“เมืองเก่าสตูลในใจ” แปลงมรดกวัฒนธรรมเป็นทุนสร้างสรรค์

องค์ประกอบของเมืองแต่ละเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลาย เป็นโจทย์ใหญ่ของนักสร้างสรรค์เมืองในการรังสรรค์กิจกรรมในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จ ไม่นับรวมถึงการสร้างความเข้าใจกับผู้คนที่มีสายตาตั้งคำถามกับเรื่องใหม่ๆ ที่พวกเขาก้าวเข้ามาทำ เวทีทอล์คในหัวข้อ “แปลงมรดกวัฒนธรรมเป็นทุนสร้างสรรค์  เพิ่มคุณค่าและมูลค่าเมืองเก่าสตูล” ภายในงาน “ Satoy in my Mind – มองบ้านผ่านมุมเมือง” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เวทีหนึ่งที่มีนักสร้างสรรค์เมืองจากแดนใต้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการจัดการสร้างสรรค์เมือง

งาน “ Satoy in my Mind – มองบ้านผ่านมุมเมือง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการ “เมืองเก่าสตูลในใจ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) ปี 2566 โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น ณ สมาคมจงหัวสตูล ในวันอาทิตย์ ที่ 14 มกราคม 2567

ในงาน มีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ นิทรรศการจัดแสดง ภาพเขียนสีน้ำ บันทึกอาหารพื้นถิ่นสตูล และ สมุดบันทึกสเก็ตช์อาหาร ของศิลปิน การแสดงคลิปประชาสัมพันธ์ 3 คลิป จาก Ramang Project และ โควตสตูลในใจ ภาพเขียนสีน้ำรูปอาคาร และ ภาพสเก็ตช์จากงาน MARSKETCH เดินเล่นสเก็ตช์เมือง โดยกุลธวัช เจริญผล นักเขียนภาพประกอบ และศมานนท์ พฤกษ์พิเนต นำชมนิทรรศการ

ไฮไลท์กิจกรรมหนึ่งคือ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หัวข้อ “แปลงมรดกวัฒนธรรมเป็นทุนสร้างสรรค์  เพิ่มคุณค่าและมูลค่าเมืองเก่าสตูล” ซึ่งมีผู้ร่วมทอล์คจากกลุ่มนักสร้างสรรค์เมือง ได้แก่ ภาคีนักสร้างสรรค์สตูล , Melayu Living จ.ปัตตานี และ Creative Nakhon จ.นครศรีธรรมราช 

 
ตีโจทย์ให้แตก ไม่ต้องตามใคร

ศุภชัย แกล้วทนงค์ จาก Creative Nakhon จ.นครศรีธรรมราช ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยเล่าว่า การก่อตั้งกลุ่ม Creative Nakhon เป็นการรวมตัวของคนที่มีแนวคิดคล้ายๆ กัน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ทั้งนักเขียน สถาปนิก นักออกแบบ ศิลปิน นักดนตรี ซึ่งคำว่างานสร้างสรรค์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เนื่องจากในงานสร้างสรรค์มีทั้งศิลปิน นักออกแบบ สถาปนิก นักเขียน ทำให้ภาพในหัวไม่เหมือนกัน ถ้าวางแก่นไม่ชัด ก็มีผลในการทำงาน ต้องค่อยๆ ปรับจูนให้ภาพใกล้เคียงกัน มาร่วมกันทำเมืองให้ดี ใครถนัดทำอะไรก็ทำอันนั้น เราถนัดแบบนี้เราก็ทำแบบนี้ ซึ่งเมื่อทางกลุ่มจัดงานไปเรื่อยๆ ภาพก็เริ่มชัดขึ้น ก็มีเสียงสะท้อนว่าถ้างานแบบนี้ ก็ต้องให้ทีมนี้ทำ 

