ส่องโปรไฟล์ กก.ยุทธศาสตร์ Soft Power ภาคเอกชน
การเตรียมพร้อมมาเป็นระยะเวลาพอสมควรในนโยบาย OFOS (One Family One Soft Power) และ THACCA (Thailand Creative Content Agency) ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์หรือ Soft Power ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นไปอย่างรวดเร็ว หลังแถลงนโยบายรัฐบาล วันที่ 11 -12 กันยายน 2566 รุ่งขึ้น ประกาศตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติทันที และถ้าดูรายชื่อที่นอกเหนือไปจากกระทรวงและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องยอมรับว่า โปรไฟล์กรรมการแต่ละท่านถือว่ามี Potential และมีคีย์แมนของรัฐบาลลงมารับผิดชอบเอง โดยเฉพาะ นายกฯเศรษฐา นั่งเป็นประธานกรรมการ แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานกรรมการ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขานุการ
รัฐบาลระดมความร่วมมือแปรคุณค่าเป็นมูลค่า
“จะเป็นการดึงคนทุกภาคส่วน ที่มีความรู้ความสามารถ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ แพทองธาร แต่จะเป็นทุกคนที่มีความรู้ความสามารถ จะมีอีกหลายคนหลายภาคส่วน และมีอีกหลายคนที่รัฐบาลจะเชิญเข้ามาเพื่อให้ครบทุกมิติ ในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ทำความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น” นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล
ขณะที่แพทองธาร ชินวัตร โพสต์ทวิต “ขอร่วมเป็นหนึ่งในทีม ที่จะปลดล็อกศักยภาพคนไทย ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ความคิดสร้างสรรค์ และนโยบายจากรัฐร่วมกับภาคเอกชนเข้าไปช่วยกันผลักดันไปสู่เวทีโลก พาประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง” หลังจากนั้นอธิบายเพิ่มเติมในเฟซบุ๊กว่า “ตั้งแต่ปักหมุดนโยบายซอฟต์พาวเวอร์แล้ว ที่เพื่อไทยถูกตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงใช้คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เราเข้าใจคำนี้จริงหรือไม่ ขั้นแรกอยากอธิบายว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่เท่ากับ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ซอฟต์พาวเวอร์ ครอบคลุมทั้งการพัฒนาคนที่มีทักษะสูง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเมืองประชาธิปไตย และการต่างประเทศที่เรียกว่า ‘การทูตเชิงวัฒนธรรม’ (Cultural Diplomacy) ซอฟต์พาวเวอร์ จึงไม่ใช่แค่มิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือมิติทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่จะต้องทำงานอีกหลายด้านเพื่อให้เกิดการพัฒนา จนสามารถส่งออกวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ หรือคุณค่าไปสู่นานาประเทศ และกลายเป็นผู้นำในระดับโลกต่อไป
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราจะต้องอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อออกแบบนโยบายการส่งออกวัฒนธรรม ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนในด้านงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ แรงงาน กระทรวงพาณิชย์มาช่วยสนับสนุนเรื่องการค้าการตลาด และอีกหลายกระทรวงที่ต้องเข้ามาร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากอุตสาหกรรมหลายท่านมาช่วยกันชี้เป้าอุปสรรค ปัญหา เพื่อนำไปสู่การปลดล็อก และช่วยกันออกแบบนโยบายสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเติบโต เพื่อขยายตลาดค้าขายสินค้าทางวัฒนธรรมไปสู่ตลาดโลก
โดยหัวใจของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ในครั้งนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ #อุตสาหกรรม และ #ศักยภาพของคน สำหรับการพัฒนาศักยภาพของคนเราจะอยู่ในนโยบาย #ofos – one family one soft power : นโยบายพัฒนาศักยภาพคน พัฒนาคนให้มีสกิลสร้างสรรค์ ขยับทักษะแรงงานไทยให้มีทักษะแรงงานขั้นสูง ส่วนอุตสาหกรรม เราจะตั้ง #THACCA : องค์กรพัฒนาอุตสาหกรรม โมเดลเดียวกับ KOCCA ในเกาหลีใต้ หรือ TAICCA ไต้หวัน ซึ่งตลอดการทำงานช่วงก่อนเลือกตั้ง อิ๊งค์และทีมนโยบาย ได้ไปพบปะ ขอความเห็น และระดมความคิดกันว่าพัฒนาอุตสาหกรรมให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร และพบว่ายังมีโอกาสอีกมากในอุตสาหกรรมสร้างซอฟต์พาวเวอร์บ้านเราค่ะ เพื่อไทยจะเดินหน้า ร่วมทำงานกับภาคเอกชน ขอถือโอกาสนี้ ขอขอบคุณคณะทำงานจากภาคเอกชน ที่จะมาร่วมกันทำงานหลังจากนี้นะคะ ขอฝากตัวกับทุกท่านด้วย เรามาร่วมกันทำงานอย่างหนัก พาประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูงค่ะ”
เปิดโปรไฟล์ กรรมการภาคเอกชน
การระดม มืออาชีพจากภาคเอกชน พิจารณาจากรายชื่อพบว่า มากันแบบเต็มอัตรา ไล่เรียงรายชื่อที่ระบุในคำสั่งแต่งตั้ง
กมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution Thailand ซึ่งเพจ greenery ให้นิยามตัวตน “กมลนาถ” ว่า “แฟชั่นดีไซเนอร์ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนมุมมองแฟชั่นใหม่ให้ดีต่อโลก นักขับเคลื่อนที่เชื่อมั่นในวิถีแห่งการบริโภค และความยั่งยืน” คนนอกวงการอาจจินตนาการ ไม่ออก แต่ภารกิจของ Fashion Revolution ดูจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้การส่งเสริมแฟชั่น ในฐานะ Soft Power ของประเทศไทยสู้กับแฟชั่นในระดับเวทีโลกได้ fashionrevolution.org ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า ตามรายงานในปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่ ที่มีมูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นที่ตั้งของบริษัทเสื้อผ้ากว่า 2,000 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯและภาคตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ โดยเชื่อว่ามีการจ้างแรงงานมากถึง 1 ล้านคน และยังคงมีหลายกรณีที่คนงานได้รับค่าแรงน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแรงงานข้ามชาติที่มักจ่ายค่าแรงน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ นี่นับเป็นปัญหาใหญ่ที่เราทุกคนควรใส่ใจและตระหนักให้มากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่า Fashion Revolution Thailand นี้ เป็นการเคลื่อนไหวทั่วประเทศ ที่นำโดยแบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ องค์กรทางสังคม นักออกแบบ นักศึกษาและอาสาสมัครที่ทำงานเพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากอุตสาหกรรมแฟชั่น Fashion Revolution Thailand มีเป้าหมายที่จะยกระดับแบรนด์ องค์กร และบุคคลที่มีส่วนร่วม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกในวงการแฟชั่น เราทำงานเพื่อ: – สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับรูปแบบการผลิตสินค้าแฟชั่นที่ไม่ยั่งยืน – สร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น – สนับสนุนสาเหตุโดยการจัดหาแพลตฟอร์มสำหรับการแบ่งปันเครื่องมือและนวัตกรรม – ยกระดับโปรไฟล์ให้ผู้ที่สร้างความแตกต่าง
จรัญ หอมเทียนทอง เจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว ที่ปรึกษาสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นบุคคลในแวดวงหนังสือ ทำหนังสือมาตั้งแต่อายุ 17 ช่วงปี 2517 อยู่ในยุคคนเดือนตุลา วิจารณ์ภาครัฐบ่อยครั้งว่า การส่งเสริม “วัฒนธรรมการอ่าน” ให้เข้มแข็ง “รัฐ” และ “ภาครัฐ” ต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเป็นงบหนังสือ แต่ที่ผ่านมาข้อเรียกร้องของจรัญยังไม่สามารถเป็นจริงได้ เขาคาดหวังว่า “สักวันดอกไม้จะบาน”
หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล หรือคุณชายอดัม โอรสในหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และหม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา อยู่ในวงการภาพยนตร์มาทั้งชีวิต คุณชายอดัม แนะนำตัวในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “A Storyteller and full-time Antagonist. Owner of FuKDuK Production, A New Media Company” กับการเป็นกรรมการครั้งนี้ คุณชายอดัม บอกว่า “ก่อนหน้านี้เคยได้ทำงานเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมีการประชุมกันน้อยมากจนไม่เกิดอะไรขึ้น ครั้งนี้ได้รับการทาบทามขึ้นมาเป็นบอร์ด Soft Power เมื่ออาทิตย์ก่อน และระหว่างไม่กี่วันที่ผ่านมาได้ขออนุญาตทาบทามพี่ ๆ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากจากหลายพื้นอาชีพของทั้งทางฝั่งซีรีส์และภาพยนตร์เพื่อช่วยกันสู้ในเวทีที่ใหญ่ขึ้นเพื่อหลาย ๆ อย่าง คิดว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอนครับในการมาอยู่ในกรรมการชุดนี้ เพราะนโยบายของภาพยนตร์/ซีรีส์ ยังมีจุดบกพร่องและเรื่องท่าจะต้องผลักดันมากมาย ทั้งจากกลุ่มคนทำงาน กลุ่มอุตสาหกรรม สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ รวมไปถึงต้องพยายามที่จะเปิดกว้างและรับฟังคน ส่วนดี ส่วนเลว ส่วนต่าง ๆ”
ชฎาทิพ จูตระกูล CEO, Siam Piwat Group ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ “ไอคอนสยาม” และสยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ เป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับจารึกชื่อในหอเกียรติยศของสภาการค้าปลีกโลก World Retail Hall of Fame 2019 ในฐานะผู้ประกอบกิจการในวงการค้าปลีกที่มีความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมที่ล้ำสมัย ตลอดจนเป็นผู้ที่มีบทบาทและทรงอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนวงการค้าปลีก
ชุมพล แจ้งไพร หรือเชฟชุมพล ผู้คร่ำหวอดในวงการอาหารไทย ที่สามารถอธิบายถึงเอกลักษณ์ของอาหารไทยไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว หรืออาหารหวาน สามารถดึงรสชาติเฉพาะตัวของวัตถุดิบและสมุนไพรไทยชนิดต่าง ๆ นำมารังสรรค์เป็นอาหารแต่ละจาน ได้อย่างมีเสน่ห์และลงตัว เป็นผู้ดูแลเรื่องอาหารในงานกาลาร์ดินเนอร์ต้อนรับผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม APEC 2022 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เขาเคยแสดงทัศนะเกี่ยวกับอาหารไทยในฐานะ Soft Power ว่า อาหารไทย เป็นยาที่อร่อยที่สุดในโลก เนื่องจากมีส่วนผสมของสมุนไพร สิ่งสำคัญคือการพัฒนาวัตถุดิบให้ปราศจากสารเคมีตกค้าง เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาเชฟไทยที่มีคุณภาพเข้าสู่ครัวโลก และพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลในการเรียนรู้อาหารไทยให้ทั่วโลกรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นในโลก Metaverse และ NFT
ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกระดับแถวหน้าโปรไฟล์ไม่ต้องลงรายละเอียดมากเพราะเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Care คิด-เคลื่อน-ไทย ส่วนบทบาทในฐานะสถาปนิกและนักออกแบบ มีผลงาน เช่น โรงแรมโซ โซฟิเทล หัวหิน , ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) ,โครงการบูติกมอลล์ H1 ทองหล่อ ถือเป็นกลุ่มคนที่ผลักดันเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาแต่ยุคพรรคไทยรักไทย
ปรีชา สนั่นวัฒนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ดเทรดเด็กซ์ จำกัด บริษัทจัดแสดงสินค้าชั้นนำ ซึ่งเม็ดเงินที่หมุนเวียนในธุรกิจนี้เป็นหมื่น ๆ ล้านบาท ปรีชาเคยผ่านงานใหญ่ ๆ สร้างชื่อ เช่น งานพืชสวนโลก งานไทยเมทัลเล็กซ์
