เจาะภารกิจ Urban Ally ปลุกกระแส “เมือง 15 นาที”

งานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ ย่านพระนคร 2024 “มิตรบำรุงเมือง-Live” เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ณ ลานกลางแจ้งด้านในอาคาร ศาลาฯ กทม. เสาชิงช้า คือ หนึ่งในกิจกรรมผลิตสื่อนำบนพื้นที่ดำเนินโครงการ “มิตรเมือง 15 นาที กรุงเทพเมืองกี่นาที” ซึ่งสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง (Urban Ally) ได้รับทุนสนับสนุนประเภทยุทธศาสตร์ ปี 2566 จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มี ผศ. ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท ผู้อำนวยการศูนย์ Urban Ally เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

 
แนวคิดพัฒนาเมืองแบบสวนกระแส

“เมือง 15 นาที” หรือ “15 minute city”  หรือ “A quarter-hour city” ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นก่อนช่วงยุคโควิดระบาด  ต้นตำรับแนวคิดเกิดที่ปารีส ฝรั่งเศส ถูกนำเสนอครั้งแรกโดยรองศาสตราจารย์ คาร์ลอส โมเรโน (Carlos Moreno) จากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการให้คนในชุมชน คนในเมืองเดินทางให้น้อยลง โดยคนในชุมชนสามารถเดินทางเข้าถึงสถานที่ต่างๆ เพื่อทำกิจกรรม ไปทำงาน ช้อปปิ้ง พักผ่อน ออกกำลังกาย ติดต่อหน่วยงานต่างๆ ด้วยการเดินเท้าหรือปั่นจักรยานใช้เวลาภายใน 15 นาที หลังจากนั้นแนวคิดนี้ถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้ง โดยคนที่ทำให้แนวคิดนี้ได้รับความสนใจแพร่หลายถึงขนาด UN สนับสนุนให้ทั่วโลกนำไปปฏิบัติคือ แอนน์ ไฮดาลโก (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีเมืองปารีส ซึ่งนำเสนอแนวคิดนี้ผ่านนโยบายการแก้ไขปัญหาในช่วงการเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโควิด ในปี ค.ศ. 2020 เนื่องจากการที่ผู้คนต้องถูกกักตัว กัดบริเวณ และพบว่า พื้นที่ละแวกชุมชนของตัวเองไม่มีสาธารณูปโภคเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีละแวกชุมชนตัวเองเลย 

 
กองทุนสื่อฯหนุน Urban Ally สร้างสื่อเปลี่ยนแปลงเมือง

Urban Ally เป็นหน่วยงานก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2564 ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย โดยหวังให้เป็น “พื้นที่” สื่อสารและสนทนาระหว่าง ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้างกับสาธารณะ เขียนโครงการ “มิตรเมือง 15 นาที กรุงเทพเมืองกี่นาที” นำแนวคิดใหม่ที่ท้าทายนี้มาเสนอขอทุนสนับสนุนจากกองทุนสื่อฯ เพื่อที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเสนอการดำเนินการ สร้างสื่อ 3 รูปแบบ 1. สื่อข้อมูลเมือง 15 นาที  2. สื่อบทความเผยแพร่แนวคิดเมือง 15 นาที และ 3. สื่อนำบนพื้นที่ หรือการจัดกิจกรรมทดลองที่จะสร้างเมือง 15 นาทีให้เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่ง กองทุนสื่อฯ อนุมัติ ตามทิศทางปรัชญาขององค์กรที่จะสนับสนุน “สื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม”

“โครงการนี้สำหรับผม มัน ว้าว เป็นนวัตกรรมจริงๆ เป็นวิธีคิดใหม่ เป็นไอเดียใหม่ๆ ในประเทศไทยใหม่จริง ในต่างประเทศการจัดการแบบนี้มีหลายประเทศที่เป็นต้นแบบ ตอนนี้โครงการยังไม่จบ ทำไปเกือบๆ ครึ่งทาง ซึ่งก็จะทำไปด้วย เปิดตัวโครงการสร้างการมีส่วนร่วมไปด้วย จัดนิทรรศการ ระดมคนมาดูสิว่า จัดแบบนี้แล้ว การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนเป็นอย่างไร เราอยากเห็น open data แบบนี้ในทุกเขต กทม. อยากให้ทุกคนได้รู้จักสภาพแวดล้อม เชิงพื้นที่ของตนเอง ไม่เพียงแต่บริการขั้นพื้นฐาน สภาพแวด ล้อม หรือคุณภาพของชุมชน ศักยภาพของชุมชน” ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าว

