ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ : อนุรักษ์-วิวัฒน์ ลูกทุ่งไทยสู่สากล

“เพลงลูกทุ่งมีความเป็นสากลในตัวอยู่แล้ว เพลงของสายัณห์ สัญญา ก็มีท่วงทำนองเพลงโซล ฟังก์ บัลลาด เนื่องจากมีเครื่องเป่าด้วย หรือคุณรัศมี อีสานโซล ก็ร้องหมอลำแบบเพลงโซลจริงๆ ข้อมูลเหล่านี้คือสิ่งที่โครงการต้องการอธิบายว่า เพลงลูกทุ่งมีความเป็นเวิลด์มิวสิคอยู่ และในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศทั้งญี่ปุ่นและอเมริกา ก็มีผลงานแผ่นเสียงไวนิล ของเพลงลูกทุ่งดังหรือหมอลำดังๆ อยู่ด้วย มีวงดนตรีของคนญี่ปุ่นที่คลั่งไคล้เพลงลูกทุ่งมาก เล่นแต่เพลงลูกทุ่งเท่านั้น” ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล เล่าถึงแรงบันดาลใจ

โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจําปี 2566 เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งไทยและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ โดยมีงาน 5 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1.การจัดเสวนาลูกทุ่งไทย 4 ภาค เพื่อถอดบทเรียนและจัดการองค์ความรู้ที่จากศิลปินลูกทุ่งของแต่ละภาค 2.จัดการประกวดหางเครื่องสำหรับนักเรียนนักศึกษา 3.ผลิตสารคดีสั้นร้อยรสความทรงจำวัฒนธรรมลูกทุ่งไทย จำนวน 24 ตอน  4. จัดทำหนังสือร้อยรสความทรงจำ 84 ปี ลูกทุ่งไทย และสุดท้ายคือ การจัดแสดงคอนเสิร์ต 84 ปี ลูกทุ่งไทย ในวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

 
เชื่อมโยงอนุรักษ์และวิวัฒน์

ในฐานะอาจารย์นิเทศศาสตร์ การรวบรวมองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งอยู่ในสายงานที่เชี่ยวชาญ แต่อีกด้านหนึ่งมีความรักและผูกพันกับเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งหล่อหลอมให้เป็นทั้งนักร้อง นักแสดง และแฟนเพลงเพลงลูกทุ่งตัวยง บทบาททั้งสองด้านทำให้สามารถรวบรวมภาคี นักวิชาการ นักวิชาชีพ และสมาคมลูกทุ่ง เพื่อดำเนินโครงการอย่างลุล่วง Media Trust Thailand มีโอกาสสนทนากับ ผศ.ดร.สุกัญญา หลังจัดเสวนาครบทั้ง 4 ภาคแล้ว

“ในงานเสวนาจะมีศิลปินต่างรุ่นมาถกเถียงกันเรื่องปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน เช่น เพลงคนจนมีสิทธิ์ไหมคะ ที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ช่วงหนึ่ง ก็นำมาวิเคราะห์กันถึงความเหมาะสมหรือคุณค่าทางศิลปะ มุมหนึ่งก็มองว่าหยาบคาย แต่จริงๆ แล้วเพลงคนจนมีสิทธิ์ไหมคะ เป็นเพลงของคุณมืดไข่มุก แล้วศิลปินลูกทุ่งเอามาร้องในพื้นที่เฉพาะ แต่พอถูกเอาไปแชร์ในโซเชียล ก็เกิดความไม่เหมาะสม คนที่เอาไปทำซ้ำต่างหากที่ทำผิดเจตนาของศิลปิน” ผศ.ดร.สุกัญญา อธิบาย

เธออธิบายว่า โครงการนี้มีการเชื่อมโยงทั้งงานอนุรักษ์และวิวัฒน์เข้าด้วย เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของลูกทุ่งและเปิดรับแนวทางของศิลปินลูกทุ่งรุ่นใหม่ๆ เพื่อให้เพลงลูกทุ่งยังอยู่ในความนิยมต่อไป ยกตัวอย่าง เด็กที่ประกวดร้องเพลงโดยนำเพลงศิลปินรุ่นใหญ่แม่ผ่องศรี วรนุช ไปออกแบบการร้องใหม่ หรือถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น เพลงของพุ่งพวง ดวงจันทร์ ก็ร้องต่างไปจากเพลงลูกทุ่งยุคก่อน เช่น เพลงอื้อหือ หล่อจัง ก็มีกลิ่นอายของเพลง เอซี แฮมเมอร์ แต่ก็ยังคงมีความเป็นลูกทุ่งแท้ ดังนั้นมันมีความวิวัฒน์อยู่ในเพลงด้วย

“เพลงลูกทุ่งถูกมาตรวัดเรื่องรสนิยมทำให้เป็นเพลงของชาวบ้าน กลุ่มแรงงาน กลุ่มคนยากจน คนการศึกษาน้อยฟัง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เวลาไปงานสังคมมีแต่คนแย่งกันร้องเพลงลูกทุ่ง เพราะรู้สึกเท่ห์ แล้วถ้าได้เห็นวงดนตรีลูกทุ่งเต็มวงจริงๆ จะว้าวมาก เป็นเหมือนดนตรีสากลเลย แต่ฟังสนุก โจ๊ะๆ เพราะเอาทำนองเพลงพื้นบ้านมาดัดแปลง” 

 

ตระเวน 4 ภาคเสวนา 84 ปี ลูกทุ่งไทย

ในส่วนของงานเสวนาทั้ง 4 ภาคซึ่งจัดขึ้นที่เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “เสวนา 84 ปี ลูกทุ่งไทย” ผศ.ดร.สุกัญญา กล่าวถึงจุดเด่นทั้ง 4 ภาคว่า

