กองทุนสื่อเปิดให้ทุนปี 67 แล้ว ตั้งเป้าสร้างหนัง –ซีรีย์ ปลุกวงการ Content Creator

โอกาสในการพัฒนาฝีมือ ปล่อยของแสดงศักยภาพ และไอเดียสร้างสรรค์ ของบรรดา Content Creator ทั้งมือใหม่และมืออาชีพกลับมาอีกครั้ง สำหรับการเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงิน ประจำปี 2567 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้วงเงิน 300 ล้านบาท

แทบจะทุกปีของการเปิดให้ทุนของกองทุนสื่อฯ มักจะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ มีประเด็นดราม่าเป็นสีสัน อาจเนื่องด้วยเหตุผลที่ผู้คนซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีหลากหลายและส่งเสียงดังที่สุดในสังคมไม่ว่าจะเป็นคนในแวดวงสื่อ ฝ่ายการเมือง ผู้คนในวงการ Content Creator รวมถึงกลุ่มคนที่สนใจ อย่างไรก็ตามหากเจาะลึกลงไปในเนื้อหาสาระการให้ทุนในแต่ละปีก็จะเห็นถึงพัฒนาการที่น่าสนใจขององค์กรนี้เช่นกัน


ส่องทุนเชิงยุทธศาสตร์สะท้อนปรากฏการณ์สังคม

โดยปกติวงเงินให้ทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในแต่ละปี จะถูกจัดสรรให้กับ 3 ประเภทโครงการ คือ โครงการเปิดรับทั่วไป โครงการเชิงยุทธศาสตร์ และโครงการความร่วมมือ ซึ่งถ้าดูจากการจัดสรรทุนเทียบกันมาตั้งแต่ปี 2564 ในยุคที่ ดร.ธนกร ศรีสุขใส เป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงขอบเขตการให้ทุนในแต่ละปี โดยเฉพาะในส่วนของโครงการเชิงยุทธศาสตร์ ขณะที่ขอบเขตโครงการเปิดรับทั่วไป ซึ่งเน้นเป้าหมาย เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการด้อยโอกาส กลุ่มเป้าหมายนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เช่นเดียวกับโครงการประเภทความร่วมมือ ซึ่งก็จะเป็นขอบเขตการทำงานร่วมกับขององค์กรภาคี 

ย้อนไปดูข้อมูลปี 2564 วงเงินการสนับสนุนมีจำนวน 264 ล้านบาท จัดสรรโครงการเปิดรับทั่วไป  90 ล้านบาท โครงการความร่วมมือประมาณ 20 ล้านบาท โครงการเชิงยุทธศาสตร์ประมาณ 153 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เน้นโครงการส่งเสริมการรักชาติ ภาพยนตร์เรื่อง “พระร่วง พระราชาผู้ทรงธรรม” ซึ่งมีการพูดถึงกันมากในปัจจุบันก็ได้รับการจัดสรรในปีนี้ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการกำหนดขอบเขต โครงการ “วัฒนธรรมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Soft Power อยู่ด้วย แต่ก็ยังเป็นโครงการขนาดเล็ก 

ภาพฟิตติ้ง ภาพยนตร์พระร่วง พระราชาผู้ทรงธรรม โครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ปี 2565 วงเงินสนับสนุน 300 ล้านบาท จัดสรรโครงการเปิดรับทั่วไป  90 ล้านบาท โครงการความร่วมมือ 30 ล้านบาท โครงการเชิงยุทธศาสตร์ 180 ล้านบาท ในปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิดและการเข้าสู่ยุค Digital Disruption มีการระบุขอบเขตโครงการที่เกี่ยวข้องกับ ชีวิตวิถีใหม่กับสังคมดิจิทัล พหุวัฒนธรรมและความหลากหลายทางสังคม การรู้เท่าทันสื่อ การสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) ความสามัคคีปรองดอง การรู้เท่าทันข่าวลวงข่าวปลอม Hate Speech และ Cyberbullying  

ปี 2566 วงเงินสนับสนุน 300 ล้านบาท จัดสรรโครงการเปิดรับทั่วไป  90 ล้านบาท  โครงการความร่วมมือ 40 ล้านบาท โครงการเชิงยุทธศาสตร์ 180 ล้านบาท โดยขอบเขตโครงการประเด็นความสามัคคีลดโทนน้อยลง หันมาเน้น การเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและลดช่องว่างระหว่างวัย ชีวิตวิถีใหม่ พหุวัฒนธรรมและความหลากหลายทางสังคม การรู้เท่าทันสื่อ การสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) การรู้เท่าทันข้อมูลบิดเบือน  Hate Speech และ Cyberbullying  

ล่าสุดปี 2567 ซึ่งแถลงข่าวเปิดรับข้อเสนอโครงการฯ ไปเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา วงเงินสนับสนุน 300 ล้านบาท จัดสรรโครงการเปิดรับทั่วไป  80 ล้านบาท โครงการความร่วมมือ 40 ล้านบาท  ซึ่งก็มีประเด็นน่าสนใจสำหรับโครงการเปิดรับทั่วไป ที่นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายเดิมเหมือนปีที่ผ่านๆมา ในปีนี้มีการพูดถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBT ซึ่ง ดร.ธนกร ระบุว่า จุดยืนของกองทุน “ไม่เน้น-ไม่ปฏิเสธ” ต่อการมีส่วนร่วมของกลุ่ม LGBT  โดยจะดูที่เนื้อหาโครงการและผู้ขอรับการสนับสนุนทุนว่า เป้าหมายการผลิตสื่อเพื่อกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้โดยปกติหรือไม่ 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ส่วนโครงการเชิงยุทธศาสตร์จัดสรร 180 ล้านบาท ขอบเขตโครงการเน้นสร้างผลกระทบ (Impact) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก อาทิ  พหุวัฒนธรรมและความหลากหลายทางสังคม รู้เท่าทันสื่อ รับมือข้อมูลบิดเบือน ประทุษวาจา และการระรานในโลกออนไลน์ การสร้างมูลค่าจาก Soft Power  ขณะเดียวกันมีการเพิ่มประเด็นใหม่ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายพอสมควรคือ การผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน ละครชุดเพื่อส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และความมั่นคง ภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคี และใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างเป็นสุข

ดร.ธนกร  กล่าวว่า ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมากองทุนสื่อฯ เอาประเด็นเป็นตัวตั้ง ในปีนี้ เราอยากได้โครงการขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพราะต้องการให้ผู้รับทุนสร้างผลงานที่ก่อผลกระทบทางสังคมได้ บางทีเราถูกโจมตีว่า เราให้ทุนกับบริษัทขนาดใหญ่ แต่ปรัชญาของทุนเชิงยุทธศาสตร์ เราต้องการให้เอาเงินไปทำงานแล้วเกิดผลงานที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง 

“เราอยากมีภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่องสะท้อนภาพประเทศไทย สามารถนำไปฉายต่างประเทศได้ ทุกคนเข้าถึง ทันสมัย ไม่ใช่ยัดเยียด ต้องการมืออาชีพนำเสนอที่เราเห็นแล้วเหมือน Soft Power เหมือนเราดู King The Land ของเกาหลี EP.10 ซึ่งมาถ่ายทำที่ประเทศไทย” 

 
เร่งสร้างสมดุลระเบียบราชการ - ภาระผู้รับทุน

เป็นที่รับทราบและพูดถึงกันในกลุ่มคนที่ต้องการยื่นขอรับทุน แม้กระทั่งในเวทีประชุมของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก็คือความยุ่งยากเงื่อนไขการขอรับทุน หลักเกณฑ์การพิจารณา สิ่งเหล่านี้เป็น Dilemma ระหว่างคนทำสื่อ ไอเดียสร้างสรรค์ กับระเบียบราชการซึ่งมักจะสวนทางกัน 

“งานสื่อต้องเข้าใจว่ามีความเป็นนามธรรมสูง ไม่เหมือนงานก่อสร้าง ตรวจสเปคใช้เหล็กเท่าไหร่ ขุดลึกเท่าไหร่ แต่งานสื่อมีความเป็นสังคมศาสตร์ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ทัศนคติ มุมมอง  อันที่ยากอันหนึ่งที่กองทุนกำลังพิจารณาปรับปรุง คือ รายงานทางการเงิน เราคิดว่าเงินให้ไปแล้วควรพิจารณาผลลัพธ์เป็นหลักแต่มีหลายโครงการที่ทำงานเสร็จแล้ว งานดีด้วย แต่รายงานทางการเงินไม่เรียบร้อย ปัญหานี้เรารับรู้มาโดยตลอด กำลังหาทางแก้ไขปรับปรุงไม่ให้เป็นภาระของผู้รับทุน สิ่งที่สำนักงานกองทุนฯ กำลังจะทำคือ อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคแล้วไปลดทอนประสิทธิภาพ คุณภาพของการทำงาน ชิ้นงาน แล้วมีระบบตรวจสอบ ระบบติดตาม ทั้งคงความโปร่งใสไว้ไม่น้อยกว่าเดิมหรือมากขึ้นกว่าเดิม ” ดร.ธนกร กล่าว

“คนที่จะมาเขียนโครงการขอทุน ต้องไปอ่าน ม.5 ของ พรบ.กองทุน อ่านเสร็จก็ไปดูยุทธศาสตร์เราว่าเราต้องการอะไร หลายคนเสียดาย เรารู้ว่าเขาต้องการจะทำอะไร ซึ่งดีและไม่ผิด แต่ดีสำหรับ หน่วยงานอื่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการเมื่อเอากรอบของกองทุนสื่อมาจับ” ผู้จัดการกองทุนสื่อฯระบุ

 

หน่วยงานเล็ก ภารกิจยิ่งใหญ่

“กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งทุนมหาศาล ทุนที่ให้เราให้เทียบไม่ได้เลย แต่เราต้องการให้เป็นจุดตั้งต้น ต้องการให้คนที่มาทำซีรีย์ได้สะท้อนคุณภาพ สะท้อนความตั้งใจ แล้วภาครัฐเห็น วันนั้นเราเชื่อว่า การสนับสนุนในเชิงนโยบายจะเกิด เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่า เงินไม่ใช่ข้อจำกัด แต่อยู่ที่ไอเดียสร้างสรรค์ เราพยายามแล้ว ลงมือทำแล้ว ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่พอใจสังคมจะตัดสินให้เราเดินต่อ” 

 
เปิดเทคนิคเขียนโครงการพิชิตทุน

ในแต่ละปีมีผู้เสนอโครงการต่างๆ เพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ จำนวนมาก เมื่อมีจำนวนคู่แข่งสูง กองทุนฯ จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาโครงการต่างๆ ที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม

คำแนะนำจาก พัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ก็คือ การตอบคำถามกับโจทย์ 5 W 1 H  คือ Who-What-When-Where-Why + How ให้ได้ 

พัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ

Who  – คนขอทุนต้องรู้ว่าขอทุนจากใคร ในที่นี้คือ กองทุนสื่อฯ ก็ต้องรู้ว่า กองทุนเป็นใครให้ทุนเพื่ออะไรและต้องแนะนำตัวเองให้ได้ว่าผู้ขอทุนคือใคร ทำไมถึงเหมาะที่จะรับทุนนี้ ทีมงานเป็นใคร เหมาะที่จะรับทุนหรือเปล่า 

What – ทำอะไรต้องเขียนให้ชัด ประเด็นนี้ดูเหมือนง่ายแต่ส่วนใหญ่จะตกผู้เสนอโครงการต้องประเมินสถานการณ์ที่มีคู่แข่งเป็นพันโครงการ ดังนั้นต้องเคลียร์โครงการให้ชัด เพราะส่วนใหญ่ชอบเขียนไอเดีย แต่แตกเป็นรูปธรรมไม่ได้ว่าจะทำอะไร 

When – ช่วงเวลาที่จะผลิต ต้องสัมพันธ์กันกับกิจกรรม แต่ทั้งนี้ทุกอย่างต้องให้เสร็จภายใน 365 วัน

Where – สถานที่ ในการถ่ายทำหรือจัดกิจกรรม ถ้าเสนอมาแล้วคนละที่ ไม่มีการรีเสิร์จ ก็อาจถูกตัดคะแนน

Why – ทำไมถึงทำโครงการ มีแรงบันดาลใจ มี Passion อย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลโน้มน้าวกรรมการตัดสินโครงการ

How – อย่างไร ข้อมูลนี้จะเป็นตัวตัดสินว่า ผู้ขอทุนมีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญหรือไม่ โดยต้องแตกโครงการออกมาให้ชัดมีรายละเอียด ยกตัวอย่าง การถ่ายทำรายการหากมีผู้ขอทุนดำเนินโครงการเพียงคนเดียว เมื่อไปเปรียบเทียบกับโครงการลักษณะเดียวกัน แต่การทำงานมีทีมงาน ผู้ขอโครงการรายหลังมีโอกาสจะได้รับเลือกมากกว่า  

 

สำหรับผู้สนใจคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวใกล้ชิด กิจกรรมต่อไปจะมีการเปิดอบรมออนไลน์เพื่อสร้างทักษะการเขียนโครงการขอรับทุนในวันที่ 26 กันยายน 2566 และจะเปิดรับข้อเสนอโครงการที่ขอรับทุนสนับสนุนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม –  31 ตุลาคม 2566 ภายในเวลา 16.30 น. จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะทำงานพิจารณาและพัฒนาข้อเสนอโครงการฯ ก่อนจะประกาศผลและมอบทุนให้ภายในเดือนมีนาคม 2567 


ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมได้ทางเว็บไซต์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  www.thaimediafund.or.th และติดตามข้อมูลข่าวสารทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โทรศัพท์ 02-273-0116-9

 

รู้จักกองทุนสื่อฯ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaimediafund.or.th/our-mission

อ่านรายละเอียดการขอรับทุนเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaimediafund.or.th/news-04082566

ผลงานเด่นของโครงการต่างๆ  https://www.thaimediafund.or.th/project-highlights

ติดตามกิจกรรมอบรมออนไลน์การเขียนโครงการ ได้ที่ https://www.facebook.com/ThaiMediaFundOfficial