“เบื่อเมืองกรุงเต็มทน เบื่อคนลวง คนเมืองหลวงหลายใจ
อยากจะกลับบ้านนา ทุ่งลุยลาย ให้สบายหัวใจ
เมืองกรุงเมืองฟ้า นํ้าตาฉันเคยหลั่งไหล
อยู่นาน ๆ ไปหัวใจฉันคงแหลกลาญ
ไม่มีชายใดจะฝังใจยืดมั่น ไม่มีชายใดจะฝังใจยืดมั่น
คิดฮอดเด๋อีสาน คิดฮอดดอกจานทุ่งลุยลาย”
เพลง คิดถึงทุ่งลุยลาย ผู้แต่ง : ครูดอย-อินทนนท์
เพลงลูกทุ่งอีสาน มีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง ลีลาการร้อง และการถ่ายทอดที่มีแบบแผนลักษณะเฉพาะตัว ทั้งตัวผู้ประพันธ์และศิลปิน โดยเฉพาะการร้องเอื้อนที่ใช้ลูกคอ หลายเพลงทำเอาผู้ฟังยั้งใจไม่ไหวต้องขยับเนื้อตัวตามจังหวะ บางเพลงบอกเล่าถึงการต่อสู้ดิ้นรนในเมืองใหญ่เพื่อปากท้องคนทางบ้าน
ปีนี้มีความพิเศษ เพราะเป็นวาระครบรอบ 84 ปีวงการเพลงลูกทุ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำโครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล โดยเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) ในประเด็นการสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ส่วนหนึ่งของโครงการฯ คือการจัดเสวนาลูกทุ่งไทย 4 ภาค และจัดการประกวดหางเครื่อง เพื่อถอดบทเรียนและจัดการองค์ความรู้ที่ได้รับจากศิลปินลูกทุ่งของแต่ละภาค ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย 4 ภูมิภาค
Media Trust Thailand สรุปเนื้อหาบางส่วนของงานเสวนามาฝากกัน โดยเป็นงานเสวนาในภาคอีสานจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในหัวข้อ “มนต์เพลงอีสาน ผสานลูกทุ่ง” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ครูดอย อินทนนท์ นักแต่งเพลงชั้นครู, ดร.วันดี พลทองสถิตย์ หรือ หมอลำอุดมศิลป์ และ อาจารย์วสุ ห้าวหาญ นักแต่งเพลงชื่อดัง ดำเนินการเสวนาโดย ผศ. ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ และหัวหน้าโครงการฯ และคุณเคน สองแคว นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง
บรรยากาศเสวนาสลับสับเปลี่ยนกันไป ระหว่างเรื่องเล่ากับเสียงร้องเล่นเพลงลูกทุ่งอีสาน หมอลำ แบบสด ๆ บนเวทีอย่างออกรสชาติ ทั้งศิลปินหมอลำระดับตำนานอย่างแม่วันดี กับศิลปินรุ่นหนุ่มสาวบนเวที อย่างไม่มีเส้นแบ่งของวัยมาเป็นอุปสรรค มีเสียงตะโกนว่า “ม่วน ๆ ม่วนคั่ก ๆ” (สนุก ๆ) จากผู้ชมด้านล่างเป็นระยะ เป็นเวทีเสวนาที่รื่นรมย์สมกับอุปนิสัยรักสนุก โจ๊ะ ๆ ของพี่น้องชาวอีสาน
