การปรับตัวและการแข่งขันยุคโซเชียลมีเดีย มุมมองทรงกลด บางยี่ขัน – อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์

สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ในอดีตคือ ผู้อพยพหนีตายสู่สนามการแข่งขันในยุคแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีสื่อที่หลากหลาย จำนวนมาก เน้นแข่งเรื่องความเร็วและกระแสเป็นหลัก ผู้รับสารก็สามารถเลือกรับเนื้อหาได้หลายช่องทาง พฤติกรรมการรับสารเปลี่ยนไป โดยความเปลี่ยนแปลงนี้กลายเป็นเงื่อนไขการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดที่ทุกสื่อไม่อาจปฏิเสธได้

ผู้อพยพจากสื่อสิ่งพิมพ์

“ถ้าคุณเคยเป็นสื่อสิ่งพิมพ์มาก่อน แล้วผันตัวมาเป็นสื่อดิจิทัล คุณก็คือผู้อพยพนั่นเอง” ทรงกลดให้นิยามตัวเอง

 

ทรงกลด อธิบายว่า สื่อสิ่งที่พิมพ์ในอดีตมีผลตอบรับอย่างเดียวคือยอดขายนิตยสารหรือหนังสือหนังสือพิมพ์ และก็จะเป็นตัวสะท้อนทุกอย่างในสื่อ โดยอาไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า สิ่งที่ทำอยู่มีคนชอบตรงไหน เพราะจะเห็นแต่ในภาพรวม

 

“แต่เมื่ออยู่ในโลกออนไลน์แล้วก็จะถูกแยกเป็นชิ้น จะเห็นผลตอบรับของมันเป็นชิ้น ๆ ว่าชิ้นไหนมีผลตอบรับที่ดีมากหรือน้อยอย่างไร สิ่งที่น่าสนใจคือ การข้ามแพลตฟอร์มคือ ประสบการณ์ใหม่เป็นครั้งแรกที่สื่อสิ่งพิมพ์จะได้เห็นการตอบรับของผู้อ่านต่องานแต่ละชิ้นจริง ๆ ซึ่งเหมาะกับการที่เราจะได้ปรับให้ ตรงความต้องการของผู้อ่านมากขึ้น

 

“อย่างที่สองก็คือ การแยกเป็นชิ้นก็จะมีงานที่ได้รับความนิยมมากและได้รับความนิยมน้อย เดิมที เนื้อหาต่าง ๆ ก็ทำหน้าที่แตกต่างกัน ออนไลน์ก็จะถูกมองเป็นชิ้น ๆ อาจจะเป็นไปได้ว่าบางสื่อก็จะลดความสำคัญของบางเนื้อหาลง และเพิ่มความสำคัญของบางเนื้อหาที่มี เพื่อตอบรับกับฟีดแบคของผู้อ่าน เนื้อหาบางประเภทก็อาจจำเป็นจะยังต้องมี ส่วนเนื้อหาบางประเภทที่ฟีดแบคไม่ค่อยดี ก็ยังควรจะต้องรักษาไว้ต่อไป ไม่จำเป็นจะต้องเลือกทำทุกอย่างให้ตรงตามฟีดแบคในโลกออนไลน์

 

“แล้วเราก็จะรู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมาก็คือ เดิมทีมันจะมีวาระของสื่อที่ออก เช่น ออกรายเดือนหรือออกรายวัน ทุกสื่อก็จะเจอกันบนแผงในเวลาใกล้ ๆ กัน พอเป็นออนไลน์ซึ่งจะออกเมื่อไหร่ก็ได้ก็จะต้องแข่งกันด้วยความรวดเร็ว นั่นก็หมายความว่า ความรวดเร็วก็เป็นเป้าหมายในการทำงาน เพราะฉะนั้น สิ่งที่สื่อสิ่งพิมพ์เดิมจะต้องปรับตัวก็คือ ทำอย่างไรที่เราจะนำเสนอเนื้อหาด้วยความรวดเร็วได้ โดยที่ยังคงเนื้อหาและประเด็นสำคัญไว้อย่างครบถ้วน

 

