‘ร้านหนังสือเดินทาง’ ส่งต่อแรงบันดาลใจ ผ่านการอ่านกว่า 2 ทศวรรษ

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรักหนังสือตัวยง นักอ่านชั่วครั้งคราว หรือนักสะสมกองดองผู้ยิ่งใหญ่

 

เราต่างรู้ว่า การเดินเข้าร้านหนังสือนั้นให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกับการสั่งซื้อออนไลน์ โดยเฉพาะกับร้านหนังสืออิสระหรือร้านหนังสือขนาดเล็กที่มาพร้อมความรู้สึกเป็นส่วนตัวและกลิ่นอายใกล้ชิดท้องถิ่นอย่างที่ร้านหนังสือแฟรนไชส์และอีคอมเมิร์ซไม่สามารถทำซ้ำได้ นั่นจึงเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้เรากลับไปร้านหนังสือนั้นซ้ำ ๆ

 

ยามบ่ายวันธรรมดา ณ “ร้านหนังสือเดินทาง” บรรยากาศโดยทั่วเงียบสงบ แม้การพลิกเปิดหนังสือสักหน้าก็ดูเหมือนจะเป็นการส่งเสียงดัง แต่ระหว่างนั้นมีบางช่วงที่เสียงการก่อสร้างจากถนนภายนอกร้านดังเล็ดลอดเข้ามาให้ได้ยินเป็นระยะ ๆ

 

ร้านหนังสือเดินทาง – Passport Bookshop เป็นหนึ่งในร้านหนังสืออิสระซึ่งเปิดประตูให้การต้อนรับนักอ่านมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ โดยเริ่มต้นเปิดร้านแรกบนถนนพระอาทิตย์ เมื่อปี 2545 ก่อนจะย้ายมาอยู่ถนนพระสุเมรุเช่นในปัจจุบัน และในสิ้นปี 2565 นี้ ร้านหนังสือเดินทางก็จะต้องหาที่ทางใหม่อีกครั้ง ด้วยทำเลบริเวณนี้จะถูกเวนคืนก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

“อำนาจ รัตนมณี” หรือ “หนุ่ม” เจ้าของร้านหนังสือเดินทางอยากให้สถานที่ตั้งร้านใหม่ยังคงอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ แม้สถานที่จะเปลี่ยนและเวลาจะล่วงเลยผ่าน แต่เขายืนยันในเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการเปิดร้านไม่เคยเปลี่ยน รวมถึงจิตวิญญาณความมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำอยู่ในฐานะเจ้าของก็ยังเหมือนเดิม

“ตั้งแต่เริ่มต้น พูดสั้น ๆ คือ อยากจะนำสิ่งที่เรารักมาเป็นอาชีพ อยากจะพิสูจน์ดูว่าเป็นไปได้ไหม และที่ผ่านมา 20 ปีก็พิสูจน์แล้วว่า มันมีทางของมัน”

 

อะไรคือสิ่งพิเศษเกี่ยวกับร้านหนังสืออิสระที่เปิดมายาวนานแห่งนี้ อย่างแรกที่นึกออกคือ จุดเริ่มต้นที่เป็นตัวของตัวเอง

 

“ถ้าไม่ได้มีทุนทรัพย์หรือกำลังเยอะ คุณไม่สามารถที่จะทำร้านหนังสือไปสู้กับเชนสโตร์ทั้งหลายได้ จะต้องหาข้อแตกต่างของคุณให้เจอ ต้องทำให้นักอ่านเห็นภาพชัดว่า เวลานึกถึงเราแล้วเขานึกถึงอะไร”

 

หลังตั้งคำถามและตรวจสอบตัวเอง อำนาจได้ข้อสรุปว่า “ถ้าต้องทำร้านเล็ก มันก็ต้องลึกนะ แม้จะเล็กในเชิงพื้นที่ แต่มันควรจะลึกในเชิงคอนเซ็ปต์ แทนที่เราจะต้องไปต่อสู้กับสภาพแวดล้อมภายนอกในเชิงปริมาณ ทำไมเราไม่มาสนใจในเรื่องของเชิงคุณภาพ เพราะฉะนั้นเราจึงมาทำร้านหนังสือเฉพาะทาง”

 

อำนาจได้นำการเดินทางซึ่งเป็นความชื่นชอบส่วนตัวมาเป็นแนวคิดหลักของร้าน “การเดินทางของเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่พวกไกด์บุ๊ค สารคดี หรือหนังสือที่ให้ข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับการเดินทาง แต่กินความไปถึงสิ่งที่กระตุ้นให้คุณอยากออกเดินทางไปสู่โลกกว้าง” ซึ่งการเดินทางที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงไปสู่ศาสตร์และเรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมาย “พอมันเป็นคำว่าเดินทางแล้ว ร้านก็ไม่อยากให้คนเข้ามาได้รับบันดาลใจจากแค่หนังสือเท่านั้น สิ่งที่อยู่ในร้านก็ควรจะต้องตอบโจทย์”

