บทเรียน-ประสบการณ์ Hate speech จากเวทีเสวนา “ฮักบ่Hate”
อาจกล่าวได้ว่า Hate speech สำหรับสังคมไทยยังคงเป็นเรื่องใหม่ที่หลายหน่วยงานเห็นความสำคัญและก่อบทบาทมาระยะหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างกระแสจนถึงขั้นส่งผลสะเทือนต่อระดับนโยบายให้มีมาตรการรับมืออย่างเป็นรูปธรรม
ในการเสวนา “ฮักบ่Hate การสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรม ที่ 8 หน่วยงานภาคี ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมนุษยชนแห่งชาติ , กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ , มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ,TikTok Thailand ,บริษัท เทลสกอร์ จำกัด COFACT ประเทศไทย , มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย จับมือกันรณรงค์สร้างกระแสให้เกิดการตระหนักในเรื่องนี้ สาระจากเวทีเสวนาทั้งจาก ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วาเนสซ่า ชไตน์เม็ทซ์ ผู้อำนวยการโครงการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เป็นข้อมูลที่คนในสังคมไทยควรศึกษาเรียนรู้ ร่วมกัน
76 % คนเยอรมัน มีประสบการณ์ Hate speech
วาเนสซ่า ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการแปลเป็นภาษาไทยโดย ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ว่า มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เป็นมูลนิธิที่ไม่หวังผลกำไรจากเยอรมัน เป็นมูลนิธิทางการเมือง มีสายสัมพันธ์กับพรรค Free Democratic Party (FDP) หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ได้รับจัดสรรกระทรวงให้ดูแล อาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง ถ้าดูตามชื่อ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ (Friedrich Naumann for Freedom) บอกถึงจุดยืนของมูลนิธิว่าอยู่ตรงไหน ในเรื่องของ Hate speech ผลสำรวจในปีที่ผ่านมา คนเยอรมัน 76% เคยมีประสบการณ์เรื่อง Hate speech และ 98% ของคนรุ่นใหม่ ที่มีประสบการณ์ตรง และเป็นเหยื่อของเรื่องนี้ด้วย ซึ่งมุมมองในเรื่องเสรีภาพ Hate speech ถือเป็นภัยคุกคามที่ทำให้ไม่สามารถแสดงออกถึงเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่ และเรื่องของ Hate speech ที่อยู่ในโลกออนไลน์สามารถทำร้ายในโลกของความเป็นจริงได้
“จุดยืนของมูลนิธิเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ใช่แค่ว่าเราไม่เกลียด เราไม่จำเป็นต้องรัก หรือโอบกอดคนที่เราไม่ชอบ แต่ควรมีการถกเถียงและแลกเปลี่ยน เราอยากให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องเห็นด้วยเหมือนกันหมด และมีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วย เราควรมีวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยน แม้แต่สิ่งที่เราไม่เห็นด้วย เราก็สามารถแลกเปลี่ยนได้”
