โค้งสุดท้าย ตอบชัดๆ คำถามปัญหาของบฯ กองทุนสื่อฯ

เดือนตุลาคมเป็นเดือนที่มีความสำคัญต่อผู้ผลิตสื่อทุกระดับ ตั้งแต่มือสมัครเล่น มืออาชีพ และระดับองค์กร เพราะตลอด 31 วันนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเปิดรับข้อเสนอโครงการผลิตสื่อและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนเงินทุนในการผลิตประจำปี 2567 โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

1.ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป วงเงิน 80 ล้านบาท ให้โอกาสประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และประชาชนทั่วไป สามารถนำเสนอรูปแบบและประเภทสื่อที่ต้องการรับทุนได้อย่างอิสระ

2.ทุนประเภทยุทธศาสตร์ วงเงิน 180 ล้านบาท มอบให้กับกลุ่มองค์กรที่สามารถสร้างสรรค์สื่อที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม เช่น การสร้างมูลเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) และรายการวิทยุโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน ที่ติดปัญหาในการหาผู้สนับสนุนรายการ เป็นต้น

3.ทุนประเภทความร่วมมือ 40 ล้านบาท มุ่งสร้างให้เกิดภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนสังคมสื่อปลอดภัยร่วมกัน

กว่า 8 ปีที่ผ่านมา การสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ผลิตสื่อทุกระดับ ทำให้เกิดระบบนิเวศสื่อที่ดีต่อสังคมไทย นำพาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ซึ่งปีนี้กองทุนฯ จะเน้นที่การสร้างผลลัพธ์ สร้างทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อให้ประชาชน เพื่อรับมือสื่อร้าย ขยายสื่อดี รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างเป็นสุข

 

เปิดคัมภีร์เขียนโครงการขอทุนอย่างไรให้ได้ทุน

หลักในการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนจากกองทุนสื่อ 

ควรมีรายละเอียดว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะทำอะไร มีวัตถุประสงค์อะไร และวิธีการอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่ง Media Trust ได้รวบรวมวิธีการมาฝากดังนี้

Overview ภาพรวมของโครงการ : เขียนให้สั้น กระชับ อ่านแล้วเข้าใจและประทับใจ

Team ผู้ดำเนินงาน : มีน่าเชื่อถือ รู้จริงในสิ่งที่ทำ

Financials รายละเอียดงบประมาณ : มีความคุ้มค่า เหมาะสม สอดคล้องกับคุณภาพของงานที่จะได้รับ

Details รายละเอียดการดำเนินงาน : ครบถ้วน มีความสร้างสรรค์ เป็นไปได้ และ ตอบคำถาม 5W 1H ได้ดังนี้

 

5W 1H 

Who : ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของบุคคลที่อยู่ในโครงการ ทั้งผู้ให้ทุน ผู้ขอทุน ผู้ดำเนินการ และกลุ่มเป้าหมาย

What : มีความชัดเจนของชื่อโครงการ ลักษณะทุนที่ขอ ภาพรวมของงานและผลลัพธ์ที่จะได้

When : กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ หรือ ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

Where : ระบุสถานที่ดำเนินการ หรือช่องทางเผยแพร่

Why : อธิบายความเป็นมา หลักการเหตุผล และวัตถุประสงค์โครงการได้

How : มีรายละเอียดแผนการดำเนินงาน งบประมาณ ตัวชี้วัดความสำเร็จ

 

Q&A ตอบทุกข้อสงสัยให้ความมั่นใจนักสร้างสรรค์สื่อ

เพื่อสร้างความกระจ่างในการเปิดรับข้อเสนอโครงการในเดือนกันยายนที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้มีการจัดเวทีเสวนาออนไลน์ตอบทุกข้อสงสัย  ติวเข้มเตรียมความพร้อมให้กับผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม ประจำปี 2567 ในหัวข้อ “Content Creator Empowerment  เตรียมความพร้อมนักสร้างสื่อ” 

เวทีดังกล่าวได้วิเคราะห์กรณีตัวอย่างและตอบคำถามจากผู้ชมทางเพจ “กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส  ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ นางสาวพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ โดยทั้ง 2 ท่านได้ร่วมตอบคำถามที่ผู้สนใจตั้งกันขึ้นมาชนิดว่า ละเอียดยิบ 

 

Q : กองทุนฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาทางสังคมหรือไม่ ?

ดร.ธนกร : การนำเสนอปัญหาเป็นสิ่งที่กองทุนฯ ต้องการ แต่ต้องมีวิธีมอง วิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ เราเปิดกว้างเรื่องการตีแผ่ปัญหาเพื่อสร้างความตื่นตัว แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นข้อเสนอโครงการที่แหลมคมพอ อย่างเช่นในประเทศอินเดียมีการทำหนังที่สะท้อนปัญหาเรื่องขยะจากบริษัทขนาดใหญ่ จนคนในชุมชนลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องไปสู่นานาชาติ เป็นต้น ดังนั้นกองทุนฯ ไม่ได้ตีกรอบการนำเสนอโครงการ 

 
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Q : การให้ทุนเน้นไปที่บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือไม่?

