ผู้จัดการกองทุนสื่อฯ ชูศักยภาพพร้อมตอบสนองนโยบายซอฟท์พาวเวอร์

นโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 วางแนวทาง ส่งเสริมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากการ “พัฒนาคน” ตามนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์”  เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ ซึ่งจะมี “THACCA” (Thailand Creative Content Agency) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและงบประมาณที่เพียงพอทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศเพื่อสร้างอุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยความคืบหน้า มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติและประชุมนอกรอบไปแล้วนัดหนึ่ง ก่อนเตรียมประชุมบอร์ดครั้งแรกวันที่  3 ตุลาคมนี้

ในการสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเด็น “ทิศทางการให้ทุน ปี 67 ผู้จัดการกองทุนสื่อฯ ย้ำ ตกผลึก เข้มข้น มุ่งสร้าง Impact และมูลค่าเพิ่ม” ได้ทิ้งท้ายประเด็น การปรับโครงสร้างภายในสำนักงานกองทุนใหม่จาก 8 ฝ่ายเป็น 9 ฝ่าย โดยเพิ่ม ฝ่ายพัฒนามูลค่าเพิ่มและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้การทำงานของกองทุนสื่อครบจบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นั้น ดร.ธนกร ได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึงทิศทางของกองทุนสื่อฯ ว่า ต้องพัฒนาไปสู่  TMF Academy หรือ TMF Academy Media Center ที่ทำให้เป็นสถานที่เรียนรู้ ฝึกซ้อม เขียนบท เรียนเต้น ร้องเพลง เล่นดนตรี ซ้อมดนตรี ทำ Workshop Start up 

 

“ปีหนึ่ง ๆ เราจะเห็นว่าเราสร้างคนขึ้นมาได้เป็นพัน เราจะได้ Content ที่ถูกผลิตมากมหาศาล แต่รัฐบาลต้องสนับสนุนแบบครบวงจร สมมติสร้างคนมาแล้วก็ต้องไปส่งเสริมให้เขาผลิตได้ด้วย ดูตลาดให้ด้วย มีให้มันเติบโตเชื่อมโยงกันได้หมดแล้ว” 


ภารกิจ ทิศทางเหล่านี้ จะดำรงบทบาทหนุนเสริม สนับสนุน นโยบายรัฐบาลซอฟท์พาวเวอร์ ของรัฐบาลได้อย่างไร ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีคำตอบในการสัมภาษณ์พิเศษครั้งนี้ 

 

อยากทราบภารกิจของกองทุนสื่อฯ กับนโยบายรัฐบาล

พรบ.กองทุนสื่อฯ มาตรา 5 ส่งเสริมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การทำให้มีคนสื่อก็เป็นยุทธศาสตร์แรกของเรา ทำให้มีคนมีคุณภาพมาผลิตเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้น ยุทธศาสตร์นี้เรามี 2 สร้าง สร้างคน กับ สร้างสื่อ การสร้างสื่อก็เป็นอันเดียวกับซอฟท์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลกำลังจะทำ 1 ครัวเรือน 1 ครัวเรือน 1 Soft Power เราอาจไม่ได้คิดไปถึงครัวเรือน แต่เราก็คิดถึงเรื่องการสร้าง Content Creator และการสร้างมีเดียที่สามารถไปสร้างมูลค่าจากต้นทุนวัฒนธรรม จริง ๆ แล้วเราทำเรื่องนี้มาอยู่แล้ว เราถือว่า ซอฟท์พาวเวอร์ เป็นส่วนหนึ่งของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เดจังกึม ไม่มีฉากอิจฉา ริษยา ไม่มีความรุนแรง มีการนำเสนอมิติจริยธรรมศีลธรรมแบบแผนการดำเนินชีวิต แต่ทำไมสามารถดึงคนให้ติดตาม เพราะมันมีความเป็นสากล มีความเป็นมนุษย์ที่ไม่น่าเบื่ออยู่ในนั้น สื่อทำได้ เรื่องดี ๆ สื่อดี ๆที่ไม่น้ำเน่า ไม่ขายความรุนแรง เรื่องเพศ ทำได้และขายได้ แต่ทำยังไงเป็นความท้าทาย ซึ่งเราก็เห็นตัวแบบมาเยอะ บุพเพสันนิวาส ถือเป็นสื่อดีที่ขายได้ ดูแล้วคนรู้สึกได้อะไร สอดแทรกอะไรไว้ อันนี้ก็เป็น Flagship ที่เราตั้งใจทำชัดเจน ไปย้อนดูการให้ทุนที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จริง ๆ ใครตีความแบบไหนได้หมด เพราะไม่มีใครผูกขาด ในการตีความหรืออธิบายความหมาย แต่ว่าจะเอาให้ตรงกันจริง ๆ มันเป็นพลังอำนาจในการโน้มน้าวชักจูงให้คนทั่วโลกหรือคนส่วนใหญ่คล้อยตาม และมีพฤติกรรมที่จะมาใช้สินค้าและบริการของคุณ มาฟังเพลง กินอาหาร เที่ยวบ้านคุณ แล้วถามว่าเรื่องราวในประเทศนี้ที่จะมาสร้างเป็นจุดดึงดูดแบบเนียน ๆ ไม่ใช่โต้ง ๆ เรามีเยอะมาก การใช้นวัตกรรมสื่อเอามาปรุง มีเรื่องสั้น เวลาน้อยก็เอาไปปรุงเป็น Tik-Tok ยาวขึ้นมาก็เอาไป Youtube แล้วรูปแบบการนำเสนอไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องว่าจะต้องมียอดวิวอย่างเดียว เน้นกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นกลุ่มจริง คนทำสื่อเพื่อผู้สูงอายุกับทำสื่อเด็กก็ต่างกัน สื่อผู้สูงอายุอาจไม่มีคน Wow สักเท่าไหร่ ก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยกลุ่มผู้สูงอายุดู 

