“สติ Space” เครื่องกั้นกระแสแห่งอารมณ์ ยุค Disruption

แต่ละวันที่ลืมตาตื่น คุณใช้ชีวิตที่ไหนมากที่สุด?

ถ้าคุณเป็นวัยทำงาน พื้นที่ชีวิตภาคกลางวัน น่าจะอยู่กับเพื่อนร่วมงานมากกว่าครอบครัว และอยู่ในออฟฟิศมากกว่าที่บ้าน ขณะที่วัยรุ่นวัยเรียนก็อยู่ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

แค่ฝ่ารถติดจากบ้านไป-กลับเพื่อเรียนหรือทำงานก็สาหัสแล้ว  เป้าหมายชีวิตที่ต้องพุ่งชนตลอดเวลา ก็ยังพาให้เคร่งเครียด เหนื่อยล้า ขัดแย้ง แย่งชิง หมดหวัง จนนำไปสู่ “ภาวะหมดไฟ” ที่กำลังเป็นปัญหาสุขภาพจิตบั่นทอนพลังของคนหนุ่มสาวทุกวันนี้

แต่….ยังไงคุณก็ต้องไปต่อ ดังนั้นคงจะดีถ้ามีพื้นที่สร้างภูมิคุ้มกันใจไม่ให้เจ็บป่วย เยียวยาในวันที่อ่อนล้า ในนามพื้นที่แห่ง “สติ” 

แม้ปัจจุบันโลกจะเข้าสู่ยุคดิจิตอล เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย แต่ “สติ” ก็ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ชีวิตและสังคมเกิดความสงบสุข 

ท่านพุทธทาสภิกขุ บุคคลสำคัญของโลก อธิบายความสำคัญของ “สติ” ว่า “เป็นเครื่องที่ทำให้ตื่น ถ้าเรารู้ ดับทุกข์ได้จริง สติมีอยู่แล้วในเรา มีอยู่ตามสัญชาตญาณ ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่มีสติแท้ ๆ ตามธรรมชาติ มันทำอะไรไม่ได้ เหมือนหลับตาเดิน หลับตากินข้าว ทำการงานอะไรลองหลับตาดู มันก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีสติ”

ด้วยเหตุที่ “สติ” มีส่วนสำคัญต่อการรับมือกับความทุกข์ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จึงร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์  พร้อมด้วยองค์กรหลายแห่งจัดทำโครงการ “สติ Space” ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นนิทรรศการ Art Space และการจัดสรรพื้นที่ที่ รวบรวมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การชมภาพยนตร์ งานเสวนา และมุมพักผ่อนหย่อนใจ ให้เป็นพื้นที่พักใจให้คนวัยหนุ่มสาวกลับมารู้ตัว รู้ใจ ให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความสุขได้บนโต๊ะทำงาน โต๊ะทำการบ้าน ไม่ต้องอิงกับศาสนาพุทธเป็นหลัก โดยเมื่อวันที่ 1-27 สิงหาคม ที่ผ่านมา นิทรรศการ “สติ Space” ได้จัดนิทรรศการครั้งแรก New Gen Space : Space for All Generations ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งประสบความสำเร็จมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 2 หมื่นคน และล่าสุดได้จัดนิทรรศการ “สติ space” ครั้งที่ 2 บริเวณล็อบบี้ มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ และ C asean Samyan CO-OP 

 
ชวนวัยหนุ่มสาว-คนทำงาน มาเข้าใจความหมายของชีวิต

หากพูดถึงย่านวัยรุ่น ก็ต้องมีชื่อของสามย่านมิตรทาวน์อยู่ด้วย โดยเฉพาะ C asean Samyan CO-OP ที่ให้บริการฟรี 24 ชั่วโมงสำหรับการอ่านหนังสือหรือทำงาน 

“สติ space” จึงเนรมิตพื้นที่ฮีลใจที่นี่ต่อจากหอศิลป์ฯ กรุงเทพ โดยจะจัดกิจกรรมเป็นระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน ถึง 15 ธันวาคม 2566

 เนื่องจากมีเวลาหลายเดือนและต้องสื่อสารกับวัยรุ่น จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของงานไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความหลากหลาย เช่น Stone : ก้อนหิน  สื่อสารเรื่องความหนักแน่น มั่นคงในใน , Sky : ท้องฟ้า ความโปร่งเบาสบาย , Sea : ทะเล  ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ, Forest : ป่า  สงบเย็นผ่อนคลาย , Flower : ดอกไม้  สดชื่น สดใส และ Mountain : ภูเขา โอบอุ้ม ทรงพลัง

เหนื่อยไหม สิ่งที่เธอทำอยู่?