ดร.ธนกร : อยู่ที่รายละเอียดของข้อเสนอเป็นหลัก โดยเฉพาะทุนประเภทเปิดรับทั่วไป อย่างปีที่แล้วเราตามล่าหาโครงการเพื่อเด็ก แต่จากการกลั่นกรองของคณะกรรมการแล้วพบว่าโครงการที่ดีมีน้อยมาก ดังนั้นอยากเชิญชวนให้ส่งข้อเสนอเข้ามามากๆ เพื่อให้ไปถึงจุดที่พบว่า แต่ละโครงการดีจนไม่รู้จะตัดใครออก

 
Q : กองทุนประเภทความร่วมมือ จำเป็นต้องเป็นหน่วยงานที่เซ็นต์ MOU กับกองทุนฯ เท่านั้นใช่หรือไม่?

ดร.ธนกร  : โดยหลักเกณฑ์กำหนดไว้ 2 ลักษณะคือ เป็นหน่วยงานที่เซ็นต์ MOU หรือ เคยร่วมทำงานกันกับกองทุนฯ ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ทั้งด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วม การเฝ้าระวัง และนวัตกรรม ถ้าคณะใดคณะหนึ่งให้การรับรองว่าเคยทำงานร่วมกัน ก็จะเข้าเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนั้นจึงอยู่ที่ “การทำงานจริง” ร่วมกัน

 
Q : ต้องการขอรับทุนการแปลและผลิตหนังสือประเภท Digital Literacy (ทักษะความรู้ด้านดิจิทัล) ได้หรือไม่

คุณพัชรพร : ไม่มีการจำกัดประเภทของสื่อ หนังสือก็จัดเป็นสื่อประเภทหนึ่ง แต่กองทุนฯ ไม่ได้โฟกัสที่การผลิตสื่อจำนวนมากๆ แต่ต้องตอบโจทย์ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพให้ได้ ดังนั้นหากเป็นการขอทุนเพื่อการแปลหนังสือก็ต้องต่อยอดให้ได้ว่า หนังสือนี้จะเกิดประโยชน์อะไรกับใครเป็นจุดที่สำคัญ และต้องให้อยู่ในนิยามของสื่อที่มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วย หนังสือดังกล่าวเข้าข่ายการสร้างทักษะด้านใด เช่น สร้างคน สร้างคอนเทนต์ สร้างองค์ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน เป็นต้น เรื่อง Digital Literacy ควรครอบคลุมไปถึงการรับมือ ข่าวลวง ข่าวปลอม การสร้างความเกลียดชัง (hate speech) การกลั่นแกล้ง (Bully) ส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

 
นางสาวพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ
Q : หากได้รับทุนจากกองทุนฯ สามารถหาทุนสนับสนุนเพิ่มได้หรือไม่?

ดร.ธนกร : กองทุนไม่มีข้อห้ามในการมีผู้สนับสนุนร่วม แต่ต้องระบุมาให้ชัดเจนตั้งแต่เขียนโครงการมาเสนอ ซึ่งต้องมีเอกสารมายืนยันการร่วมสนับสนุนด้วย เพื่อความชัดเจนในการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

 

Q : สามารถใช้ในกิจกรรมต่างประเทศได้หรือไม่?

ดร.ธนกร   : ต้องดูที่จุดประสงค์การเดินทาง ถ้าเป็นการไปถ่ายทำรายการในต่างประเทศจะเข้าข่ายได้รับการสนับสนุน เพราะเรามุ่งเน้นไปที่ความจำเป็นขั้นพื้นฐานก่อน แต่ถ้าเป็นการส่งผลงานไปประกวดในต่างประเทศ กองทุนฯ ยังไม่มีการสนับสนุนในประเด็นนี้ แต่ในอนาคตก็อาจจะมีการเพิ่มขอบเขตการสนับสนุนได้ เพราะการประกวดผลงานในเวทีนานาชาติก็จะช่วยยกระดับงานสื่อของไทยได้

 
Q : การคัดเลือกโครงการจะพิจารณาจากเอกสารหรือต้องนำเสนอด้วยตนเอง

ดร.ธนกร   : เราตั้งเกณฑ์ไว้ว่าถ้าเป็นโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5 ล้านบาทจะพิจารณาจากเอกสารเป็นหลัก แต่ถ้ามากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะต้องนำเสนอด้วยตนเองเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของผู้เสนอโครงการ ซึ่งการนำเสนอจะให้เวลาเพียง 5 นาที ก็จะโดนเคืองเยอะว่าเวลาน้อยไป ต้องย้ำว่าเราไม่ต้องการรายละเอียดโครงการ แต่หัวใจสำคัญคือการมายืนยันตัวตนของเจ้าของโครงการ  ซึ่งแม้จะมีการตรวจสอบข้อมูลหลังบ้านอยู่แล้ว แต่ก็จำเป็นต้องมาแสดงตัว

คุณพัชรพร : ขอแชร์ประสบการณ์ที่ได้พิจารณาโครงการมาหลายปี ยืนยันว่าเวลา 5 นาทีก็เพียงพอ โดยนำเสนอสิ่งที่ไม่ได้เขียนไว้ในโครงการฯ เพื่อให้กรรมการได้ข้อมูลมากขึ้น ส่วนรายละเอียดโครงการกรรมการจะอ่านจากเอกสารอยู่แล้ว

ดร.ธนกร   : ดังนั้นปิดตำราเล่าให้ฟังได้เลย เพราะ 5 นาทีมีคุณค่ามากที่จะทำให้โครงการได้รับเลือก

 

Q : กรณีสร้างภาพยนตร์ ตัวชี้วัดคืออะไร?

