องค์ความรู้-การใช้สื่อ สู้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่สะท้อนภาวะที่มนุษย์ได้รับผลกระทบกับมลภาวะเป็นพิษที่ตัวเองก่อขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยปริมาณมลภาวะที่ก่อเกินกว่าที่ธรรมชาติจะบำบัด ฟื้นฟูด้วยตัวเอง แน่นอนว่า ปัญหาย่อมไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา แต่มันคือการสะสม จนเป็นฤดูฝุ่นที่คนไทยต้องเผชิญการออกกฎหมาย พรบ.อากาศสะอาดที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาคือมาตรการหนึ่ง แต่การสื่อสารรณรงค์ทำความเข้าใจที่ถูกต้องในระดับภาคประชาชนก็เป็นอีกมาตรการสำคัญ ทัศนะของ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์ประจำสาขาการจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ รศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ อาจารย์ประจำสาขาดิจิทัลมัลติมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนและพัฒนาเครือข่ายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระดับภูมิภาค ที่จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีแง่มุมน่าสนใจและสำคัญกับการใช้สื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
ใช้ “ความเพี้ยน” เป็นแรงบันดาลใจ
ผศ.ดร.สุวิชาน กล่าวว่า สำหรับตน “ความเพื้ยน” เป็นแรงบันดาลใจ เรื่องราวของหมู่บ้านตนที่ป่าสนวัดจันทร์ การสื่อสารออกมามันถูก แต่ถูกไม่หมด มันมีความเพื้ยน การสื่อสารว่าชาวเขาเป็นคนต่างด้าวต่างแดน เป็นคนค้ายา อย่างเรื่อง PM2.5 ทุกคนก็จะชี้ไปบนดอย ชี้ไปที่ชาวเขา นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ตน ซึ่งนอกจากเป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอแล้ว ตนคิดว่าต้องเพิ่มความเป็นชาติพันธุ์อีกอันหนึ่งคือชาติพันธุ์ไทย บางครั้งตนเรียกตัวเองว่าเป็นไทยรื้อ คือ เราต้องรื้อถอนและสร้างใหม่ โดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือ แต่ตนไม่มีสื่ออย่างทีวี ไม่มีอินเตอร์เน็ตดีๆ ในชุมชน สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ สื่อทางวัฒนธรรม ตนจึงใช้เรื่องของดนตรีในการขับเคลื่อน
“เราอยากนำเสนอว่าเนื้อหาที่สื่อนำเสนอเรื่องราวของเรามันเพี้ยน ทำอย่างไรเราจะ “ลด” ความเพี้ยนให้น้อยที่สุด และ “ล้าง” ความเพี้ยนให้มากที่สุด เราอยากจะลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องเหล่านี้ ความคิด ปรัชญา โลกทัศน์ของชนเผ่า เรื่องของวิถี การดำรงอยู่คู่กับป่า เรื่องของปฏิบัติการ พฤติกรรม เรื่องของวิถีชีวิต ในการอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องของประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นมุขปาฐะ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราคาดหวังว่าจะมีความเข้าใจมากขึ้น การตัดสินใจ ความคิด จะเป็นไปในทางที่ดีมากขึ้น นำไปสู่พฤติกรรมที่ลดการเลือกปฏิบัติ หรืออคติที่จะลดลง ซึ่งเราสื่อสารกับคนข้างนอกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสื่อสารคนในด้วย เรื่องของความรู้ ความภาคภูมิใจในเผ่าพันธุ์ตัวเอง การตอกย้ำเรื่องปรัชญา โลกทัศน์ และวิถีปฏิบัติที่ดีงามของบรรพบุรุษ และพลวัตรที่จะอยู่ร่วมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง “
ผศ.ดร.สุวิชาน ระบุว่า คนปกาเกอะญอ กล่าวว่า ไผ่ลำเดียวไม่เป็นแพ ข้าวเม็ดเดียวไม่เป็นเหล้า คนๆ เดียวสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความร่วมมือ สร้างเครือข่าย ตนใช้ดนตรีในการสื่อสาร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการแพลตฟอร์มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย ต้องการเพื่อนๆ แขนงอื่นๆ เข้ามาร่วมมือกัน อย่างในเผ่าเราก็ดูว่าใครทำอะไรเก่ง คนนี้พูดเก่ง คนนี้ตัดต่อเก่ง ก็มาช่วยกัน นอกจากเผ่าตัวเองก็มีเผ่าอื่นๆ อีก มีคนไทย มีคนต่างประเทศ ก็จะทำให้เสียงของเราไปไกลมากขึ้น เสียงของเราดังขึ้น พื้นที่กว้างขึ้น การเข้าถึงเรามีมากขึ้น และคนภายในมีความภูมิใจมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง กล้าที่จะต่อสู้ กล้าที่จะถก กล้าที่จะถาม กล้าที่จะเถียง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก คนรุ่นใหม่เริ่มมีศักยภาพมากขึ้น เริ่มมีความกล้า ซึ่งความกล้าเกิดจากการรับรู้ตัวเอง แล้วเกิดความภูมิใจ มีความตระหนัก แล้วมั่นใจ พอมั่นใจแล้วก็พร้อมที่จะสื่อสารออกไป และพร้อมที่จะเอาสารที่เป็นฐาน วิถีของตัวเองนำเสนอออกไป อย่างนักดนตรีหลังๆ ก็กล้าเอาเตหน่า (พิณโบราณ) ขึ้นมาเล่น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
“ผลที่เกิดขึ้นอันสุดท้ายคือ ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อกับความเชี่ยวชาญอื่นๆ ของภาคีเครือข่าย ผมใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเริ่มต้น แต่เราสามารถเชื่อมต่อกับนักคิดนักเขียนอื่นๆ เราสามารถเชื่อมต่อกับนักหนังสือพิมพ์ นักทีวี นักวิทยุ หรือเชื่อมต่อกับผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพอื่นๆ องค์กร NGO สถาบันวิชาการ คนที่ทำธุรกิจที่ต้องการวัตถุดิบจากชุมชน และนำไปสู่เป้าที่เราต้องการให้เกิดพลวัตร การอยู่ร่วม การอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างมีศักดิ์ศรี”
ผศ.ดร.สุวิชาน กล่าวว่า เมื่อก่อน มีคนมาบอกว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมของเรา สิ่งที่เรามีไม่มีคุณค่า ทำให้คนกลุ่มหนึ่งถูกกลืนกินไป ดังนั้นเราต้องให้ความสำคัญกับลีลา ท่าทีในการสื่อสาร ซึ่งพูดครั้งเดียวไม่ได้ ต้องทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เงื่อนไขหรือปัจจัยที่จะทำให้เกิดการสื่อสารประสบความสำเร็จ และสามารถเป็นแรงบันดาลใจสู่การเปลี่ยนแปลง ประเด็นแรกคือเนื้อหาหรือสาร ซึ่งทำให้แข็งแรงโดยใช้เรื่องราวและคำของวัฒนธรรม สื่อตามวัฒนธรรม ภาษาตามวัฒนธรรมของตนเอง ความหมายตามวัฒนธรรม อันที่สองเรื่องพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ สังเกตว่าบางพื้นที่ดนตรีของตน พื้นที่ที่เหมาะสม ต้องไม่ใหญ่เกิน หรือบรรยากาศในการสื่อสารก็เป็นเรื่องสำคัญ อันที่สาม สื่ออย่างเดียวไม่พอ เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างมากกว่าการเป็นนักสื่อสาร ไม่เช่นนั้นมันสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ กิจกรรมที่ตนทำ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม กิจกรรมด้านการฟื้น การรักษา การสืบทอด วิถี วัฒนธรรม จิตวิญญาณ และเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะเราพูดถึงเรื่องพลวัตรด้วย พูดแล้วก็ต้องทำ สื่อแล้วต้องให้เห็นรูปธรรม อันที่สี่ เรื่องการสื่อสารต้องมีเรื่องของสุนทรียะที่ไปแตะเรื่องความรู้สึกของคน ถ้าเขารู้สึก จะเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ตามมา
ใช้ความต่างเป็นพลังสร้างความเปลี่ยนแปลง
“อยากฝากประเด็นการสื่อสารเรื่องความหลากหลายของสังคม ปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศเราคือไม่กล้าเผชิญความหลากหลาย ไม่กล้าเผชิญกับความต่าง เพราะมองความต่างเป็นเรื่องของภัย มองความหลากหลายเป็นเรื่องของพิษ ถ้ามองแบบนี้ เราก็จะจัดการเรื่องความหลากหลายในเชิงของอำนาจนิยม เป็นการเอาปัญหามาซุกใต้พรม อยากฝากไว้ถ้ามีโอกาส มีพื้นที่สื่อในมือ อยากให้นำเสนอเรื่องเหล่านี้ด้วย เพราะถ้าเรายอมรับความแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างแต่ละอย่างมีความดีอย่างไร เราจะต้องเรียนรู้จุดต่าง แสวงหาจุดร่วม เราอาจจะใช้ความต่างเป็นพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม สร้างความรู้ใหม่ร่วมกัน เพื่อจัดการความหลากหลาย เราอย่าสงวนจุดต่าง การสงวนคือการเก็บไว้ใต้พรม ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการความหลากหลายที่เพี้ยน ถ้าเราจะล้าง จะลบ ความเพี้ยนเหล่านั้น เราต้องเรียนรู้ความหลากหลายและความแตกต่าง ผ่านสื่อ สื่อจะเป็นเครื่องมือ เป็นช่องทางการเรียนรู้ได้”
เล่าเรื่องข้ามสื่อ - Media Lab
ขณะที่ รศ.ดร.เสริมศิริ กล่าวว่า เวลาทำวิจัย สิ่งที่เผชิญคือ ประเด็นวิจัยหรือการแก้ปัญหาต่างๆ ให้สังคมแล้วไม่ต่อเนื่อง ถ้าอยากเห็นความต่อเนื่อง ต้องแสวงหาแหล่งทุนที่จะทำให้งานวิจัยขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง กรณีการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายกรณี PM 2.5 เป็นประเด็นที่ยากมากที่จะแก้ปัญหาให้สำเร็จ เพราะระหว่างเราแก้ปัญหาไป ปัญหาใหม่ก็เกิด และปัญหาผูกพันอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ซึ่งเรื่องนี้เป็นภัยประจำถิ่นของภาคเหนือไปแล้ว
“เวลาเราเข้าสู่ดิจิทัล เราใช้สื่อเดียวมันไม่มีพลัง เราต้องใช้หลายๆ สื่อ และประกอบกับคนในสังคมที่มีหลายเจเนอเรชัน เราเลยเอาองค์ความรู้เรื่องการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (Transmedia Storytelling )มาใช้ในการพยายามแก้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ คอนเซ็ปต์ของการทำวิจัยลักษณะนี้จะใช้คำว่า Media Lab คือการพัฒนาสื่อและทดลองกระบวนการว่า ใช้สื่อแล้วเกิดผลอย่างไร แล้วค่อยขยายผลไป”
