ความเปลี่ยนแปลงคือความงอกงาม ระบบนิเวศสื่อต้องปรับตัว…ถึงอยู่รอด

ข่าวสารที่มีจำนวนมากและหลากหลายในยุคโซเชียลมีเดียที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อเองได้ ทำให้มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะเรื่องความเร็ว ทำให้เนื้อหาเปลี่ยนไป และขาดการกลั่นกรองข้อมูลอย่างเข้มงวดต่างจากในอดีตที่มีกองบรรณาธิการคอยตรวจสอบความถูกต้อง ทำให้องค์กรข่าวมีความน่าเชื่อถือ พร้อม ๆ กับความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม

 

กระบวนการคัดกรองข่าวสารที่ลดลงและความรับผิดชอบต่อสังคมที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้น ทำให้ “นักสื่อสารมวลชน” ถูกตำหนิหรือเหมารวมว่าเป็นวิชาชีพที่ขาดความรับผิดชอบ ทั้งยังถูกลดทอนคุณค่า ซึ่งในมุมมอง ผศ. ดร.อริชัย อรรคอุดม คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เห็นว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดคำถามเหล่านี้ เนื่องจากปัจจุบันมีคนเข้ามาทำอาชีพสื่อจำนวนมากและส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำเรียนมาด้านสื่อสารมวลชนด้วยซ้ำ (คนที่เรียนด้านสื่อสารมวลชนไปประกอบอาชีพอย่างอื่น) ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดเสียงสะท้อนทำนองนี้ขึ้น

 

นอกจากนั้นแล้วภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป (media landscape) ในปัจจุบัน ยังเกิดความท้าทายต่อจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะแยกไม่ออกว่าใครคือสื่อตัวจริง บทบาทไหนที่เรียกว่าสื่อมวลชน อินฟลูเอนเซอร์ และยูทูปเบอร์เป็นสื่อหรือไม่ ตลอดจนยังเกิดข่าวปลอม (fake news) รวมทั้งข่าวที่มีเจตนาแอบแฝงขึ้นมากมาย  

ตั้งข้อหา ‘สื่อโซเชียล’ มุ่งขายข่าว

คำถามหนึ่งที่กระหึ่มขึ้นในช่วงเหตุการณ์เสียชีวิตของ “แตงโม” - ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ นักแสดงชื่อดัง ในทำนองสื่อโซเชียลมุ่ง “ขายข่าว” และหากินกับคนตาย? หรือหิวยอดไลค์มากจนเกินไปหรือไม่ ซึ่งอาจารย์อริชัยมองว่า “ข่าวแตงโมจริง ๆ เนื้อหาก็ซ้ำ ๆ บางสำนักบางช่องอาจเน้นเรื่องความเร็วและแปลก ซึ่งก็มีคุณค่าข่าว แต่ขาดมนุษยธรรมหรือความเป็นมนุษย์ เช่น การเผยแพร่ภาพคนตาย เน้นนำเสนอที่เร้าอารมณ์ความรู้สึก หรือขายความดรามาติก (dramatic) ถึงคนด่าก็จะทำเพื่อเรียกยอดติดตาม หรือบางข่าวเป็นคลิกเบต (clickbait) ที่ใช้คำพาดหัวข่าวล่อลวงให้คนคลิกเข้าไปอ่าน ซึ่งมีเยอะ แต่คนที่เรียนมาและมีประสบการณ์การทำสื่อจะไม่ทำ เพราะไม่จำเป็นต้องสร้างความต่างด้วยการขายความแปลก

 

“ในระยะยาวใครทำแบบที่ว่าก็ไม่ยั่งยืน เพราะมีคนติดตามก็จริง แต่ก็ด่าไปด้วย สปอนเซอร์ก็คงไม่ชอบสื่อประเภทนี้ และปัจจุบันยังมีเรื่อง PDPA (พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล) ก็จะยิ่งพิสูจน์ว่าคนทำแบบนี้ไม่ยั่งยืน”