คุณพัชรพร : ตัวชี้วัดจะมีทั้งปริมาณและคุณภาพ ด้านปริมาณวัดได้จากจำนวนผู้ชม หรือ ยอดวิว ด้านคุณภาพต้องวัดทั้งต้นทางและปลายทาง โดยต้นทางต้องมีเนื้อหาที่ตอบโจทย์ประเด็นต่างๆ ที่กองทุนต้องการส่งเสริม เช่น ด้าน soft power ด้านกีฬา เนื้อหาของหนังก็ต้องตอบโจทย์ประเด็นนี้ และปลายทางต้องมีคุณภาพของงานอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เช่น สามารถฉายในโรงภาพยนตร์ได้และวัดเสียงตอบรับจากจำนวนผู้ชมด้วย เป็นต้น

 
Q : ความหลากหลายพหุวัฒนธรรรม มีนิยามอย่างไร?

ดร.ธนกร : ครอบคลุมเรื่องศาสนนา ความเชื่อ ชาติพันธุ์ ซึ่งฐานคิดคือ ความแตกต่างหลากหลายไม่ใช่ปัญหาอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน เพราะความแตกต่างหลากหลายคือความงดงาม ควรนำเสนอประเด็นเหล่านี้ให้มีมิติทางวัฒนธรรมและสังคม ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งควรนำประเด็นเหล่านี้มานำเสนอ และทำให้เห็นแก่นแท้ แง่งามของสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้พิธีกรรมความเชื่อต่างๆ 

 
Q : การขอรับทุนครอบคลุมการซื้ออุปกรณ์ถ่ายทำ เช่น กล้อง หรือไม่?

คุณพัชรพร : จริงๆ ไม่มีข้อห้าม แต่แนะนำว่าอย่าซื้อดีกว่า เพราะการซื้ออุปกรณ์จะทำให้งบบานปลาย และเมื่อจบโครงการอุปกรณ์เหล่านี้ต้องตีเลขครุภัณฑ์ส่งคืนกองทุนฯ ทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนยุ่งยาก ดังนั้นการใช้วิธีจัดจ้างผู้รับงานหรือเช่าอุปกรณ์ จะเหมาะสมกว่า

 
Q : ผู้ยื่นโครงการสามารถยื่นหลายโครงการได้หรือไม่?

ดร.ธนกร : ผู้ยื่นโครงการ 1 ราย สามารถยื่นได้ 1 โครงการเท่านั้น และเปลี่ยนตัวผู้ยื่นขอรับทุนระหว่างดำเนินโครงการไม่ได้

 

Q : ค่าตอบแทนเจ้าของโครงการ ควรอยู่อัตราเท่าไร?

ดร.ธนกร : ในงบประมาณ 100% ค่าตอบแทนของทุกตำแหน่งไม่ควรเกิน 30% ดังนั้นค่าตอบแทนเจ้าของโครงการต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์การทำงาน โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของกองทุนฯ

คุณพัชรพร : ในเว็บไซต์ของกองทุนฯ จะมีเพดานราคาค่าตอบแทนทั้งหมดแจ้งไว้อย่างละเอียด รวมถึงวิธีการกรอกในระบบ สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://www.thaimediafund.or.th/

 

Q : มีเงื่อนไขการจ่ายเงินอย่างไร

ดร.ธนกร : การจ่ายเงินแบ่งเป็น 3 งวด งวดแรกคือจ่ายทันทีที่โครงการได้ลงนามสัญญาและส่งแผนการดำเนินงานเป็นทุนประเดิมแรก 20% เพื่อไม่ให้เจ้าของโครงการต้องออกทุนเอง 

คุณพัชรพร : เป็นทุนประเดิมให้ทำงาน

ดร.ธนกร : ใช่ครับ เป็นทุนประเดิมให้ จากนั้นระหว่างทำงานก็จ่ายงวด 2 และ 3 จนปิดโครงการ

 

Q : ถ้าทำไม่ได้ตามตัวชี้วัดที่ระบุไว้ ผลจะเป็นอย่างไร?

ดร.ธนกร : (หัวเราะ) ก็จะต้องลดเงินทุนที่ได้รับ ตามสัดส่วนของเนื้องาน

 

สัปดาห์หน้านี้ ต้องถือเป็นโค้งสุดท้าย ใครที่ยังไม่ตกผลึกยังสามารถสอบถามรายละเอียดการเสนอโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/ThaiMediaFundOfficial  

Line : @thaimediafund โทร. 02-273-0116-9