ผู้จัดการกองทุนสื่อฯ เชื่อ THAI Wave เขย่าอุตสาหกรรม Content มั่นใจงาน K-EXPO สร้างพันธมิตรเกิดสารตั้งต้น Soft Power ไทย

“เด็กและเยาวชนควรเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่ที่ผ่านมาเราคิดแบบผู้ใหญ่ ทำให้มีกำแพงและเข้าไม่ถึงเด็ก ดังนั้นต้องทลายกำแพง อย่างประเทศเกาหลีก็ตั้งต้นผลิตคอนเทนต์โดยจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งดูเว็บตูนเป็นหลัก แล้วต่อยอดสู่การผลิต K Drama, K-pop, Game ไปจนถึงภาพยนตร์ เขาเริ่มจากความคิดสร้างสรรค์ก่อน แล้วต่อยอดไปสู่การเล่าเรื่อง Storytelling ซึ่งสำคัญมาก งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อสะท้อนเห็นว่าสิ่งที่เด็กและเยาวชนสนใจจริงๆ คืออะไร”

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวบนเวที Lek‘s Talk By TMF ซึ่งจัดขึ้นที่โซน Thai Pavilion ในงาน K-EXPO THAILAND 2023 ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา 

ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขยายความว่า อุตสาหกรรมสื่อของเกาหลีใต้ เป็นการต่อจิ๊กซอร์ทำงานที่ครบวงจร เริ่มจากกำหนดนโยบายโดยมองเห็นระบบนิเวศน์สื่อ และภาครัฐให้งบประมาณสนับสนุนเพื่อกำจัดอุปสรรคของงานครีเอทีฟ ทำให้นักสร้างสรรค์มีอิสระดึงความคิดที่ดีออกมาให้มากที่สุด 

เป็นข้อสรุปที่ได้จากการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กองทุนฯ ได้การลงนาม MOU ความร่วมมือกับทีม KOCCA เกาหลีใต้มาร่วมหนึ่งปีเศษ 

“ที่ผ่านมาเราตกผลึกการทำงานร่วมกันมากขึ้น เรียนรู้ว่าหัวใจการทำงานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเกาหลีอยู่ที่ “คอนเทนต์” แล้วจับกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ที่เขาตั้งต้นด้วยกลุ่มเยาวชน เพราะเป็นกลุ่มที่เปิดรับข้อมูลข่าวสารง่าย จึงสร้างกระแสและปรากฎการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และสร้างการเติบโตอย่างมีพลัง”

 
สร้างพันธมิตรทางวิชาชีพทุกระดับในอุตสาหกรรมคอนเทนต์

กว่า 1 ปีที่ผ่านมากองทุนฯ ได้เชิญนักเขียนบทซีรี่ย์เกาหลี มาถ่ายทอดเทคนิคให้นักเขียนบทชาวไทย จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนร่วมวิชาชีพระหว่างสองประเทศ

“เราได้นักเขียนบทเกาหลีเก่งๆ หลายคน ที่หยิบเรื่องท้องถิ่นที่ดูธรรมดามาก ๆ มาเล่าให้เป็นสากลด้วยวิธีการเขียนบทที่สนุก เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์เข้าด้วยกัน อย่างซีรี่ย์เรื่อง King The land ใช้ต้นทุนผลิตประมาณ 600 ล้านบาท ขณะที่หนังไทยเรื่องสัปเหร่อมีต้นทุนเพียง 10 ล้านบาทแต่สร้างรายได้เกือบ 1,000 ล้านบาท สะท้อนว่าคนไทยเก่งมาก แต่เราต่างคนต่างทำตามศักยภาพของตนเอง ขาดการสนับสนุนที่เป็นระบบ”

ดร.ธนกร เล่าว่า ที่ผ่านมากองทุนสื่อฯ พยายามสร้างโมเดลที่เป็นระบบขึ้น โดยมีหลักสูตรบ่มเพาะผู้ผลิตหน้าใหม่ สร้างนักเขียนบทละครโทรทัศน์และให้งบประมาณในการผลิตหนังสั้น ไปจนถึงเชื้อเชิญนักธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์มาลงทุนเพื่อสร้าง Start up ในกลุ่มผู้ผลิต 

“ปีนี้เราสร้าง Start up ได้ 2 บริษัท ซึ่งผลิตงานสร้างสรรค์ เช่น เกมส์ เว็บตูน และอื่นๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตของ SMEs ด้านการผลิตสื่อ” 

2 บริษัท Start up ที่กล่าวถึง คือ ทีมจั๋นเป๊ง PRO MAX ทีมผลิตสื่อจากภาคเหนือ และ ทีม MENTAL ME ซึ่งสร้างฟีเจอร์ในแอพพลิเคชั่น ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพจิตซึ่งเมื่อวันที่ 14 กค.66 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้แถลงข่าวความสำเร็จของโครงการพัฒนาผู้ประกอบการสื่อรายใหม่ Thai Media Hackathon 2023

ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในการพบปะระหว่าง  Mr. Jo,Hyun Rae CEO&President KOCCA พร้อมคณะประะกอบด้วย ,Mr. Cho Jae il Director of Korean Cultural Center in Thailand (KCC) , Ms. Ji Kyeong Hwa KOCCA General Manager , Mr. Woong-Jin Park KOCCA Thailand Director และ นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมคณะผู้บริหาร ซึ่งมีการหารือถึงความร่วมมือที่ได้ดำเนินการมาร่วมหนึ่งปีเศษ พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและการทำงานที่จะร่วมกันต่อไป

ดร.ธนกร ระบุว่า สิ่งที่กองทุนสื่อฯ จะดำเนินการต่อไปคือการพัฒนาคนเขียนบทละครโทรทัศน์หรือบทภาพยนตร์ โดยขอความร่วมมือจากนักเขียนบทจากเกาหลี เพื่อร่วมเป็นเทรนเนอร์หรือวิทยากรมาร่วมบรรยาย ในขณะเดียวกันจะมีการแลกเปลี่ยนการถ่ายทำละครหรือภาพยนตร์ที่จะใช้ฉากทั้งในประเทศไทยและประเทศเกาหลี พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์นี้จะพัฒนาให้เกิดความเจริญเติบโตมากขึ้น

 
Content Creator ไทยตื่นตัวกระแส Soft Power

สาระน่าสนใจ จากเวที Lek‘s Talk By TMF อีกประเด็น คือ บทบาทหลักของกองทุนสื่อฯ ในการสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ผลิตสื่อคุณภาพเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ปิดรับโครงการไปแล้วเมื่อ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้ขอรับทุนทั้งสิ้น 1,380 โครงการ มูลค่ารวม 5,200 กว่าล้านบาท สะท้อนว่ามีผู้ผลิตที่ต้องการ “โอกาส” อย่างมหาศาล

“เฉพาะประเด็นยุทธศาสตร์ soft power ประเด็นเดียวมีผู้เสนอโครงการขอรับทุนมูลค่ารวมกว่า 2,000 กว่าล้านบาท ผมกำลังร่างจดหมายถึงรัฐบาลเกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้ ว่ามีคนต้องการเงินสนับสนุนจำนวนมาก ผมจะไปอ้อนวอนทุกแหล่งทุนให้เพิ่มเงินทุนเข้ามา ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำงานอย่างจริงจัง เพราะอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์รอไม่ได้ เพราะสิงคโปร์ซึ่งมีความมั่งคั่งร่ำรวยก็ลงทุนในธุรกิจนี้อย่างมหาศาล มีการซื้อตัวคนในวงการไปมากมาย หากเราไม่หยุดภาวะสมองไหล ไม่ปรับตัว ไม่ตื่น รีบอุดรอยรั่วนี้ผลกระทบก็จะตามมา ดังนั้นกองทุนสื่อฯ จะเป็นหน่วยหลักที่ผลักดันให้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เกิดขึ้นจริงให้ได้”

“โลกเปลี่ยนเร็วมาก อย่างเกาหลีเองก็ปรับเปลี่ยนตลอด เช่น วันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันสถาปนาประเทศเกาหลี (National Foundation Day) เขาก็ไม่จัดพิธีการเยอะ แต่เน้นที่การแสดงดนตรี ซิมโฟนี ออร์เคสตรา เพื่อยกระดับงานด้านดนตรี แต่ยังคงรักษารากเหง้าเดิมไว้ ดังนั้นนอกจากจะเชื่อมโยงความหลากหลายของผู้คนในประเทศแล้ว เรายังต้องเชื่อมโยงไปสู่นานาชาติด้วย” 

เครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจรองรับการขับเคลื่อน Soft Power ไทย การจัดงาน K-EXPO THAILAND 2023 ซึ่งจัดต่อเนื่อง 4 วัน ตั้งแต่ 9-12 พฤศจิกายน เป็นเหมือนภาพสะท้อนดอกผลของ Soft Power เกาหลี ที่ผสานวัฒนธรรมชาติสู่การสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล โดย 2 วันแรกเป็นรอบเจรจาธุรกิจ (B2B) และ 2 วันหลังเป็นรอบนิทรรศการ  (B2C) ซึ่งกองทุนสื่อฯ มีบทบาทสำคัญในการร่วมจัดงาน

 
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องทำงานอย่างจริงจัง

“เราเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการในประเทศได้พบปะกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ เกิดพันธมิตรทางธุรกิจ ในรอบเจรจาทางธุรกิจมีบริษัทในเกาหลีเดินทางมากว่า 40 บริษัท มีบริษัทในอาเซียน 70 กว่าบริษัท มีการเจรจาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอย่างคึกคัก ส่วนรอบโชว์เคส B2C มี 11 องค์กรในประเทศมาร่วมออกบูธ ซึ่งคาดว่าจะขยายให้ใหญ่ขึ้นในปีหน้า สิ่งสำคัญของงานวันนี้คือการตอกย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องทำงานอย่างจริงจัง”  

“ประเทศเกาหลีคิดก่อน ทำเร็ว ภาครัฐลงทุนด้วยงบประมาณจริงจัง จึงผลิตงานเป็นแพคเกจใหญ่ที่ชัดเจน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ประเทศไทยเองมีจุดแข็งเยอะ โดยเฉพาะงานครีเอทีฟ ที่โดดเด่น และยังมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบในเรื่องเล่าอย่างมีพลัง เช่น ตำนานมวยในประวัติศาสตร์ และมีความหลากหลายของอาหารแต่ละภูมิภาค แม้เราจะตามหลังเกาหลี แต่มีความหลากหลายมากกว่า” ดร.ธนกร กล่าวทิ้งท้าย