ผู้บริโภคมักชอบเสพข่าวดราม่า

จริงอยู่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้รับสารนิยมข่าวดราม่า แต่ในมุมอาจารย์อริชัย มองว่า เป็นหน้าที่ของแวดวงวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่จะต้องสร้างคนหรือผลิตบุคลากรไปเป็นนักข่าวพันธุ์ใหม่ ที่นอกจากจะมีทักษะทำได้หลายอย่างในคนเดียวกันแล้ว ต้องมีความรับผิดชอบต่ออาชีพมากขึ้น ในอดีตอาจจะเน้นเรื่องจิตวิญญาณและอุดมการณ์ความเป็นนักข่าว แต่ปัจจุบันต้องเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เผยแพร่ออกไปให้มีความเข้มข้นมากขึ้น หรือคนที่เรียนด้านสื่อสารมวลชนมาจะต้องสร้างความแตกต่างจากคนที่ไม่ได้เรียนด้านนี้มา

 

ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจภายใต้ภูมิทัศน์สื่อยุคใหม่ในอีกด้านก็คือ เรื่องบุคลากร ซึ่งในช่วงที่ทีวีดิจิทัลเปิดตัวมาได้ไม่นานและเริ่มออกอาการไปต่อไม่ได้ เป็นสัญญาณที่ถูกส่งมาถึงสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาวิชาด้านสื่อสารมวลชนด้วยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสาขาที่เปิดสอนอยู่ไม่สอดคล้องสถานการณ์ ทำให้คณะนิเทศฯ ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่เพื่อให้หลักสูตรตอบโจทย์ทั้งผู้เรียน และความต้องการของตลาดแรงงาน

ถึงยุคนิเทศฯ กลับมาบูมอีกครั้ง

ช่วงเวลานั้นเด็กเริ่มเมินคณะนิเทศฯ (หนึ่งในสาขาวิชาที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง) ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ตั้งคำถามว่าถ้าลูกไปเรียนด้านนี้จะมีงานทำหรือไม่ โดยคณบดีคณะนิเทศฯ ม.กรุงเทพ อธิบายว่า ตอนนั้นเด็กอยากเป็นนักข่าวช่องทีวีดิจิทัล แต่ทีวีกราฟเริ่มหัวปัก พอยูทูบมาคนอยากเป็นยูทูปเบอร์กันเยอะ

 

“พอผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ จนถึงวันนี้เด็กกลับหันมาเรียนนิเทศฯ หรือด้านสื่อสารมวลชนกันมากขึ้น เหตุผลหลักเพราะทุกคนสามารถผลิตสื่อเองได้ จึงต้องการเข้ามาเอาวิชาหรือเสริมทักษะจากสถาบันการศึกษา หรือผู้ที่เลือกเรียนสาขาวารสารศาสตร์ก็ไม่ได้หมายความว่าอยากจบไปเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์อย่างในอดีต แต่วารสารศาสตร์สอนความเป็นนักเขียน นักจับประเด็น นักค้นคว้า ฯลฯ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับทุกองค์กร”

คนรุ่นใหม่ไม่สนใจสมัครเป็นลูกจ้าง

มาถึงวันนี้องค์กรสื่อต้องการนักข่าวพันธุ์ใหม่ที่เรียกชื่อแทนอาชีพนักข่าวว่า Content Creator ซึ่งมีทักษะทำได้ทุกอย่างบนแพลตฟอร์มโซเชียล “เดี๋ยวนี้หาเด็กรุ่นใหม่มาทำงานอาจจะไม่ง่าย เพราะเด็กอยากเป็นนายตัวเอง อยากลองว่าทำอะไรได้บ้าง เขาไม่บอกว่าจะไปสมัครงานที่ไหน ไม่อยากเขียนเรซูเม่ ไม่ได้อยากสมัครงาน แต่อยากทำงานอิสระ แม้ยังมีคนที่อยากทำงานในองค์กรบ้าง แต่ก็อยากทำอะไรเป็นของตัวเองด้วย คนเกิดปี 2000 ถึงปี 2010 จะมีอย่างน้อย 3 อาชีพ เขาไม่ยึดติดกับอาชีพเดียว ดังนั้นการเปิดรับสมัครงานอาจจะยากขึ้น อาจต้องไปควานหา หรือช้อปปิ้งเอาเอง

 

