สื่อเปลี่ยน ผู้สูงอายุปรับ ผลิตสื่อได้ ใช้สื่อเป็น

วงเสวนาหัวข้อ “สื่อเปลี่ยน ผู้สูงอายุปรับ ผลิตสื่อได้ ใช้สื่อเป็น เห็นค่าในตนเอง สร้างประโยชน์ให้กับสังคม” ในงานแถลงข่าว โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2 เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา มีผู้ร่วมเสวนาล้วนอยู่ในแวดวงผู้ผลิตสื่อกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ คุณอนุชิต มณีชัย นักพากย์สารคดีและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ สอนอ่านหนังสือเสียง, คุณอนุสร ตันเจริญ คอนเทนต์ หรือ “ลุงอ้วน” คอนเทนต์ครีเอเตอร์ Food Blogger, คุณเพชรี พรมช่วย สื่อมวลชนอาวุโส และคอนเทนต์ครีเอเตอร์สอนโยคะออนไลน์, คุณเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้อํานวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สําหรับประชาชน กองทุนพัฒนาสื่อ ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ข้อคิดที่น่าสนใจ ปลุกไฟของผู้สูงวัยเป็นอย่างยิ่ง

ลุงอ้วน อนุสร ตันเจริญ ได้ให้ข้อแนะนำจากประสบการณ์ตรงของการเริ่มต้นสร้างสื่อออนไลน์ว่า

“ผมเริ่มจากทำในสิ่งที่ชอบคือ การกิน จึงเริ่มลงคอนเทนต์เรื่องอาหารตั้งแต่เว็บไซต์พันธ์ทิพ จนมายุคโซเชียลมีเดีย ลูกชายชวนทำเพจตั้งชื่อว่า ลุงอ้วนกินกะเที่ยว เพราะเป็น lifestyle ของผม ตั้งแต่วันนั้นผมก็สร้างคอนเทนต์อย่างมีระบบระเบียบและทำต่อเนื่อง 

อยากฝากคนที่เริ่มทำคอนเทนต์ใหม่ ๆ ว่าไม่ต้องกังวลมาก หรือคิดมาก ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ แต่ขอให้ลงมือทำ” 

นอกจากนี้ลุงอ้วนยังฝากเตือนภัยถึงผู้สูงวัย ที่มักจะมี หนุ่มหล่อ สาวสวย ทักแชทมาหาและอาจตกเป็นเหยื่อ Romance Scam ซึ่งตัวลุงอ้วนเองจะไม่เชื่อใครง่าย ๆ เพราะคนเหล่านี้มักจะนำรูปจากอินเตอร์เน็ต สวย หล่อมาหลอกลวง

“เทคนิคของลุงอ้วนในการตรวจสอบพวกนี้ ก็จะให้คนที่ทักมา ถ่ายรูปใหม่ส่งมาให้ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่ตัวจริง ดังนั้นอย่าตกเป็นเหยื่อ” ลุงอ้วนกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ คุณเพชรี พรมช่วย อดีตผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ ซึ่งผันตัวเป็นครูสอนโยคะและคอนเทนต์ครีเอเตอร์สอนโยคะออนไลน์ ได้แบ่งปันในฐานะวิชาชีพสื่อมวลชนว่า 

“แม้จะเคยผ่านงานโทรทัศน์มาก่อน แต่การมาเริ่มผลิตสื่อออนไลน์ก็ท้าทายมาก เพราะเป็นคนโลว์เทค ก็ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่และทำทุกอย่างด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญคือต้องค้นหาตัวเองให้เจอว่าต้องการทำอะไร และทุกวันนี้ก็ต้องป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพออนไลน์ด้วยการมีสติ” 

ทางด้านคุณอนุชิต มณีชัย นักพากย์สารคดีและคอนเทนต์ครีเอเตอร์สอนอ่านหนังสือเสียง ฝากแง่คิดไว้ว่า

“โลกออนไลน์มีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ผู้สูงวัยต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม อย่าปล่อยให้อายุมาเป็นอุปสรรคการเรียนรู้ อย่างทุกวันนี้มี Chat GPT ซึ่งเป็นแชทบอทที่ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นมาก เพราะมี Ai สามารถช่วยงานมนุษย์ อย่ากลัว Ai แต่ควรเรียนรู้การใช้ Ai ให้เกิดประโยชน์”