ครูดอย อินทนนท์ เล่าว่า ลูกทุ่งอีสานแตกแขนงออกเป็นหลายรูปแบบ ทั้งลำเพลิน ลำแพน ลำยาว ลำลอง ลำเต้ย ลำตักหวาย ลำส่วย มีถึง 10 กว่าประเภท และยังมีเพลงเฉพาะของชนชาติอีก เช่น เพลงภูไท ซึ่งมีเมโลดี้ที่จำยากมากแต่เป็นแม่ไม้หมอลำ เป็นต้นแบบของเพลงลูกทุ่งที่ต่อยอดมาถึงวันนี้ เพลงลูกทุ่งเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีมนต์เสน่ห์ และมีอิทธิพลกับชีวิตผู้คน สามารถทำคนรักกันได้ อยากให้ลูกทุ่งอีสานมีความสากลและสืบสานให้รุ่นลูกหลานต่อไป ทุกวันนี้มีการตั้งสมาคมเพื่อดูแลชีวิตศิลปิน เพื่อสร้างศิลปินและคนเบื้องหลังที่มีคุณภาพเข้าวงการ
“ผมแต่งเพลงโดยอาศัยครูพักลักจำ อาศัยที่ชอบขีดเขียน จนเป็นนักแต่งเพลงตั้งแต่อายุ 17 แต่งเพลงไปให้ครูประยงค์ มุกดา 11 เพลง แล้วก็ได้ยินเพลงที่แต่งออกอากาศทางวิทยุ 3 เพลงแรกคือ พอทีนครสวรรค์ หนุ่มอีสาน สาวอีสาน ตอนนั้นบวชเป็นพระอยู่ ก็มีคนมาบอกว่ามีการประกาศตามหาคนแต่งเพลงชื่อสมบูรณ์ (ชื่อจริงของครูดอย) ให้คนแต่งเพลงมาพบครูประยงค์ด้วย เราก็ไปทั้งผ้าเหลือง ครูก็ถามว่า “จะสึกออกมาเป็นนักแต่งเพลงไหม” ก็กลับไปนอนคิดอยู่ 2 เดือนกว่า จากนั้นก็สึกออกมาเป็นนักแต่งเพลงเต็มตัว
ดร.วันดี พลทองสถิตย์ (หมอลำอุดมศิลป์) เล่าตำนานเพลงหมอลำ พร้อมกับโชว์ลีลาและน้ำเสียงหมอลำสด ๆ บนเวที แบบม่วนคั่ก ๆ
“พ่อแม่เป็นลิเก ส่วนเราชอบหมอลำตั้งแต่ 7 ขวบ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว สมัยก่อนพอคณะหมอลำมาตั้งวงรำ เราก็ไปรำ ชอบไปดูนางเอกหมอลำ ฟังเค้าร้องเพลงนิทานโบราณ อย่างนางประกายแก้ว (พูดจบก็โชว์พลังเสียงร้องบนเวทีเรียกเสียงเฮ ดังสนั่น) พอโตหน่อยพ่อแม่ก็พาไปฝากยายเลี้ยง เพราะที่บ้านยากจน เราก็ไปร้องหมอลำเป็นตัวประกอบ ได้ค่าตัวทั้งวง 80 บาท ทั้งวงมี 6 คน มาแบ่งกันได้คนละ 7 บาท ก็พอได้ค่าข้าวมากินในบ้าน สมัยนั้นเวทีหมอลำไม่มีไฟฟ้า ก็จุดขี้ไต้เอา ดนตรีก็มีแต่แคนกับกลอง หมอลำแต่ละคนจะเชี่ยวชาญเพลงแต่ละแบบ จะไปร้องอย่างอื่นก็ไม่สนุก” ระหว่างที่เล่าความหลัง ตำนานหมอลำอีสานท่านนี้ ก็จะโชว์พลังเสียงเป็นระยะ ๆ เรียกเสียงโห่ร้องยินดีจากผู้ชมด้านล่างอย่างถึงใจ
อาจารย์วสุ ห้าวหาญ นักแต่งเพลงชื่อดังเล่าเส้นทางนักแต่งเพลงทั้งที่เรียนจบด้านเกษตรศาสตร์ “ชอบประกวดแต่งกลอนตั้งแต่เด็กๆ แต่มาเรียนเกษตร ม.ขอนแก่น เพราะเลือกเรียนตามเพื่อน เรียนอยู่ 8 ปี พอขึ้นปีที่ 5 ก็เริ่มเกรงใจทางบ้านที่จ่ายค่าเล่าเรียนมาหลายปี มีรุ่นน้องที่เล่นดนตรีอยู่ในผับหลังมหาวิทยาลัย ก็เลยไปช่วยเล่นกีตาร์ให้ เริ่มหาเงินเรียนเองตั้งแต่ตอนนั้น เดิมทีเล่นเพลงเพื่อชีวิต ก็ได้เล่นแต่เพลงเดิม ๆ อยากเล่นเพลงใหม่ ๆ บ้าง ก็เลยแต่งเพลงเอง มาถึงเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้ก็คือเพลง “นึกเสียว่าสงสาร” ร้องโดย อ้อย วงกระท้อน จากนั้นก็เป็นนักแต่งเพลงเต็มตัวได้ร่วมงานกับค่ายเพลงต่าง ๆ แต่งเพลงให้ศิลปินเกือบทุกคน”
