กองทุนสื่อ – สำนักข่าว AFP ติวเข้ม-สร้างเครือข่ายรับมือ เฟคนิวส์

“ผมเป็นหมอแท้ๆ แต่ในกลุ่ม Line ของหมอด้วยกัน ก็ยังมีคนส่งข่าวปลอมเรื่องข้อมูลการรักษาโรคมาให้เลย” 

เรื่องเล่าจากหนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมการตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม ระดับสูง  จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สำนักข่าว AFP (Agence France-Presse) จากฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า แม้แต่ในแวดวงของวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีความรู้ ความแม่นยำของข้อมูล ก็ยังมีโอกาสพลาดพลั้งส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องไปสู่ผู้อื่นได้ 

 

เทคโนโลยีก้าวหน้า ข่าวปลอมพุ่ง

เนื่องจากสื่อออนไลน์มีอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง มีแพลตฟอร์มเกิดใหม่ตลอดเวลา อย่างเช่น TikTok แพลตฟอร์มที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน แต่มีการแชร์ข้อมูลเป็นอันดับต้นๆ ยิ่งมีการแชร์กันมาก แต่ไม่มีการตรวจสอบ ก็ยิ่งมีโอกาสกระจายข้อมูลเท็จได้มากขึ้น 

ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ที่เล็งเห็นความสำคัญในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวสาร รวมถึงมีความพยายามในการจัดการกับข่าวปลอมจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้งหน่วยงานจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน และภาคสังคม อาทิ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย, ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์โดยสำนักข่าวไทย, โคแฟค (Cofact) ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ  

 
กองทุนสื่อ - AFP ร่วมต้านข่าวปลอม

ในส่วนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์นั้น มีบทบาทด้านการส่งเสริมและสนับสนุน การมีส่วนร่วมของสังคมให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายให้เกิดโครงการบูรณาการการทำงาน โดยเฉพาะความร่วมมือกับสำนักข่าว AFP หรือ อาจั้งฟรังซ์เพรส (Agence France Presse ) ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่มีฝ่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นหน่วยงานหนึ่งแยกต่างหาก มีเจ้าหน้าที่มากกว่า 140 คน และมีการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนแล้วใน 82 ประเทศ ครอบคลุม 26 ภาษาทั่วโลก ทำงานร่วมกับ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ อาทิ Meta , TikTok , X 

AFP ร่วมมือกับกองทุนสื่อฯ ในการเผยแพร่หลักสูตรการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนด้วยเทคนิคและเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2020 โดย AFP รับบทบาทเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องเครื่องมือตรวจสอบข้อมูลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ฝึกอบรมให้บุคลากรในวิชาชีพสื่อและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในด้านต่างๆ โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็นระดับเบื้องต้น ระดับกลาง และขั้นสูง

โดยการอบรม การตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม ระดับสูง ครั้งนี้ AFP จัดหลักสูตร AFP DIGITAL INVESTIGATION TECHNIQUESS WORKSHOP มาติวเข้มผู้เข้าอบรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับบรรณาธิการสื่อ และตัวแทนหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่น สภาองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนแพทยสภา ซึ่ง สเตฟาน เดลโฟร์ (Stephane Delfour)  หัวหน้าสำนักข่าว Agence France-Presse (เอเอฟพี) ประจำกรุงเทพฯ นำทีมสตาฟมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ประสบการณ์และแชร์ข้อมูลแบบจัดเต็ม 2 วันของการอบรม เช่น หัวข้อ introduction of editorial process,Searching on social media level 2,Geolocation level 2,Geolocation exercise,Tips for AI-generated content,Archiving tools เป็นต้น

 
สเตฟาน เดลโฟร์ (Stephane Delfour) หัวหน้าสำนักข่าว Agence France-Presse (เอเอฟพี) ประจำกรุงเทพฯ
3 ปีความร่วมมือ

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า หลักสูตร Fact checking เป็นโครงการนำร่อง เพื่อต่อยอดหลักสูตรตรวจสอบข่าวให้ขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ พัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อ โดยเริ่มจากกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นสื่อมวลชนและเครือข่ายผู้บริโภค โดยคาดหวังให้ผู้ที่ผ่านหลักสูตรขั้นสูงแล้ว ออกไปเป็นเทรนเนอร์ให้กับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เป้าหมายสูงสุดคือ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเอาเครื่องมือการตรวจสอบเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษา เด็กวัยเรียนจะได้ตรวจสอบข่าวเป็น ตามหาต้นตอของข่าวได้ และทุกวิชาชีพต่างต้องการความจริง ในอนาคตเราก็จะทำหลักสูตรตรวจสอบข้อมูลให้กับวิชาชีพเฉพาะด้าน เช่น ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น  

ในโลกของข้อมูลข่าวสารที่ความจริงความและความลวงมีเส้นแบ่งบางลงเรื่อยๆ เครื่องมือการตรวจสอบข้อมูลของ AFP จึงมีหลากหลาย เช่น การใช้ Geocode ซึ่งเป็นระบบค้นหาข้อมูลจากพื้นที่เกิดเหตุจริงด้วย Geolocation โดยใส่รหัสพิกัดที่เกิดเหตุ เวลา และคำสำคัญต่างๆ ลงในระบบเซิร์ทเอนจิ้น ซึ่งจะทำให้หาข้อมูลได้ทั้งบุคคล สถานที่ และคลิปวิดีโอเหตุการณ์นั้นๆ ที่มีผู้บันทึกไว้ การตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องนี้ คือจุดเริ่มต้นและหัวใจของการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง  

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

“เราทำงานร่วมกับ AFP ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ได้เรียนรู้ประสบการณ์ทำงานร่วมกัน เช่น การบริหารจัดการองค์กร การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แม้เมืองไทยจะมีเฟคนิวส์สูงอันดับต้นๆ แต่เขาก็เห็นความเอาจริงเอาจังของเราในฐานะหน่วยงานตรวจสอบ ก็ชื่นชมและยินดีที่จะทำงานร่วมกัน” ดร.ธนกร ระบุ

ทั้งนี้ในห้องอบรมมีการยกเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสยามพารากอน เป็นกรณีศึกษาเพราะสะท้อนทักษะการนำเสนอข้อมูลในสถานการณ์วิกฤตอย่างชัดเจน ซึ่งในมุมมองของผู้จัดการกองทุนสื่อ มองว่า ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน บางคนอยู่ในสถานที่จริง เผชิญเหตุการณ์จริง แล้วก็ถ่ายรูปแชร์ทันที แต่มันไม่ควรเป็นอย่างนั้น ควรรู้ถึงความเหมาะสมหรือจรรยาบรรณ การละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น และภาพที่ถูกแชร์ออกมามากมายก็เป็นการปั่นกระแสซึ่งอันตรายมาก เพราะทำให้สังคมสับสน


ทุกองค์กรวิชาชีพตื่นตัวรับมือ

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า ข้อมูลบิดเบือนมีหลายระดับ เริ่มจากสร้างความเข้าใจผิดโดยไม่มีเจตนา ระดับต่อมาคือตั้งใจทำข้อมูลลวง ส่วนระดับที่ 3 คือเจตนาจะหลอกลวงเลย เช่น ตั้งใจหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล หลอกให้เสียทรัพย์สิน ซึ่งกองทุนสื่อมีหน้าที่ส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อเหล่านี้ อยากให้ทุกครอบครัวมีคนที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเอง เพราะกลไกที่สำคัญที่สุดคือกลไกทางสังคม ตั้งแต่ ชุมชน หมู่บ้าน หรือครอบครัว ที่ควรแยกแยะได้ว่าข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาถูกต้องหรือไม่

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

หากย้อนข้อมูลเมื่อปี 2564 กองทุนสื่อฯ ได้ทำวิจัยการนำเสนอของสำนักข่าวกว่า 120 แห่ง โดยนำข่าวจากแพลตฟอร์มออนไลน์ประมาณ 1,500 ชิ้นมาวิเคราะห์ แล้วพบว่าในจำนวนนี้มีข้อมูลที่ตั้งใจบิดเบือนข้อมูลประมาณ 31% เป็นข้อมูลที่ผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจประมาณ 25% และมีข่าวจริงเพียงประมาณ 32% เท่านั้น

จากการสำรวจของกองทุนฯ ในเดือนกันยายนพบว่าการนำเสนอข่าวจากช่องทีวีดิจิตอล 18 ช่อง จำนวน 108 รายการ มีถึง 96.3% ที่นำข้อมูลจากเครือข่ายสังคมออนไลน์มาเผยแพร่ในรายการข่าว มีเพียง 3.7% เท่านั้นที่ไม่เอาเนื้อหาจากออนไลน์มารายงานต่อ ก็ต้องมาตั้งคำถามว่ามีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกันก่อนหรือไม่ และปรากฏการณ์เหล่านี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ

“การฝึกอบรมครั้งนี้ เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย แสดงว่าทุกวิชาชีพก็ตระหนักว่ากระบวนการกลั่นกรองสำคัญมาก เมื่อก่อนข้อมูลด้านสุขภาพมีการบิดเบือนเป็นอันดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องแกงค์คอลเซนเตอร์ ที่ทำให้แต่ละปีเมืองไทยต้องสูญเสียเงินไปกว่า 4 หมื่นล้านบาท” ดร.ชำนาญ ระบุ

“ผมเองก็เป็นนักเรียนในหลักสูตรนี้เช่นกัน ทำให้เกิดความตระหนักได้ว่า สิ่งที่เห็นในโลกออนไลน์มันคือสื่อที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นมันจึงมีทั้งสิ่งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง” ดร.ชำนาญ กล่าว

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข่าวลวง ข่าวปลอม เป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคม แล้วแต่วัตถุประสงค์การปล่อยข่าว ตั้งแต่ระดับรัฐ ลงมาถึงระดับมิจฉาชีพ เฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิตอล วัตถุประสงค์ มีใช้กันมากในการสร้างความเสียหายตั้งแต่ระดับปัจเจกและกลายเป็นปัญหาของสังคม ในประเด็นนี้การสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อรู้เท่าทัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มปริมาณสร้างสื่อดี ไล่สื่อร้าย ซึ่งหน้าที่นี้เป็นเรื่องของทุกคน