ภาคอีสาน มีแม่ครูหมอลำ ครูสุมทุม ไผ่ริมบึง ที่แต่งเพลงลูกทุ่งลุยลาย และครูวสุ ห้าวหาญ นักแต่งเพลงรุ่นใหม่ ร่วมกันถ่ายทอดจิตวิญญาณเพลงลูกทุ่งอีสานจริงๆ ซึ่งมีหลากหลายแขนงแต่ไม่มีใครรู้จัก ถ้ามีคนนำมาสร้างสรรค์ก็น่าจะมีเพลงที่หลากหลายขึ้น เพลงอีสานเข้าถึงง่ายและแพร่หลายเพราะศิลปินมี ความสนุกและเนื้อหาของเพลงก็กล้าได้กล้าเสีย เป็นตัวแทนของคนสู้ชีวิต มีความเป็นพวกพ้อง พี่น้อง เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงไปอยู่ในงานเลี้ยง รถแห่ได้อย่างครึกครื้น”

ภาคเหนือ มีคุณวิฑูรย์ ใจพรหม ซึ่งเป็นนักร้องเพลงพูดที่เป็นภาษาเหนือแท้ๆ แต่ก็มีข้อสังเกตว่า เพลงเหนือก็จะโด่งดังที่ภาคเหนือเท่านั้น ไม่เหมือนเพลงอีสานที่ดังทุกจังหวัด ก็มีข้อเสนอแนะว่าต้องกล้ายอมรับของใหม่มาผสมผสานด้วย เพื่อให้เพลงลูกทุ่งเหนือไปได้ไกลกว่าเดิม”

ภาคใต้ มีครูเพลงที่แต่งเพลงทหารใหม่ไปกองให้ยอดรัก สลักใจ มีเพลงหลวงปู่ทวดเหยียบใจ ของคุณโรม ศรีธรรมราช ที่สะท้อนวัฒนธรรม และเอาวิถีชีวิตมาแต่งเพลง เช่น การออกทะเล เรือตังเก และมีเครื่องดนตรีของโนราห์มาผสม มีสำเนียงร้องของภาคใต้ จนมาถึงเพลงเจนนี่ เลิกคุยทั้งอำเภอ ก็ทำให้ภาษาใต้โด่งดังไปทั้งประเทศ” 

ภาคกลาง จัดขึ้นที่มาบุญครอง ซึ่งย่านเป็นบ้านเดิมของครูไพบูลย์ บุตรขัน ที่โด่งดัง ก็เลยมีเรื่องราวของท่านมารำลึกกัน” 

หลังจบเวทีเสวนาทั้ง 4 ภาค ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำไปถ่ายทอดเป็นสารคดีและหนังสือ โดย 84 หน้าแรกของหนังสือ จะเป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญของวงการลูกทุ่งในแต่ละปี เนื้อหาส่วนต่อไปคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังบทเพลงดังๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักแต่เป็นตำนาน และถ่ายทอดความสัมพันธ์ในวงการ เช่น ห้องอัดจาตุรงค์ซาวด์ นักเรียบเรียงเสียงประสาน โดยหนังสือจะให้ดาวน์โหลดฟรี และนำเรื่องราวไปผลิตเป็นสารคดี 24 ตอนด้วย

 
เตรียมจัดฟรีคอนเสิร์ตใหญ่ลูกทุ่งไทย

นอกจากนี้ในเวทีเสวนาทั้ง 4 ภาคยังการประกวดหางเครื่อง ซึ่งเป็นสีสันของเวทีเพลงลูกทุ่งด้วย

“คำว่าหางเครื่องก็มาจากคำว่าหางจริงๆ แต่เป็นหางที่สำคัญ ถ้าไปเสิร์จคำนี้ใน ChatGPT จะไม่รู้จัก ต้องเสิร์จ หาคำว่า ไทยแดนเซอร์ ที่จัดประกวดก็เพราะอยากทำให้เห็นว่าทุกคนบนเวทีลูกทุ่งสำคัญหมด โดยไม่นับคะแนนเสื้อผ้าหน้าผมหรือฉากประกอบ แต่โฟกัสที่ท่วงท่าการเต้น ซึ่งน่าทึ่งมากบางทีมประยุกต์การเต้นบัลเลย์มาอยู่กับหางเครื่องได้ และเด็กๆ รู้สึกว่าเท่ห์ที่ได้โชว์ความสามารถ” 

งานท้ายสุดของโครงการฯ คือ การจัดฟรีคอนเสิร์ตในวันที่ 14 มกราคม ที่หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยจะให้บทเพลงเล่าเรื่องราวต่างๆ ในตำนาน  84 ปี ของลูกทุ่งไทย โดยเขียนโครงเรื่อง เล่าเรื่องราวด้วยบทเพลง สะท้อน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ไฮไลท์คือบทเพลงประมาณ 55 เพลงและรวมศิลปินลูกทุ่งทุกรุ่นให้มากที่สุด 

ในฐานะครูและแฟนเพลงลูกทุ่ง สิ่งที่เธอยังฝันว่าอยากให้เกิดขึ้นก็คือ การนำเพลงลูกทุ่งไปสู่พื้นที่สาธารณะ

“อยากทำโครงการลูกทุ่งดาวกระจาย โดยนำดนตรีลูกทุ่งไปเล่นตามที่ต่างๆ เช่น หัวลำโพง คลองเตย” ผศ.ดร.สุกัญญากล่าวทิ้งท้าย

ยุคที่ Soft Power คือ หนึ่งนโยบายหลักของรัฐบาล การอนุรักษ์และวิวัฒน์เพลงลูกทุ่งไทย ควรเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง