ตามไปดู“จันทโครพ”(ภาคพิสดาร) หนังรางวัล “Digi Camp”
คลิปหนังสั้น “จันทโครพ” (ภาคพิสดาร) ความยาวประมาณ 5 นาที ของน้องๆ ทีม N.M.T ENTERTAINMENT จากโรงเรียนนวมินทราชูทิศ จ.สงขลา ภายใต้การควบคุม ครูอติพงศ์ ใบงาม และครูสุวิรากร คำเจริญ คว้ารางวัลชนะเลิศ โครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์สำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ภายใต้หัวข้อ “Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ฝีไม้ลายมือในการผลิตสื่อของน้องๆนักเรียนในต่างจังหวัด ไม่อาจละสายตาได้ !
“จันทโครพ”(ภาคพิสดาร) มีอะไรดีถึงชนะเลิศ Digi Camp
นิทานพื้นบ้าน “จันทโครพ” ที่คุ้นเคยถูกนำเสนอในพล็อตใหม่ เพื่อสร้างการรู้เท่าทันสื่อ เนื้อหา “จันทโครพ” (ภาคพิสดาร) จึงสอดแทรก การตระหนักรู้เท่าทันสื่อทั้งประเด็น ข่าวปลอม ( Fake News) ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด (Bully)
เนื้อหาของหนังสั้น เปิดฉากมาที่ จันทโครพ ได้รับผอบจากฤๅษี ซึ่งกำชับว่า หากเผชิญปัญหาอะไรให้เปิดผอบ มันจะช่วยให้รอดพ้นจากสถานการณ์ได้
หนังดำเนินเรื่องว่า จันทโครพ ได้เปิดผอบแล้วนางโมราออกมา หลังจากนั้น ก็มีโจรป่ามาเห็นนางโมราแล้วเกิดใจปฏิพัทธ์ เข้าทำร้ายจันทโครพ เพื่อฉุดนางโมรา จันทโครพ ได้รับบาดบาดเจ็บและโพสต์ลงสื่อโซเชียล บอกว่า ถูกโจรป่าทำร้ายสาหัส ไม่มีเงินรักษาพยาบาล จึงขอรับบริจาค ขณะเดียวกันในคอมเมนต์ใต้โพสต์ดังกล่าว นางโมราก็ถูกด่าทอต่างๆ นานาว่าเป็นต้นเหตุศึกชิงนางครั้งนี้ นางโมราอยากจะตอบโต้ แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะไปเปิดผอบแล้วฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า “ การด่าทอ โดยการส่งข้อความมีความผิดทางอาญา “
หนังดำเนินเรื่องต่อไปว่า เหตุการณ์โจรป่าทำร้ายจันทโครพ ถูกนำไปผลิตซ้ำในเนื้อหา และรูปแบบต่างๆ เช่น พวก YouTuber เอาไปทำคลิปแนวแกล้งคน โดยจัดฉากวางมีดที่อ้างว่า เป็นของโจรป่าใช้ทำร้ายจันทโครพตกไว้กลางถนน เพื่อถ่ายเก็บรีแอคชั่นของผู้เก็บมีด ซึ่ง Youuber จะวิ่งเข้าไปจับตัวแล้วกล่าวหาว่า เป็นคนที่ทำร้ายจันทโครพ เพราะมีหลักฐานคือมีดอยู่ในมือ บทหนังวางพล็อตให้โจรป่า บังเอิญเดินผ่านและเก็บมีดขึ้นมา แต่รีแอคชั่นของคนป่ากลับเกิดอาการตกใจกลัวจนปัสสาวะราด คลิปดังกล่าวได้รับการแชร์ออกไปอย่างแพร่หลาย เพราะฉากตลกขบขันนี้ แต่ในอีกด้านก็เผยให้เห็นมุมของโจรป่าที่ต้องทนทุกข์อยู่กับการถูก Bully เพราะภาพที่น่าอับอายนั้น
จุดพีคตัดมาที่นางโมรา ซึ่งเล่าเรื่องในอีกมุมว่า จริงๆ แล้วจันทโครพ หลังได้รับผอบมา เขาไม่เคยเปิดผอบเลย แถมกลายเป็นคนติดการพนัน หนี้สินล้นพ้นตัว โดนแก๊งค์ทวงหนี้ติดตาม จนต้องเอาผอบให้นางโมราแลกกับการขอยืมเงิน รวมถึงไปโพสต์ปั้นเรื่องถูกทำร้ายขอรับบริจาคทางสื่อโซเชียล
