สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม” กับภารกิจนำผลงานกองทุนสื่อฯ แปรคุณค่าเป็นมูลค่า

ก่อนหน้านี้  Media Trust Thailand  สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ธนกร ศรีสุขใส  ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ทำให้ทราบว่า ปีนี้สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปรับโครงสร้างองค์กรโดยเพิ่ม ฝ่ายที่จะรับผิดชอบการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลงานสื่อ ทั้งในส่วนที่ผู้รับทุน และสำนักงานกองทุนฯ ผลิต เป็นการนำผลงานที่มีคุณค่าไปสร้างมูลค่า หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การสร้างรายได้ให้กับเจ้าของ Content เพื่อสร้าง New Economy 

ความเคลื่อนไหวของสำนักงานกองทุนฯ ครั้งนี้  คือ จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ต้องจับตา Media Trust Thailand สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้รักษาการตำแหน่งนี้ไปก่อนในช่วงบุกเบิก 

 
แนวคิดเรื่องการเพิ่มมูลค่าให้กับผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ คืออะไร?

สิ่งนี้เป็นนโยบายเชิงรุกของกองทุนฯ โดยเฉพาะการส่งเสริม soft power ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของกองทุนสื่อฯ เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการสร้างแรงจูงให้คนมาสนใจมิติต่างๆ ของประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมวัฒนธรรมให้คนไทยมีความหวงแหนและเชิดชู และส่งเสริมให้ชาวต่างชาติสนใจอยากมาเรียนรู้ด้วย โดยต้องสื่อสารในมุมที่คนดูและคนฟังสนใจด้วย มีความร่วมสมัยมากขึ้น ตรงกับไลฟ์สไตล์และรูปแบบการบริโภคมากขึ้น โดยไม่ทิ้งปรัชญาสำคัญเรื่องความปลอดภัยและสร้างสรรค์

 
ที่ผ่านมากองทุนฯ มีผลงานด้านละคร หนังสั้น สารคดี หลายชิ้นมีแนวทางเพิ่มมูลค่าให้ผลงานเหล่านี้อย่างไร?

ตอนนี้มีการหารือและหาความร่วมมือเรื่องช่องทางการเผยแพร่เพิ่มขึ้น อย่างล่าสุดเพิ่งลงนาม MOU กับ “การบินไทย” เพื่อนำสารคดีเกี่ยวกับ soft power ไปเผยแพร่บนสายการบิน เพราะแต่วันละจะมีผู้ใช้บริการการบินไทยประมาณ 30,000 คน ก็ประมาณ 400,000 คนต่อเดือน และประมาณ 6,000,000 คนต่อปี การเผยแพร่สารคดีบนเครื่องบินจะทำให้เข้าถึงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีการหารือร่วมกับทางเกาหลีและฮอลลีวูด และตอนนี้ก็มีช่อง TMF Channel เป็นระบบสตรีมมิ่งเพื่อเผยแพร่ผลงานของผู้รับทุน ในอนาคตก็จะมีความร่วมมือกับผู้ให้บริการรายใหญ่ของโลกมากขึ้น

 
ความน่าสนใจของผลงานสื่อที่กองทุนสื่อฯสนับสนุนคืออะไร?

เราเป็นสื่อน้ำใส น้ำดี ที่ดูได้ทุกวัยตรงกับหมวด “ท” หรือ “ทั่วไป” อย่างแท้จริง เพราะทุกวันนี้รายการที่อยู่ในหมวด “ท” ตามช่องโทรทัศน์ต่างๆ ก็ยังมีความรุนแรง ตบตีกัน การนอกใจ จนเป็นเรื่องปกติของสังคม ถ้าอยู่ในต่างประเทศรายการเหล่านี้ต้องจัดอยู่ในหมวด “18+” จะให้เด็กดูไม่ได้ เพราะละครและสื่อเป็นตัวชี้นำสังคม ถ้าอยากให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีความมั่นคง และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ชาติ เราต้องให้สื่อสอนคนให้ไปทิศทางนั้น ในเมื่อช่องทางสื่อเป็นสมบัติของชาติแต่กลับมีเรื่องงมงาย ขยี้ซ้ำเล่าซ้ำเล่า แล้วสังคมได้อะไร เราจึงหวังจะใช้สื่อน้ำดีมาไล่สื่อร้ายๆ ออกไป 

 
สื่อดีที่ไร้มลพิษเหล่านี้ มีความน่าสนใจในแง่ธุรกิจหรือไม่?

ผมเชื่อว่าสื่อดีแค่ไม่มีโอกาส แต่ถ้าเปิดโอกาสให้ก็อาจไปได้ถึงระดับโลก เพราะงานในระดับโลกก็ไม่ได้มีฉากตบดีกัน 

 

สนับสนุนงานในระดับชุมชนหรือไม่?

เราส่งเสริมทุกระดับ งานระดับชุมชนที่บางโครงการเป็นผู้ขอทุนหลักหมื่นก็มี เพราะอยากให้มีผู้ผลิตรายใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น โรงเรียน วัด ชุมชน สมาคม ชมรมต่างๆ ที่ผ่านมาผู้ขอทุนส่วนใหญ่จะเป็นรายย่อย เป็นบุคคลธรรมดา อีกประมาณ 30-40% เป็นระดับองค์กร มีเพียง 6% เท่านั้นที่ให้กับบริษัทใหญ่ ดังนั้นกองทุนพัฒนาสื่อคือกองทุนสำหรับคนตัวเล็กตัวน้อย 

 
แผนต่อยอดสื่อน้ำดีในระดับชุมชนเหล่านี้อย่างไร?

กองทุนสื่อฯ ส่งเสริมให้มีการนำเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาเผยแพร่ มีการประกวดบทความ หรืองานวรรณกรรม เช่น โครงการ 1 อำเภอ 1 เรื่องเล่า โดยประกวดเรื่องสั้น และนำเรื่องสั้นที่ชนะการประกวด เช่น อำเภอพญาเม็งราย จ.เชียงราย หรือเรื่องแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช มาพัฒนาต่อให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม และนำสื่อเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไปเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และสร้างเรื่องราวที่มาจากท้องถิ่นแท้ๆ ไม่ได้มาจากมุมมองของคนนอกพื้นที่ และนำเรื่องราวเหล่านี้มาสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจต่อไปได้”

 
ในปี 2566 นี้มีผลงานเด่นของกองทุนฯ คืออะไร?

ปีนี้เรามีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ ที่ให้ทุนสนับสนุนมากที่สุดของกองทุนสื่อฯ เรื่อง “พระร่วง ราชาผู้ทรงธรรม” กำลังจะเข้าโปรแกรมฉายในโรงภาพยนตร์เร็วๆ นี้ ซึ่งนำเสนอเรื่องคุณธรรมและแฝงเกร็ดประวัติศาสตร์แต่ไม่น่าเบื่อ ส่วนปีหน้าก็จะมีงานที่เกี่ยวกับ Soft Power มากขึ้น และการติดอาวุธความเท่าทันสื่อในมิติต่างๆ และพัฒนาการอบรมเพื่อยกระดับวิชาชีพสื่อให้มากขึ้น

 
สรุป

การสร้างมูลค่าจากคุณค่างาน Content น่าจะเป็นอีกความท้าทายสำหรับภารกิจกองทุนสื่อฯ การเดินก้าวแรกว่ายากแล้ว การรักษาความต่อเนื่องยืนระยะยิ่งยากกว่า อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุด ความกล้าที่จะเริ่ม ต้องนับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่