“ปัจจุบันหลายองค์กรเข้าไปทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เข้าไปเลือกนักศึกษามาฝึกงานเองตั้งแต่ปี 1 ปี 2 บางแห่งจะเอาไปทำงานเลยให้เงินเดือนเลย ฉะนั้นในยุคใหม่อาจจะเรียนแค่ปี 1 ปี 2 แล้วไปทำงานเลย ในต่างประเทศเป็นแบบนั้น ค่อยมาเรียนให้จบภายหลังก็ได้ ตอนนี้จึงมีทั้งการเลือกเด็กไปฝึกงาน มาทำโครงการกับมหาวิทยาลัยเพื่อดูศักยภาพเด็ก ประเภทต่อมาคือรอให้เด็กมาสมัครงานเอง

 

“ขณะที่เด็กเลือกทำเฉพาะที่ตัวเองอยากทำ ทุกอย่างจึงมีการเปลี่ยนแปลง ตัวสื่อก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหลากหลาย ผู้รับสารก็หลากหลายและเปลี่ยนไปมาก เจ้าของสื่อก็ต้องมีช่องทางที่หลากหลายและมีให้ครบทุกแพลตฟอร์ม ทุกส่วนจึงต้องปรับตัวกันหมด คนสมัครงานก็ยังมี แต่ก่อนบริษัทสื่อมีสิทธิ์ที่จะเลือก แต่ปัจจุบันอำนาจการเลือกมีเท่า ๆ กัน หรือการทำงานในองค์กรก็จะเปลี่ยนไป เช่น ทำงานแค่ 5 วัน มีทั้งเข้าออฟฟิศบ้างหรืออาจจะมีออปชั่นให้เลือกว่าจะทำงานที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศบ้าง แต่ค่าตอบแทนแตกต่างกัน

 

“เด็กมีทักษะมากกว่าสมัยก่อน เขารอบด้านมากขึ้น ให้ทำอะไรก็ทำได้ ถามเรื่องวิชาการอาจจะมีน้อยหน่อย แต่ทักษะการผลิตเก่ง เพราะฝึกมาเยอะ และทุกคนสนใจทำ Content  แต่ก่อนเรียนทีวีต้องเข้าห้องแล็ป แต่ปัจจุบันแค่มีมือถือก็เป็นเจ้าของสื่อได้ โลกจึงเปลี่ยนไวมาก ซึ่งวงการสื่อก็จะเปลี่ยนอีกมาก ต่อไปการเก็บเด็กไว้ในมหาวิทยาลัย 4 ปีอาจจะไม่ใช่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียน 4 ปีหรือไม่ ระดับมัธยมก็เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้”

ที่มากไปกว่านั้นอาจารย์อริชัยอธิบายอีกว่า อาจถึงยุคสมัยที่คณะไม่จำเป็นจะต้องแยกสาขาวิชาด้านสื่อสารมวลชนอีกแล้วก็ได้ มีแต่คณะที่เรียนกันเรื่องทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะการเขียนซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญมากเพราะเป็นพื้นฐานของการเล่าเรื่อง (storytelling) ส่วนช่องทางมีมากมาย.. นี่คือเหตุผลที่มีเด็กมาเรียนนิเทศฯ กันมากขึ้น

ผู้รับสารมีอำนาจเหนือผู้ส่งสาร

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่สื่อที่จะต้องปรับตัวในโลกยุค Digital Disruption พฤติกรรมของผู้รับสารก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ทั้งอุปกรณ์รับสื่อ อย่างเช่นเดิมติดตามข่าวจากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เปลี่ยนไปเป็นติดตามจากสมาร์ทโฟน แท็บเลต คอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกันยังสามารถเลือกคอนเทนต์หรือรูปแบบเนื้อหาตามที่ต้องการและยังเลือกรับได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้นด้วย

“ในปัจจุบันข่าวมีเยอะมากกว่าในอดีต ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้มีรายการข่าวในโทรทัศน์เยอะมาก แต่รูปแบบการนำเสนออาจเรียกต่างกันไป การเล่าข่าวเดิมอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับในช่วงแรกๆ แต่ตอนนี้มีทุกช่องและเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ แปลว่าอาชีพนักข่าวสำคัญ ข่าวก็มีมากขึ้น และหลากหลายมากขึ้น ขึ้นอยู่กับคนเสพว่าจะเลือกข่าวแบบไหน