หนังคลี่คลายไปว่า สิ่งที่ทำให้นางโมราไม่ตอบโต้คนด่าทอในโซเชียล เพราะนางโมราเปิดผอบ แล้ว พบกระดาษเขียนคำว่า “สติ” อยู่ข้างใน จึงทำให้ฉุกคิด
ซึ่งหากจันทโครพได้เปิดผอบ เรื่องราวก็คงไม่บานปลายไปขนาดนี้ เช่นเดียวกับตัวละครอื่นๆ ที่หนังทิ้งท้ายประโยคว่า “ใช้สติก่อนสื่อ”
ความสำเร็จวัดที่การตื่นตัว
“คำว่าสื่อดีมีอยู่ 2 มิติหลัก ด้านหนึ่งคือถ้ามีสื่อไม่ดีมากระทบทำให้มีทักษะรับมือได้ แยกแยะได้ วิเคราะห์ได้ ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือ ทางวิชาการ เรียกว่าเป็นทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ หรือ media literacy อีกด้านเราไม่เพียงให้ทุนหรือทำโครงการที่ให้ผู้ผลิตไปผลิตสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน แต่ได้เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนสร้างสื่อด้วยตนเองด้วย โครงการนี้จึงทำเพื่อให้ความรู้ในการรู้เท่าทันสื่อ ให้ได้ติดตาม Disinformation เป็นอย่างไร hate speech ที่เราไปรับมันบ่อยๆ หรือ เรื่อง Bully ในกลุ่มเด็กนักเรียนถือว่ามีผลกระทบสูงมาก ผู้ใหญ่อาจจะเฉยๆ แต่เด็กเขา sensitive มาก จึงให้เขาได้ช่วยกันสร้างเครือข่าย ในการรณรงค์กันดูแลเพื่อนๆเมื่อเจอ Bully ทำอย่างไร ซึ่งน้องที่เข้ามาอยู่ในโครงการจะเป็นแกนนำเพื่อบอกว่า hate speech ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ใช้กัน
อีกด้านหนึ่งเราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีความรู้ มีศักยภาพ และในเด็กและเยาวชนมิได้เพิ่งเรียนรู้ที่จะทำสื่อ เขาทำสื่อเป็นตั้งแต่ก่อนเข้าโครงการแล้ว เขาผลิตคลิปลง Tik Tok หรืออื่นๆ เพียงไม่เป็นไปตามกรอบที่เราต้องการ กองทุนฯนำเขามาสู่หลักสูตรเพื่อได้เพิ่มทักษะ ความรู้ ความสามารถ ความเข้าใจ และเข้าใจถึงพี่ๆสื่อมวลชนด้วยว่า แนวทางการปฏิบัติของสื่อที่ดีเป็นอย่างไร” ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระบุถึงที่มาของโครงการฯ
“วันนี้เด็กและเยาวชนทั้ง 17 ทีม ที่ได้รับรางวัลถือว่า สำเร็จมาก ซึ่งความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่คนที่ได้รับรางวัลแต่อยู่ที่ เราได้สร้างกระบวนการตื่นตัว ในกลุ่มนักเรียน เยาวชน เน้นหลักคือเด็กมัธยมต้น อายุไม่เกิน 18 แต่เข้ามามากกว่ามัธยมปลายด้วย ทำให้เราเห็นว่าการทำสื่อในเด็กมัธยมต้นหรือปลายก็ไม่แตกต่างกันเลย
คนที่เข้ามาร่วมโครงการของเราหรือคนที่รับข้อมูลข่าวสารด้านกิจกรรมเข้าใจเรื่องผลกระทบของสื่อมากขึ้น เห็นพลังทางลบที่ทำให้เกิดความสูญเสียหรือเสียหาย เกิดความกระทบกระเทือนต่อจิตใจ และได้เข้าใจผลกระทบเชิงบวกว่า สื่อดีนั้นสร้างความเป็นมนุษย์ สร้างมิตรภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาชุมชน ซึ่งน้อง ๆ ได้มาเรียนรู้สิ่งเหล่านั้น เราก็หวังว่าคนที่มาร่วมโครงการกับเรา ตั้งแต่เริ่มมาลงทะเบียน