เพลงลูกทุ่งพื้นถิ่น กรุ่นกลิ่นสะตอใต้

บ้านพี่กินแกงขี้เหล็ก น้ำแห้งแผ็กๆ ใส๋ปล้าช่อนย่าง

บ้านน้องกินของดีดี กินแกงกะหรี่กินไก่อบฟาง

บ้านพี่ใช้ไฟขี้ใต้หละไฟฟ้าหาหม้ายไร้แสงสว่าง

บ้านน้องติดไฟมากสี นั่งดูทีวีกินข้าวไปพลาง

บ้านพี่นอนแคร่ไม้ไผ่ สาดจูดผืนใหญ่ปูนอนเจ็บหลัง

ไม่เหมือนที่นอนบ้านเธอ ใช้เฟอร์นิเจอร์มาจากปินัง….

เพลง บ้านพี่กินแกงขี้เหล็ก 

ศิลปิน เอกชัย ศรีวิชัย

ผู้แต่ง ประจวบ วงศ์วิชา

 

โครงการ 84 ปีลูกทุ่งไทย ลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล ได้จัดเสวนาหัวข้อ “ลูกทุ่งไทย ลูกทุ่งใต้” วันเสาร์ ที่ 30 กันยายน 2566 ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 

โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบไปด้วย อ.สัมพันธ์ พัทลุง จากชมรมนักเพลงลูกทุ่งอาจารย์, อ.ประจวบ วงศ์วิชา นักแต่งเพลงชื่อดังของภาคใต้ และ ดร.กำจร กาญจนถาวร จากภาควิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ดำเนินการเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ และคุณเคน สองแคว นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง 

อ. สัมพันธ์ กล่าวว่า  เมื่อก่อนภาคใต้มีแต่ศิลปะพื้นบ้าน เช่น ตะลุง ลิเกฮูลู และอื่นๆ อีกมากมาย เพลงลูกทุ่งใต้เริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2507 มีนักร้องเพลงพื้นบ้านที่ชอบเพลงลูกทุ่งและใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้องในวงดนตรีดัง แต่ไม่ค่อยมีช่องทาง คนที่พอมีสตางค์ก็จะเข้ากรุงเทพไปสมัครกับวงดนตรี คนที่ไม่มีเงินก็รอให้วงดนตรีไปเปิดการแสดงที่บ้านแล้วก็ไปสมัคร บ้างก็เป็นกองเชียร์รำวงไปก่อนเพื่อรอโอกาส 

นักร้องลูกทุ่งคนแรกที่สร้างชื่อเสียงให้กับนักร้องภาคใต้คือ รุ่งโรจน์ พัทลุง ซึ่งไปอยู่กับวงดาวกระจายของครู ชลธี ธารทอง เป็นที่มาของเพลง “หาแฟน”  ในปี 2510

ส่วนนักร้องใต้ที่โด่งดังและโดดเด่นมากๆ  คือ โรม ศรีธรรมราช ซึ่งมีผลในปี 2514 เพลง “ความรักของเจนจิรา” “ซากรักบึงพระราม” และมีงานเพลงออกมามากมายแต่ก็เป็นเพลงที่ไม่มีสำเนียงใต้

จนถึงปี 2515 จึงเริ่มมีเพลงสำเนียงใต้ออกมาในยุคของ เสรี ศรีสุราษฎร์, ดาวใต้ เมืองตรัง, สุดรัก อักษรทอง ซึ่งเริ่มเอาภาษาใต้มาใส่ในเนื้อเพลง ทำให้เพลงลูกทุ่งใต้โด่งดังขึ้นมา เช่น เพลง “สวยจังหู้เลย” และเรื่อยมาจนถึงยุคของเอกชัย ศรีวิชัย ซึ่งเป็นลูกศิษย์ อ.ประจวบ

ประจวบ วงศ์วิชา เป็นนักแต่งเพลงลูกทุ่งรุ่นแรกๆ มีชื่อเสียงในภาคใต้ แต่งเพลงให้กับนักร้องลูกทุ่งชื่อดังมากมาย ทั้งยอดรัก สลักใจ, สันติ ดวงสว่าง จุดเด่นอย่างหนึ่งในเพลงลูกทุ่งของประจวบ คือ การสะท้อนวิถีชีวิตผู้คนผ่านหลากอาชีพ ทั้งอาชีพประมง อย่างเพลงไอ้หนุ่มเรืออวน, อาหารการกิน อย่างเพลงบ้านพี่กินแกงขี้เหล็ก หรืออาชีพทำนา ในเพลงจดหมายจากราม นอกจากนี้ยังมีการบอกเล่าไปถึงการเมือง การปกครอง ความเชื่อ ศาสนา อีกด้วย

อ.ประจวบ กล่าวว่า  เพลงลูกทุ่งใต้มีอยู่สองแบบ  อย่างแรกคือเนื้อร้องที่ใส่สำเนียงภาษาใต้ กับ เพลงที่ใช้ทำนองเพลงใต้  เพลงล่าสุดของผมที่โด่งดังก็คือ “หลาบแล้วเมียน้อย” ส่วนเพลงที่ดังมากๆ ก็คือ “ทหารใหม่ไปกอง” มีท่อนที่ติดหูติดปากว่า “โบกมือหยอยๆ บอกน้อยจะไปชายแดน…. ซึ่งเป็นเพลงเปลี่ยนชีวิตผมในปี 2528 เพราะเป็นเพลงที่ได้รับรางวัลพระราชทานฯ จากสมเด็จพระเทพฯ

“เคยมีคนในวงการมาถามผมว่า แต่งเพลงโดยคิดคำต่างๆ ได้อย่างไร ผมก็ตอบไม่ถูก เพราะไม่ใช่คนมีความรู้ เรียนจบแค่ ป.4 บางเพลงใช้เวลาแต่งอยู่ 3 วัน เคยมีมหาวิทยาลัยจะให้รางวัลใช้ภาษาไทยดีเด่น แต่ผมไม่กล้ารับ”

ดร.กำจร กล่าวว่า องค์ประกอบของเพลงต่างๆ ไม่ต่างกัน คือ มีดนตรี เครื่องดนตรี ท่วงทำนอง และการเรียบเรียงเสียงประสาน ความพิเศษของเพลงลูกทุ่งก็คือ มีการถ่ายทอดวิถีชีวิตชนบท มีที่มาจากเพลงพื้นบ้าน เพลงภาคใต้ก็มีที่มาจากเพลงพื้นบ้านอย่าง โนราห์ เพลงบอก รองแง่ง หนังตะลุง และบางเพลงก็ประสานกับท่วงทำนองเพลงของพี่น้องมุสลิม 

นอกจากนี้ในเนื้อเพลงลูกทุ่งเป็นเหมือนบันทึกทางสังคมอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะชื่อของตัวละครที่ถูกเอามาใช้ในเนื้อเพลง

อ. ประจวบ กล่าวว่า  สมัยก่อนเวลาแต่งเพลงถ้าเป็นชื่อของผู้หญิงมักจะถูกแทนด้วยชื่อ “แดง” ส่วนผู้ชายมักจะใช้ชื่อว่า “สมศักดิ์” เพราะเมื่อก่อน 2 ชื่อนี้มีคนใช้กันเยอะมาก เวลาแต่งเพลงให้สาวแดงก็จะโดนใจผู้หญิงกลุ่มใหญ่  

ทั้งหมดนี้คือบางส่วนของงานเสวนาหัวข้อ “ลูกทุ่งไทย ลูกทุ่งใต้” โดยโครงการ 84 ปีลูกทุ่งไทย ลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล โดย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจําปี 2566 ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) ในประเด็นการสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power)

โครงการดังกล่าวประกอบด้วย 5 กิจกรรมสำคัญ คือ

1. การจัดเสวนาลูกทุ่งไทย 4 ภาค

2. การจัดการประกวดหางเครื่อง

 3. การผลิตสารคดีสั้นลูกทุ่งไทย

4. การจัดทำหนังสือ 84 ปี ลูกทุ่งไทย

5. การจัดแสดงคอนเสิร์ต 84 ปี ลูกทุ่งไทย

 เพื่อต่อยอดเพลงลุกทุ่งไทยก้าวสู่วงการดนตรีในระดับสากล เป็น Soft Power ของประเทศไทยที่มีพลัง และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