 

เพราะว่า การดำเนินธุรกิจร้านหนังสือนั้นไม่ใช่เรื่องชวนฝันและความจริงไม่ได้สวยงามตลอด ร้านหนังสือเดินทางไม่ต่างกับร้านหนังสือขนาดเล็กอื่น ๆ ซึ่งต้องฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหา ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลากหลายด้านตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

“ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ประเทศเราไม่ได้มีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรง การอ่านไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ คนไม่น้อยมองว่าการอ่านเป็นเรื่องของนักเรียนนักศึกษา ไม่มองว่าการอ่านคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเป็นอย่างนั้น ในเชิงธุรกิจผมว่ามีข้อน่ากังวลอยู่ หลายคนบอกว่า ถ้าเราทำธุรกิจเพื่อขายสินค้าที่มีผู้บริโภคจำนวนน้อย มันจะอยู่รอดเหรอ ร้านหนังสือมันอยู่ไม่ได้หรอก เพราะว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อย นั่นคือเนื้อแท้หรือว่าเป็นฉากหลังของวงการหนังสือมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างหนึ่ง”

 

ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่มากก็น้อย จากอดีตถึงปัจจุบันร้านหนังสืออิสระไม่เพียงเป็นแหล่งการค้า แต่ยังทำหน้าที่เติมชีวิตชีวาให้ชุมชน เป็นจุดนัดพบแหล่งรวมตัวแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งการประชุมของชมรมหนังสือ การพบปะนักเขียน เป็นห้องเรียนซึ่งให้แรงบันดาลใจกระตุ้นความคิด เป็นสถานศึกษาค้นคว้าและแหล่งเรียนรู้ที่ไม่มีสิ้นสุด ส่งต่อความรู้ในศาสตร์และเรื่องราวต่าง ๆ และเป็นหนึ่งกลไกในการช่วยขับเคลื่อนวัฒนธรรมการอ่าน

 

“ร้านหนังสือทำหน้าที่นั้นอยู่แล้วด้วยตัวเอง การที่ร้านหนังสืออยู่ในชุมชนก็ทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่า หนังสือไม่ใช่เรื่องไกลตัว การที่คนต่างถิ่นมากมายเดินทางมาที่ร้านหนังสือร้านหนึ่งก็ทำให้คนเห็นว่าหนังสือมีความสำคัญโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องไปมองการอ่านหนังสือในเชิงเคร่งครัดเป็นทางการ ตราบใดที่เรามองการอ่านเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันได้ ผมว่ามันน่าจะช่วยได้มาก

 

“ถ้าอยากรู้ว่า เราใช้ชีวิตอยู่ในย่านที่มีคุณภาพชีวิตดีหรือเปล่า ให้ดูว่าในระยะ 10 กิโลเมตรจากบ้านเรา มีร้านหนังสือมากน้อยแค่ไหน หนังสือคือ สินค้าที่มีผลกระทบในเชิงบวกทางสังคมสูง ถ้าเราอ่านหนังสือดี ๆ ก็อาจจะมีความคิดดี ๆ พฤติกรรมที่แสดงออกมาก็ดีตาม ถ้าคนทั้งสังคมอ่านหนังสือดี ๆ แสดงสิ่งดี ๆ ออกมา สภาพแวดล้อมก็ดีตาม หนังสือมีหน้าที่ตรงนี้”

ด้วยการมาถึงของยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงสื่อ รวมไปถึงหนังสือและการอ่าน “เรามีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เวลา 24 ชั่วโมงถูกซอยหั่นไปเพื่อเสพสื่ออย่างอื่น” คำว่า กองดอง ก็เกิดขึ้น เมื่อคนซื้อหนังสือไปแล้วไม่ได้อ่าน

 

“เวลาการอ่านถูกแพลทฟอร์มอื่นแย่งไป ช่องทางการจำหน่ายหนังสือก็แตกต่างออกไป คนนั่งอยู่ที่บ้านก็สามารถซื้อของได้ตลอดเวลา แล้วคนขายหนังสือไม่ได้มีแค่ร้านหนังสือ มีทั้งนักเขียน สำนักพิมพ์ สายส่ง ทุกคนห้ำหั่นกันด้วยสงครามราคา มันจึงยากขึ้นสำหรับคนที่ไม่ได้ผลิตหนังสือเอง เป็นความท้าทาย เป็นบิ๊กอีเวนต์ที่ร้านหนังสือจะต้องผ่านพ้นไป”

 