จำนวน 2,338 คน มีชิ้นงาน จำนวน 135 ผลงาน ถือว่าจำนวนมาก ได้คัดเลือก 30 ผลงานก่อนมาคัดรอบสุดท้าย เหลือ 17 ผลงานรอบสุดท้าย ที่ทุกคนจะเป็นแกนนำเครือข่ายของนักเรียนตามภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้โครงการได้สัญจรไปตามภูมิภาคต่างๆเพื่อเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้กับนักเรียนทั่วประเทศ ไม่ได้เน้นเฉพาะนักเรียน กรุงเทพมหานคร จะสังเกตเห็นว่าโรงเรียนดังๆในกรุงเทพ มีแค่ โรงเรียนเดียวที่เข้ามา ที่เหลือมาจากทุกภาค ซึ่งคือการเข้าถึงที่กระจายตัว”
“เด็กๆเขาพูดเองว่าการได้เข้าร่วมเหมือนเขาได้มาเปิดใจ เปิดการเรียนรู้ สร้างกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งหลายๆอย่างเขามีพื้นอยู่แล้ว แต่ผลกระทบจากสื่อแย่ๆ ที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน การแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ หรือภัยไซเบอร์สูงมาก น้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการกับเรารับรองว่าเขาจะมีทักษะในการที่จะบอกพ่อแม่ผู้ปกครองและคนรอบตัว แล้วเขาจะฝึกในทักษะของการวิเคราะห์ คือหลักสูตรที่เราสอน ให้สามารถ หนึ่งตั้งหลักก่อน เช่น สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่ สิ่งที่ได้ยินก็อาจจะไม่ใช่ ในสื่อที่เรารับในแต่ละวันนั้น เบื้องหลังสลับซับซ้อนมาก ที่มาหลากหลาย ทั้งเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ ไม่ใช่เนื้อหาโดยตรง แต่คนที่สร้างสารขึ้นมา มีทั้งเรื่องธุรกิจ สังคม การเมือง เต็มไปหมด”
กองทุนสื่อพร้อมจับมือพันธมิตร สร้าง Content Creator
“หลักสูตรที่กองทุนฯสอน ให้รู้เท่าทันและสามารถวิเคราะห์ คนที่อยู่เบื้องหน้าส่วนหนึ่งและเบื้องหลังส่วนหนึ่ง ใครที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากเนื้อหาเหล่านี้ ซึ่งไม่ได้เชิญวิทยากรมาสอนน้อง ๆ เพียงอย่างเดียว กองทุนฯเราทำหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อด้วย และไม่ได้ให้เพียงการรู้เท่าทันสื่อด้านเดียวให้เขาสร้างสื่อขึ้นมาเองด้วย เมื่อเห็นสื่อไม่ดีก็รับมือได้ ขณะเดียวกันสื่อดีก็คาดหวังว่ากิจกรรมนี้ โรงเรียนสนใจเยอะมาก อยากทำในสเกลที่ใหญ่ขึ้นในระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นเรื่องนโยบายภาครัฐด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณ”
“การเรียนการสอนในยุคปัจจุบันนั้นเด็กนักเรียนเปิดรับในวิธีการสอนใหม่ๆ การเรียนการสอนที่ให้เขาได้ช่วยคิด ได้ทดลองทำ ซึ่งเรื่องที่กองทุนฯทำเป็นกระบวนการหนึ่งในการเรียนการสอน ทั้งนี้หลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อมีในหลายประเทศ เช่น ประเทศแคนาดา เป็นต้นแบบ สอนตั้งแต่ประถม มัธยม อุดมศึกษา กองทุนฯไปดูงานที่ฝรั่งเศสมา มีหน่วยงานหนึ่งที่เป็นหน่วยงานที่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อว่า clemi ทำหน้าที่อบรมครูพี่เลี้ยง อบรมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ให้กับโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ สอนการรู้เท่าทันสื่อแก่วิทยากรเพื่อให้นำไปถ่ายทอดตามโรงเรียนต่างๆ และไม่ได้บังคับ เขาให้เป็นอาสาสมัครว่าโรงเรียนไหนที่สนใจก็ให้แสดงความจำนงมาที่กระทรวงฯซึ่งกระทรวงจะอำนวยความสะดวกให้ จะเห็นว่าเป็นการสนับสนุนแบบครบวงจร แทนที่เด็กจะไปเอาความรู้ในระบบการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ เขาก็จะได้วิธีการแบบใหม่ๆ เรียนไปด้วยสนุกไปด้วย ยิ่งหลักสูตรของกองทุนฯยิ่งสนุก เพราะเราสอนทักษะในการเปิดรับสื่อแล้วยังสอนให้เด็กให้ทำสื่อด้วย เรานำสองด้านของเหรียญมาเป็นเรื่องเดียวกัน จะลงตัว ทำให้เด็กไม่เพียงแต่เข้าใจสื่อไม่ดี สื่อมีผลกระทบเชิงลบ แต่พร้อมที่จะสร้างสื่อดีดีขึ้นมาก”
“กองทุนฯอยากเชิญชวนหน่วยงานที่ทำภารกิจคล้ายๆกัน โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สังกัด กระทรวงศึกษาธิการ หรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ถ้าเราสามารถทำเรื่องนี้ได้ เราจะช่วยให้เยาวชนสร้างกระบวนการสื่อสารเชิงบวก สังคมจะน่าอยู่มากขึ้น เพราะคนจะไม่ใยดีกับเฟคนิวส์ หรือ เฮดสปีด และพวก IO ทั้งหลายจะลดความสำคัญลงเพราะคนฉลาดมีทักษะ ขณะเดียวกันการที่ให้คนรุ่นใหม่มาช่วยกันสร้าง Content อย่าลืมว่า Content โดยตัวของมันเองขายได้ คอนเทนต์ที่มีคนติดตามจำนวนมากหลายแพลตฟอร์มเขาก็จ่ายเงิน ฉะนั้นเมื่อเราสนับสนุนก็จะช่วยให้เด็กสร้าง Content ดีๆ แรกๆอาจจะมีผลกระทบทางสังคม โรงเรียนได้เอามาใช้ประโยชน์ สร้างความฮือฮา แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งจะสร้างผลกระทบทางธุรกิจได้ ทางเศรษฐกิจได้ คือ Content ขายได้ เมื่อมีทุนก็นำไปทำหนังสั้นที่มีคุณภาพ นำไปฉายในแพลตฟอร์มต่างประเทศ”
เราสร้าง Start Up เด็กได้
” กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจจริงๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้เด็กเรียนจบแล้วมาเริ่มทำ Startup แต่มันสามารถทำได้ตั้งแต่มัธยมเลย เด็กที่เก่ง หากมีหน่วยงานยื่นมือเข้าไปช่วยเราสามารถสร้าง Startup เด็กได้ และ เด็กเก่งเรื่อง content คิดประเด็นเก่งมาก งานครีเอทีฟ เก่งมาก แต่อาจจะต้องการทักษะ หรือทางเทคนิค เขาจะซื้ออุปกรณ์ เราก็มีแหล่งทุนให้ ต้องการพัฒนาตัวเองสนับสนุน เขาอาจรวมกลุ่มกันเป็น Content Creator เมื่อเรียนจบปริญญาตรี อาจตั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้เลย
