เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อ อีกภารกิจทลายข้อจำกัดของกองทุนสื่อฯ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดอบรมต้นแบบเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อ  Media Literacy Expert  หรือ MeLEx  โดยหวังให้เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญนี้นำความรู้ไปถ่ายทอดสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนต่อไป  ซึ่งหลักสูตรการอบรมประกอบด้วย หลักสูตรพื้นฐานสื่อ (สถานการณ์สื่อปัจจุบัน) หลักสูตรทักษะการวิเคราะห์สื่อเพื่อการรู้เท่าทัน หลักสูตรกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ

หลังจากเปิดรับสมัครมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมจำนวนมาก และมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมทั้งหมด  60 คน  โดยมีความหลากหลายทั้งอาชีพและอายุ กิจกรรมอบรมจัดทุกวันเสาร์ 4 ครั้ง จำนวน 4 ครั้ง เริ่ม  27 มกราคม  –  17 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีวิทยากร นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายองค์กรมาถ่ายทอดความรู้  พัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลหลักสูตร Media Literacy Expert (MeLEx) ให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้ไว้น่าสนใจ

 
ทลายข้อจำกัดขาดแคลนบุคลากร

“กองทุนสื่อฯ เพิ่งจะมี Project หลักสูตร Media Literacy Expert (MeLEx)  จริงๆเราต้องการจะอบรมเพื่อสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อ pain point ก็คือ กองทุนสื่อฯ พอเริ่มเป็นที่รู้จัก คนก็อยากจะได้ข้อมูล องค์ความรู้ อยากได้คนของกองทุนสื่อฯไปให้ความรู้ ทีนี่คนของเราก็มีค่อนข้างน้อย และเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความรู้เรื่องรู้เท่าทันสื่อมีจำกัด เราก็เลยอยากจะหาคนนอกมา ใครก็ได้ที่มีความรู้เรื่องนี้ และอยากทำประโยชน์ด้านการให้ความรู้ต่อ ก็เป็น Project แรกของกองทุนฯ ที่ทำเฉพาะ เพราะว่าที่ผ่านมาเราแต่เรื่องอบรมผู้ผลิตสื่อและอบรมผู้รับทุน แต่การอบรม Train  The Trainer  ยังไม่เคยทำ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี เปิดไม่ถึงเดือนคนก็สมัครมา 130 กว่าๆ ซึ่งคนที่มาเรียน ต้องมีการยื่นแผนเข้ามาด้วยว่า เมื่ออบรมแล้วต้องมีแผนว่าจะไปทำต่อ เราเน้นคนที่จะเอาใช้ต่อจริง เพราะว่า หลักสูตรที่ให้ความรู้เบื้องต้นเฉยๆเราก็มีเยอะแล้ว แต่เรายังไม่ค่อยมีพาร์ทในส่วน Train  The Trainer  อยากให้เขาไปเป็นตัวคูณของกองทุนฯ”

 
พัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
4 หลักสูตรติวเข้ม

“เรารับ 60 คน เพราะเราอยากได้แบบเน้นๆ และผู้เรียนก็จะได้อะไรจริงจัง เรามี 4 หน่วยการเรียนรู้ อบรม 4  สัปดาห์  สัปดาห์แรกเน้นเรื่องสถานการณ์สื่อและเป็นการละลายพฤติกรรมให้ผู้เรียนได้รู้จักกัน เพราะว่า ต่อไปเขาจะเป็นเครือข่าย เผื่อมีอะไรในกรณีที่กองทุนฯไม่ได้ติดต่อเขาไป แต่เขาสามารถติดต่อกันเอง หรือเขามี Project  อะไร เราก็อยากเปิดพื้นที่ให้เขามีเครือข่ายร่วมกัน 

สัปดาห์ถัดมา เป็นหน่วยการเรียนรู้เรื่องการวิเคราะห์สื่อ  เราได้วิทยากรมาจากสำนักข่าว AFP ก็จะสอนเรื่อง Fact Checking แล้วก็เป็นเรื่องอื่นๆ วิทยากรจาก กสทช.ก็มาสอนด้วย 

สัปดาห์ที่ 3 เป็นเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ จะให้เขารู้ว่า ในฐานะสมมติเป็น User จะทำอย่างไรไม่ให้ละเมิด จะ Comment ยังไง เราก็โฟกัสให้เขาด้วย พยายามรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาทั้งจริยธรรมสื่อ กฎหมายของ กสทช. ทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act)  