ศุภชัย กล่าวว่า ทางกลุ่มทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจ เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด ถนัดงานสร้างภาพ ก็ทำภายใต้งบน้อยแต่ดูดี ให้งานเกิดขึ้น ใช้สถานที่ไม่ต้องเช่า และขอสปอนเซอร์ในจังหวัด ซึ่งเรียนรู้ว่างบของราชการ ต้องทำ 2 ปีล่วงหน้า ถ้าเป็นเอกชนจะคล่องตัวกว่า 

ศุภชัย กล่าวว่า Creative Nakhon ทำงานร่วมกับ สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) – CEA เรื่องย่านสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นงานที่สเกลใหญ่ ต้องไปขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นเพิ่ม ซึ่งในปีเดียวกัน ก็ทำโครงการร่วมกับวัฒนธรรมจังหวัด และเป็นปีที่โควิดระบาด ทำให้ต้องเลื่อนงานหลายรอบ ขณะที่ต้องบริหารงบประมาณให้ทันภายในกำหนด ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดออนไลน์ หลังจากนั้น ทางกลุ่มก็มาประเมิน และทบทวน ในปีต่อมาจึงลดสเกลงาน ทำตามกำลัง และทำแบบพอดีที่ทางกลุ่มจัดการได้ จากที่ทำเรื่องย่าน 18 จุด ก็ทำจุดเดียวให้มีอิมแพค 

ลักษณะการจัดงานในนครฯ บรรยากาศและความเพลิดเพลินจะเป็นตัวนำ ถ้าเอางานดีไซน์มานำจะได้เฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่ม แต่ถ้าจัดงานมีดนตรี มีตลาด เอาความเพลิดเพลินมานำ คนจะไหลเข้ามาเอง ที่สำคัญคือต้องเข้าใจ องค์ ประกอบของเมือง แล้วตีโจทย์ให้แตก อันที่สองคือ ไม่จำเป็นต้องไปตามใคร ทำแบบที่เหมาะสมกับเมืองของเรา  

“ถ้าพรุ่งนี้ ถ้าไม่มีเรา นครฯ จะเป็นอย่างไร เขาก็อยู่กันได้ เราไม่ใช่คนสำคัญมาก แต่เรามีเจตนาดีว่าเราอยากพัฒนาเรื่องต่างๆ จากสิ่งที่เรารู้และทำมา มีคำที่เราได้ยินมา ซึ่งเราฝังใจมากว่าสิ่งที่เราทำ “ทำดีกว่าไม่ทำ” เราก็เลยทำมาเรื่อยๆ และเราก็เห็นอะไรบางอย่าง จริงๆ คนนครฯ ไม่ใช่ไม่เสพพวกนี้นะ แต่ไม่มีให้เขาเสพต่างหาก เขาอยากดูงานศิลปะ เข้าใจ ไม่เข้าใจอีกเรื่องหนึ่ง แต่เขาก็ดู เขาก็เพลิน เขาก็อยากดูงานสวยๆ ดูงานใหม่ๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำคือ ทำดีกว่าไม่ทำ” ศุภชัยกล่าว

ขณะที่ แก้วตระการ จุลบล จาก Creative Nakhon เสริมว่า ตอนกลับไปอยู่นครฯ ตอนแรก มีแต่คนบอกว่าที่นครฯ ศิลปินเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่ไปทำงานและเติบโตที่อื่น พอกลับมา ก็ตั้งคำถามว่าทุกสิ่งยังเป็นเหมือนเดิม แต่เราไปรับวัฒนธรรมใหม่มาแล้ว รับแนวร่วมสมัยมาแล้ว อยากหาคนคุย มาเข้าใจสิ่งที่ได้รับมา และคิดว่าสิ่งนี้จะพัฒนาคน พัฒนาเมืองไปได้ เราเห็นว่าลูกเราได้รับวัฒนธรรมที่ดีอยู่แล้ว แต่เป็นแบบเดิม ซึ่งอยากให้มีแบบใหม่มากขึ้น เปิดโลกมากขึ้น อยากทำไปเพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้ดูว่า คนที่กลับมา แล้วมาฟื้นฟูเมืองที่เงียบเหงา ก็สามารถมีความครีเอทีฟ มีความร่วมสมัยได้ และจับต้องได้มากขึ้น ถ้าไม่ได้ทำในยุคของเรา ก็คงเสียใจว่าเราไม่ได้ช่วยอะไร เรามีศักยภาพ มีกำลัง และมีเพื่อนๆ ที่คอยช่วย สิ่งนี้สามารถนำความสร้างสรรค์มาพัฒนาเมืองได้ และทำให้ลูกหลานเราได้เห็นมากขึ้น

