ผู้จัดการกองทุนสื่อฯ มอง Effect วงการหนังไทย จากปรากฏการณ์ “สัปเหร่อ”

คงไม่ต้องกล่าวอะไรมากกับหนังม้ามืดที่สร้างปรากฏการณ์ ปลุกความคึกคักของวงการหนังไทยในช่วงท้ายปี สำหรับ “สัปเหร่อ” จากค่ายจักรวาลไทบ้าน ซึ่ง ต้องเต ธิติ ผู้กำกับภาพยนตร์ บอกว่า ” หนังมันได้เดินทางมาไกลมากๆ แล้วก็พาผมเดินทางมาไกลมากๆ “ แต่ปรากฏการณ์นี้จะส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่กับวงการหนังไทย  Media Trust Thailand สอบถามทัศนะ มุมมอง ของ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อหาคำตอบ วงการหนังไทยจะถึงเวลาออกเดินทางไกลหรือยัง

 
ในฐานะผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มองปรากฏการณ์หนังสัปเหร่ออย่างไร

เริ่มต้นจากการส่งเสริมการผลิตสื่อ  สะท้อนว่า การเริ่มต้นทำสื่อ จากจุดเล็กๆ โดยคนเล็กคนน้อยหรือ บริษัทเล็กๆ วันหนึ่งก็สามารถประสบความสำเร็จได้ โดย กรณีสัปเหร่อเป็นหนังที่ต้องเรียกว่าต้นทุนน้อย แล้วใช้ความซับซ้อนในการผลิตไม่มาก มีฉากที่อาจจะใช้ความเชี่ยวชาญอยู่พอสมควรคือ ฉากของการทำ CG ตอนถอดจิต อันนี้ถือว่าฝีมือใช้ได้ ทำออกมาดี การนำเสนอเรื่องราวก็เป็นอะไรที่ Real  สำหรับคนที่ไม่รูจักสังคมคนต่างจังหวัดหนังเรื่องนี้ตีแผ่ให้เห็นชัด ในมุมของคนที่มองจากจุดของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถ้าเปิดใจกว้างนิดหนึ่งก็จะเห็นว่ามันสะท้อนความจริง สภาพความเป็นไปในวิถีชีวิตชุมชนชนบท ถ้าดูแบบตัดตอนไม่ได้ดูอย่างต่อเนื่อง มีบางฉากที่บางคนอาจจะรู้สึกว่า แบบนี้อาจจะไม่ได้ เช่นฉ่ากพระป๋องแอบกินมาม่า แอบกินข้าวเย็น อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเปิดใจ ดูแบบต่อเนื่อง เพราะสัปเหร่อคือภาคหนึ่ง ของไทบ้านเดอะซีรี่ย์ จะเห็นว่าก่อนที่ป๋องจะมาบวชก็ไม่ได้คิดจะมาถือศีลปฏิบัติธรรมอะไรสักเท่าไหร่ ไม่ได้เตรียมใจจะมาเป็นพระ มาด้วยสถานการณ์พาไป คือ ถ้ามองอย่างกว้างในมุมของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ก็รับได้ว่า อันนี้ทำให้องค์ประกอบของหนังสมบูรณ์ ก็เข้าใจได้ 

ในมุมของการสร้าง Content เพื่อสร้างรายได้ มันก็เป็นการจุดประกายให้เห็นว่า อุตสาหกรรมบันเทิงในบ้านเรา เอาตลาดในประเทศก่อน ยังมีอาณาเขตอย่างกว้างใหญ่ไพศาลเลย Content พร้อมที่จะโดน และพร้อมที่จะสร้างการไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจ อันนี้ก็จะเป็นกำลังใจให้กับคนในวงจรการผลิตอุตสาหกรรมสื่อ

จริงๆ แล้วหนังสัปเหร่อก็มีการนำเสนอแง่มุม ในเรื่องของหลักคิด คติธรรมสอนใจอยู่หลายตอน ไม่ใช่ความสนุกสนานอย่างเดียว อย่างน้อยก็ประเด็นเรื่องของการพิจารณาความตายหรือ มรณานุสติ แต่เห็นว่าหนังก็พยายามสะท้อนให้เห็น คนที่มองเห็นการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ทำใจได้ก็จะมีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ กับคนที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงการพลัดพรากไม่ได้ก็จะมีชีวิตอีกแบบหนึ่ง เห็นการทำหน้าที่ของทุกอาชีพที่ล้วนมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์ เป็นทนายความหรือสัปเหร่อ ทุกอาชีพก็จะมีหลักการหรือจรรยาบรรณกำกับอยู่เสมอ ก็ยังเสนอมุมน่ารักๆ ของคนที่อาจเรียกว่าฝันเฟื่อง แต่จริงๆ แล้วการคิดฝันในการที่จะทำ Vegetable Farm หรือตลาดผักออร์แกนิก ในเรื่องมันก็ควรจะมีในสังคม คนต้องกล้าคิดอะไรใหม่ๆ กล้าคิดอะไรที่เป็นความฝันส่วนจะเป็นจริงได้หรือไม่ ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายทาง  

เพราะงั้นสัปเหร่อ ผมคิดว่า ในยุคที่คนอาจจะเครียดกับเรื่องเศรษฐกิจ สงคราม  แล้วเป็นหนังที่นำเสนอเรื่องที่อาจดูเครียด เรื่องความตายในมุมที่สนุกสนานก็ถือเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษา ในมุมของเราเองที่ทำงานสนับสนุนการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  และสื่อที่สามารถสร้างรายได้ ด้วยก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการชื่นชมความสำเร็จ ถ้าถอดบทเรียนออกมาก็เป็นเรื่องของคนเล็กคนน้อยที่ทำเรื่องใหญ่ๆ ได้ ได้คุยกับคนทำเอง เขาก็ไม่ได้คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ได้ 150 ล้านก็ตื่นเต้นมากแล้ว วันนี้ น่าจะทะลุ 600 ล้านแล้ว

 

อย่างที่ทราบว่า สัปเหร่อเป็นภาคหนึ่งของไทบ้าน เดอะซีรีส์ ซึ่งที่ผ่านมาผลตอบรับไม่ค่อยดี

มันสะท้อนว่า ทุกความสำเร็จมันไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน เบื้องหลังความสำเร็จมันผ่านการล้มลุกคลุกคลานมาก่อน ผ่านการเรียนรู้ ผ่านการลองผิดลองถูก เพราะฉะนั้นเราจะทำงานอะไรก็สุดแท้แต่โดยเฉพาะในวงการสื่อ 1.ก็ต้องรักษาความต่อเนื่อง ชิ้น สองชิ้นมันยังวัดไม่ได้ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว ไทบ้าน เดอะซีรีส์ มีตั้งหลายตอน แต่การรักษาแนวทางคอนเซ็ปท์ อันนี้คิดว่าจะเป็นเรื่องสำคัญ การรักษาอะไรที่ดิบ Real Position ของเขาชัด คุณไม่ได้ใช้ดาราดัง ไม่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ เป็นคนหน้าตาธรรมดาที่สามารถ Acting ได้ ตรงนี้เป็นตัวจุดประกายว่าทุกคนเป็นสื่อได้จริงๆ ทำสื่อได้แล้วไม่ต้องลงทุน 100 ล้าน 300 ล้านอย่างที่เมืองนอกทำ แต่ว่า ความสำเร็จอันนี้ ไม่ใช่ว่าดีแล้ว แต่เป็นการจุดประกายว่าจะต้องทำต่อไปและการสนับสนุนจะต้องมีมากขึ้น

 
คิดว่าปรากฏการณ์นี้จะส่งผลในเชิงนโยบายรัฐที่จะสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยอย่างไรหรือเปล่า

เท่าที่ทราบในแง่นโยบาย คิดว่ารัฐบาลปัจจุบันน่าจะยกเลิกระบบเซ็นเซอร์ภาพยนตร์  หันมาใช้ระบบ Rating  แทนคล้ายๆเป็น Self-Regulation ถ้ามีฉากความรุนแรง ภาษาไม่เหมาะสมก็ ใส่ Rate ไปเหมือนฝรั่ง ซึ่งส่วนตัวผมเห็นด้วยว่า งานสื่อ บางทีความคิดสร้างสรรค์  ถ้าตีกรอบ จะคิดไม่ออก อันนั้นไม่ได้ อันนี้ไม่ได้ ต้องปล่อยให้คิดไปก่อน แล้วสุดท้ายถ้าอะไรเหลือบ่ากว่าแรง ถ้าเอาออกได้ก็เอาออก เอาออกไม่ได้ ก็ Warning เสียว่ามีฉากแบบนี้น่ะ อันนี้คิดว่าน่าจะเป็นการสนับสนุนที่ง่ายที่สุดของภาครัฐ คือ สนับสนุน ในแง่ของการดูแลระเบียบหลักเกณฑ์ ที่เอื้อ อะไรที่ไม่เอื้อก็เลิกเสีย เป็นขั้นต้นของการส่งเสริมและสนับสนุน ในขั้นต่อไปก็สนับสนุนในเรื่อง Know how , Knowledge ทั้งงบประมาณ รวมถึงเรื่องการตลาด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ

 
จริงๆ มองในแง่โมเดลทำธุรกิจของไทบ้านก็น่าสนใจ กลุ่มคนทำหนังจากภาคอีสานแล้วไม่ได้ทำหนังอย่างเดียว ยังทำสื่ออื่นๆเพื่อสนับสนุนหนัง เช่น ทำเพลง ทำอีเว้นท์ต่างๆ ที่ผ่านมากองทุนสื่อฯก็มีโครงการ hackathon Start up คนทำสื่อในภาคเหนือ เหมือนกัน

อันนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเริ่ม เป็นการสร้าง Locally ให้เป็น Globally ป่าล้อมเมือง สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นชุมชนท้องถิ่น ยังขายได้เสมอ ตอนแรกเขาก็อาจคิดถึงตลาดภาคอีสาน เพราะสื่อสะท้อนตัวตนคนอีสาน ชุมชนชนบทจริงๆ  เราก็ย้ำเสมอว่า เวลาทำสื่อ ไม่ต้องคิดเรื่องที่คุณไม่รู้ เพราะคุณไม่มีทางทำได้ดีหรอก คุณต้องทำเรื่องที่คุณรู้ ใกล้ตัวคุณ เรื่องที่คุณมีต้นทุนอยู่แล้ว ต้นทุนประสบการณ์ ต้นทุน ความรู้แล้วสื่อสารออกมา มีคนมากมายมหาศาลที่เขาอยากรู้ อันนี้เป็นบทเรียนหนึ่ง