ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้สัมภาษณ์ประเด็น Soft Power…วิถีพุทธ พลังสื่อสร้างสรรค์เผยแผ่พระพุทธศาสนา ผ่านรายการท่องพุทโธ ดำเนินรายการโดย ชาญเดช บัวหันต์ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 15 ตุลาคม ทาง FM 96.5 MHz.เพื่อตอบประเด็นปัญหากับยุคที่เต็มไปด้วยความท้าทายเกิดวิกฤติศรัทธาพระพุทธศาสนา ชาวพุทธจะช่วยปลุกพลังสื่อสร้างสรรค์ และนวัตกรรมเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร และถ้าพูดถึง Soft Power…วิถีพุทธ นึกถึงอะไร จะช่วยสร้างแรงดึงดูดเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคโลกเปลี่ยนได้แค่ไหน
ดร.ธนกร กล่าวว่า กองทุนมีภารกิจหนึ่งคือการสนับสนุนให้มีการใช้สื่อเพื่อสนับสนุนการเผยแผ่พุทธศาสนา โดยมีการให้ทุนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เอาสื่อไปใช้ในเรื่องพุทธศาสนา เรื่องการสื่อสารที่น่าจะเป็นหัวใจสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนา โดยอาศัยนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ ทั้งเรื่องของรูปแบบและเนื้อหาในการเผยแผ่พุทธศาสนา
“จริง ๆ แล้วพระพุทธเจ้าเป็นสุดยอดนักการสื่อสาร คนที่เรียนด้านการสื่อสารมาจะรู้ว่าโมเดลการสื่อสารมี SMCR คือ มีตัวผู้ส่งสาร ตัวคอนเทนต์ มีช่องทาง มีผู้รับสาร หลัง ๆ ก็มี feedback มีผลกระทบ อะไรเพิ่มขึ้นมาถ้าไปดูในเรื่องประวัติพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเป็นสุดยอดนักการสื่อสารมาก ๆ คือ ข้อแรกเลยคือ วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายก่อน ท่านเลือกผู้รับสาร คือ ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 อันที่ 2 เลือกแมสเสจ หรือคอนเทนต์ ท่านก็เริ่มจากเรื่องใกล้ ๆ ตัวผู้รับสารก่อน คือ เรื่องการพัวพันกับเรื่องของกาม ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรื่องโทษของการบำเพ็ญทุกกรกิริยา ที่เกินพอดี ทำให้คนฟังมีความสนใจสิ่งที่กำลังจะดำเนินต่อไป คือ มัชชิมาปฏิปทา และจบด้วยอริยสัจ 4”
ดร.ธนกร กล่าวว่า การสื่อสารในคำสอนของพุทธศาสนา มีเรื่องของสัมมาวาจา และอยู่ในอีกหลาย ๆ ที่ ของคำสอน แสดงว่าการสื่อสารสำคัญจริงๆ กรณีของกองทุนสื่อฯ เวลาทำเรื่องนี้ ก็เน้นเรื่อง มุสาวาท ซึ่งเป็นด้านที่กลับกับสัมมาวาจา ทุกวันนี้ การพูดความจริงครึ่งเดียวในโลกของข้อมูลข่าวสารมีเยอะมาก เยอะพอ ๆ กับ Fake News เรื่องของ Hate Speech ก็มีเยอะมาก จริง ๆ เมืองไทยน่าจะมีมาตรการบางอย่าง ใช้หลักธรรมอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ภาษาสร้างความเกลียดชัง มันเป็นทุกข์ ทั้งผู้พูดและผู้ที่ได้ยิน ผู้ที่ถูกพูดถึง
“การสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมากตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว เราเป็นคนพุทธ ทำกองทุนสื่อฯ ก็คิดว่าน่าจะมีการปรับปรุง ปฏิรูป เปลี่ยนแปลงวิธีการสอนบางอย่าง เวลาคนไปวัด ตัวอย่าง ไปงานศพ พระสวดบาลี คนฟังไม่เข้าใจ แต่ก็นั่งสงบนิ่ง เพราะอยู่ในช่วงพิธีกรรม บางคนก็เล่นโทรศัพท์ เราไม่รู้เรื่องคำสอนที่พระเทศน์เลย ถ้ามองในวงการสื่อสาร เป็นการสื่อสารที่ไม่ดีเท่าไหร่ แต่จะไปโทษพระก็ไม่ได้ โยมก็ต้องช่วยกัน การสื่อสารทุกอย่างต้องทำให้คนเข้าใจความหมาย สั้น กระชับ”
ดร.ธนกร กล่าวว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาเปิดกว้าง เน้นสันติภาพของโลก ไม่แบ่งแยก ไม่บังคับ ข้อดีก็คือมุ่งเน้นเรื่องของปัญญา เวลาเผยแผ่พุทธศาสนา คนก็จับไม่ได้ว่าหลักที่ควรยึดถือคือตรงไหนกันแน่ คนมักจะเข้าใจว่าธรรมะต้องไปคุยในวัด จริง ๆ ธรรมะอยู่ในทุกหนทุกแห่ง อยู่ในทุกที่ ง่าย ๆ ที่คนเราควรรู้ ถ้าจะสร้างเป็นนวัตกรรมขึ้นมา สำหรับคนทั่วไป ต้องเอาเรื่องสติมา การรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่ทะลักมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะข้อมูลเชิงลบ ทำอย่างไร คนจะสามารถพิจารณาไตร่ตรอง ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ แต่ไม่ใช่ไม่เชื่ออะไรเลย คือให้พิจารณาก่อนเชื่อ การมีสติอยู่กับตัว เราก็จะไม่ถูกหลอก