 
เมืองสร้างสรรค์ คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่

ราชิต ระเด่นอาหมัด จาก Melayu Living จ.ปัตตานี กล่าวว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีงานสร้างสรรค์มากมาย ตอนปี 2558 ความรุนแรงในพื้นที่คุกรุ่นมาก คนนอกพื้นที่จะมองว่า 3 จังหวัดน่ากลัว มีแต่ความรุนแรง มีแต่ข่าวไม่ดี ซึ่งมีการนำเสนอเยอะแล้ว เราเลือกที่จะพูดเรื่องธรรมดา เรื่องของผู้คนที่ทำงานสร้างสรรค์ งานหัตถกรรม งานศิลปะ ที่มีอยู่เยอะ เลือกที่จะพูดเรื่องงานสร้างสรรค์เป็นหลัก พูดเรื่องในพื้นที่ที่มีของดีอยู่เยอะ  

จุดเริ่มต้นเราอยากชวนคนมาดูงานศิลปะหรืองานออกแบบในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง คนทำงานคือใคร หรือชวนดีไซเนอร์จากที่อื่นมาให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และอยากให้คนมองว่าสถาปนิกไม่ได้ทำงานกับแค่นายทุนอย่างเดียว เราอยากทำงานกับชุมชนด้วย กิจกรรมแรกที่ทำชื่องาน Hello Future ชวนดีไซเนอร์จากกรุงเทพฯ มาทอล์ค พื้นที่เราอยู่ในย่านเมืองเก่า และอยู่ปัตตานี อยากชวนคนมาคุยเรื่องอนาคต ซึ่งเป็นงานครั้งแรก และคนยังไม่รู้จักพวกเรา อาศัยแค่การบอกต่อๆ กัน ปรากฏคนมาร่วมงานมากถึง 300 กว่าคน ซึ่งถือว่าเยอะมาก การชวนคนกรุงเทพฯ มาร่วมกิจกรรม เพื่อเวลาเขากลับไปจะได้ไปบอกต่อว่าที่ปัตตานีมันไม่ได้น่ากลัว มันอบอุ่น เป็นงานแรกที่ทำให้เห็นอนาคตจริงๆ 

ราชิต กล่าวว่า การทำงานในพื้นที่ค่อนข้างราบรื่น เพราะเป็นบ้านเกิดของตัวเอง พ่อแม่เป็นคนปัตตานี เวลาคุยกับผู้ใหญ่ก็จะมีความเชื่อมโยง แต่ก็มีกรณีที่รู้สึกดีมากคือ พื้นที่ที่ทำคือย่านเมืองเก่าซึ่งเป็นชุมชนจีน แต่คนในกลุ่มเป็นคนมุสลิม เราก็เข้าไปทำงานโดยไม่ได้คิดอะไร อยากไปทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่ อยากคุยเรื่องชุมชน อยากคุยกับชาวบ้าน มารู้ทีหลังว่าจริงๆ แล้วคนในชุมชนระแวงพวกเรามากๆ ตอนที่ตั้งกลุ่มและเข้าไปทำงาน จนทำงานไป 2-3 ปี ชาวบ้านรู้สึกไว้ใจก็ซัพพอร์ตเต็มที่

ในแง่การทำงาน Melayu Living ทำเป็นแผนงาน 1 ปี แล้วคุยกับซัพพลายเออร์ ขอสนับสนุนซึ่งได้ไม่เยอะ เพราะไม่ถนัดเรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะใช้ไอเดียผลักดันให้งานทำไป ตั้งแต่เริ่มตั้งกลุ่ม ขาดทุนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้ค่าตัว แต่มันคือสิ่งที่อยากทำ เราเชื่อว่าจะมีหน่วยงานที่เข้ามา ก็มี ศอ.บต. เข้ามา เราก็บอกว่าต้องทำในแนวทางเรา แต่เราก็ต้องทำตาม TOR 

พอมีงานมากขึ้น ก็เริ่มมีหน่วยงานเข้ามาเพิ่มขึ้น ข้อดีของการทำงานแนวนี้คือเราจะมีพันธมิตรเข้ามาร่วม ที่เห็นชัดๆ คือน้องๆ นักศึกษาจาก มอ. ปัตตานี พอเราไม่มีเงิน ต้องใช้กำลังที่เป็นอาสาสมัคร ก็เปิดในเพจว่าขออาสาสมัคร 70 คน ชั่วโมงเดียว น้องๆ สมัครมาเต็มเลย ที่อยากมาร่วมงาน เปิดรับเพิ่มอีก 30 คน แป๊บเดียวก็เต็ม เรื่องนี้สำคัญกว่าเรื่องเงิน เรื่องกองกำลังที่มาช่วยเรา ถ้าเรามีเงินแล้วไปจ้างคนมาทำ อาจจะทำงานสู้น้องๆ พวกนี้ไม่ได้ น้องๆ มัธยมก็มี จากสาธิตปัตตานี ทุกคนทำงานเต็มที่มาก 

“งานที่ทำถ้ามองในแง่ธุรกิจคือขาดทุนย่อยยับ แต่เรามองในอีกมิติหนึ่งว่า ในเมื่อเรามีแรง ถนัดอะไรก็ทำไป เงินไม่ใช่ปัจจัยในการมองว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ถ้าเรามีแรง เรายังมีชีวิตอยู่ เราจะทำอะไรในพื้นที่ของเราบ้าง ถ้าเราแก่ไปแล้วเรากลับมามองว่าครั้งหนึ่งเราเคยทำอะไรแบบนี้ เราเคยปักหมุดอะไรเข้าไปในยุคของเรา อย่างน้อยคนรู้จักปัตตานีมากขึ้น จากเดิมเสิร์ชกูเกิ้ลไปก็จะเจอแต่ภาพทหาร ช่วงหลังเสิร์ชดูก็จะเจอกิจกรรมของเราเข้าไปอยู่บ้าง” 

ราชิต กล่าวว่า ถ้าดูสิ่งที่เราทำไป งานที่ทำถ้าจะนับเป็นเม็ดเงินหรือเศรษฐกิจ มันไม่ใช่ตลาดที่คนจะมาซื้อของแล้วจ่ายเงินตอนนั้นเลย แต่เขาเข้ามาดูก่อน เขาอาจจะเห็นงานของศิลปินคนนี้แล้วถูกใจ หลังจากนั้น เขาอาจจะมีการดีลผลงานกันทีหลัง แล้วมันก็จะเกิดคอนเนคชั่นที่ขยายออกไป รวมถึง นักออกแบบเองก็จะมีเครือข่ายมากขึ้น