“ซึ่งสิ่งนี้อาจจำเป็นจะต้องแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ก้อน ก้อนที่ 1 คือทำด้วยความรวดเร็วเพื่อตอบโจทย์ความรวดเร็ว ก้อนที่ 2 คือ ให้มีเนื้อหาในแง่มุมต่าง ๆ ที่ถูกต้องครบถ้วนตามมา ถ้าผู้ผลิตรายไหนที่จะเน้นแค่เล่นเรื่องความเร็วเป็นหลักก่อนเพียงอย่างเดียว เพื่อจะเน้นแค่ให้เข้าถึงประชาชนได้ก่อน ก็น่าเสียดาย ที่เขาอาจจะทิ้งศักยภาพในการเล่าเรื่องในแง่มุมต่าง ๆ

การปรับตัวของสื่อ

“เรื่องถัดมาก็คือการปรับตัวของสื่อ ก็น่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบที่มีความหลากหลายมากขึ้น เดิมทีคำว่า ‘สื่อสิ่งพิมพ์’ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งพิมพ์ มีตัวหนังสือกับภาพถ่ายและมี Layout หรือการออกแบบจัดวางรูปเล่มเป็นอาวุธหลัก พอมาเป็นออนไลน์แล้วก็จะมีรูปแบบที่หลากหลายมาก ๆ มีภาพเคลื่อนไหวเข้ามา ซึ่งภาพเคลื่อนไหวก็จะมีทั้งแบบสั้นความยาว 30 วินาที ไปจนถึงแบบยาวความยาวเป็นชั่วโมง

 

“แล้วก็มีอีกมากมายหลายประเภทสื่อที่เป็นเครื่องมือให้นำไปใช้ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของแต่ละค่ายที่จะต้องเรียนรู้มันและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง และคิดว่าแต่ละสื่ออาจจะไม่ได้เหมาะกับเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มทุกประเภท ต้องทำความเข้าใจมันและเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเองและเนื้อหาที่จะนำเสนอ

 

อีกประเด็นที่ทรงกลดคิดว่ามีความสำคัญก็คือ เรื่องยุคสมัยของผู้ผลิต ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อออนไลน์เป็นโลกของคนยุคใหม่ คนที่เติบโตมากับโลกดิจิทัล ส่วนพวกเราเป็นคนที่อพยพมาจากโลกอนาล็อก ดังนั้นการทำสื่อที่เลือกควรผสมผสาน 2 อย่างนี้เข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้คน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกก็คือคนที่เป็นดิจิทัลมองโลกดิจิทัลอย่างคุ้นเคยและเข้าใจ กลุ่มที่ 2 คือจากคนที่เคยทำสื่ออื่นมาก่อน นำความเชี่ยวชาญแต่ละด้านมาผสมผสานกัน ถ้ามีหลายคนที่เคยทำสื่อสิ่งพิมพ์มาก่อน ไม่มีคนยุคใหม่เลยก็อาจจะตอบโจทย์ดิจิทัลได้ไม่ครบถ้วน ในขณะเดียวกันถ้ามีแต่คนที่ทำดิจิทัลอย่างเดียว มุมมองความคิดของมันก็อาจจะไม่ได้ครบอย่างที่วางเป้าหมายไว้ หรือควรจะเป็นไปได้

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่อดิจิทัลในมุมทรงกลดก็คือ การเกิดขึ้นของสื่อพลเมือง ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ เมื่อก่อนการจะเป็นสื่อได้จะต้องอยู่ในสิ่งพิมพ์ในนิตยสารหรืออยู่ในระบบ แต่ในวันนี้ทุกคนสามารถมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง สามารถเป็นสื่อได้เลย ข้อดีของมันก็คือ สร้างความหลากหลายให้กับวงการ มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางการนำเสนอในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ

“สิ่งที่น่าสนใจก็คือสื่อพลเมืองเหล่านี้คิดว่าตัวเองเป็นสื่อมากน้อยแค่ไหน บางคนก็อาจจะคิดว่าฉันไม่ได้เป็นสื่อ ฉันเป็นแค่คนที่ชอบกินอาหารก็จะโพสต์หรือเล่าถึงร้านที่ไปกิน ถ้าร้านไหนชอบมากก็ชม ถ้าร้านไหนไม่ค่อยชอบก็ไม่ชม และถ้าจะมีคนมาสนับสนุนเพื่อให้ได้รีวิวก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด

 

“ส่วนบางคนก็คิดว่าตัวเองเป็นสื่อก็จะต้องทำงานและมีวิธีคิดมีความรับผิดชอบแบบสื่อ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การทำงานของ Blogger เหล่านี้ก็ส่งผลต่อการทำงานของสื่อโดยตรง คือเขาเป็นคนนอกวงการ เขาก็มาพร้อมกับวิธีคิดแบบใหม่ ที่คนในวงการสื่ออาจจะไม่ได้คิด และเป็นคนร่วมวงการเป็นทั้งคนให้แรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน และเป็นทั้งคู่แข่งในเวลาเดียวกัน

คนทำสื่อยุคนี้ต้องเข้าใจแพลตฟอร์มก่อน

นั่นหมายถึงคนทำสื่อในปัจจุบัน น่าจะต้องปรับตัว คือ เรื่องความเข้าใจของแพลตฟอร์ม เมื่อก่อนแค่เข้าใจในตัวเนื้อหาที่จะทำและเข้าใจตัวผู้รับสารก็เพียงพอ แต่ในวันนี้สิ่งที่นำเสนอผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์หรือ Facebook Tiktok หรือ YouTube มันก็อยู่บน Algorithm ของแต่ละแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีผลสูงมาก

 

“ในการทำให้คอนเทนท์ของเราไปถึงผู้รับสาร ทำให้เราต้องเข้าใจ Algorithm เหล่านี้ไม่มากก็น้อยเพื่อที่จะทำให้ทำเนื้อหาตอบโจทย์ผู้อ่าน แล้วก็ยังต้องตอบโจทย์กับระบบของ Algorithm นี่คือสิ่งที่เราจะต้องปรับตัว โดยไม่ต้องกังวลว่า แม้ผู้อ่านบางคนจะสามารถตอบสนองกับเนื้อหาด้วยการแสดงความคิดเห็นได้ทันที ก็ไม่ได้ทำให้เราจะต้องกลัวหรือทำให้เราต้องนำเสนอเนื้อหาบางประเภท หรือไม่นำเสนอเนื้อหาบางประเภทเพราะกลัวถูกด่า

 

“แต่จะทำให้เราคิดรอบคอบมากขึ้น ก่อนจะปล่อยผลงานแต่ละชิ้นออกมา แต่ก่อนที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์งานแต่ละชิ้นก่อนจะออกก็ต้องอ่านแล้วอ่านอีก ช่วยกันเช็คหลาย ๆ ขั้นตอน แต่กับออนไลน์กระบวนการสั้นลง ก็จะทำให้มีโอกาสในการทบทวนน้อยลง ก็อาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ การรับมือกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็จะมีได้ 2 อย่าง อย่างแรกก็คือลงไปก่อน ถ้ามีปัญหาก็ค่อยลบทิ้ง แบบที่ 2 ก็คือคิดให้ถ้วนถี่ว่าถ้าลงไปแล้วจะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง แล้วก็พยายามทำงานของเราให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด ต้องหมั่นทบทวนตรวจสอบงานก่อนจะเผยแพร่ออกไป”

“แต่ก็จำเป็นต้องปรับตัวตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนคนทำทีวีจะมองตัวเองว่าเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ที่เคยผลิตเนื้อหาจากข้อมูล จากการวิจัย จากเรตติ้งในบางส่วน ซึ่งมันอาจจะไม่สามารถตอบสนองได้ตรงตามความต้องการของผู้ชมได้ทั้งหมด แต่พอมีเครื่องมือออนไลน์ก็สามารถที่จะฟีดแบคความต้องการของผู้ชมได้เร็วขึ้น

 

“และอย่าลืมว่าผู้ชมสมัยนี้ไม่ได้ติดตามรายการโทรทัศน์แค่จากทีวี แต่สามารถเลือกชมได้ในแบบมัลติแคส ก็คือดูทีวีด้วย และดูแบบออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ด้วย ปรากฏการณ์นี้จึงมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว จากที่เคยคิดว่า ตัวเองเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ เป็นผู้กำหนดเนื้อหาอย่างเมื่อก่อนก็คงไม่ได้แล้ว แต่ต้องเอาความคิดเห็น ความต้องการของผู้ชมบางส่วนมาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตเนื้อหา”

เลือกคนให้ตรงกับรูปแบบเนื้อหาที่จะผลิต

สิ่งที่ตามมาจากความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้มีทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่อยู่ในวิชาชีพ ซึ่งจะมีประเด็นของการเลือกคนมาร่วมงาน เพื่อให้ตอบโจทย์การผลิตสื่อยุคใหม่ หรือมักเรียกกันว่าต้องหา Content Creator มาทำหน้าที่แทนนักข่าวอย่างในอดีต

 

ทรงกรด อธิบายเรื่องนี้ว่า การเลือกคนที่มาทำงาน ควรมองไปที่เป้าหมายของสื่อเป็นหลักว่าอยากจะนำเสนออะไร เช่น หากอยากจะนำเสนอข่าวสารที่ทันท่วงที ควรจะเลือกคนที่ทำงานเร็ว สนใจข่าวสารต่าง ๆ รอบตัว แต่ถ้าอยากจะนำเสนอประเด็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษก็ควรจะเป็นคนที่เข้าใจในเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้

 

“กรณีนี้ต้องตั้งคำถามว่า คุณอยากนำเสนอมันอย่างไร คุณอยากจะเล่าเรื่องนี้ผ่านการนำเสนอแบบไหน ผ่านการเขียนแบบไหน ผ่านการเล่าเรื่องแบบไหน ก็เลือกคนที่เหมาะกับแบบนั้น อยากสร้างงานที่สั้นกระชับก็ต้องเลือกคนที่เขียนงานได้แบบกระชับ คือควรจะเป็นคนที่สามารถทำตามเป้าหมายของสื่อเป็นหลัก ส่วนจะทำอย่างไรให้เหมาะกับยุคสมัยนั้น มันก็จะมีตำแหน่งอื่น ๆ ในทีมที่จะเข้ามาช่วยปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะสมกับโลกออนไลน์มากขึ้น”

 

 ขณะที่ อภิรักษ์ มองว่า การเลือกคนมาทำทีวียุคใหม่นอกจากจะเลือกในตำแหน่งเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังแล้ว คุณสมบัติส่วนหนึ่งที่สำคัญและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือต้องได้คนที่เข้าใจธรรมชาติของสื่อสมัยใหม่ เพราะแม้คนทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองส่วนก็ต้องใช้คนที่เข้าใจการใช้เครื่องมือ เข้าใจการสตรีมมิ่ง การตัดต่อหรือการผลิตชิ้นงานที่สามารถนำไปใช้ทั้งออนแอร์และออนไลน์ได้พร้อมกัน

 

“คนทำทีวีที่เป็นประเภทหน้าจอก็จำเป็นจะต้องมีการปรับทักษะในการผลิตชิ้นงานเช่นเดียวกัน ทีวีมันจะเป็นอย่างหนึ่ง ออนไลน์เป็นอย่างหนึ่ง ต้องใช้คนที่เข้าใจกะบวนการผลิตในทุกช่องทาง ลงไปทำข่าวข่าวหนึ่งก็อาจจะต้องคิดก่อนว่า วัตถุดิบชิ้นเดียวกัน ผลิตออกทีวีจะทำอย่างไร นำเสนอออนไลน์จะเป็นอย่างไร”

การบาลานซ์เนื้อหาและตอบโจทย์ลูกค้า

ความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับการปรับตัวให้ตอบรับกับรูปแบบการทำงานก็คือ กลไกการหารายได้ หรือการทำการตลาด ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันสปอนเซอร์หรือผู้สนับสนุนไม่เพียงแต่มีทางเลือกช่องทางการสื่อสารได้มากขึ้น แต่ยังสามารถกำหนดเนื้อหาและสร้างคอนเทนต์ได้เองอีกด้วย ซึ่งบรรณาธิการ The Cloud มองว่า ปัจจุบันกรณีนี้อาจจะยังไม่สร้างผลกระทบมากนัก เพราะโดยส่วนตัวคิดว่า สื่อสิ่งพิมพ์ในยุคหลัง ๆ และสื่อออนไลน์ในยุคนี้มีรูปแบบการทำโฆษณาที่ใกล้เคียงกัน

 

มีเนื้อหาในการทำโฆษณาสองประเภท ประเภทที่ 1 ซึ่งคิดว่าน่าจะมีสัดส่วนน้อยลงเรื่อย ๆ ก็คือการซื้อหน้าโฆษณา อย่างในปัจจุบันก็คือการซื้อแบนเนอร์ในเว็บไซต์ ซึ่งสิ่งนี้ทั้ง 2 ยุคก็คงไม่แตกต่างกัน แต่ก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะมันก็จะบอกว่าเป็นโฆษณา ซึ่งคนส่วนใหญ่หรือผู้อ่านก็จะไม่สนใจ

 

ประเภทที่ 2 ค่อนข้างจะนิยมมาก ๆ ก็คือการทำโฆษณาให้กลายเป็นเนื้อหา ซึ่งก็จะมีหลายระดับมาก ๆ ตั้งแต่ระดับแรก ที่เราเรียกกันว่า Advertorial เช่น บทความเล่าถึงสิ่งที่ต้องการโฆษณาในรูปแบบของเนื้อหาที่เราทำตามปกติ ประเภทต่อมาก็คือการทำสื่อประเภท Tie-in ก็คือการมีเนื้อหาอย่างหนึ่งแล้วก็นำสิ่งที่เราต้องการโฆษณาเข้าไปอยู่ในคอนเทนต์นั้น ๆ ซึ่งเราก็จะเห็นค่อนข้างเยอะในยูทูบ เช่น การสัมภาษณ์ดารา 8 นาที ก็คุยเรื่องสัพเพเหระกันไป อีก 2 นาทีก็คุยเรื่องแบรนด์หรือสินค้าของลูกค้าที่ต้องการจะลงโฆษณา สิ่งนี้ก็เห็นมากขึ้น

 

อีกประเภทหนึ่งคือ การทำเนื้อหาขึ้นมาพิเศษเพื่อตอบโจทย์ที่ลูกค้าให้มา เช่น ลูกค้าต้องการสื่อสารให้เนื้อหาประมาณนี้ สื่อก็ต้องหาทางเล่าเนื้อหาให้น่าสนใจ นี่ก็คือ 3 รูปแบบของการทำโฆษณาที่เห็นได้มากในยุคนี้ ซึ่งรูปแบบหลังสุดนี้ที่เห็นได้ชัดก็คือรีวิว Product ต่าง ๆ

 

การโฆษณาทุกรูปแบบที่ว่า ส่งผลกับสื่อในแง่มุมใดบ้าง ทรงกลดบอกว่า ส่งผลในหลายแง่มุม แง่มุมแรกก็คือ ทุกคนต้องเตรียมการทำสื่อของตัวเองให้พร้อมที่จะรับกับการทำงานร่วมกับแบรนด์ เช่น ถ้ามีโจทย์เข้ามาไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็พร้อมที่จะทำให้ได้ แง่มุมที่ 2 จำเป็นจะต้องมีการ Balance ที่น่าสนใจ ระหว่างการนำเสนอเนื้อหาที่ลูกค้าอยากนำเสนอ

 

“ในบางครั้งอาจจะเป็นเรื่องที่เราคิดว่าผู้อ่านไม่ค่อยอยากจะรู้นัก กับสุนทรียะในการเสพสื่อก็คงต้องหาจุดสมดุลให้เจอ เพราะถ้าเน้นไปทางอันหนึ่งอันใดก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ในระยะยาว เช่น อาจจะดูว่าขายของมากเกินไปก็จะไม่มีใครสนใจและลูกค้าก็จะไม่ได้ประโยชน์ เขาก็อาจจะไม่ลงโฆษณาอีก ในขณะเดียวกันถ้าคอนเทนต์สนุกมาก แต่ไม่ได้ตอบโจทย์กับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของลูกค้า เขาก็อาจจะไม่ลงโฆษณาอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้อง Balance สิ่งให้ได้”

 

ด้าน อภิรักษ์ มองว่า สื่อโทรทัศน์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์สปอนเซอร์ที่เปลี่ยนรูปแบบการสนับสนุนได้ “ตอนนี้การแข่งขันมันไขว้กันไปหมด ไม่ได้จำกัดว่าทีวีต้องแข่งกับทีวี วิทยุต้องแข่งกับวิทยุ ตอนนี้ทุกแพลตฟอร์มทุกมีเดียต้องแข่งกันหมด โดยเราต้องมองไปที่กลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก แล้วสินค้าเขาก็จะเข้าใจว่า จะเลือกใช้โฆษณาโดยการสื่อสารไปที่ไหน อย่างไร เพราะฉะนั้นต้องถามตัวเองว่าทีวีต้องทำอย่างไรถึงจะยังแข่งกับทีวีด้วยกันได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมองว่าทำอย่างไรให้สามารถแข่งขันกับมีเดียที่แตกต่างได้ด้วย”

ความรับผิดชอบต่อสังคมของสื่อ..เรื่องยาก?

แน่นอนที่สุดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสื่อที่มีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้นได้เกิดคำถามต่อบทบาทการทำหน้าที่กระจกสะท้อนความเป็นจริงของสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปตามยุค โดยเฉพาะการมุ่งเล่นกับกระแสความสนใจของคนโลกโซเชียลมากเกินไป และอาจละเลยเรื่องจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งทรงกลด ตอบคำถามนี้ว่า การแก้ปัญหาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ  และเป็นสิ่งที่ทั้งผู้ผลิตสื่อและผู้เสพสื่อต้องร่วมกันสร้างขึ้น

 

“ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันเรื่องการลงทะเบียนวิชาชีพสื่อคือ การจับคนมาลงทะเบียนอยู่ในหมวดหมู่ว่ามีคนเป็นสื่อออนไลน์หรือเปล่า ในทางปฏิบัติแล้วจะไล่ตามเพจ ไล่ตามยูทูปเบอร์มาลงทะเบียนนั้นเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ โดยส่วนตัวคิดว่า ทุกสาขาอาชีพควรจะรับผิดชอบกับอาชีพของตัวเองก่อน สุดท้ายแม้ว่าผู้ผลิตรายไหนจะไม่รู้เรื่องหลักของการทำสื่อ แต่เอาเข้าจริงก็สามารถคิดพิจารณางานว่า มันถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือยัง ก่อนที่จะปล่อยออกไปได้ ถ้าสุดท้ายเกิดความผิดพลาดขึ้นก็เป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ที่จะเอามาปรับใช้กับงานชิ้นต่อไป

 

“คำถามก็คือทุกคนอยากทำแบบนั้นจริงหรือเปล่า คงเป็นเรื่องยากที่เราจะออกกฎระเบียบบังคับหรือจูงใจให้คนที่กำลังทำหน้าที่สื่อสารผลิตงานออกมาอย่างที่มันควรจะเป็น แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ ก็คือ ผู้รับสารก็ควรจะเลือกรับสารที่เหมาะสม สารประเภทไหนมันไม่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น ผู้รับสารก็ควรจะส่งเสียงเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้ผลิตสื่อนั้น ๆ ด้วยวิธีที่สุภาพ เช่น การไม่พูดถึงหรือแสดงความเห็นเรื่องนั้นเลย อย่าลืมว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของคนทำสื่อก็คือ ทำออกมาแล้วไม่ถูกพูดถึง ไม่มีทั้งคำชมหรือคำด่า ไม่มีใครสนใจเลย คือสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับคนทำสื่อ”

 

ประเด็นเดียวกันนี้ อภิรักษ์ มองว่า เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนทำงานสื่อทุกรูปแบบจะต้อง ทบทวนและให้ความสำคัญกับบทบาทของตัวเองที่มีต่อสังคม โดยบอกว่า การทำงานข่าวจะมองสองส่วน คือเรื่องเรตติ้งกับความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมจะต้องมีมากกว่าเรื่องเรตติ้งที่อาจจะถูกคิดถึงน้อยกว่า

 

อภิรักษ์ยกตัวอย่างถึงการทำอาหารที่จะต้องทำอาหารให้สะอาดก่อน รสชาติอร่อยแค่ไหนว่ากันอีกที แต่ในขณะที่โลกทุกวันนี้ส่วนใหญ่สนใจเรื่องของเรตติ้ง สนใจเรื่อง Engagement หรือการมีส่วนร่วมกับเนื้อหาจนอาจจะละเลยความถูกต้องกันไป แต่จะว่าไป ‘ความพอดี’ ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากการทำอาหารสะอาดหรือทำสิ่งที่ดีอาจจะไม่มีคนดู ซึ่งก็ไม่น่าจะอยู่ได้ แต่ถ้าสนใจเรตติ้งอย่างเดียว ท้ายที่สุดคุณค่าหรือว่าประโยชน์ของเนื้องานก็จะขาดหายไป เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับจุดยืนของแต่ละคน หรือแต่ละองค์กรว่าจะให้น้ำหนักแบบไหน