วาเนสซ่า กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นบาดแผลที่คนเยอรมันจดจำ มีกฎหมายที่ห้ามกระทำ ห้ามแสดงออกซึ่งความคิดเห็น การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นถือเป็นอาชญากรรม ซึ่งเป็นบริบทเฉพาะของเยอรมัน เพราะมีเหตุการณ์ที่ถูกห้ามให้แสดงออกในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2
เยอรมันมีข้อกฎหมายซึ่งออกมาตอนปี 2017 ที่ออกโดยรัฐบาลชุดก่อน เป็นที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันมากจนถึงปัจจุบัน คือเป็นกฎหมายที่กำหนดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาภายใน 7 วัน ว่าเนื้อหานั้นเป็น freedom of speech คือเสรีภาพในการแสดงออก หรือเป็นอาชญากรรม ซึ่งจะมีค่าปรับด้วย อย่าง Facebook ตอนปี 2019 ก็ถูกปรับไป 2 ล้านยูโร
ข้อวิพากษ์วิจารณ์เยอะพอสมควรเรื่องเวลาที่ใช้ในการพิจารณา 7 วันว่ากระชั้นเกินไป เวลาเท่านี้จะพิจารณาได้รอบคอบสมบูรณ์แค่ไหน โดยวิพากษ์วิจารณ์ใน 3 เรื่อง คือ 1) การลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก 2) คนนำเสนอเนื้อหาไม่มีโอกาสในการโต้แย้ง 3) มีปรากฏการณ์ของฝ่ายขวาของเยอรมันที่กำลังมีขึ้นมา เห็นเรื่องของ Hate speech ที่เป็น Hate crime คือเรื่องที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ความแตกแยกขึ้นมา ด้วยระยะเวลาพิจารณาที่สั้น ทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม มีกฎหมายล่าสุดคือ European Digital Act 2024 ที่จะทำให้ทุกประเทศในยุโรปมีกฎหมายเดียวในการพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะดีกว่าที่จะมีกฎหมายนี้ในแต่ละประเทศ
มีกรณีตัวอย่างคือ มีคนเอาคำพูดของ ส.ส. พรรค Green ที่เยอรมัน ไปเป็นมีมบนออนไลน์แล้วมีคอมเม้นต์ต่างๆ นานา ส.ส.คนนี้ก็อยากจะฟ้องคนโพสต์ เนื่องจากเห็นว่าเป็น Hate speech เขาก็พยายามขอ IP Address จาก Facebook ซึ่ง Facebook ปฏิเสธ เพราะเป็นเรื่องของการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ส.ส.คนนี้เลยไปร้องต่อศาลที่เบอร์ลินเพื่อให้ Facebook เปิดเผย IP Address แต่ศาลที่เบอร์ลินบอกว่า มีข้อเท็จจริงอยู่ และเขาเป็นบุคคลสาธารณะ เมื่อเขาแพ้ที่ศาลเบอร์ลิน เขาก็ไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบด้วยคำฟ้องของ ส.ส.พรรค Green เขาจึงได้ IP Address มา และไปฟ้องร้องต่อบุคคลที่ทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง
สังคมไทย Hate speech มีพลวัตร
ผศ. ดร.ธานี กล่าวว่า จริงๆ ไม่ได้ทำเรื่อง Hate speech โดยตรง แต่ทำเรื่อง Bullying และ Anti-bullying มาสักระยะหนึ่งแล้ว จริงๆ Hate speech น่าจะเป็นรูปแบบใหม่ที่แปลงมาจาก Cyber bullying ด้วย เพราะฉะนั้น เรื่องของ Hate speech หรือ Bullying มีพลวัตร คือไม่ใช่การรังแกแบบดั้งเดิมที่จะคงอยู่อย่างนั้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงเสมอตามยุคสมัย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ก็สอดคล้องกับโครงสร้างในภาพใหญ่ด้วย
