ฟังเทศน์ทอล์ก “สุขด้วยธรรม” เมื่อเห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดกิจกรรมพุทธรรมนำสื่อ สร้างสันติสุข ปี 2 ในวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งของงานดังกล่าวคือกิจกรรมเทศน์ทอล์กในหัวข้อ “สุขด้วยธรรม”  โดย พระสุธีวชิรปฏิภาณ (วีรพล วีรญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, คุณวนิ อินพุทธ TikToker คนรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าธรรมะเป็นเรื่องของคนทุกวัย ดำเนินรายการโดย คุณอรอุมา เกษตรพืชผล 

 
จุดตัดชีวิตที่ทุกคนต้องเจอ

เส้นทางชีวิตของวิทยากรทั้งสองพบเจอทางแยกต่างกัน พระสุธีฯ หรือท่านเจ้าคุณวีรพล บวชเรียนมาตั้งแต่อายุ 12 และอยู่ในเส้นทางธรรมมาตลอด 30 ปี เจริญในทางธรรมจนได้สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ

พระสุธีวชิรปฏิภาณ (วีรพล วีรญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ขณะที่น้องวนิ มีคุณแม่เป็นสายบุญได้เข้าวัดตั้งแต่เด็กๆ คุ้นเคยกับพุทธศาสนาในแง่พิธีกรรม แต่ก็ไม่ได้เข้าถึงมากนัก เพราะเธอมองว่าเอามาใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ พอเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น ช่วงอายุไล่ๆ กับที่ท่านเจ้าคุณวีรพลออกบวช แต่เธอกลับหนีออกจากบ้าน!

จุดตัดของชีวิตเด็กทุนเรียนดีอย่างวนิ เริ่มจากมีแฟน ออกเที่ยวกลางคืน มีเรื่องตบตีกับเพื่อนที่โรงเรียน จนถึงวันที่เดินออกจากบ้านและรั้วโรงเรียนไปเป็นเด็กเร่ร่อน ใช้สารเสพติด ชีวิตดำดิ่งลงสู่ด้านมืด

หลายปีของการเป็นเด็กเร่ร่อน เธอพบเจอความเลวร้ายของชีวิตอย่างสุดจะบรรยาย สุดท้ายจึงตัดสินใจกลับบ้าน ภาพแรกที่เห็นคือแม่ร้องไห้เมื่อเห็นสภาพเนื้อตัวของเธอ

 ร่างกายที่ผุพังยังไม่เท่าหัวใจที่แตกสลาย เพราะแม้บ้านคือพื้นที่ปลอดภัย แต่เธอก็ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าจนอยากจบชีวิต กล่าวโทษทุกอย่างที่ขวางหน้า การทำงานในสังคมกลางคืนทำให้ถูกกระทบกับคำพูดด้อยค่าจากคนอื่น เมื่อจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้เธอจึงตกอยู่ในหลุมดำ และมีสถานะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวตั้งแต่วัยเพียง 17 ปี 

จนถึงวัย 20 ปีต้นๆ วนิเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตเรื่องทางดับทุกข์ ไม่ใช่การวิ่งหาความสุขเหมือนที่ผ่านมา แล้วคำว่า “นิพพาน” ก็ผุดขึ้นมาในหัวทั้งที่ไม่เข้าใจความหมายของคำนี้ด้วยซ้ำ แต่คำๆ นี้ก็ดึงดูดให้เธอแสวงหาหนทางที่จะหลุดพ้นจากบ่วงทุกข์ให้ได้

 
คุณวนิ อินพุทธ TikToker
เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

ท่านเจ้าคุณวีรพล อธิบายว่าสถานการณ์ของวนิ นับว่าเป็นภาวะ “ดื้อจนดี” เพราะสามารถกลับมามองเห็นคุณค่าตนเอง แต่มีอีกหลายคนที่ “ดื้อจนด้อย” เพราะบริหารจัดการความทุกข์ไม่ได้ คนส่วนใหญ่จึงมักหนีทุกข์ บางคนเข้าใจว่าบวชเป็นพระแล้วไม่มีความทุกข์ แต่ความจริงนั้นทั้งพระหรือฆราวาส ก็ล้วนต้องเผชิญสุขและทุกข์ไม่ต่างกัน สิ่งสำคัญคือควรมีท่าทีที่ถูกต้องต่อความทุกข์ต่างหาก

ท่านยกตัวอย่างว่า เมื่อใดที่ท้อใจท่านก็จะหายใจลึกๆ แล้วนึกถึงหน้าโยมแม่ และข้อธรรมะที่ได้ศึกษาปฏิบัติมา มีคำเตือน คำสอนของครูบาอาจารย์ไว้ยึดเหนี่ยว 

“ความทุกข์เหมือนนาฬิกาปลุกที่ช่วยให้รู้สึกตัวตื่นได้เสมอ ทำให้เข้าใจความเป็นมนุษย์ ที่ต้องมีสิ่งมากระทบกระเทือน บางคนอายุล่วงไปเยอะแล้วก็ยังไม่เข้าใจธรรมดาของชีวิตข้อนี้ ยังคงเพ่งโทษบาปบุญ มีแต่คำถามว่าทำไมต้องมาลงที่ฉัน เมื่อไรจะหมดเวรหมดกรรม พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราจัดการความทุกข์ คนจะพ้นความทุกข์ได้ด้วยความเพียรพยายาม ต้องฝืน ต้องฝึกใจให้หนักแน่น” ท่านเจ้าคุณวีรพลอธิบาย