สังคมผู้สูงวัยในยุค Digital Disrupt

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว โดยข้อมูลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่าในปี 2566 ไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด พูดง่าย ๆ ว่า ในคน 10 คนจะมีผู้สูงอายุอยู่ 2 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

ผู้สูงอายุจึงเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและมีส่วนสําคัญต่อประเทศ

นอกจากจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้สูงอายุก็เปลี่ยนไปอย่างมาก มีการเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่า ผู้ที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 2 – 3 ชั่วโมง และอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งกําลังก้าวสู่วัยผู้สูงอายุ จะใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงถึง 4 – 5 ชั่วโมงต่อวัน

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะออนไลน์เพื่อพูดคุย สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง ชุมชนที่อยู่ ชุมชนออนไลน์ โพสต์เรื่องราวลงโซเชียลมีเดีย และการรับ- ส่งอีเมล์

นอกจากนี้ยังใช้เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร สืบค้นข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพ ซื้อสินค้าออนไลน์ และทําธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันในระดับที่เพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งแสวงหาความบันเทิงจากสื่อออนไลน์เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

ทั้งหมดจึงตอกย้ำว่า ผู้สูงอายุเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีออนไลน์ในชีวิตประจําวันมากขึ้นเรื่อย ๆ

 
“สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ” ปี 2

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงสนับสนุนการดำเนินโครงการ “สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ในการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจําวัน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี และมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน และสังคม 

และยังช่วยให้ผู้สูงอายุปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้ สร้างผลผลิตให้กับตนเองและสังคมได้ สมกับสโลแกนของโครงการฯ ว่า “สื่อเปลี่ยน ผู้สูงอายุปรับ ผลิตสื่อได้ ใช้สื่อเป็น เห็นค่าในตนเอง สร้างประโยชน์ให้กับสังคม”

โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก จะมีการอบรมทักษะให้ผู้สูงอายุผลิตสื่อของตนเองได้ด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีกันทุกคนโดยออกแบบหลักสูตรตั้งแต่ สอนการถ่ายทำ  ตัดต่อ ทำภาพกราฟฟิค ด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ใช้รูปแบบการอบรมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom

 
ปิดช่องว่างให้ผู้สูงวัยที่กลัวและอายที่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน

ความพิเศษของโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก คือการเปิดรับสมัครและคัดเลือกสมาชิกวัยหนุ่มสาวเข้ามาเป็น Digital Buddy เพื่อเป็นผู้ช่วยให้คำปรึกษาและดูแลผู้สูงอายุตลอดการอบรม จึงสร้างความอุ่นใจให้ผู้สูงอายุ และไม่อายที่จะตั้งคำถาม หากไม่เข้าใจและใช้ระบบต่าง ๆ ไม่เป็น 

ผลจากการดำเนินโครงการในปีที่ 1 มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 50 คน กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจให้กับผู้สูงอายุ

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวถึงการสานต่อโครงการ “สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2” ว่า 

‘นอกจากผมจะชื่นชมผู้สูงวัยที่ร่วมโครงการทุกท่านแล้ว ที่ขาดไม่ได้เลยคือ น้อง ๆ ที่เป็น “Digital Buddy” ที่มีความพร้อมในการให้คําปรึกษาและสนับสนุน เสมือนลูกหลานที่คอยช่วยเหลือผู้ร่วมกิจกรรมให้ก้าวข้ามอุปสรรค ในการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล จนเกิดต้นแบบและนํามาสู่การสานต่อและขยายผลในโครงการ ปี 2”

โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2 จะมีนักเรียนสูงวัยในโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์กรุ่นที่ 1 และน้องๆ Digital Buddy รุ่นที่ 1 มาร่วมให้กำลังใจกัน ซึ่งรุ่นพี่ปี 1 เหล่านี้เป็นกลุ่มที่สามารถผลิตสื่อและเล่าเรื่องด้วยโทรศัพท์มือถืออย่างสร้างสรรค์ บางคนสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ เช่น ขายของออนไลน์ ,สอนหนังสือออนไลน์ และเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

สำหรับ โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2  จะมีการอบรมทักษะออนไลน์ให้แก่ผู้สูงอายุเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 28-30 กันยายนนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ที่สนใจและมีอายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถสอบถามเพิ่มเติมและสมัครได้ที่ https://www.facebook.com/youngoldyoungwork