พิมล ศรีวิกรม์ ประธานที่ปรึกษานโยบายด้านกีฬา พรรคเพื่อไทย และนายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย เป็น Key Man สำคัญในการผลักดันนโยบายด้านกีฬา ฐานะหนึ่งใน Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยมองการพัฒนาใน 3 ระดับคือ 1.กีฬามวลชนหรือกีฬาทั่วไป ที่ทุกคนสามารถเล่นได้ แต่ละจังหวัดต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านกีฬาที่มีมาตรฐาน สามารถเล่นได้หลากหลายชนิดกีฬา 2.กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ เสนอให้ปัดฝุ่นนโยบาย 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ กลับมาอีกครั้ง 3.กีฬาอาชีพ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี ผู้บริหารกลุ่มโรงแรมสุโกศล เป็นศิลปิน เป็น ‘นายกสมาคมโรงแรมไทย’ เคยเสนอ ให้ภาครัฐ สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดยขยายฐานกลุ่มนักเดินทาง MICE นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาว กลุ่มดิจิทัลนอแมด หรือ รีโมตเวิร์กเกอร์ ตลาดท่องเที่ยวทางเรือครุยส์ และการท่องเที่ยวชุมชน
วิเชียร ฤกษ์ไพศาล หรือนิค จีนี่ ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงจีนี่เร็คคอร์ดส์ อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินดัง ปัจจุบันมีโครงการที่เจ้าตัวระบุว่า ใช้เวลาถอยตั้งหลักยาว ๆ มาหลายปีเพื่อจะก้าวกระโดดให้ไกล โดยเสนอแนวคิดในการผลักดันอุตสาหกรรมเพลงไทย ในแนวทาง WAY-T Creation ประกอบด้วย Soft Power, Artist Management, Ecosystem , Opportunity , Professional และ Global
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ติดโผชื่อ รมว.คลัง การร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ผ่านการทาบทามของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กับนโยบาย Soft Power ศุภชัยแสดงทัศนะในหลายวาระที่สนับสนุน เศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย การส่งเสริมเกษตรแม่นยำ (precision agriculture)เพื่อรักษาความโดดเด่นการส่งออกอาหารคุณภาพ การแก้ปัญหาคุณภาพอากาศ PM 2.5 เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว
สิทธิชัย เทพไพฑูรย์ หัวเรือใหญ่ของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทยหรือ Thai Game Software Industry Association (TGA) เป็นนักธุรกิจที่เติบโตมาจากเวทีการประกวดออกแบบเกมและต่อยอดมาเป็นธุรกิจ การทำงานในบทบาทของ TGA ทำหน้าที่เป็นผู้ที่ให้การร่วมมือกลุ่มผู้พัฒนาในพื้นที่ประเทศไทยเพื่อสนับสนุนศักยภาพ เม็ดเงินในวงการเกมมหาศาล แต่สถานะปัจจุบันสุ่มเสี่ยงกับการขาดดุลให้กับเกมจากต่างประเทศ
เสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ซีเอ็ม ออร์กาไนเซอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระบุตัวตนว่า เป็น World Class EXPERIENCE-TECH CREATOR ผู้นำธุรกิจด้านการสร้างสรรค์ และบริหารจัดการอีเวนท์ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อตั้ง ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ (Bangkok Sculpture Center) ก่อตั้ง บริษัท อาร์ต แท็งก์ กรุ๊ป จำกัด (Art Tank Group Co., Ltd.) กลุ่มบริษัทบริหารจัดการด้านธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะ
เปิดหน้าเปิดโปรไฟล์ รายชื่อคณะกรรมการจากภาคเอกชนชุดนี้ ต้องถือว่า เป็นการเลือกใส่ชื่อบรรดาบุคคลที่มีฝีมือเข้ามาร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ความคืบหน้าของภารกิจ พาประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้ภายใต้นโยบายนี้จะรูปธรรมอย่างไร ต้องติดตามกันต่อเนื่อง
ขอบคุณภาพปก – เพจ care คิด เคลื่อน ไทย