ยิ่งเมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด ร้านหนังสือก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก บางร้านต้องปิดชั่วคราวและจำนวนหนึ่งต้องปิดอย่างถาวร พร้อมกันนั้นการซื้อขายผ่านออนไลน์เติบโตและมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อเทียบกับการเดินเข้าไปเลือกซื้อและใช้เวลาในร้านหนังสือแล้ว ประสบการณ์ที่ได้ก็แตกต่างออกไปแทบจะสิ้นเชิง

 

การได้สูดกลิ่นหนังสือใหม่ ใช้มือกรีดพลิกหน้าหนังสือที่สนใจ พูดคุยกับพนักงานเกี่ยวกับหนังสือแนะนำล่าสุด หรือทักทายคนข้าง ๆ ที่บังเอิญหยิบหนังสือเรื่องเดียวกันจากชั้น แม้ในวันที่ชีวิตวุ่นวาย ร้านหนังสืออาจเป็นสถานที่แห่งความสงบ การพักผ่อน เชื่อมโยงผู้คน ทำให้นักอ่านเพลิดเพลินกับหนังสือสักเล่มพร้อมดื่มกาแฟสักแก้วไปได้ด้วย

 

“สิ่งที่ทำให้ร้านสามารถอยู่รอดมาได้ สุดท้ายก็เป็นการวัดกันว่า แต่ละร้านมีอะไรที่จะเสนอลูกค้า มีอะไรที่จะทำให้ลูกค้านึกถึงเรา มาที่นี่แล้วเขาได้อะไร ผมว่าถ้ามีสถานที่ที่ทำให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กันแบบมนุษย์ สุดท้ายแล้วมันจะยืนอยู่ได้ ซึ่งร้านหนังสือเดินทางอยู่มาได้ด้วยเหตุผลนี้”

 

ตลอด 20 ปี อำนาจแห่งร้านหนังสือเดินทางได้สังเกตเห็นหลาย ๆ ปรากฏการณ์ “สิ่งที่น่าสนใจซึ่งเห็นได้ชัดอีกหนึ่งเรื่องคือ ประเภทของหนังสือที่ขายดีในแต่ละช่วง ตอนนี้หนังสือขายดีกลับกลายเป็น Non Fiction หนังสือที่มีเนื้อหาสาระ อาจจะไม่ได้เข้มข้นแบบวิชาการจ๋า

 

“หนังสือเกี่ยวกับโรค เช่น โรคซึมเศร้าเห็นชัดว่ามีมากขึ้น คนอ่านมากขึ้น น่าจะสะท้อนว่าคนประสบอะไรกันอยู่ เทรนด์เกี่ยวกับการจัดสมดุลชีวิต ทั้งเรื่อง Work-Life Balance (ปรับสมดุลชีวิตทำงาน) ฮุกกะ, อิคิไก, วะบิ-ซะบิ ฯลฯ เหล่านี้ได้รับความนิยมมากในช่วงหลัง แสดงว่าลึก ๆ แล้วคนกำลังแสวงหาบางอย่าง ผมรู้สึกว่ามันเป็นเทรนด์ชี้วัดความรู้สึกของผู้คนว่าเขาพบเจออะไร อะไรทำให้คนไปแสวงหาสิ่งเหล่านั้น

 

“สำหรับเทรนด์ของสำนักพิมพ์ไทย หลัง ๆ มีสำนักพิมพ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะ ที่ขายดีส่วนใหญ่เป็นหนังสือแปล พอสำนักพิมพ์หนึ่งทำได้ดีก็จะเริ่มมีสำนักพิมพ์อื่นเริ่มเดินตามในแนวเดียวกัน ซึ่งวันหนึ่งมันอาจจะมีจุดอิ่มตัว”

ระหว่างทางที่ผ่านมามีวาทะกรรมมากมายเกี่ยวกับหนังสือและวัฒนธรรมการอ่านของไทย รวมถึงเรื่อง “ราคาของหนังสือ” โดยเฉพาะที่บอกว่า “หนังสือแพงคนเลยไม่ซื้อและไม่อ่าน” อำนาจไม่เห็นด้วยเสียทีเดียว

 

“อาจจะสรุปแบบนั้นไม่ได้ทั้งหมด อาจจะมีปัจจัยอื่นประกอบมากมาย ที่ผ่านมามีคนทำหนังสือพยายามจะแก้โจทย์โดยทำหนังสือถูก แต่ก็ยังขายไม่ได้ เพราะฉะนั้น การทำหนังสือถูกก็ไม่ใช่ประเด็นชี้วัดเสมอไปว่า ถ้าหนังสือราคาถูกแล้วคนจะอ่าน อาจจะต้องไปแก้ที่ว่าทำยังไงให้เขารู้สึกอยากอ่านหนังสือก่อนหรือเปล่า ตอนนี้ราคาหนังสือมันสูง อาจเพราะว่าคนอ่านกันน้อย ปริมาณน้อยจำนวนการผลิตต่อหน่วยก็สูงตาม ทำให้ต้องตั้งราคาสูงไปด้วย แต่ถ้าคนอ่านกันเยอะ ราคาต่อหน่วยก็จะถูก”

 

ทว่าการลดราคากระหน่ำ เช่นในงานหนังสือก็อาจไม่ใช่ทางออกที่เป็นปัจจัยส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านอย่างยั่งยืนเช่นกัน

“บุ๊คแฟร์มีได้ แต่ว่าของไทยมันเป็นงานหนังสือลดราคา ถ้าไม่ลดมันขายไม่ได้ สำหรับธุรกิจหนังสือ สินค้าที่เพิ่งผลิตออกมาสด ๆ ร้อน ๆ แล้วต้องลดราคาเลยถึงจะขายได้ มันแปลกนะ เราไปสร้างตรงนี้ไว้จนทุกคนคาดหวัง”

 

ถ้าหากว่ามีการกำหนดระยะเวลาราคาขายหนังสือออกใหม่ อาจช่วยแวดวงหนังสือได้มาก “Fixed book price คือการกำหนดให้หนังสือใหม่ทุกเล่มไม่ลดราคาภายในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมีหลายประเทศทำ ในไทยขอปีเดียวพอ หนังสือใหม่ทุกเล่มไม่ว่าจะขายในแพลตฟอร์มไหน ราคาเดียวกันหมด ร้านหนังสือก็จะมีทางรอดมากขึ้น สำนักพิมพ์ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งพิมพ์เพื่อเอามาขายลดราคาในงานหนังสือ ถ้าหนังสือไม่ลดราคา แต่ยังขายได้ ก็ไม่ต้องตั้งราคาเผื่อไว้เยอะ หนังสือจะถูกลงมา นักอ่านเองก็จะได้ประโยชน์ ตรงนี้เป็นในเรื่องนโยบาย สมาคมผู้จัดจำหน่ายก็อาจจะยังมีพลังไม่เพียงพอ อาจจะต้องเป็นกฎหมายที่กำหนดลงมา”

การที่ร้านหนังสือร้านหนึ่งจะสามารถเดินทางฝ่าฟันคลื่นลมอุปสรรคมาได้ 2 ทศวรรษ ความมุ่งมั่นตั้งใจของเจ้าของธุรกิจดูจะเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น

 

“คุณทำร้านหนังสือด้วยเป้าหมายแบบไหน คุณมองสิ่งที่คุณทำด้วยคุณค่าอย่างไร ถ้าตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ในรายละเอียดมันมีวิธีดิ้นรนได้ อาจจะอาศัยเวลา อาศัยแรงกายของตัวเองมากหน่อย หลายร้านหนังสืออิสระยืนอยู่ได้ เริ่มต้นจากเจ้าของที่มีความรักความศรัทธาในสิ่งที่เขาทำอยู่ ซึ่งมันจำเป็นสำหรับทุกอาชีพ

 

“ทุกวันนี้มีคนบอกว่า ไม่มีใครเข้าร้านหนังสือกันแล้ว ธุรกิจร้านหนังสือไม่มีอนาคตแล้ว แต่ผมยังยืนยันว่า มันไปได้ การที่อยู่มาได้ 20 กว่าปี ก็พิสูจน์ด้วยตัวของมันเอง

 

“ถ้าใครสักคนอยากจะทำร้านหนังสือ คุณลองไปสอบถามตัวเองดูให้แน่ ๆ ก่อนว่าตั้งใจมากน้อยแค่ไหน มันไม่ใช่อาชีพที่มีมุมน่ารักหรือว่าดูดีไปทุกอย่าง แต่ถ้าคุณรักหนังสือจริง ๆ มันก็เป็นอาชีพที่เติมเต็มชีวิตคุณหลายอย่าง ทำให้คุณมีความสุขที่จะมาทำงานในแต่ละวัน ผมก็ได้หลายอย่างจากร้าน ได้เพื่อน ได้มิตรภาพ ได้ความรู้สึกของคนที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ชอบพอเหมือนกัน อันนี้ไม่รู้ว่ามันเป็นกำไรของอาชีพหรือเปล่า แต่ผมว่าใช่”

 

เช่นนั้นเองทำให้ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไหน ร้านหนังสือเดินทางในฐานะแพลตฟอร์มการสื่อสารหนึ่ง ยังคงจะมุ่งไปข้างหน้า ไม่เพียงในฐานะหน่วยธุรกิจหนึ่ง แต่ยังเป็นการทำหน้าที่สนับสนุนการเดินทางผ่านการอ่าน พร้อมเป็นศูนย์กลางของผู้คน เพาะปลูกความรักในการอ่านให้เบ่งบาน และเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างไม่มีสิ้นสุดอีกด้วย

เครดิตภาพ เฟซบุ๊ก ร้านหนังสือเดินทาง – Passport Bookshop