รศ.ดร.เสริมศิริ กล่าวว่า เวลาทำประเด็น PM2.5 มีประเด็นอะไรบ้างที่ทำได้ หรือควรระมัดระวัง คือ สิ่งที่ต้องมองอันดับแรกคือ กลุ่มเป้าหมาย หรือภาคประชาชน สิ่งที่จำเป็นต้องทำและทำอย่างต่อเนื่อง เช่น การเผาใบไม้ในเขตรั้วบ้าน ก็จะต้องเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจ บางคนก็คิดว่าแค่เผาใบไม้ในบ้านจะเป็นอะไร แต่ถ้าเผากันทุกบ้าน รวมกับการเผาระดับใหญ่ก็จะกลายเป็นปัญหา นี่คือสะท้อนว่าการให้ความรู้ในระดับปัจเจกก็ยังต้องสื่อสาร ขณะเดียวกัน ก็มีงานวิจัยสนับสนุนว่า คนที่เผาก็รู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่เวลาทำจะไม่ตระหนัก เพราะขาดสำนึก คิดว่าทำนิดเดียว นานๆ เผาที ไม่น่าเดือดร้อน ก็จำเป็นต้องเติมเรื่องนี้เข้าไป ขณะเดียวกัน เวลาสื่อสาร ประชาชนมีหลายกลุ่ม และคนที่เกี่ยวข้องกับหมอกควันพิษก็มีทั้งภาคเกษตร สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องร้อยเรียงการสื่อสารให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายด้วย ขณะเดียวกัน เรื่องของเจน ช่วงวัยของผู้รับสาร คนแต่ละวัยก็มีความสนใจที่แตกต่างกัน คนจะคิดว่าการสื่อสารจะสื่อสารกับแมส ซึ่งเป็นส่วนรวม ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ การสื่อสารกับแมสในยุคนี้ไม่น่าจะมีอีกต่อไปแล้ว
“การขับเคลื่อนสื่อในพื้นที่ ในชุมชน สิ่งที่จำเป็นอย่างหนึ่งคือ เราต้องขับเคลื่อนพื้นที่โดยการวิเคราะห์ว่าคนที่เราจะไปขับเคลื่อนอยู่ในระดับไหน เราจะยกระดับเขาหรือเสริมพลังเขาได้อย่างไร เราต้องหา change agent คือผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ที่ชวนเขามาเป็นแนวร่วม”
คนทุก GEN มีส่วนร่วมได้
รศ.ดร.เสริมศิริ กล่าวว่า คนแต่ละเจนมีความตื่นตัวในการใช้สื่อไม่เท่ากัน การผลิตสื่อที่ดี ควรจะผลิตและมีการส่งต่อ มีนวัตกรการสื่อสาร ให้มาร่วมผลิตสื่อ เมื่อโครงการจบ หรือนักวิจัยถอนตัวจากพื้นที่ จะต้องมีคนรับไม้ต่อ เพราะฉะนั้น นอกจากเข้าไปผลิตสื่อแล้ว ก็ต้องพัฒนาคนในพื้นที่ให้สามารถเป็นนักสื่อสารได้ เพื่อให้เขารณรงค์กันต่อ ประเด็นคือ ไม่ใช่แค่วัยรุ่นที่สนใจผลิตสื่อ คนที่มาสมัครขอผลิตสื่อเป็นเจน B อายุ 60-70 อัพ เพราะฉะนั้น อย่าไปเหมาว่าเจนไหนจะต้องทำอะไร นอกจากนี้ เวลาเข้าไปทำอะไรที่เกิดการเปลี่ยนแปลง จะต้องระวังเรื่องของวัฒนธรรม และบริบทเชิงพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่จะมีวัฒนธรรม เรื่องของ PM2.5 ก็เจอวัฒนธรรมการเกษตร ทำไมต้องเผา มีความเชื่อของเขา การจะไปเปลี่ยนแปลงความเชื่อต้องอาศัยเทคนิคหรือกลยุทธ์หรือระยะเวลา
รศ.ดร.เสริมศิริ กล่าวว่า ประเด็นในการสื่อสาร บางทีชาวบ้านก็เบื่อ เวลาไปสื่อสารกับเขาเรื่อง PM 2.5 คือสื่อสารประเด็นเดิมๆ ที่เขารู้อยู่แล้ว บางอย่างสื่อต้องขับเคลื่อนประเด็นย่อยๆ หรือเป็นประเด็นร่วมสมัย ขณะเดียวกันก็อย่าลืมเรื่องของแพลตฟอร์ม ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เราชอบเข้าใจว่าการใช้โซเชียลมีเดียดีที่สุดในยุคนี้ ซึ่งไม่เสมอไป สื่อแต่ละสื่อทำหน้าที่ต่างกัน เรื่องของการหาพาร์ตเนอร์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างประเด็นหมอกควัน มีคนอยากร่วมเยอะมาก ก็เป็นเรื่องสำคัญ
“กิจกรรมลักษณะแบบนี้อยากให้กองทุนสื่อฯ ทำ และสนับสนุนเรื่องฐานข้อมูลผู้ที่สนใจ หรือเครือข่าย จะเป็นประโยชน์มาก เพราะประเด็นเหล่านี้ไม่สามารถขับเคลื่อนได้โดยลำพัง ขณะเดียวกัน ก็อยากจะขอบคุณและให้กำลังใจคนทำสื่อที่พยายามรณรงค์ประเด็นปัญหาทางสังคม” รศ.ดร.เสริมศิริ ระบุ