รื้อบอร์ดเซ็นเซอร์หนัง การผลักดันนโยบายสไตล์ “การเมืองนำข้าราชการประจำ”

ไทม์ไลน์ แผนการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ของคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ต้องถือว่า มีความคืบหน้าและเป็นไปตามเป้า 

ล่าสุด คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรกของ 2567 ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ก็มีการแถลงความคืบหน้าที่สะท้อนให้เห็นการทำงานที่ต้องเรียกว่าเป็นสไตล์ “การเมืองนำข้าราชการประจำ”

 
คืบหน้าแผนงานซอฟต์พาวเวอร์

สาระสำคัญจากการแถลงข่าว นางสาวแพทองธาร ให้ข้อมูลความคืบหน้าใน 3 ประเด็น คือ ประเด็นการเปลี่ยนแปลง “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์” โดยเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของคณะกรรมการให้เอกชนมีเสียงข้างมาก และเป็นประธานคณะกรรมการทุกชุด

ประเด็นที่ 2  การแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงระหว่างรอการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ขณะที่การแก้ไขกฎกระทรวงในส่วนของการจัดประเภทเรตของภาพยนตร์ จะแก้ไขในส่วนของภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทย ซึ่งจะเหลือข้อกำหนดเดียว คือ เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่เคยใช้แบนหนังไปหลายเรื่อง อาทิ เรื่องศาสนา ความมั่นคง เพศสัมพันธ์ จะถูกจัดอยู่ในเรตผู้ชมที่เหมาะสมแทนการห้ามฉาย คาดว่าการแก้ไขจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้

ประเด็นที่ 3  การยกร่างกฎหมายพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ และตั้ง “สภาภาพยนตร์ไทย”  การยกร่าง พ.ร.บ. THACCA  เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความเรียบร้อย และเปิดรับฟังความเห็น คาดว่า จะเข้าสภาได้ภายในกลางปีนี้

 
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
ส่องเบื้องหลังรื้อบอร์ดเซ็นเซอร์หนัง

นางสาวแพทองธาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ความคืบหน้าอีกหนึ่งเรื่องสำหรับวงการภาพยนตร์ นั่นคือวันนี้ กระบวนการพิจารณาภาพยนตร์ การจัดเรตติ้ง อยู่ในมือเอกชนแล้วค่ะ จริงๆ แล้วในภาพใหญ่ เราตั้งใจจะร่าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์กันใหม่ เป้าหมายเพื่อให้กฎหมายนี้ขจัดอุปสรรคหลายอย่างของคนภาพยนตร์ แต่การเดินทางของกฎหมายใช้เวลานาน คาดว่าจะดันให้สภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ได้กลางปีนี้ 

แต่วันนี้ สิ่งที่เราทำก่อนคือการแก้ไขกฎกระทรวง ในรายละเอียดการจัดเรตติ้งก่อน ซึ่งวันนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นประชาชน ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 

และคู่ขนานกันไป เราได้ ‘ตั้งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และเกม’ ขึ้นใหม่จำนวน 9 ชุดค่ะ (รวมชุดเดิมอีก 1 ชุดที่ยังไม่หมดวาระ รวมเป็น 10 ชุด) และกำหนดสัดส่วนให้ ‘เอกชนมีเสียงมากกว่าฝ่ายราชการ’ แต่ละชุด สัดส่วนคณะกรรมการ คือฝ่ายรัฐ 2 ท่าน เอกชน 3 ท่าน (ซึ่งสัดส่วนนี้ยังต้องเป็นไปใต้ข้อกำหนดกฎกระทรวงเดิมก่อนค่ะ) แต่กล่าวแบบสั้นๆ คือวันนี้ กระบวนการพิจารณาภาพยนตร์ อยู่ในมือเอกชน ให้เอกชนเป็นเสียงข้างมาก และประธานกรรมการทุกชุด เป็นเอกชนทั้งหมดค่ะ เตรียมความพร้อมไปสู่ การ self-regulation หรือให้เอกชนกำกับดูแลกันเองค่ะ”

ในตอนท้าย นางสาวแพทองธาร ระบุว่า  “ขอบคุณคณะกรรมการภาพยนตร์ทุกท่าน รวมถึงทีมราชการและฝ่ายการเมือง ที่คุยปัญหากันจบก็เร่งดำเนินการแก้ไข” 

ถอดรหัส ประโยคนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เบื้องหลังการถ่ายทำ การตั้ง 9 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และเกม ชุดใหม่ 9 ชุด โดยเอกชนมีสัดส่วนเป็นเสียงข้างมาก นั้น คือ สไตล์การทำงานที่เป็นเอกลักษณ์ของพรรคเพื่อไทย  the Ends Justify the Means ในเมื่อฝ่ายการเมืองได้รับฉันทามติจากประชาชนเข้ามาบริหารประเทศ ถ้าสุดท้ายปลายทางคือประโยชน์ของประเทศ แต่ติดกับระเบียบที่ไม่เข้ายุค ก็ต้องหาทางออกและแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค

 

the Ends Justify the Means

พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 16 วรรค 2 กำหนดว่า “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 18 (2) (3) (4)และ (5) ให้มีจำนวนไม่เกินเจ็ดคน โดยแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์ วีดิทัศน์ โทรทัศน์ศิลปวัฒนธรรม หรือการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งต้องแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนไม่เกินสี่คนและจากภาคเอกชนจำนวนไม่เกินสามคน” 

บทบัญญัติข้อนี้ จึงทำให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ชุดใหม่ทั้ง 9 คณะต้องกำหนดสัดส่วนไว้ที่ 5 คน จะเป็น 6 คนเป็น 7 คนก็ไม่ได้ เพราะบทบัญญัติ “ต้องแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนไม่เกินสี่คนและจากภาคเอกชนจำนวนไม่เกินสามคน” ล็อกเอาไว้  ดังนั้นทางออกคือ คำว่า “ไม่เกิน” ต้องตีความและตั้งกรรมการในสัดส่วนอย่างไรเพื่อให้เอกชนเป็นสัดส่วนเสียงข้างมากแทนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนในอดีต

การตั้งคณะกรรมการด้วยการตีความข้อกฎหมายแบบนี้ก็เพื่อให้คณะกรรมการเดินหน้าทำงานได้ทันที  ซึ่งหากผลงานที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งเป็นการสร้างกระแสสร้างแนวร่วมส่งเสริมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ในภาพรวม 

Lอย่างไรก็ตามเข้าใจว่า ในชั้นของยกร่าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์ ฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ในแผนการดำเนินงานแล้วนั้นก็คงมีการแก้ไขบทบัญญัตินี้ให้ชัดเจนไปเลย 

 
วงการหนังคึกคัก

ทั้งนี้รายชื่อคณะกรรมการ โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการฯ ล้วนเป็นคีย์แมนสำคัญในวงการภาพยนตร์และเกม อาทิ นนทรี นิมิบุตร เกษมศักดิ์ วงศ์รัฐปัญญา กฤตวิทย์ หริมเทพาธิป ประวิตร แต่งอักษร อดิเรก วัฏลีลา สมเดช สันติประชา ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ สักกพล สวาคมพรรณ ปัณณวิชช์ ธนสุวรรณเกษม 

อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวว่า ปี 2566 เป็นปีที่ดีของหนังไทย สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของนักทำหนังทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วย ในปีนี้และปีต่อๆ ไป จะเริ่มมีการพัฒนาระบบนิเวศน์ของวงการภาพยนตร์ไทยที่เอื้อให้หนังทุกๆ เรื่องประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น เช่น การร่างพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่เพื่อยกเลิกการเซนเซอร์ภาพยนตร์ และการจัดตั้งองค์กรเพื่อส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในรูปแบบต่างๆ ทางสมาคมผู้กำกับฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้อยู่เสมอ และมีความตั้งใจผลักดันให้รูปแบบการจัดตั้งองค์กร, การบริหาร และการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่างๆ ให้ความสำคัญกับ “เสียง” ของคนในวงการอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะผู้ผลิตและสร้างสรรค์งาน) เป็นอันดับหนึ่ง โดยให้ทางฝ่ายราชการ การเมืองเป็นผู้คอยให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและกฎระเบียบ

“ความคืบหน้าของด้านภาพยนตร์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่คณะพิจารณาภาพยนตร์ การจัดเรตติ้ง มาอยู่ในสัดส่วนของเอกชนมากกว่าภาครัฐแล้ว รายชื่อกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการ ตามรายชื่อที่ทางคณะอนุกรรมการ soft power ด้านภาพยนตร์ เสนอต่อประธานไป โดยในแต่ละชุด จะมีสัดส่วนจากภาคเอกชน 3 ท่าน และภาครัฐ 2 ท่าน (ภาคเอกชนเป็นเสียงข้างมาก) ซึ่งสัดส่วนนี้ยังต้องเป็นไปใต้ข้อกำหนดกฎกระทรวงเดิมก่อนจนกว่าจะแก้กฎหมายกระทรวงฯ เสร็จสิ้น ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการปรับโครงสร้างใหม่ คือการแก้ไขกฎหมายของกระทรวงวัฒนธรรม และ พรบ.ภาพยนตร์ ให้เหมาะสม และทันสมัย เทียบเท่ากับสากล” 

 
จับตาไฟเขียวหนังโดนแบน

ในระยะเฉพาะหน้า ประเมินว่า น่าจะมีความเคลื่อนไหวในส่วนภาพยนตร์ของคนไทยที่เคยโดนแบนห้ามฉายในประเทศไทย อย่าง แสงศตวรรษ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล,  เชคสเปียร์ต้องตาย ของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ รวมถึงหนังต่างประเทศ อีกหลายเรื่องที่ถูกแบน

ส่วนประชาชนทั่วไปที่ต้องติดตามคือ เป้าหมายนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปีของรัฐบาล หรือเพิ่มรายได้ให้คนไทย 20 ล้านครัวเรือนประมาณ 2 แสนบาทต่อปี หรือประมาณ 16,000 บาทต่อเดือน จะเดินไปได้สุดทางแค่ไหน