มีการชี้นำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สร้างค่านิยมผิดๆ สั่นคลอนรากฐานทางสังคม หรือสร้างเนื้อหาซ้ำเดิม ขาดความหลากหลาย ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือความรู้ใหม่ๆ

ปัจจุบันสื่อไม่สร้างสรรค์ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

Fake News คือ ข่าวปลอมหรือข่าวที่มีเนื้อหาบิดเบือนชวนเข้าใจผิด หรือมีวัตถุประสงค์ไม่ดี มีวิธีการหลอกล่อ ชักจูงให้เกิดการเผยแพร่

Hate Speech คือ ถ้อยคำหรือการแสดงออกที่สื่อถึงความเกลียดชัง ต่อต้าน ดูถูกดูแคลน ข่มขู่ คุกคาม ก่อให้เกิดความเสียหายกับเหยื่อทางสังคม

Bully คือ การใช้กำลังหรือถ้อยคำ ซึ่งเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวที่คนหรือกลุ่มคนกระทำต่อผู้ที่อ่อนแอกว่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งทำร้ายจิตใจ ใช้แรงกดดันทางสังคม กีดกันลิดรอนสิทธิ หรือปฏิบัติใดๆ ก็ตามทางลบ จนผู้ถูกกระทำรู้สึกแย่ เจ็บปวด หรือเกิดความเครียด 

สิ่งที่เขาอยากเห็นในอนาคต พลังของผู้สูงวัยในสังคมดิจิตอล ที่มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง จนนำไปความรู้สึกร่วมในการช่วยกันดูแลประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์