 
ภายใต้นโยบายซอฟท์พาวเวอร์ของรัฐบาล บทบาทของกองทุนสื่อฯ จะอยู่ตรงไหน

เราทำหน้าที่ของกองทุนสื่อฯ ตามที่กฎหมายเขียนไว้ ก็คือ ถ้ากฎหมายเป็นแบบนี้เราก็ต้องทำแบบเดิม ตามนโยบาย วัตถุประสงค์ 7 ข้อ แปลงเป็น 5 ยุทธศาสตร์ 6 สร้าง แต่ในส่วนหนึ่งของเราก็เป็นเรื่องเดียวกับนโยบายรัฐบาล เราก็เป็นหน่วยงานที่สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลได้ในบางเรื่อง  เช่น การสร้างบุคลากรในการผลิต ตั้งแต่การอบรม การพัฒนาทักษะรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเราทำมาต่อเนื่อง สามารถทำได้ทั้ง On-site และ Online ตรงนี้เรายินดี ถ้าให้เราทำ เราทำได้ สอง งานผลิต เราทำอยู่แล้ว สนับสนุนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นละครซีรีย์ ท่องเที่ยว รายการประเภทศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ถ้ารัฐบาลบอกว่าไปทำอีกแล้วให้ทุนเรามา เรามีประสบการณ์ในการบริหารจัดการ เรามีฐานข้อมูลผู้ผลิตทุกระดับอยู่ในมือเรา เราไม่ได้เริ่มจากหนึ่ง ถ้ารัฐบาลสนใจจะทำ เราทำซีรีย์ปีหนึ่ง 40-50 เรื่อง ให้รู้ไปว่าไม่มีสัก 4-5 เรื่องดังระเบิดเถิดเทิงเลย ปริมาณก็สำคัญ หนังดัง ๆ ไป Oscar เราทำได้ แต่ต้องมีการส่งเสริมเป็นรูปธรรม  

 

อีกอันที่เป็นนโยบายรัฐบาลและเราสนใจมากคือ Co-working Space เราอยากเห็นตามหัวเมือง ตามจังหวัดอาจลงไปถึงอำเภอ รัฐบาลเตรียม Infrastructure แต่เราจะเตรียมซอฟท์พาวเวอร์ พวกวิทยากร หลักสูตร เราเชื่อมได้หมด อยากได้ ลิซ่า Blackpink มาสอน basic dance ทางออนไลน์สักครึ่งชั่วโมงเราจัดให้ได้ เอา อาเลีย บาตต์ จากคังคุไบ มาไหมล่ะ มันต้องกล้าทุ่มแบบนี้ ถึงจะปลุกเยาวชน  รับรองเด็กเอาถ่านหมดเลย เราอยากทำ hackathon สร้างผู้ประกอบการสื่อรายใหม่ ซึ่งเราทำอยู่ตอนนี้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์