ถ้ามองในมุมวิชาการ นิยามที่เป็นทางการของคำว่า Bullying คือ การกระทำใดๆ ก็ตาม ทั้งทางกาย ทางวาจา หรือทางความรู้สึก กับผู้ใดผู้หนึ่ง หรือผู้อื่น ที่ทำให้เขารู้สึกเสียใจ เจ็บใจ เศร้าใจ มีความทุกข์ คิดมาก ไม่สบายใจ หรืออื่นๆ ในนิยามนี้มี keyword 3 คำ 1) คือ การกระทำใดๆ ก็ตาม ทั้งกาย วาจา และความรู้สึก เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องอะไรก็ได้ 2) คือ ต่อผู้อื่น กับคนอื่นใครก็ได้ แปลว่า เรายึดผู้อื่นเป็นหลัก ไม่ได้ยึดว่าฉันไม่ได้แกล้ง ดังนั้นฉันไม่ bully ต้องยึดที่ผู้อื่น ไม่ได้ยึดที่เรา และ 3) ทำให้เขามีความคิดในเชิงลบ เศร้าใจ เสียใจ ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ คิดมากทั้งหลาย พอมี keyword 3 คำรวมกัน คือการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นให้เขามีความรู้สึกทางลบ แปลว่าเราจะตีความว่าเป็น bully หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่เราทำอะไร แต่อยู่ที่เขารู้สึกอะไร จริงๆ คำไทยคือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือทำอะไรให้คิดถึงคนอื่นไว้ก่อน แต่ตอนนี้เวลามีปัญหากัน เรามักจะบอกว่าเราไม่ได้แกล้ง เราไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งไม่ใช่โจทย์ของเรา โจทย์คือเมื่อใดก็ตามที่เราทำแล้วผู้อื่นรู้สึก คือ empathy ในภาษาอังกฤษ ที่เราคุยกันตอนนี้ ให้คิดถึงความรู้สึกผู้อื่น อันนี้คือ key หลัก
ผศ. ดร.ธานี กล่าวว่า ช่วงแรกๆ คำว่า Bullying ไม่มีคำที่ตรงกับภาษาไทย สมัยก่อนเรามักจะใช้อยู่ 2 คำ คือคำว่าแกล้ง กับคำว่ารังแก เราจะเห็นงานวิจัยที่ทำสำรวจและใช้คำ 2 คำนี้เยอะมาก ความน่าสนใจของคำ 2 นี้คือ เราเห็นสัดส่วนที่ต่างกันมาก เช่น ถ้าถามนักเรียนที่ไม่เกินมัธยม 6 ว่าเคยถูกแกล้งไหม เคยแกล้งเพื่อนไหม สัดส่วนของคนเคยถูกแกล้งประมาณ 90% ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะคำว่าแกล้งมีเซ้นส์ของการเล่นกัน ไม่ได้ตั้งใจทำร้าย ซึ่งเวลาผู้ใหญ่แปลคำว่า bully ว่าแกล้ง ก็เลยรู้สึกว่าไม่เห็นเป็นอะไรเลย เพราะแกล้งกันสนุกสนาน
“กลับกันถ้าถามว่าเคยรังแกคนอื่น หรือเคยถูกรังแกไหม ตัวเลขจะเหลือแค่ 30% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เยอะ แต่ถือว่าลดลงมาก เพราะสังคมไทยถ้าบอกว่าถูกรังแกจะรู้สึกเป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องไปถึงหูครู ต้องไปถึงคนอื่น เป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะฉะนั้น 2 คำนี้ไม่ได้ตรงกับ bully เป๊ะๆ bully ะอยู่เฉดตรงกลาง คือกรณีที่ไม่ได้สนุกด้วย แต่ก็ไม่ถึงขั้นอยากจะทำร้าย คำนี้ค่อนข้างใหม่ และมาพร้อมกับสังคมที่เป็นปัจเจกมากขึ้น ผมว่า regulation หนึ่งทางสังคมที่สำคัญคือการกำกับการกระทำของตัวเองที่ส่งผลต่อความรู้สึกของคนอื่น”
ผศ. ดร.ธานี กล่าวว่า Bullying ในทางทฤษฎี มีอยู่ 4 ประเภท ตอนหลังคนก็มองเรื่องนี้น้อยลง เพราะแบ่งยาก 1) คือ bully ทางกาย คือ ผลัก อาจจะไม่ถึงขั้นชกต่อย เด็กไทยก็อาจจะเตะตัดขา ไปกระแทกแรงๆ 2) bully ทางวาจา คือพูดจาไม่ดี เอกลักษณ์ไทยใน bully สำคัญมากที่ทั่วโลกไม่มี คือล้อชื่อพ่อแม่ 3) คือสังคม เพื่อนๆ ร่วมกันแบน เพื่อนๆ ไม่ร่วมทำกิจกรรมด้วย 4) คือทางไซเบอร์หรือออนไลน์ ซึ่งตอนนี้ปนๆ กันอยู่ หลังๆ เราจะนิยมแบ่งตามธีม คือแบ่งตามเป้าหมายของการ bully
“เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราเคยทำวิจัยกับนักเรียนประมาณแสนกว่าคน 3 ธีมใหญ่ๆ ที่นักเรียนรู้สึกว่าไม่อยากให้เกิดขึ้น และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข คือ 1) Body Shaming เช่น สีผิว ผมมีมาก มีน้อย ตัวสูง ตัวเตี้ย 2) Gender inequality เราพบการล้อเลียนเพศหญิงลดลงมาก แต่ไปอยู่กับ LGBTQ เยอะมาก ซึ่ง LGBTQ มาแทนการล้อเลียนเพศชายหญิงเพราะโลกที่ชายหญิงเริ่มเท่าเทียมกันมากขึ้น คนที่เป็นกลุ่มคนที่น้อยกว่าอย่าง LGBTQ ก็จะถูกล้อเลียนในลักษณะเรื่องตลก ซึ่งเป็นเคสเดียวกับเรื่องศาสนา คนที่อยู่ในศาสนาที่น้อยกว่าในโรงเรียนที่เป็นศาสนาเยอะกว่าก็จะถูกกระทำเหมือนกัน 3) Sexual Harassment แซวเรื่องทางเพศ ซึ่งถ้ามองในเชิงคอนเส็ปต์ การแก้ปัญหา bully คือการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย โจทย์มีเพียงอย่างเดียวคือใครเป็นคนกลุ่มน้อยในกลุ่มใหญ่จะโดน”
ผศ. ดร.ธานี กล่าวว่า ผลกระทบของ bully ทำให้เกิดอะไรบ้าง bully มีคน 3 คนเกี่ยวข้องกัน 1) คนที่ถูก bully เวลาที่ถามว่าเคยถูก bully ไหม คนจะตอบว่าเคยถูก bully ประมาณ 70% คนถูกแกล้งก็จะมีสุขภาพจิตที่แย่ลง ความน่าสนใจคือใครเคยถูกแกล้งแล้วเศร้าหรือเป็นทุกข์ จะกลายเป็นเหยื่อที่เป็นเหยื่อต่อเนื่อง คือถูกกระทำให้อ่อนแอแล้วจะมีคนเหยียบซ้ำ เพราะคือการแสดงความแข็งแรงของคนบางกลุ่ม อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ เพราะเขาจะถูกกระทำซ้ำๆ
2) ถ้าถามว่าเคย bully คนอื่นไหม มีคนตอบว่าเคยประมาณ 20% ผลกระทบของคนที่ไปแกล้งคนอื่นที่ใหญ่ที่สุดในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมคือ bully คือการกระทำที่ละเมิดบนร่างกายและความรู้สึกผู้อื่นอย่างไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น คนที่เคย bully คนอื่นในวัยเด็กจะโตมาพร้อมกับเรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีอำนาจ ความสามารถที่จะทำร้ายคนอื่นได้อย่างไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น bully ก็จะเป็นรากฐานของการเติบโตขึ้น ในการใช้อำนาจที่เหนือว่าซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบ ทำร้ายคนอื่น และสังคมไทยก็ฝึกเด็กให้เรียนรู้การใช้อำนาจในทางที่ผิด
และคนกลุ่มที่ 3) ที่เกี่ยวข้องคือ Bystander คนอื่นที่อยู่รอบๆ เขาก็จะเรียนรู้ว่าใครมีอำนาจก็ทำร้ายคนอื่น และแกควรอยู่เฉยๆ ในโรงเรียนสนใจแต่เรื่องการเรียนการสอน ไม่ได้สนใจเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันของเด็ก มันเป็นการสร้างวัฒนธรรมของการยอมรับการใช้อำนาจจนละเมิดสิทธิบนร่างกายและจิตใจผู้อื่นอย่างยอมรับไม่ได้