 

“แต่ก็ยอมรับว่าผู้บริโภคข่าวนั้นมีหลายเจนเนอเรชั่น มีทั้งคนที่ยังติดตามข่าวจากฟรีทีวีซึ่งเป็นกลุ่มรับสารที่ไม่กระตือรือร้นหรือกลุ่ม Passive Audience ที่รับสื่อเก่า แต่คนยุคใหม่จะเป็น Active Audience อย่างเช่นกลุ่มวัยรุ่นที่สนใจรับเฉพาะข่าวที่ตัวเองชอบและจะเลือกติดตามหรือ subscribe เฉพาะเนื้อหาประเภทที่ตัวเองต้องการเท่านั้น แต่บางคนก็จะรับทั้งข่าวสารในรูปแบบเก่าและข่าวสารแบบใหม่”

คำถามต่อ ‘นิยามสื่อ’ คือใครกันแน่

สื่อที่มีจำนวนมากในยุคโซเชียล ทำให้มีการทวงถาม “นิยามสื่อ” โดยเฉพาะสื่อบุคคล เช่น อินฟลูเอนเซอร์และยูทูปเบอร์ ซึ่งอาจารย์อริชัยบอกว่า คนกลุ่มนี้เป็นผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงในยุคปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่ทั้งที่เรียนด้านสื่อสารมวลชนและที่ไม่ได้เรียนต่างก็อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์หรือยูทูปเบอร์ ไม่ว่าจะยึดเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมก็ตาม

 

“มีทั้งคนที่เป็นหมอ กระทั่งคนขับแกร็บที่ออกมาทำมาใช้พื้นที่ตรงนี้ในการสร้างคอนเทนท์ เพราะต้องการให้คนติดตามหรือ Subscribe เยอะ ๆ สิ่งที่ตามมาคือรายได้ ทุกคนจึงอยากทำอาชีพนี้กันหมด เพราะแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถผลิตคอนเทนต์ได้ ต่างจากในอดีตคนเรียนด้านสื่อสารมวลชนอาจจะอยากเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ เป็นผู้ประกาศโทรทัศน์ แต่วันนี้ทุกคนเลือกจะเป็นตามที่ตัวเองสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องไปสมัครเป็นลูกจ้างในองค์กรข่าว”

อินฟลูเอนเซอร์แย่งเม็ดเงินโฆษณา

ถ้ามีทักษะเฉพาะตัวก็สามารถสร้างช่องของตัวเองได้ และนำมาสู่การมีรายได้ที่ดี ซึ่งอาจารย์อริชัยสะท้อนว่า องค์กรข่าวโดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์อาจกำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเม็ดเงินโฆษณาที่เป็นรายได้หลักไหลไปหาอินฟลูเอนเซอร์และยูทูปเบอร์ ซึ่งมีคนจำนวนมากและหลายระดับทั้งที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียงมาก

 

สื่อบุคคลที่ได้รับความนิยมจากผู้รับสาร เพราะสร้างคอนเทนต์ได้น่าสนใจ และสามารถเลือก subscribe ได้ตามประเภทที่ทุกคนชอบ แต่แน่นอนว่าคุณภาพของเนื้อหาก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ผลิตนั้น ๆ การกลั่นกรองเนื้อหาก็ขึ้นอยู่กับอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้น

 

จะเรียกอินฟลูเอนเซอร์ว่าเป็นสื่อตัวจริงหรือไม่ก็ตาม แต่อิทธิพลของอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ได้กลายเป็นแม่เหล็กดูดเม็ดเงินโฆษณาออกจากระเป๋าสปอนเซอร์ต่อปีไม่น้อย และแนวโน้มจะมากขึ้นด้วย เพราะคนดังที่มีชื่อเสียงก็ผันตัวมาสวมบทบาทนี้กันมากขึ้น เช่น ดารานักแสดงที่ทำได้ดีมีคนติดตามมาก สามารถตอบโจทย์สูงสุดของลูกค้าได้