เพลงลูกทุ่งมีพัฒนาการมาตามยุคสมัย แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางเพลงทำให้คนฟังจินตนาการไปไกล จนถึงขั้นกลายเป็นเพลงต้องห้ามเปิดออกอากาศในรายการวิทยุ ซึ่งนักแต่งเพลงทั้งสองได้แลกเปลี่ยนประเด็นนี้ว่า
ครูดอย เล่าว่า “บางเพลงอาจมีคำที่ล่อแหลม แต่ถ้าดูส่วนประกอบของเพลงทั้งหมดก็จะรู้ว่าไม่ได้หยาบโลน ผมเขียนเพลงมาหลายพันเพลง ก็จะเลี่ยง ๆ คำสองแง่สองง่าม หยาบโลน เพลงลูกทุ่งแบ่งเป็นโซน อย่างอีสานใต้ก็จะมีรูปแบบเฉพาะ บางเพลงก็จะมีคำสมัยเก่า ๆ ที่คนยุคนี้ไม่รู้ความหมาย (โชว์เสียงร้องเป็นระยะ ๆ ) อย่างเช่น เพลงรำวงด๋าวด่าว ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเขียนเนื้อเพลง แต่ก็นำไปร้องต่อ ๆ กันไป เพลงอีสานจึงเป็นมรดกที่ส่งต่อ ๆ กันมา ไม่มีการหวงห้าม แม้ว่าตัวผู้แต่งหรือนักร้องจะจากไป แต่เพลงเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่ เป็นเพลงพื้นบ้านของอีสาน เป็นสมบัติของแผ่นดิน”
อ.วสุ เสริมว่า “เพลงลูกทุ่งเหมือนการถ่ายทอดเรื่องราวในวิถีชีวิตผู้คน บทเพลงมีหน้าที่รับใช้มนุษย์ นักแต่งเพลงต้องรู้ขอบเขตของการประพันธ์ เพื่อรักษาความเป็นศิลปะ เพลงในยุคก่อนจะมีฉากเข้าพระเข้านาง ไม่มีคำลามกอนาจาร แต่คนฟังเห็นภาพ เห็นฉากไปต่าง ๆ นานา เป็นวรรณศิลป์ที่มีท่องทำนอง เช่น เพลงชายในฝัน หรือ สาวครวญจากสวนแตง
นอกจากงานเสวนาแล้ว ในงานยังมีกิจกรรมประกวดหางเครื่อง โดยรับสมัครน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษาร่วมส่งทีมเข้าประกวดแต่ละภาค
ผลการประกวดภาคอีสาน รางวันชนะเลิศ ได้แก่ ทีมเพรชพีพี และ ทีม MSU Bullet รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมลูกทุ่งธารามาศ โรงเรียนลำปลายมาศ , รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีมวงดนตรีลูกทุ่งเทคโนตะโกราย มทร.อีสาน และ ทีมลูกทุ่งเมืองดอกบัว
เวลา 84 ปี ของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ได้ก่อเกิดบทเพลงจำนวนมหาศาลที่เป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมแขนงหนึ่ง ฝังอยู่ในสายเลือดของคนแต่ละภูมิภาค นอกจากเฉลิมฉลองวาระสำคัญ โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล ยังร่วมต่อยอดผสมผสานเรียนรู้เรื่องราวของบทเพลงจากอดีตที่ผ่านมาเพื่อยกระดับไปสู่สากล
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมได้ที่ https://www.facebook.com/profile.php?id=100095122862599
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional". |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other. |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |