กลยุทธ์การสื่อสารยุคโซเชียลมีเดีย อาวุธดิจิทัลเพื่อชัยชนะทางการเมือง
ใช่หรือไม่ว่าการเมืองไทยยุคใหม่หลังจากนี้จะเอาชนะกันที่กลยุทธ์การสื่อสาร นี่เป็นคำถามที่ผุดขึ้นหลังเกิดปรากฎการณ์ “ชัชชาติฟีเวอร์” ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อไม่นานมานี้
จริงอยู่ว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ชนะอย่างถล่มทลายด้วยคะแนนมากถึง 1,386,215 เสียง แต่ประเด็นหนึ่งที่ต้องนำมากล่าวถึงก็คือ “การส่งแมสเสจ” ของชัชชาติและทีมในการทำแคมเปญหาเสียง (ประกาศตัวลงรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.ล่วงหน้าประมาณ 2 ปี) ที่เรียกได้ว่าตรงประเด็น และตรงใจคนกรุงเทพฯ
ม็อตโต้ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ซึ่งมี ประกิต กอบกิจวัฒนา นักโฆษณามือเก๋าแห่งวงการอยู่เบื้องหลัง สามารถวางกลยุทธ์การสื่อสารให้ชัชชาติได้อย่างแหลมคม ซึ่งก่อนนั้นมีการใช้สโลแกน “Better Bangkok” ในช่วงเริ่มต้นมาก่อน แต่พอถูกคนในทีมทักท้วงว่าควรมีคำอื่นที่ปังมากกว่านี้หรือไม่ ประกิตจึงได้เขียนคำว่า “ทำงาน ๆๆ” ลงในสไลด์โดยไม่ตั้งใจมากนัก แต่ก็กลายเป็นคำที่ทุกคนบอกว่า – ใช่เลย ซึ่งเมื่อมีการออกแบบฟอนต์ และสกรีนลงบนหน้าอกเสื้อยืดให้ชัชชาติและทีมงานสวมใส่ระหว่างหาเสียง ฟอนต์ตัวอักษรสีเขียวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะบนเสื้อยืดสีดำก็ได้กลายเป็นไวรัลลามไปทั่วกรุงตั้งแต่บัดนั้น (1)
กล่าวได้ว่าประโยคสั้น ๆ นี้ได้สร้างบริบทใหม่ทางการเมืองในการหาเสียงที่ไม่จำเป็นต้องจบอยู่แค่การบลั๊ฟฝ่ายตรงข้ามหรือคู่แข่ง ว่านโยบายตัวเองหรือของพรรคตัวเองจะให้ (แจก) มากกว่ากัน เพื่อหวังชิงคะแนนเสียง ถ้ามองในแง่การสื่อสารถือว่าทำได้เข้าเป้าและตรงใจคนกรุงเทพฯ ที่กำลังต้องการผู้ว่าคนใหม่มาทำงาน และในแง่กลยุทธ์การตลาดก็ถือเป็นการสะท้อนตัวตนของแบรนด์ (ชัชชาติ) ออกมาได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งวิธีคิดทำนองนี้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในยุคพรรคไทยรักไทยเปิดแคมเปญ “คิดใหม่ ทำใหม่” ด้วยการชูนโยบายที่โดนใจประชาชน อาทิ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 อย่างเหนือความคาดหมาย (2)
เพื่อขยายความปรากฎการณ์ทางการเมืองจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า นี่คือการใช้เครื่องมือในโลกยุคดิจิทัล หรือยุคดิจิทัล 4.0 ที่พัฒนาการต่อเนื่องมาจากยุคดิจิทัล 1.0 ที่เริ่มนำอินเตอร์เน็ตมาใช้ หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการสื่อสารมาใช้ประโยชน์ในทางการเมืองเพื่อส่งข้อมูลไปยังประชาชนหรือกลุ่มเป้าหมายให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเรียกว่าเป็นการใช้กลยุทธ์การสื่อสารหรือนำ Social Media Marketing เข้ามาช่วยนั่นเอง
ก่อนเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟนและมีโซเชียลมีเดียหลากหลายอย่างในปัจจุบัน เดิมทีนักการเมืองและพรรคการเมืองจะเดินไปขอคะแนนตามบ้านและชุมชน ตลอดจนการเปิดเวทีปราศรัย โดยมักสื่อสารนโยบายผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ 1) คัตเอาต์หรือโปสเตอร์ 2) ผ่านสื่อมวลชนไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ และ 3) หัวคะแนน ซึ่งในช่วงการหาเสียงยุคนั้นจะมีข่าวหัวคะแนนพรรคการเมืองถูกยิงบ่อย และนอกจากนักการเมืองเดินมาขายนโยบายด้วยตัวเองแล้ว ประชาชนก็จะติดตามข่าวสารผ่านสื่อกระแสหลัก รวมทั้งโปสเตอร์หาเสียงตามแยกถนนต่าง ๆ
ปัจจุบันเข้าสู่ยุคออนไลน์ที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทหลัก นักการเมืองหรือพรรคการเมืองสามารถสื่อสารได้แบบ Real Time (ตามเวลาจริง) และสามารถ Live Streaming (การถ่ายทอดสดภาพและเสียงบนอินเทอร์เน็ตผ่านระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ให้ผู้ชมสามารถรับชมได้อย่างอิสระผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์) ได้อย่างง่ายดาย โดยที่ผู้ให้ความสนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ต้องรอติดตามข่าวจากสื่อโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ เหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไป
นั่นเท่ากับว่านักการเมืองสามารถสื่อสารกับประชาชนได้โดยตรง และอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งช่องทางสื่อเก่าอย่างช่อง 3, 5, 7, 9, 11 รวมทั้งทีวีดิจิทัลช่องต่าง ๆ หรือหนังสือพิมพ์อีกต่อไป เนื่องจากนักการเมืองทุกคนก็สามารถเป็นสื่อเองได้ ซึ่งอาจารย์ปริญญาสะท้อนปรากฎการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา การใช้โปสเตอร์หาเสียงของชัชชาติน้อยกว่าผู้สมัครรายอื่นด้วยซ้ำ และมีขนาดกว้างคูณยาวเล็กกว่าปกติที่เคยใช้กันมาก่อน ซึ่งจากตัวอย่างที่อาจารย์ปริญญายกมาให้เห็นนั้น นอกจากเป็นความประสงค์ของผู้สมัครแล้ว อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ “สาร” ที่อยู่บนแผ่นป้ายเหล่านั้นมีความจำเป็นน้อยลง หรือไม่จำเป็นอีกต่อไป?
หากย้อนไปเปรียบเทียบกับการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อ 6 มกราคม 2544 ก็อาจกล่าวได้ว่าครั้งนั้นยังเป็นการหาเสียงยุคอนาล็อคยุคท้าย ๆ ที่นักการเมืองใช้วิธีการสื่อสารกับประชาชนในรูปแบบเดิม ๆ อย่างเช่น เคาะประตูบ้านขอคะแนน ไปงานศพ งานแต่ง เปิดเวทีปราศรัย ฯลฯ หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟนและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊กที่ได้เปิดตัวในปี 2548 (2005) รวมทั้งแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ทยอยตามมาอีก
อาจารย์ปริญญาย้ำว่า การชนะเลือกตั้งของชัชชาติเป็นภาพที่สะท้อนว่า ‘ยุคใหม่ (การหาเสียง) มาถึงแล้ว’ มีการใช้ป้ายไวนิลน้อยที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่เป็นการหาเสียงที่การใช้โซเชียลมีเดียได้เข้ามาแทนที่เรียบร้อยแล้ว (หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่า ชัชชาติก็ยังใช้สื่อโซเชียลโดยเฉพาะการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กในการบอกเล่าการทำงานและการทำกิจกรรมของตัวเองโดยที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง) แม้ว่าก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นักการเมืองและพรรคการเมืองจะใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในหาเสียงควบคู่กับใช้วิธีการเก่ากันแพร่หลายแล้วก็ตาม (ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองยกเลิกการหาเสียงรูปแบบเดิมอย่างในอดีตอย่างสิ้นเชิง)
ประเด็นนี้กำลังสะท้อนว่า รูปแบบการหาเสียงและการสื่อสารในทางการเมืองกับประชาชนได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ในฐานะเป็นนักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์การเมืองมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อาจารย์ปริญญาเสนอแนะให้ กกต. ต้องรีบปรับตัวให้ทันต่อรูปแบบการหาเสียงในยุคโซเชียลมีเดีย เพราะไม่เช่นนั้นหากใช้กฎกติกาจัดการการเลือกตั้งมุ่งไปที่ความโปร่งใสอย่างเดียวจะกลายเป็นอุปสรรคหรือภาระของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หลังมีระบบปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 ทำให้พรรคการเมืองแข่งขันกันเรื่องนโยบายมากขึ้น เช่น พรรคไทยรักไทยที่ชนะการเลือกตั้งในปีนั้นประกาศนโยบายหลาย ๆ ด้านซึ่งในเวลาต่อมาถูกเรียกว่า “นโยบายประชานิยม” ได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ได้รับการโหวตด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ซึ่งมีทั้งนัยและความเชื่อมโยงมายังการเมืองในปัจจุบันที่ประชาชนให้ความสำคัญและเริ่มทวงถามเรื่องนโยบาย ว่าพรรคการเมืองได้ทำตามที่ได้หาเสียงไว้หรือไม่ (พรรคไหนเบี้ยวก็จะถูกทวงถามผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น)
การใช้สื่อสังคมออนไลน์ตรวจสอบนโยบายหรือการติดตามทวงถามนโยบายจากพรรคการเมืองจึงมีประโยชน์และจะมีมากขึ้น เพราะการสื่อสารยุคใหม่นั้นจะกลายเป็น Digital Footprint หรือรอยเท้าบนโลกดิจิทัลที่เปรียบเสมือนประวัติพฤติกรรมการใช้งานในโลกอินเทอร์เน็ต การหาเสียงหรือคำสัญญาใด ๆ ของพรรคการเมืองที่ถูกประชาชนบันทึกไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือพรรคการเมืองบันทึกไว้เองก็ตามจะย้อนมาตอกย้ำในปัจจุบัน
อาจารย์ปริญญา กล่าวว่า ถ้าพรรคการเมืองเบี้ยวการทำตามนโยบาย ประชาชนก็จะให้บทเรียนนักการเมือง ฉะนั้นนักการเมืองยุคหน้าจะเอาแต่คะแนนอย่างเดียว โดยไม่แสดงความรับผิดชอบไม่ได้ นั่นหมายถึงประชาชนจะมีบทบาทในการใช้แพลตฟอร์มการสื่อสารทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมืองหรือพรรคการเมืองมากยิ่งขึ้นด้วย นักการเมืองที่ประกาศนโยบายอะไรไว้จึงต้องทำตามและต้องรับผิดชอบมากขึ้น
แน่นอนว่าในอีกด้าน เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ก็มีด้านลบของมันด้วย เป็นต้นว่านักการมืองใช้โซเชียลมีเดียโปรโมทตัวเองจนเกินจริง หรือกลุ่มการเมืองบางฝ่ายใช้โน้มน้าวให้ประชาชนเชื่อในอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือควรให้การสนับสนุนฝ่ายตัวเองต่อไป (ทั้งที่อาจตรงข้ามกับความเป็นจริง) ซึ่งอาจารย์ปริญญาเปรียบเทียบว่า ในอดีตก็มีปรากฎการณ์ทำนองนี้มาแล้ว เพียงแต่ทำผ่านสื่อเก่า เช่น หนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ต่างกันก็ตรงที่การบิดเบือนข้อเท็จจริงในยุคโซเชียลมีเดียทำได้ง่ายกว่า และรวดเร็วกว่า
ขณะที่เมื่อก่อนการจะปล่อยข่าวผ่านสื่อไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องผ่านการกลั่นรองจากกองบรรณาธิการหรือบรรณาธิการ ไม่ได้หมายความว่าพูดอะไรแล้วจะเป็นข่าว แตกต่างจากยุคนี้ที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้โดยไม่มีกระบวนการกลั่นกรองเหล่านั้นบนสื่อโซเชียล แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน โดยอาจารย์ปริญญายกตัวอย่างกรณีข่าวลือหรือเฟคนิวส์ในสมัยนี้สามารถแก้ข่าวได้รวดเร็วขึ้น ต่างจากในอดีตที่ทำได้ยาก เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่มีการปล่อยข่าวเรื่องการแขวนคอ แม้จะมีการชี้แจงผ่านสื่อว่าไม่เป็นความจริง แต่ก็ไม่มีสื่อไหนยอมลงให้ จนนำไปสู่การฆ่ากันตายในธรรมศาสตร์
จะเห็นได้ว่า การสื่อสารในสังคมออนไลน์นั้นแม้ข้อดีจะมีมาก แต่ก็มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูล เนื่องจากเต็มไปด้วยข่าวที่บิดเบือน มีข่าวปลอมปรากฎให้เห็นและสร้างความสับสนอยู่ไม่น้อย ซึ่งนักวิชาการด้านการเมืองแนะนำว่า ประชาชนผู้ติดตามข่าวสารการเมืองต้องหมั่นตรวจสอบและชั่งน้ำหนักข่าวสารนั้น ๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าว (ข่าวปลอม ข่าวปลุกระดม หรือข่าวที่จงใจโน้มน้าวให้เกิดความเชื่อเพื่อหวังผลทางการเมือง) หรือไม่เพียงแค่ฟังหูไว้หู ทว่าประชาชนยุคโซเชียลมีเดียต้องมีบทบาทรวมถึงทักษะในการตรวจสอบข่าวสารอย่างเท่าทัน และเข้มข้นด้วย
ดังนั้น ความสำคัญของ “การสื่อสาร” กับการแข่งขันทางการเมือง ไม่ว่าในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือการสื่อสารผลงานของรัฐบาลหรือพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ตาม จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะยุคสมัยที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของช่องทางสื่อสารได้เอง และโทรศัพท์มือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนผ่านโลกออนไลน์อยู่เวลานี้ จะส่งต่อไปยังการกำหนดกลยุทธ์การสื่อสารในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
อ้างอิง:
(1) https://www.brandthink.me/content/interview-prakit-kobkitwattana
(2) https://www.the101.world/prakit-kobkijwattana-interview/