สัปดาห์สุดท้ายเป็นเรื่องการสอนและบรรยายลักษณะ Work Shop ให้ความรู้ การทำสื่อ การสอน ทำอย่างไร จิตวิทยาของผู้เรียน ผู้สอนควรมีอย่างไร วิทยากรที่เราเชิญมา เราอาศัยเครือข่ายที่เรามีอยู่ค่อนข้างเยอะไม่ว่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้รับทุน ที่ปรึกษาผู้รับทุน  หน่วยงานที่เราทำ MOU อย่างแพทยสภา ราช วิทยาลัย จักษุ แพทย์ ในพาร์ทวิเคราะห์สื่อ เราก็จะมีหัวข้อพิเศษ เรื่องสื่อกับสุขภาพ เพราะช่วงนี้เรารู้ว่า สื่อที่มีผลกระทบกับคนมากที่สุดก็ เรื่องสุขภาพ 

เราคาดหวังว่าจะได้เครือข่ายที่มีความรู้เรื่องเท่าทันสื่อเพิ่มขึ้น และช่วยขยายต่อยอดเป็นโหนดใหม่ในด้านนี้ให้กองทุนสื่อโดยเฉพาะ ในอนาคตหากเราไม่ได้ใช้คน 60 คนนี้ แต่เขามี Project ที่คิดขึ้นมาต่อยอดเองก็ยินดีเพราะเป้าหมายของกองทุนฯ คือการส่งเสริมให้สังคมมีความรู้เท่าทันสื่อ” พัชรพร ระบุ

 
หวังเครือข่าย MeLEx สร้างการเปลี่ยนแปลง

การอบรมวันแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา หลักสูตรพื้นฐานสื่อ (สถานการณ์สื่อปัจจุบัน)  มี อ.อังคณา พรมรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นวิทยากร ขณะที่ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็ได้ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ สถานการณ์สื่อ ว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของสื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งระบบการสื่อสารและสื่อสารมวลชน เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ก่อให้เกิดสื่อและบริการใหม่ๆ กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการใช้สื่อของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของสื่อเก่าและสื่อใหม่ก็ยังไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้ทั้งหมด เป็นเพียงการเพิ่มบทบาทของสื่อชนิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ทำให้ประชาชนต้องมีการตระหนักรู้ถึงสื่อปลอดภัยและสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ และด้วยวิกฤตจากภัยหลอกลวงออนไลน์สารพัดรูปแบบที่กำลังรุกหนัก  ทำให้ผู้คนโดนหลอกให้เสียหายทั้งทรัพย์สินเงินทอง ความรู้สึก เป็นจำนวนมาก  

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

การจัดการอบรมเครือข่ายผู้รู้เท่าทันสื่อครั้งนี้ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกองทุน ที่จะรณรงค์ส่งเสริมเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ เพราะสื่อที่ส่งผลกระทบเชิงลบ มีมากมายมหาศาล เราจึงคิดว่าควรมีผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนได้อีกทอดหนึ่ง โครงการนี้จึงเป็นการเทรนด์ให้ความรู้ติดอาวุธทางความคิดและทักษะที่จำเป็น  เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาสื่อจริงๆ แล้วหวังว่าจะมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายและนำความรู้ที่ได้ไปสู่ประชาชน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ ป้องกันสื่อร้าย ไม่ให้สร้างความเสียหาย พร้อมกับการเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ดีๆ ไปด้วย

สำหรับการอบรมในสัปดาห์ที่ 2  เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หลักสูตรทักษะการวิเคราะห์สื่อเพื่อการรู้เท่าทัน  มี ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. บรรยายหัวข้อ ทำไมต้องเท่าทัน และทฤษฎีรู้เท่าทันสื่อ ณัฐกร ปลอดดี บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวเอเอฟพี ประเทศไทย บรรยายหัวข้อ แหล่งที่มาของสื่อ และการวิเคราะห์เนื้อหาของสื่อ นพ. ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา / กรรมการแพทยสภา บรรยาย เรื่อง สื่อกับสุขภาพร่างกาย ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ กรรมการแพทยสภา บรรยายเรื่อง สื่อกับสุขภาพจิต

ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรและขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้องถือว่า กิจกรรมครั้งนี้ของกองทุนสื่อฯ เป็นการทลายข้อจำกัดในเรื่องบุคลากรที่น่านำไปเป็นโมเดลอีกเรื่องนี้ ขณะเดียวกันในแง่ผู้เข้าอบรม ใบประกาศนียบัตรที่ได้รับจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้ลงพื้นที่ได้ขยายผลทำงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้คน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม