ผู้จัดการกองทุนสื่อฯ มองระบบนิเวศน์สื่อ ปี 67 และความท้าทายของภารกิจ

สภาพแวดล้อมของสื่อที่เป็นสถานการณ์ต่อเนื่อง หลายเรื่องคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่อีกหลายเรื่องก็ยังเป็นปัญหาท้าทายต่อภารกิจการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพราะความที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตร เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อาชญากรรมออนไลน์ กลโกงทางโทรศัพท์ เปลี่ยนรูปแบบการเป็นภัยคุกคามต่อประชาชนหลากหลายซับซ้อน  รวมถึงปัญหาสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ ทิศทางสื่อ และภารกิจของกองทุนสื่อฯ ปี 2567 เป็นอย่างไร จะส่งผลต่อวงการ CONTENT CREATOR อย่างไร ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีคำตอบ 

มองทิศทางวงการสื่อปี 2567 ที่จะส่งผลต่อภารกิจของกองทุนสื่อฯ อย่างไร

ภาพรวมปัญหายังไม่ได้แตกต่างไปจากปี 2566 พวก Fake News Misinformation, Disinformation ,Misinformation ยังคงมีอยู่ และขยายตัวมากขึ้น รวมถึงภัยออนไลน์ ภัยไซเบอร์ แต่หลายเรื่องก็ดีขึ้นควบคู่กันไป เช่น สื่อที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง เพลาลงระดับหนึ่งการเผชิญหน้าในโลกออนไลน์ที่ใช้ภาษาสร้างความเกลียดชัง Influencer ที่มีแนวคิดขั้วตรงกันข้ามกันก็คิดว่าไม่ดุเดือดเมื่อเทียบกับ 2 -3 ปีที่ผ่านมา ก็น่าดีใจที่หากเราสามารถทำให้ความขัดแย้งทางความคิด การปะทะ หรือการสื่อสารในโลกออนไลน์ที่เน้นสร้างความเกลียดชังเป็นหลัก ถ้าสามารถทำให้ลดลงไปได้เรื่อยๆ ก็เป็นจะเป็นผลดีมาก ซึ่งเป็นความต่อเนื่องของเรา  เรื่อง Media Literacy หรือ Digital Literacy ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง วันนี้คนพูดถึงมากขึ้น เข้าใจ เรียนรู้ เท่าทันมากขึ้น แต่ว่า การยังเชื่ออะไรง่ายๆ แชร์เร็วๆ ยังมีอยู่ไม่น้อย ดังนั้นจึงยังวัดยากว่า ปัญหาลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญหรือเปล่า 

ถ้าเรามองภาพรวมภารกิจในการสร้างกิจกรรมรณรงค์ทางสังคม ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆที่จะมาปลุกผู้คน ประชาคมต่างๆที่จะตระหนักในปัญหาของข้อมูลที่เป็นพิษเป็นภัยสร้างปัญหา สร้างความขัดแย้ง หรือนำไปสู่การหลอกลวง เหล่านี้เป็นมลภาวะที่เป็นพิษทางสังคมทั้งสิ้น อันนี้เชื่อว่า ระบบนิเวศน์ของสื่อดูไม่ตกขอบตกขั้วไปทางใดทางหนึ่ง 

ในมุมของคนที่สร้างคอนเทนต์ เดี๋ยวนี้มีคอนเทนต์ดีๆ มากขึ้น มีการแชร์คลิปที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือกระตุกให้คิดไม่ว่าจะคลิปในประเทศ ต่างประเทศที่สะท้อนความกตัญญู หรือการดูแลปฏิบัติต่อกันของคนแต่ละรุ่นก็มีมากขึ้นทั้งในแง่องค์กรและปัจเจกบุคคล

สื่อที่ทำให้คนเล็กคนน้อยมีโอกาสเกิดทำให้ผู้ผลิตรายเล็กๆได้สร้างงานที่เซอร์ไพร์ส หรือช็อกความรู้สึกคน หรือประสบความสำเร็จค่อนข้างยิ่งใหญ่ ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนอาจมีความหวังน้อย แต่วันนี้พอบริษัทที่อยู่ต่างจังหวัดทำหนังต้นทุนสิบกว่าล้าน อย่างสัปเหร่อ ผมเชื่อว่า ทำให้คนธรรมดา คนที่ทำในสิ่งที่ตนเองรัก ทำหนังคุณภาพอาจไม่ดี ภาพไม่ดี แต่มีสาระ มีพลัง มีกำลังใจมากขึ้น และจะสามารถไปปลุกกระแส ถ้าเราในฐานะภาครัฐ ถ้าจะสามารถไปเป็นส่วนหนึ่งในการ Empower และทำให้เกิดมากขึ้น 

 
นโยบาย Soft Power ของรัฐบาลส่งผลอย่างไรกับกองทุนสื่อฯ

ถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่รัฐบาลจะต้องลงทุน สนับสนุนการสร้างสื่อที่สามารถสร้างผลกระทบทางสังคม จริงๆ Soft Power ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องทำให้หนังเรื่องนี้ต้องให้คนเข้ามาเที่ยวประเทศไทย สินค้าไทย ขายได้ แหล่งท่องเที่ยวดังไปทั่วโลก อันนั้นเป็นด้านหนึ่ง แต่ด้านสังคม ทำหนังสักเรื่องให้คนมีความรู้สึกว่าเรื่องนี้เราจะไม่ทำอีกแล้ว เช่น การหยุดรถให้คนข้ามถนนไม่ว่าจะมีทางม้าลายหรือไม่มี ให้ทุกคนรู้สึกว่า ถึงเวลาต้องมีพฤติกรรมบางอย่าง เพราะฉะนั้นเวลาลงทุนอย่าคิดถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แน่นอนว่า สำคัญ แต่ผลตอบแทนทางสังคม บางทีคิดเป็นตัวเงินไม่ได้ แต่จำเป็น

เมื่อเรายอมรับว่าสื่อมีความสำคัญ สร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่ไพศาลได้ ก็ต้องไม่ลังเลที่จะสนับสนุน เอาเข้าจริงเงิน 4-500 ล้าน เล็กน้อยมากสำหรับการขับเคลื่อนสังคมทั้งสังคม ดีใจและเอาใจช่วยนโยบาย Soft Power ทำไปเถอะ เป็นอย่างไรค่อยว่ากัน แต่ต้องลงเงินไปให้เห็น สร้างกิจกรรมให้เกิด และต้องทำควบคู่กันไปคือ พอคนตื่นตัว กระตือรือร้นอยากเป็น Content Creator แล้วหน่วยงานไหนรองรับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผู้ประกอบการ ผู้ผลิตหน้าใหม่ ก็ต้องมาคุยกัน กองทุนสื่อฯ อาจเชี่ยวชาญเรื่องการผลิตสื่อ หน่วยงานอื่นอาจเชี่ยวชาญเรื่องฝึกอบรม แล้วยังไงต่อ มีหน่วยงานที่สนับสนุนการสร้าง Start up ได้ไหม เขาสามารถทำแผนธุรกิจได้แล้ว  อยากทำธุรกิจสื่อ อยากทำหนังไปขาย การต่อยอดไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่ใช่รัฐกระตุ้นแล้วจะเกิดมรรคผลสำเร็จในชั่วข้ามคืน ต้องอาศัยกระบวนการ ระยะเวลา อันไหนรัฐทำได้ดีก็ทำไป อันไหนให้เอกชนก็ให้เอกชน รัฐเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เตรียมความพร้อมก็รีบทำ การเริ่มจากต้นน้ำ เช่น การสร้างคน พอสร้างแล้วจะให้เขาไปไหนต่อ ต้องคิดครบ Loop การขยับของรัฐที่เป็นนโยบายระดับชาติก็จะส่งผลสะเทือนไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่จะต้องขยับตาม กองทุนสื่อฯ ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่พร้อมจะขยับตาม เราอยากมีส่วนร่วมในการบ่มเพาะสร้างผู้ผลิต อยากมีส่วนในการทำเรื่อง Co-working Space เราเป็นหน่วยงานที่สามารถสนับสนุน

 

การเซ็นเซอร์ การใช้ระบบ Rating ที่จะปล่อยมากขึ้น เช่น เรื่องเพศ ศาสนา กระทบกับกองทุนสื่อฯ อย่างไร

เราถึงต้องแสดงจุดยืน กองทุนสื่อฯ จะล้ำเส้นเรื่องพวกนี้ไม่ได้ กองทุนสื่อฯ ต้องยืนหยัดในความเป็นสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถ้าเราทำคอนเทนต์เพื่อขาย ของเราเรื่องต้องสนุก แต่ต้องไม่มีประเด็นเรื่องเพศ ภาษาความรุนแรง ลามกอนาจาร หรือขัดความสงบเรียบร้อย ถามว่า เป็นอุปสรรคไหม จริงๆแทบไม่เป็นอุปสรรคเลยถ้าเรามีครีเอทีฟที่เก่งๆ มีคนเขียนบท ทำการบ้านมีความรู้ลึก ไม่จำเป็นต้องขายอะไรที่ฉาบฉวย  กองทุนสื่อแทบไม่ต้องปรับตัวอะไร แต่ต้องยืนให้ชัดว่า  คอนเทนต์ที่กองทุนสื่อฯจะให้การสนับสนุนมันต้องปลอดภัย ไม่ใช่สร้างสรรค์อย่างเดียว อันนี้ยิ่งชัดจะทำให้แยกกันชัดเจน คอนเทนต์ ทั่วไปก็ใช้ระบบ  Rating จับ มันดีต่างหากที่กองทุนสื่อรักษาเงื่อนไขนี้ไว้ เพื่อจะได้เป็นแหล่งพึ่งพิงว่าอย่างน้อยที่สุด คอนเทนต์  ที่กองทุนสื่อฯ สนับสนุนดูแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัย

 
การเข้ามาของ AI กองทุนสื่อฯปรับตัวอย่างไร

ปรับมาก เราใช้วิธี หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง เมื่อ AI สร้าง Fake News ก็ต้องเอา AI มาตรวจจับ Fake News นี่คือสิ่งที่เราคิด เราไม่มีทางที่จะเอามนุษย์ไปตาม AI ก็ต้องพัฒนา AI ที่จะให้เป็น Checker ตรวจจับ เราปฏิเสธความล้ำของเทคโนโลยีไม่ได้ แต่เราใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้