ท่านขยายความว่า ในทางพุทธศาสนาทุกคนสามารถฝึกตนให้เป็นคนดี เป็นผู้ประเสริฐได้ โดยใช้ความทุกข์เป็นเครื่องมือฝึกความเป็นคน ฝึกความรู้สึกตัว หันมาดูใจตนเอง บางคนชีวิตสุขสบายแต่กลับเป็นทุกข์ เพราะชอบขังความทุกข์เอาไว้ เจ็บปวดกับเรื่องเดิมๆ ดังนั้นควรเททิ้งความทุกข์ให้เป็นปุ๋ยของชีวิต 

ไม่เพียงแต่ไม่ยึดติดกับความทุกข์ แต่ท่านสอนว่าไม่ควรยึดอะไรไว้เลย เพราะแม้แต่ร่างกายก็เหมือนบ้านเช่าชั่วคราว ที่สุดท้ายมนุษย์ก็ต้องคืนให้กับธรรมชาติ จึงควรเป็นผู้อาศัยที่ฉลาด พึ่งพาตนเองให้ได้และใช้ร่างกายเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น และฝากคาถา 3 ส. เพื่อดับทุกข์ได้แก่ สละ สลัด และสลาย ความทุกข์เก่าและพร้อมเปิดรับความทุกข์ใหม่ ตามหลักการของอริยสัจ 4

 
ปรารถนาความสุขได้ แต่อย่าหนีความทุกข์

วันหนึ่งโอกาสของวนิก็เข้ามา เมื่อเพื่อนของเธอชวนไปศึกษาธรรมะกับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่สอนให้เธอมั่นสร้างกุศลทางใจ มีพระรัตนตรัยเป็นที่ยึดเหนี่ยว เริ่มจากมีสัมมาทิฐิ คือ มีความคิดที่ถูกต้อง ถูกครรลองครองธรรม และฝึกสติในชีวิตประจำวัน

มาถึงวันนี้ วนิเรียนรู้แล้วว่าความทุกข์ก็คือธรรมดาของชีวิตที่อยู่ร่วมด้วยได้ เลิกกล่าวโทษคนอื่น ยอมรับในความไม่รู้และไม่เข้าใจของตนเอง แม้ช่วงแรกจะต้องฝืนใจจนทรมาน แต่สุดท้ายก็ละวางได้ 

เธอเปลี่ยนบทบาทมาเป็น Tiktoker ที่มุ่งนำเสนอความประเสริฐของพระรัตนตรัย จากสิ่งที่ เธอได้เรียนรู้และอยากส่งต่อไปสู่สาธารณะ โดยใช้ความผิดพลาดในอดีตสร้างโอกาสและความรู้ไปสู่ผู้อื่น 

 
สื่อควรเป็นกัลยาณมิตรของมวลชน

ท่านเจ้าคุณมองว่ากรณีของวนิ นับว่ามีเพื่อนเป็นกัลยาณมิตรที่ดี ชักจูงไปพบเรื่องดีเป็นบันไดขั้นแรก บันไดขั้นที่สองคือได้พบครูอาจารย์ที่ชี้ทางที่ถูกให้ สองสิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ชีวิตบริบูรณ์  ท่านยังทิ้งท้ายถึงการใช้สื่อเป็นที่พึ่งของผู้คนทุกวันนี้ว่า

“สื่อในปัจจุบันมีความรวดเร็ว ทันสมัย เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ขอให้ใช้ชีวิตช้าลงสัก 5 นาที ไม่ต้องเชื่อหรือแชร์ทันที แต่ควรเช็คให้ชัวร์เสียก่อน ถ้าติดตามข่าวด้านเดียวก็เป็นผู้ประมาท แต่หากฉลาดในการใช้สื่อ ก็ควรพิจารณาให้รอบคอบและมีสติ เพื่อไม่เพิ่มขยะสื่อในสังคม” ท่านเจ้าคุณวีรพลกล่าว


โครงการ “สื่อธรรมดี” ในแพลตฟอร์มสื่อต่างๆ จึงเปรียบเหมือนกัลยาณมิตรที่จะนำพาผู้คนในสังคมไปสู่สิ่งยึดเหนี่ยวที่ปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนใจจนอาจหวั่นไหวหวาดกลัว วันนี้คลังแห่งปัญญา Big Data สำหรับผู้แสวงหาแสงสว่างแห่งธรรม สามารถพาตัวเองเข้าสู่เส้นทางนี้ได้ง่ายในรูปแบบ Virtual Exhibition เพียงสัมผัสด้วยปลายนิ้ว ผ่านช่องทางลิงก์นี้ 

 

https://xn--12cco0digaib8b5abewafac6kaccd5dyftae5d3duav41cfb3j.com/?openExternalBrowser=1&fbclid=IwAR1KZ3QcwGVbuK8RQjbfEsxfiZ8GgvJbFrjsQXVPJ3fP7OoX7k9RYZL451o