Generative Ai สมรภูมิแข่งขันยุคใหม่ คนทำงานสื่อ

“คุณคิดว่าภาพใดใน 4 ภาพนี้ สร้างขึ้นด้วย Ai”

คุณพงษ์ปิติ ผาสุขยืด เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งภาพทั้ง 4 บนจอดูสวยงามสมจริงไร้ที่ติ ดังนั้นคำตอบจากผู้เข้าร่วมอบรมจึงหลากหลาย แต่สุดท้ายเขาก็เฉลยว่า “ทุกภาพล้วนเป็นฝีมือ Ai”

คุณพงษ์ปิติ ผาสุขยืด คือผู้ก่อตั้ง Founder of Ad Addict ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่ให้ข้อมูลข่าวสารด้านโฆษณา และมาร่วมเป็นวิทยากรให้มุมมองนักการตลาดต่อการเข้ามาของ Ai ในธุรกิจสื่อ ในหัวข้อ “AI กับ Data-driven เตรียมความพร้อมทุกการแข่งขัน ด้วย Generative Ai” ในงาน “Bridging Humanity and AI : จะเป็นอย่างไร เมื่อมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ร่วมมือกันสร้างสรรค์สื่อ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาวิชาการเชิงนวัตกรรม (Think Tank) เพื่อยกระดับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปี 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12-13 ธันวาคมที่ผ่านมา

คุณพงษ์ปิติ ผาสุขยืด ผู้ก่อตั้ง Founder of Ad Addict

หลังจากเฉลยที่มาของภาพตัวอย่าง เขาได้ท้าวความไปถึงเหตุการณ์ในปี 2016 ที่ Ai เอาชนะแชมป์เล่นหมากล้อมระดับโลกได้ มาถึงยุคที่โซเชียลมีเดียอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้ Ai เข้ามาในพื้นที่ชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นผู้ตรวจจับพฤติกรรมและเลือกให้มนุษย์รับรู้ข้อมูลตามความสนใจของตนเอง  ดังนั้น Ai จึงอยู่รอบตัวมนุษย์อย่างหลีกหนีไม่ได้

“ทุกวันนี้เป็นยุคของ Generative Ai ซึ่งมีหลักการง่ายๆ โดยการใส่คำสั่ง หรือ prompt เข้าไป  Ai ก็จะประมวลผลจากข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาล แล้วส่งคำตอบออกมาตามประเภทของ Genarative Ai ที่เลือกใช้งาน เช่น ข้อความ รูปภาพ ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือการเกิดขึ้นของ ChatGPT” คุณพงษ์ปิติ กล่าว

เขามองว่าการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ ChatGPT ที่มีผู้ใช้งานนับล้านคนภายในเวลาไม่ถึง 5 วัน ทำให้ Generative Ai กลายเป็นเรื่องสาธารณะไม่ใช่เฉพาะคนในวงการสื่อเท่านั้น นอกจากนี้ยังมี Generative Ai อีกหลายชนิดที่เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งสามารถสร้างได้ทั้งภาพ, วิดีโอ, ภาพ 3 มิติ, งานวิจัย, เขียน CODE โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีหรือหลัก “วินาที” เท่านั้น 

“ปัจจุบันมี Generative AI กว่า 5,600 ชนิด ซึ่งหากเทียบกับช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนหน้าที่มีเพียงหลัก 3,000 กว่าชนิด ต้องถือว่าเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งตอบสนองความต้องการของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กระบวนการ 3 ขั้นตอนได้แก่ ตั้งต้น ต่อยอด และตรวจสอบ” 

ในขั้น “ตั้งต้น” Generative AI สามารถ “คิดชื่อ” ร้านค้าตามการใส่ข้อมูลเฉพาะลงไป ขั้นตอน “ต่อยอด” สามารถออกแบบหรือช่วยวาดรูป เช่น โลโก้ของร้านได้อย่างสวยงาม เพียงแค่ร่างแบบคร่าวๆ และใส่ข้อมูลคำสั่งลงไป จึงช่วยทลายข้อจำกัดของผู้ที่ไม่ถนัดงานวาดภาพได้ และในขั้นตอน “ตรวจสอบ” Generative AI ช่วยตรวจสอบการใช้คำศัพท์และหลักไวยากรณ์ภาษาในจดหมายหรือบทความภาษาต่างประเทศให้ถูกต้องได้ 

“เฉพาะ ChatGPT อย่างเดียวก็สามารถทำงานได้หลากหลายภายในเวลาไม่กี่นาที เช่น ร่างจดหมายอย่างเป็นทางการ เขียนบทความ เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่งนิทาน แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว สอนภาษา รวมถึงอธิบายเรื่องยากๆ ได้” คำอธิบายของเขาทำให้เห็นความครบเครื่องของ Generative AI ที่ทำงานแทนมนุษย์ได้หลายตำแหน่ง ทั้งเลขานุการ โปรแกรมเมอร์ นักเขียน และอีกมากมายภายใต้โปรแกรมชนิดเดียว ซึ่งช่วยลดการจ้างงานได้มากมาย

 
Generative AI ทำให้คนตกงานได้จริงหรือ?

“การเข้ามาของ AI เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นคนที่ใช้งาน AI ไม่เป็นก็มีความเสี่ยงจะตกงาน แต่คนที่ใช้ AI ทำงานอย่างเดียวก็เสี่ยงจะตกงานได้เช่นกัน” 

ที่เป็นอย่างนี้คุณพงษ์ปิติขยายความว่า เพราะข้อมูลต่างๆ ของ AI มีโอกาสผิดพลาดได้ รวมถึงยังมีความเสี่ยงที่ข้อมูลรั่วไหลอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่รายหนึ่งมาก่อน

นอกจากนี้เขายังแนะนำ Generative AI ที่เหมาะกับคนทำงานด้านสื่อเพื่อพัฒนาตนเองและ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันในขั้นตอนเตรียมการผลิต หรือ Pre Production ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล กำหนดกลยุทธ์ วางแผนการทำงาน ออกแบบงาน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ จัดสรรงบประมาณ และนำเสนองาน ด้วยเครื่องมือ 5 ชนิด ได้แก่

1. ChatPDF ซึ่งช่วยจัดการข้อมูลในไฟล์ PDF ตั้งต้น ตามคำสั่งผู้ใช้งาน เช่น สรุปเนื้อหา จับใจความสำคัญ ขยายความ จึงช่วยประหยัดเวลาในการอ่านข้อมูลจำนวนมาก

2. Transkriptor ช่วยแปลงไฟล์เสียงเป็นข้อความ เหมาะกับงานสัมภาษณ์ที่ต้องถอดข้อความเสียงเป็นตัวหนังสือ เช่น งานวิจัย บทความ

3.Adobe Firefly ช่วยสร้างภาพ ตกแต่งรูปภาพ ออกแบบตัวอักษร

4. Gramma ช่วยสร้าง Presentation ได้อย่างสวยงามตามคำสั่งในเวลาเพียงไม่กี่นาที และยังสามารถคุยสื่อสารกับผู้ออกคำสั่งเพื่อให้ได้งานที่ตรงความต้องการที่สุด

5. ChatGPT Plus ซึ่งยกระดับจาก ChatGPT โดยเพิ่มเหตุผลประกอบการอธิบาย ให้ข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึก และนำข้อมูลไปทำภาพประกอบอย่างสวยงาม ไปถึงขั้นสร้าง storybroard และ สร้าง QR code ได้

 
5 คำแนะนำให้คนทำงานอยู่ร่วมกับ Generative AI

คุณพงษ์ปิติ ทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำสำหรับคนทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกแทนที่ด้วย Generative AI ไว้ดังนี้ 

1. ให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมาย เพราะแม้เทคโนโลยีจะล้ำหน้า แต่พื้นฐานสำคัญของการทำงานคือการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วจึงใช้ AI เพื่อเป็นเครื่องมือต่อยอดการทำงาน

2. จินตนาการ เพราะเป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถแข่งขันกับมนุษย์ได้

3. ตรวจสอบข้อมูล เพื่อความถูกต้องและป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์

4. เรียนรู้ตลอดเวลา เพราะ Generative AI ไม่เคยหยุดพัฒนาและมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วทุกขณะ จึงต้องตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน

5. ทดลองไปเรื่อย เพราะไม่มี AI ที่ดีที่สุด แต่มีสิ่งที่เหมาะสมกับการใช้งานที่สุด

 

เมื่อ AI เข้ามามีบทบาทในพื้นที่สื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนทำงานสื่อต้องเตรียมความพร้อมทุกการแข่งขัน โดยการเปิดใจเรียนรู้ให้ Generative Ai เข้ามาเป็นผู้ช่วยการทำงานแทนการถูกแทนที่ด้วย AI