ดร.ธนกร กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา กองทุนสื่อฯ เริ่มทำแพลตฟอร์ม คล้าย ๆ เป็นแอพพลิเคชั่น เป็น Virtual Exhibition ชื่อว่า “มหกรรมพุทธธรรม นำสื่อสร้างสันติสุข” รวบรวมสื่อทุกประเภทที่เกี่ยวกับการเผยแผ่ธรรมะ สื่อหนังสือ สื่อเสียง สื่อวิดีโอ ซึ่งปีนี้ก็จะจัดอีก ในวันที่ 13-14 ธันวาคม และจะแถลงข่าววันที่ 30 ตุลาคม สำหรับชาวพุทธที่สนใจจะมีช่องทางเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้ เป็น database ซึ่งในอนาคตจะเป็น Soft Power ได้แน่นอน แต่จะต้องทำให้คนจำนวนมากรู้จัก ชื่นชอบ ชื่นชม เข้าถึง ยอมรับ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เชื่อว่าวันหนึ่งคนจะหันมาสนใจพุทธศาสนา อาจจะเป็นคนทั้งโลก ทุกวันนี้ เราก็เห็นว่าพุทธศาสนาไปทุกที่ มีคนจำนวนมากที่สนใจ มาศึกษา
Lดร.ธนกร กล่าวว่า การจะเป็นนวัตกรรมในความหมายที่คนทั่วโลกยอมรับ จำเป็นต้องใช้สื่อ อาจจะเป็นละครชุด ซีรีย์ ที่สะท้อนหรือแฝงหลักธรรมคำสอนแบบเป็นธรรมชาติ แบบเนียน ๆ หรือเป็นจุดหักมุมของมนุษย์คนหนึ่ง ด้วยคำสอนเพียงประโยคเดียว เป็นต้น หรือวันดีคืนดี คนที่เป็น Influencer ระดับโลก เดินทางมาประเทศไทย แล้วกราบพระ และสนทนาธรรม ก็กลายเป็น Soft Power ในชั่วข้ามคืน เพราะมีเครื่องมือ คือสื่อบุคคลที่เป็นที่รู้จักของทั่วโลกอยู่แล้ว ลิซ่าไปไหว้พระที่อยุธยา ก็ช่วยมาก การแต่งกายใส่ผ้าไทย การเข้าไปกราบพระ อย่างน้อยก็เป็นการเชิดชูคุณค่าของโบราณสถาน เชิดชูคุณค่าของพุทธศาสนา ถ้าต่อยอดเรื่องแบบนี้ไปอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้าง Soft Power ในมิติของการเผยแผ่พุทธศาสนาได้อย่างไม่ยาก ทำได้จริง
“การใช้หลักธรรมแฝงในสื่อต่าง ๆ ศาสนาอื่นก็ทำ ศาสนาคริสต์ก็ทำเยอะ ฝั่งตะวันตกจำนวนมากเลยที่สอนเรื่องศาสนาเข้าไป ในอินเดียก็ทำเหมือนกัน เมื่อวานดู Netflix หนังเรื่อง OMG Oh My God สนุก น่ารักดี ก็สอนฮินดูเลย ความเชื่อเรื่องฮินดู เป็นแรงบันดาลใจ การได้รับพลัง พุทธเราก็ทำได้ เป็นการสอนที่เป็นวิทยาศาสตร์จริง ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเอานวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การนำหลักคำสอนไปอยู่ในศิลปิน ไปอยู่ในภาพยนตร์ ในละคร แล้วถ่ายทอดในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตอันหนึ่งของตัวละครหลัก รับรองเลย วันหนึ่งพุทธศาสนาจะเป็นศาสนาของโลก ที่พูดอย่างนี้เพราะโลกเรามีวิกฤติรอบด้าน”
Cookie | Duration | Description |
---|---|---|
cookielawinfo-checkbox-analytics | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Analytics". |
cookielawinfo-checkbox-functional | 11 months | The cookie is set by GDPR cookie consent to record the user consent for the cookies in the category "Functional". |
cookielawinfo-checkbox-necessary | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookies is used to store the user consent for the cookies in the category "Necessary". |
cookielawinfo-checkbox-others | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Other. |
cookielawinfo-checkbox-performance | 11 months | This cookie is set by GDPR Cookie Consent plugin. The cookie is used to store the user consent for the cookies in the category "Performance". |
viewed_cookie_policy | 11 months | The cookie is set by the GDPR Cookie Consent plugin and is used to store whether or not user has consented to the use of cookies. It does not store any personal data. |