“ถ้า link มากับ Hate Speech ผมคิดว่ามันเติบโตขึ้นเยอะหลังจากที่ cyber bullying มันเติบโตขึ้น และ cyber bullying มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือการละเมิดทางกายจะลดลง แต่ข้อเสียซึ่งมี 2 ประการ คือทำให้ bully ที่เกิดอยู่ในพื้นที่จำกัด อย่างในโรงเรียน วันนี้กลายเป็นการ bully ในพื้นที่เปิดและเป็นพื้นที่สาธารณะ ทำให้ความกล้าและความอยากใช้อำนาจเพื่อแสดง power มีความหมายมากขึ้นมากๆ ข้อเสียอีกข้อคือ Hate Speech รวมทั้ง cyber bullying มันเติบโตขึ้นเยอะมาก พื้นที่ออนไลน์คือพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน เดิม bully คนตัวใหญ่รังแกคนตัวเล็ก คนตัวเล็กทำอะไรไม่ได้ คนหมู่มากรังแกคนกลุ่มน้อย คนกลุ่มน้อยทำอะไรไม่ได้ แต่ในโลกออนไลน์ ทุกคนโต้ตอบกันได้เท่ากัน เพราะฉะนั้นมันมี exchange ของความรุนแรงเกิดขึ้นในโลกออนไลน์เยอะขึ้น ซึ่งความเท่าเทียมในโลกออนไลน์ไม่ได้เป็นด้านบวก แต่เป็นด้านลบในด้าน bully มันมี impact มากมายมหาศาล”
ผศ. ดร.ธานี กล่าวว่า ความยากของประเทศไทยคือ เคยพยายาม detect เรื่อง Hate Speech แต่ในสังคมไทยมีความซับซ้อน เช่น ถ้าใน facebook เขียนว่า แหม วันนี้เธอสวยจัง ไม่รู้ชมหรือด่า เพื่อนสนิท แกโพสต์แล้ว คำว่าเพื่อนสนิทคือคนที่แกไม่ชอบหรือคนที่แกชอบ หรือบอกว่า แหมเรื่องนี้เก่งเป็นพิเศษเลยนะ เป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี เราเคยพยายามแยกคำ แต่มันทำไม่ได้ อย่างคำว่า วันนี้แกสวยจัง มีแค่ตัวเขากับคนในกลุ่มเท่านั้นที่รู้ว่าคำนี้ด่าหรือชม แต่เราเป็นคนนอกเราจะไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น สังคมไทยมีกระบวนการ Hate Speech ที่ทำร้ายเฉพาะในกลุ่มก็ได้ อันนี้เป็นนวัตกรรมทางวาจาสมัยใหม่ ที่เป็นไทยประดิษฐ์
ถึงเวลา มีกฎหมายต่อต้าน Cyber bully?
ดร.ศรีดา กล่าวว่า เคสที่วาเนสซ่าเล่าให้ฟัง คือประเทศเขาเป็นประเทศที่กฎหมายแรง แต่ในประเทศไทยคือไม่มีกฎหมาย หรือถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่เกิดผล ทุกวันนี้จะเห็นว่าหมิ่นประมาท bully หรือ Hate Speech เต็มไปหมดบนโลกออนไลน์
สมัยแรกๆ ของการใช้อินเตอร์เน็ตมีกฎกติกามารยาท มีข้อหนึ่งบอกว่า ต้องตระหนักว่าคนที่คุณสื่อสารด้วยบนโลกออนไลน์มีตัวตนอยู่จริง เพราะฉะนั้น จะทำอะไรต้องนึกว่ามีผลกระทบกับคนจริงๆ แต่ทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่าความตระหนักรู้ตรงนั้นยังเยอะอยู่หรือเปล่า
เด็กบางคนโดนมาเยอะแล้วในชีวิตจริง อ้วนดำ อ้วนดำ อีกคำหนึ่งของคุณ คิดว่าแค่คำเดียวเอง พรุ่งนี้ก็ลืมแล้วไม่มีใครสนใจคุณแล้ว แต่ว่าอาจจะเป็นคำที่พันแล้วสำหรับเด็กคนนั้น อาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เขาฆ่าตัวตายก็ได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น คุณคิดว่าคุณกำลังสื่อสารติดต่อกับมนุษย์ที่มีเลือดมีเนื้อ มีความรู้สึก และเขาอาจจะได้รับผลกระทบจากคุณหรือเปล่า
อันที่สอง คือเรื่องกฎหมาย ตอนนี้กฎหมายเรา function แค่ไหน ถ้าพูดถึงเรื่องหมิ่นประมาท เต็มเลยบนโลกออนไลน์ บางคนเขียนว่า คหสต แต่เขียนไปอย่างแรงเลย ซึ่งบางทีก็เป็นคำที่ทำร้ายคนอื่น หรือเป็น Hate Speech สร้างความเกลียดชัง ซึ่งไม่จำเป็นต้องหยาบคาย แต่ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การไม่ยอมรับ การกีดกัน เกลียดชัง ด้อยค่า
ตัวเองไม่ได้พูดถึงจำนวนว่า มากขึ้นหรือน้อยลง แต่พูดว่ามันบานปลาย บานปลายในแง่การแกล้งหรือการด่าว่าใครสักคน พอขึ้นมาบนออนไลน์มีคนมาร่วมเยอะขึ้น และเรื่องก็ไปไกลขึ้น เพราะฉะนั้น การแก้ไขก็ยากขึ้น ผลกระทบก็หมู่มากขึ้น มองว่าเทคโนโลยีทำให้เรื่องนี้มันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีเรื่องใจเขาใจเรา และเรื่องกฎหมายมากำกับดูแล ก็ยิ่งไปกันใหญ่
ดร.ศรีดา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามักจะพูดกันถึงเรื่องเหยื่อ คุณต้องเข้มแข็ง คุณอย่าไปให้ค่าเขา ที่บ้านคุณต้องมีความรักให้ คุณก็จะแข็งแรง คือเราไปโฟกัสที่เหยื่อเป็นหลัก ซึ่งบางครั้งถ้าเป็นเด็ก เด็กก็ไม่ไหว เมื่อเช้าไปเวทีหนึ่งมา เด็กบอก Cyber bully คือปัญหาใหญ่ที่สุดของเขา ต้องช่วยกันแก้ไข
“ตัวเองอยากมาดูในส่วนของผู้กระทำบ้าง ทำไมเด็กหรือผู้ใหญ่ไปกลั่นแกล้ง ระราน รังแกคนอื่น บางคนพ่อแม่ให้ท้ายแล้วไปรังแกคนอื่น เคยคิดไหมว่าลูกโตไปจะเป็นอย่างไร นอกจากสนใจเหยื่อแล้ว อยากให้สนใจคนแกล้งด้วย และอยากให้ทำงานกับ Bystander ผู้เห็นเหตุการณ์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ว่าเราจะช่วยกันอย่างไร ถ้าเราไม่เพิกเฉย เราช่วยอะไรได้ เราต้อง educate สังคมว่าเรามีวิธีที่จะเปลี่ยน mind set ว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยคือการส่งเสริม สนับสนุนให้สิ่งนี้มันอยู่ต่อไปในสังคม”
ดร.ศรีดา กล่าวว่า อยากให้มีกฎหมายที่ดูแลเรื่องพวกนี้ ตอนนี้เราผลักดันกฎหมายต่อต้าน Cyber bully อยู่ อาจจะไม่ได้ลงโทษเอาเด็กไปติดคุก แต่พ่อแม่ต้องมีบทบาทดูแลลูก ทุกวันนี้เด็กแว้นมอเตอร์ไซค์ ก็เอาเงินมาจากพ่อแม่ กฎหมาย Cyber bully ที่เราศึกษาของหลายๆ ประเทศ ก็มีเรื่องพ่อแม่ หรือเด็กก็ต้องไปฝึก ไปเปลี่ยน mind set ไม่ใช่ทำผิดแล้วผิดอีก
“คิดว่าต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก และเปลี่ยน mind set ของสังคมนิดหนึ่งว่ามัน ignore ไม่ได้ มันจะต้องมีกฎหมาย มีการดูแลหรือปลูกฝังเรื่องของจริยธรรม หรือใจเขาใจเรา ว่าคนบนออนไลน์เขามีตัวตน ไม่ใช่ไปเขียนคอมเมนต์แล้วก็จากไป ไม่สนใจผลกระทบ และกฎหมายที่มีจะต้อง function ถึงจะมีความกลัวเกรงการกระทำความผิด” ดร.ศรีดา ระบุ
ชวนสายคอนเทนต์ทำคลิปสร้างความตระหนัก
เพื่อการสร้างกระแสรณรงค์ต่อเนื่อง ทาง 8 เครือข่ายความร่วมมือครั้งนี้ ยังเชิญชวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในแพลตฟอร์ม TikTok ร่วมส่งคลิปสั้นความยาวไม่เกิน 1 นาที เข้าร่วมประกวดในแคมเปญ “ฮักบ่Hate” เพื่อแบ่งปันมุมมอง ความเข้าใจ และความตระหนักต่อเรื่องการสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ชิงรางวัลรวมมูลค่า 50,000 บาท โดยสามารถส่งคลิปเข้าร่วมการประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ – 8 มีนาคม 2567 ทั้งนี้รายละเอียดและหลักเกณฑ์การประกวดติดตามเพิ่มเติมได้ที่ TikTok : สำนักงาน กสม. (@nhrc_thailand) และ Facebook Fanpage : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