“เปรียบเทียบเหมือนกับว่า เราไม่ได้สร้างวัตถุดิบในเรื่องงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่มันคือการสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ขึ้นมา เราอาจจะปรับโทนบางอย่างว่าปัตตานีก็มีงานแบบนี้อยู่ ไม่ใช่เมืองที่น่ากลัว เราค่อยๆเห็นคนทำงานมากขึ้น เริ่มเกิดการเชื่อมต่อมากขึ้น แล้วสิ่งแวดล้อมก็จะเปลี่ยน คนจะมองภาพของเมืองในภาพใหม่ขึ้น งานพวกนี้ทำให้คนในพื้นที่มองเห็นคุณค่าของตัวเอง บางทีจานชามโบราณที่อยู่ใกล้ตัวเขามันดูธรรมดามาก แต่วันหนึ่งเราไปสร้างความหมายให้มัน ให้เขารู้สึกว่า มันคือสิ่งสำคัญ บางอย่างกำลังจะหายไปแล้ว คนนอกพื้นที่เข้ามาเห็นแล้วรู้สึกว่านี่คือของที่เขาสนใจ เกิดการแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ทำให้เมืองขับเคลื่อนไปข้างหน้า” ราชิต ระบุ

 
สร้างแรงบันดาลใจส่งต่อคนรุ่นหลัง

จักรี จิระสุข จาก ภาคีนักสร้างสรรค์สตูล กล่าวว่า งานที่สตูลอย่างงาน Error 91000 เป็นงานรวบรวม Street Culture ในสตูล ในงานจะแบ่งพาร์ตเป็นศิลปะ มาร์เก็ต และดนตรี เป็นการรวบรวมวัยรุ่นสตูลมาเจอกัน และแบ่งปันกิจกรรมกัน เราไม่รู้ว่ามีคนเล่นสเก็ตบอร์ดในสตูลมากแค่ไหน มีคนฟังดนตรีแนวนี้มากแค่ไหน มีคนทำสินค้าแนวนี้มากแค่ไหน เป็นเหมือนอีเว้นที่หว่านไปคนประเภทเดียวกันมาเจอกัน เราเริ่มต้นการทำงานด้วยกัน ส่วนใหญ่จะขอความอนุเคราะห์อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในงาน หลังๆ พอเป็นโครงการ ก็เริ่มมีการสนับสนุนเป็นตัวเงินบ้าง ก็มาจัดการให้คุ้มค่าที่สุด เพราะความใหม่ของกิจกรรมที่จัด บางอย่างก็เกิดคำถามกับคนที่จะสนับสนุนว่าทำอะไร ทำแล้วได้อะไร 

“เป็นการสร้างแรงบันดาลใจต่อๆ ไปให้กับรุ่นหลังๆ บางทีเราก็ไม่รู้หรอก ว่าสิ่งที่เราทำตอนนี้ อาจจะไปออกผลรุ่นลูกรุ่นหลานที่ต้องใช้ชีวิตในเมืองนี้ต่อไป เป็นหัวเชื้อต้นทุนที่เขารับต่อจากรุ่นของเรา” จักรี ระบุ

 
มวลอากาศใหม่ให้คนสัมผัส

คีตญา อินทร์แก้ว หนึ่งในกลุ่มภาคีนักสร้างสรรค์สตูล กล่าวว่า การทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน จะมองหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ซึ่งระยะเวลาของภาคีนักสร้างสรรค์สตูล ยังไม่ยาวนานมากพอที่จะเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันแบบแนบสนิท เราพยายามให้งานพูดแทนว่า เราอยากจะทำอะไร ให้มาดูที่งานของเรา แล้วงานก็ค่อยๆ เป็นสเต็ปกว้างขึ้น 

“การจัดกิจกรรมในพื้นที่สร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ เป็นมวลอากาศใหม่ๆ ให้ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ที่อาจจะไม่ได้มีโอกาสที่จะออกไปไกลๆ ได้มีโอกาสที่จะรู้ว่ามันมีสิ่งนี้อยู่ มีอาชีพนี้อยู่ มีความเป็นไปได้นับร้อย นับพัน นับล้านอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นความปรารถนาลึกๆ ของเขา ที่จะเอาไปต่อยอดได้” คีตญา กล่าว

 

Cr.ภาพประกอบจากเพจ Satoyian /เพจ Creative Nakhon