ผศ. ดร.สิงหนาท ระบุว่า  “การที่เราขับเคลื่อนงานเมืองในรูปแบบนี้ ถือเป็นรูปแบบใหม่ ใหม่มากๆ เลย ปกติเวลาเราออกแบบเมืองเราจะนึกภาพหน่วยงานราชการ การวางผังพัฒนาพื้นที่ แต่อันนี้ผมใช้คำว่า การพัฒนาเมืองแบบสวนกระแส เราทำโปรเจกทดลองชั่วคราว โปรเจกรูปแบบใหม่แบบนี้ แหล่งทุนที่เข้าใจเรายังน้อยมาก  ต้องขอบคุณกองทุนสื่อฯ  จริงๆ ที่เห็นความสำคัญว่า งานแบบนี้ช่วยผลักดันเมืองได้ ถึงจะชั่วคราวแต่สร้างโมเดลสำคัญได้ สร้างตัวอย่าง  สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานก่อนพอเห็นภาพตัวอย่างสามารถนำไปต่อยอดได้ สุดท้ายนโยบายจริงจะเกิดขึ้น นโยบายจาก กทม. จากหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานต่างๆจะเริ่มเข้ามา รูปแบบอนาคตที่เป็นจริงอาจไม่ใช่แบบนี้ก็ได้ แต่เชื่อว่า จะกระตุ้น ช่วยผลักดันได้ เป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกฝ่าย เป็นการเปิดโอกาสให้เราเข้าไปร่วมมือกับหลายฝ่ายได้ ถือเป็นกุญแจสำคัญ” 

 
แพลตฟอร์ม ร่วมสร้างสรรค์-แบ่งปัน

Urban Ally สร้าง แพลตฟอร์ม https://urbanally.org เพื่อนำเสนอข้อมูลเมือง 15 นาที  โดยกำหนดสถานะ Urban Ally เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศอุดมศึกษาแบบพลิกโฉม ที่มีปฏิบัติการทั้งในด้านการคิด (Think Tank) และการทำ (Do Tank) เรียนรู้เรื่องเมืองด้วยแนวคิดใหม่และเดินไปพร้อมกับมิตรเมือง โดยร่วมกันสร้างสรรค์ (Co-Create) และมีข้อมูลแบ่งปัน (Open Data) 

บนแพลตฟอร์ม https://urbanally.org มีข้อมูลที่เป็นงานวิจัย (Urban Lab) อาทิ City Reinventing Laboratory มีนักวิชาการร่วม อาทิ ผศ.ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท ผศ.ดร.พีรยา บุญประสงค์ ผศ.อุมาภรณ์ บุพไชย อ.สิริพร ด่านสกุล ปิยา ลิ้มปิติ ปัณชญา ไกรคุ้ม, Art and Culture Laboratory มีนักวิชาการ อาทิ ผศ. ดร.ประติมา นิ่มเสมอ ผศ. ปองพล ยาศรี อ.สิริเดช วังกรานต์, Sustainable Design Laboratory , Data Thinking Laboratory , Make It Happen Laboratory ข้อมูลของการลงมือทำ (Action) เพื่อสร้างความร่วมมือกับมิตรเมือง เปิดรับข้อเสนอและแนวคิดใหม่ๆ สร้างโอกาสการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม Seminar, Education Workshop, Design Initiatives และ Community Engagement ข้อมูล DATA Art พื้นที่เชิงทดลอง ที่เปิดกว้างให้นักวิจัยได้ทำงานร่วมกับนักออกแบบและศิลปิน เพื่อทดลองนำชุดข้อมูล หรือข้อมูลที่น่าสนในที่เปิดกว้างอยู่ในโลกใบนี้ มาสื่อสารในรูปแบบใหม่  รวมถึงข้อมูล Open Data ซึ่งครั้งหนึ่งในงานเสวนาพระนครอย่างย่อ ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ เปิดเผยว่า เป็นข้อมูลที่ Urban Ally จัดทำอย่างเป็นระบบ มีฐานวิจัยรองรับและเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดการพัฒนา วางผังเมืองเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับภารกิจผลิตสื่อบทความเผยแพร่แนวคิดเมือง 15 นาที ผู้ดำเนินโครงการนำเสนอผ่าน แพลตฟอร์ม https://urbanally.org ซึ่งปัจจุบันมีบทความน่าสนใจ อาทิ  มิตรบำรุงเมือง Everyday-Life History เขียนโดย ผศ.ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท บทความ How Many Minute District: ย่านไหนในกรุงเทพมหานครที่มีศักยภาพสู่การพัฒนาเป็นเมือง 15 นาที เขียนโดย พลวัฒน์ เกตุจินากูล เป็นต้น

 
“มิตรบำรุงเมือง-Live” บททดลองเมือง 15 นาที

สุดท้าย การสร้างสื่อนำบนพื้นที่ หรือการจัดกิจกรรมทดลองที่จะสร้างเมือง 15 นาทีให้เกิดขึ้นจริงๆ มีการดำเนินการแสวงหาภาคีเพิ่มเติม โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ ย่านพระนคร 2024 “มิตรบำรุงเมือง-Live” ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567  โดยประสานความร่วมมือกับ กทม.ในการใช้พื้นที่ ศาลาฯ กทม. เพื่อที่จะเป็นโมเดลสำคัญในการบอกว่า  พื้นที่ราชการเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มเมือง 15 นาทีได้ 

“ศาลากทม.มีคอร์ทกลางด้านหน้าไม่มีใครเข้ามาก็เปิดทางทะลุ 2 ด้านให้คนเดินทะลุได้  จากข้อมูลเมืองย่านพระนครเป็นเมืองกินดี ขายดี ทำงานดี แต่อย่างอื่นไม่ดี ไม่มีที่นั่งเล่น ไม่มีที่พักผ่อน ไม่มีที่เรียนรู้ ไม่มีพื้นที่ขายของสร้างสรรค์ต่างๆ รวมไปถึงกิจกรรมออกกำลังกาย ดังนั้นจึงสร้าง People Pavilion ขึ้นมา เป็นพื้นที่พลเมือง มีที่นั่งเล่น จัดการแสดง มีตลาดนัดสินค้า ตลาดนัดสร้างสรรค์ มีการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาออกแบบใหม่ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นพื้นที่พักผ่อน ประเด็นสำคัญส่วนหนึ่งไม่ได้เจาะเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เราต้องการดึงคนสูงอายุแถวนี้เข้ามาใช้งานด้วย ให้เป็นพื้นที่ชองชุมชนจริงๆ ในละแวกนี้  Urban Ally เป็น Host ในการจัดงาน Bangkok Design Week แล้วโครงการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งเพื่อเก็บข้อมูลประเมินผลโครงการ ผมเชื่อว่าจะเป็นต้นแบบให้ กทม. หรือแม้แต่หน่วยราชการอื่น เริ่มเห็นว่า ตัวเองสามารถมีส่วนสร้างเมืองและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ เป็นมิตรกับคนมากขึ้น สถานที่ราชการหลายแห่งไม่เป็นมิตรกับคนเท่าไหร่ เป็นอาคารปิดล้อม มียามเฝ้าด้านหน้า อย่างวันนี้น่ารักมาก พี่ยามจากเดิมหน้าตาขึงขัง วันนี้เป็นมิตรมาก” ผศ. ดร.สิงหนาท ระบุ

กิจกรรม “มิตรบำรุงเมือง-Live” ยังได้จัดเส้นทางให้ผู้สนใจเดินชมผลงาน Architectural Lighting and Projection Mapping ตลอดจนการแสดงผลงานจากศิลปินหลากหลายทั้งในพื้นที่ป้อมมหากาฬ และอาคารเก่าของประปาแม้นศรี 

ผู้อำนวยการศูนย์ Urban Ally ย้ำว่า เมือง 15 นาทีจุดมุ่งหมายไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยว จุดมุ่งหมายคือคนอยู่อาศัย ให้น่าอยู่ก่อนแล้วการท่องเที่ยวจะตามมาเอง

 
สรุป

แนวคิดชุดใหม่ในการพัฒนาเมืองที่กำลังทดลองกันอยู่นี้ หลายคนยอมรับว่า สวนกระแส และถูกตั้งคำถามว่าจะสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน นั่นคือ สิ่งท้าทาย แน่นอนว่า แม้กระทั่งผู้อำนวยการศูนย์ Urban Ally  ก็ยอมรับไม่สามารถคาดเดาว่าสุดท้ายปลายทางรูปแบบอนาคตที่เป็นจริงจะเป็นแบบไหน แต่การท้าทายนี้จะสร้างโมเดลสำคัญ สร้างตัวอย่าง  สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานและสามารถนำไปต่อยอดในเชิงนโยบายได้