สมาคมวิชาชีพสื่อต้องปรับบทบาท

คำถามที่ว่าใครเป็นสื่อ หรือไม่เป็นสื่อ และใครจะมาทำหน้าที่กำกับเรื่องจรรยาบรรณ อาจารย์อริชัยบอกว่า เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะคนเป็นเอนฟลูเอนเซอร์ก็บอกว่าตัวเองเป็นสื่อ ขณะที่คนบางกลุ่มบอกว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่สื่อ ดังนั้นสมาคมวิชาชีพสื่อที่จะให้คุณให้โทษหรือทำหน้าที่กำกับดูแลจะต้องปรับตัวด้วย

“เมื่อไม่สามารถชี้ถูกชี้ผิดได้ คนก็ไม่เชื่อถือ หรือเริ่มไม่มีอำนาจ คนที่เขาเป็นสื่อใหม่เขาไม่สนใจสมาคมวิชาชีพและไม่ต้องการจะเป็นสมาชิกด้วย ยิ่งสมาคมไปผลักดันคนเหล่านี้ออก ตัวสมาคมเองก็จะยิ่งผอมลง คนมาร่วมกับสมาคมน้อย ฉะนั้นสมาคมวิชาชีพสื่อจะต้องดึงคนรุ่นใหม่หรือดึงคนที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงมาทำงาน ไม่ใช่เลือกคนที่ผลักคนรุ่นใหม่มาทำงาน เพราะในที่สุดตัวสมาคมจะหายไปหรือหมดบทบาทไป

“ฉะนั้นโจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่มาทำงานกับสมาคมวิชาชีพเพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว ไม่อย่างนั้นจะเกิด Thailand InFluencer Award ที่ตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่และมีกฎเกณฑ์ในการกำกับกันเอง เหมือนที่เวทีประกวดนางงามมีหลายเวทีเพราะไม่ยอมรับเวทีเก่า จึงมีเวทีใหม่มากขึ้น อย่างสมาคมโฆษณา ตอนนี้มีสมาคมโฆษณาดิจิทัล

“สมาคมวิชาชีพสื่อจึงต้องถามตัวเองก่อนว่าจะนำหลักเกณฑ์ยุคหนังสือพิมพ์มาใช้ตัดสินยุคโลกออนไลน์ได้หรือไม่ ไม่ใช่ให้เขาไต่ลงมาหา แต่ต้องโน้มตัวลงไปหาอะไรใหม่ ๆ บ้าง ถ้าต่างกันเกินไปคนจะเริ่มปฏิเสธ และความห่างจะยิ่งมากขึ้น ต้องมองให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงคือความงอกงามถึงจะอยู่ได้ อะไรที่ไม่เปลี่ยนเลยมันจะไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เช่น กล้องฟิล์ม ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงคือสัจจธรรม” คณบดีคณะนิเทศฯ ม.กรุงเทพให้ข้อคิด

หน้าที่สถาบันการศึกษาเน้นสอนวิธีคิด

อาจารย์อริชัยสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ปรากฎการณ์นี้คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) หรือภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป (Media Landscape) นั่นเอง ซึ่งทำให้องค์กรสื่อขนาดใหญ่ที่ปรับตัวไม่ทันได้รับผลกระทบ เช่น สู้เรื่องความเร็วสื่อออนไลน์ไม่ได้ และทำให้มีผู้ประกาศข่าวทีวีต้องมานั่งอ่านข่าววงจรปิดเพื่อขายความสด เป็นต้น

 

หน้าที่ของสถาบันการศึกษาก็คือการเพิ่มทักษะการสื่อสารและเน้นให้นักศึกษามีวิธีคิด สามารถนำทักษะไปปรับใช้กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเปลี่ยนไปอีกมากในอนาคต ซึ่งไม่น่ากังวลสำหรับเด็กยุคนี้เพราะพวกเขาสามารถปรับตัวได้เร็ว แค่ชี้แนะเรื่องวิธีคิดมากกว่า เพราะเป็นเรื่องไม่ล้าสมัย และสามารถนำไปใช้ปรับตัวได้ตลอด