กิจกรรมเก๋ ๆ ที่ช่วยฮีลใจวัยหนุ่มสาว คือ check-in หน้ากระจก และคุยกับเงาของตัวเองด้วยคำถามที่เจ้าตัวอาจจะไม่เคยถูกถามเลยว่า “เหนื่อยไหม เป็นไงบ้าง ?” 

ไฮไลท์ของที่นี่คือกิจกรรม ดูหนังตามหาแก่นธรรม ที่ชวนวัยรุ่นมาดูหนังด้วยกัน และเปิดหัวใจ พูดคุย สะท้อนถึงมิติภายในของชีวิตไปพร้อม ๆ กัน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกสรรได้ตามความสนใจ ทั้งการตั้งวงเสวนา , เขียนจดหมายรักถึงตัวเอง , จิบน้ำชาภาวนาพร้อมสนทนาด้วยหัวใจ เปิดไพ่ฤดูฝน และฝึกสมาธิด้วยการระบายสีน้ำ Mandala เพื่อสร้างความสงบ สมาธิ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ 

รวม ๆ แล้ว สติ Space ที่สามย่านมิตรทาวน์ จะมีกิจกรรมหลากหลายถึง 8 กิจกรรม ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ตั้งสติกับปัจจุบันขณะ

 

พื้นที่สติที่จุดติดและจุดต่อ

ศศวรรณ จิรายุส ฝ่ายสร้างสรรค์งานธรรม Creative & Special Event หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ สะท้อนผลตอบรับของ สติ Space ที่สามย่านมิตรทาวน์ว่า 

“แต่ละวันมีคนนับร้อยที่เดินเข้ามาในพื้นที่ สติ Space และบอร์ดที่ให้แปะข้อความแทนใจ ซึ่งหนาแน่นมากที่สุดก็คือ “เหนื่อย” ครั้งหนึ่งเจอน้องวัยเรียนมาด้วยกันสองคนต่างคนต่างแปะข้อความที่บอร์ดนี้แล้วก็หันมาคุยกันเองว่า ‘เธอก็เหนื่อยเหมือนกันเหรอ งั้นเราเดินออกไปพักกันไหม’ มันสะท้อนว่าคนยุคนี้เหนื่อยแล้วก็ยังไม่รู้ตัว อยากให้อนุญาตตัวเองได้พักบ้าง และสติ Space ก็มาได้ถูกที่ถูกเวลาเพราะตอนนี้เด็ก ๆ กำลังอยู่ในช่วงสอบพอดี ข้อความให้กำลังใจต่าง ๆ ก็เลยช่วยเค้าได้ด้วย” 

นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่ สติ Space ให้กับมนุษย์เงินเดือนในส่วนอาคารสำนักงานของสามย่านมิตรทาวน์ โดยมีการติดป้ายโปสเตอร์เชิญชวนคนที่มีเรื่องทุกข์ใจอยากได้ผู้รับฟัง สามารถสแกน QR code หรือ กดเข้าไปที่ https://satispace.bia.or.th  เพื่อระบายความรู้สึก หรือจะฝากคำถามเพื่อรับคำแนะนำจากพระที่ปรึกษาก็ได้

“โครงการ สติ Space ขอทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อทำพื้นที่แห่งสติในสำนักงานเพียง 2 แห่ง แต่ตอนนี้มีออฟฟิศที่รอคิวให้เราทำพื้นที่สติให้ถึง 7 แห่ง โดยทุกที่ยินดีจัดการค่าใช้จ่ายเอง แปลว่าพื้นที่สตินี้กำลังเป็นที่ต้องการ  ส่วนโครงการสติ Space ที่จะทำร่วมกับกองทุนสื่อฯ ในปีต่อ ๆ ไป เราจะต่อยอดไปออกแบบ Application และอบรมออนไลน์เพื่อสร้างทักษะของการมีสติต่อไป” ศศวรรณกล่าวทิ้งท้าย

 

ติดตามข่าวสารกิจของกรรมของ สติ Space ได้ที่ https://www.facebook.com/SatiSpaceBIA