โลกมันเปลี่ยน ไม่ใช่ต้องรอให้เป็นบัณฑิตแล้วค่อยเริ่มทำธุรกิจ อย่างคอนเทนต์ในหมู่วัยรุ่น ซีรีส์วายทำไมถึงดังมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ ในจีน ซึ่งเริ่มจากคนไทยเรา ทำโดยคนซีรี่ส์วาย ทำไมเราไปคิดว่าเด็กมัธยมต้นจะเป็น Content Creator ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรามานั่งแก้ปัญหาเรื่องเด็กติดเกมส์ เด็กไม่ใส่ใจปัญหาสังคม ไม่ใช่ อยากให้ประเมินคนรุ่นใหม่เสียใหม่ เด็กรุ่นใหม่มีเหตุผล ทุกเรื่องที่เขาทำ เขาอธิบายได้ เราเป็นผู้ใหญ่ต้องเปิดใจรับฟังมากขึ้น ถ้าเรามีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออกมีทรัพยากรให้เขาได้พัฒนาศักยภาพ มีโอกาสให้เขาเข้าถึง เราจะได้พลเมือง คนรุ่นใหม่เป็น Young Digital Citizen ที่มีคุณภาพมาก เพื่อที่พวกเขาจะลุกขึ้นมาดูแลสังคม ดูแลคนสูงอายุ ดูแลชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องเด็กเยาวชน เราจะเริ่มจากกรอบเล็กๆ ณ วันนี้ที่โลกเปลี่ยน มันสามารกกลายเป็นวาระแห่งชาติที่สร้างผลกระทบอย่างที่เราผู้ใหญ่ในวันนี้อาจจะไม่ได้คาดคิดมาก่อน วิงวอนว่า ช่วยเปิดพื้นที่เถิด”
“หากน้อง ๆ อยากร่วมโครงการกับกองทุนฯ ก็เตรียมตัวด้วยการหาข้อมูลข่าวสาร หรือมาเป็น Fc กองทุนฯก่อน เราเหมือนพี่เลี้ยง เรามีคนรุ่นใหม่เยอะก็จริง แต่เราก็อาจจะคิดแบบคนรุ่นเก่าอยู่(หัวเราะ)
แต่จุดเริ่มต้นมาเริ่มที่เรามาติดตามข้อมูลข่าวสาร เราจะมีการประชาสัมพันธ์โครงการใหม่ๆอยู่ตลอด น้อง ๆ ที่มาเข้าโครงการนี้แล้ว อาจจะลองไปสนใจ โครงการ TMF-Hackathon สอนให้เขียนแผนธุรกิจสื่อสร้างสรรค์ คนที่ชนะเลิศโครงการนั้นอายุ เพียง 18 ปี เราเห็นพลังจริงๆ ซึ่งกองทุนฯพยายามทำตามที่มีกำลัง แต่ก็ไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัด เพราะเราเชื่อว่าเราน่าจะทำ เราก็ทำ เงินมากเราก็ทำใหญ่ เงินน้อยเราก็ทำเล็ก แต่เราไม่หยุดทำ และเชื่อว่าปีต่อไป เราจะมีเด็กเข้ามามากกว่านี้ และถ้าเรามีเงินเท่าเดิมแล้วคนสนใจมากขึ้นเราอาจจะระบบคู่ขนานทั้ง ออนไซต์ ออนไลน์ ถ้าออนไซต์อย่างเดียวงบประมาณอาจจะไม่พอ แต่เราก็อยากขยายให้โครงการใหญ่ขึ้น เราอาจเสนอไปที่ สพฐ. มาร่วมกับเราไหมเพราะ สพฐ.เองก็มีงบประมาณอยู่แล้ว คืองบประมาณในการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเด็ก เราคิดโปรเจคให้เลยให้เด็กสำรวจว่า ถ้าหนูหรือลูกๆทำคอนเทนต์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น หนูคิดว่าท้องถิ่นหนูมีแหล่งท่องเที่ยวได้กี่แหล่ง ให้เขาเซอร์เวย์เองเลย เขาค้นหา เขาวิเคราะห์มันออกมาว่ามันน่าสนใจอย่างไร ขายได้อย่างไรจุดไหน ขายของกิน ขายที่เที่ยว ขายจุดเช็คอินหรือขายไลฟ์สไตล์ ขายวิถีชีวิตให้เขาคิดแล้วให้เขาผลิตสื่อออกมา อันนี้ท้องถิ่นก็ได้ประโยชน์ สพฐ. ก็ทำได้”
“หากร่วมมือกันหลายฝ่ายเราทำได้ใหญ่มาก กองทุนฯเราเก่งเรื่องการบูรณาการ จากโครงการนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ไม่เพียงขยายความร่วมมือ แต่ต้องใหญ่ขึ้นซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณมากขึ้น เราอาจใช้เงินเท่าเดิมแต่หาพันธมิตรมากขึ้น ถ้าพันธมิตรเห็นดีเห็นชอบกับเรา เขาก็ต้องมีงบประมาณของเขาจะพลิกเปลี่ยนเรื่องระบบการเรียนการสอนใหม่ สอนไปเกิดผลลัพธ์ ผลผลิต ถ้าเด็กได้ใช้ความคิด ใช้จินตนาการ มีทักษะตั้งแต่มัธยมต้น ไปมัธยมปลายไปอุดมศึกษา เราอาจจะได้ผู้กำกับฝีมือดี ตอนที่เขาเรียนอยู่ปี 3 ปี เราอาจได้คนเขียนบทที่ผลิตงานระดับคุณภาพสู่ต่างประเทศได้ เป็นวิสัยทัศน์ที่กองทุนฯต้องการทำ ด้วยความเชื่อว่าเราทำได้”
เพิ่มสื่อดีไล่สื่อเลว
“สำหรับผู้ได้รับรางวัลทั้ง 17 ทีมนี้จะมีการต่อยอดแน่นอน เราอยากให้เขาใช้ความเป็นคนที่อยู่ในชุมชน ในโรงเรียน สร้างเรื่องราวดีดี ถ่ายทอดออกมา แล้วถ้า 1 โรงเรียน ก็กลายเป็นหลายโรงเรียนในจังหวัด หลายจังหวัดในหนึ่งภูมิภาค น้อง ๆ หวังว่าวันหนึ่งจะส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งเราเองก็จะมีประกวดอีก ทำให้คอนเทนต์หลั่งไหลอยู่โลกสื่อสังคมออนไลน์ จะมีทางเลือกให้กับผู้รับสื่อมากขึ้น ไม่ใช่เปิดไปตรงไหนก็มีเนื้อหาแย่ๆ ดูมาก ก็หดหู่ แต่ถ้ามีคลิปดีดีและเริ่มดู มันก็จะมี อัลกอริธึ่ม ก็จะไปดึงคลิปดีดีเข้ามา อันนี้มันจะช่วยการเข้าถึงสื่อดีดี แต่ถ้าเราไม่มีจุดตั้งต้นเลย ไม่มีคลิปนักเรียนทำเรื่องดีมาก สักพักตัวระบบ AI ปัจจุบันมันเรียนรู้ด้วยตัวมันเอง เช่น คนนี้ชอบโหลดคลิปดีดี มันก็จะมีตลอด เราก็จะช่วยให้นักเรียนทั่วประเทศได้ทำคลิปดีดีเหล่านี้ หรือคอนเทนต์ที่สร้างจากคนใช้สื่อก็เป็นโมเดลทางวิชาการ เราหวังว่านักเรียน นักศึกษา หรือคนไทยทั่วประเทศได้ปลุกพลังที่เขาอาจจะไม่เคยคิดมันเป็นพลังที่มีอำนาจ แต่ถ้าวันหนึ่งคนสามารถที่จะร่วมกันสร้างคอนเทนต์ไปในทิศทางเดียวกันได้ อาจจะมาเป็นข้อเรียกร้อง ถึงปัญหาบางอย่าง สังคมต้องหยุดต้องฟัง ต้องมองเพราะมันคือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคมจริงๆ คนเล็กคนน้อยลุกขึ้นมาพูด น้อง ๆเยาวชนลุกขึ้นมาพูด เพราะเราเชื่อมาโดยตลอดว่า สื่อมันมีพลัง วันนี้อาจต่างคนต่างทำ น้อง ๆ ต่างโรงเรียนทำสิ่งที่ตัวเองถนัด แต่วันหนึ่งเราเชื่อได้เลยว่า อาจจะมีสักทีมที่สร้างผลงานขึ้นมาที่ทุกคนได้รู้จัก เราในฐานะที่เป็นคนริเริ่มส่งเสริมสนับสนุนก็คงได้ยืนยิ้มเชียร์อยู่หลังเวที เป็นแรงจูงใจ สร้างแรงบันดาลใจ”
“น้อง ๆ ที่มาทำงานร่วมกับเราน้องสอนเราด้วย พื้นที่ของเยาวชนมีอยู่มากมาย ที่จะเปิดให้เขาได้ แสดงออกซึ่งพลังและศักยภาพในเชิงบวก และอยากเรียนว่า กองทุนฯ เป็นหนึ่งในพื้นที่ตรงนั้น น้อง ๆที่อยากทำสื่อมีจินตนาการอยากเป็นผู้กำกับ อยากเป็นคนที่เติบโตขึ้นมาแล้วอยากทำละคร อยากทำซีรี่ส์ อยากทำหนัง ทำคลิป หรืออะไรก็แล้ว แต่กองทุนฯพร้อมหนุนแล้วเราก็ร่วมกันคิดเนื้อหาดีดีร่วมกัน เพราะฉะนั้นอยากเชิญชวนให้ติดตามกิจกรรมของกองทุนฯซึ่งมีหลายช่องทาง”
17 ทีมเจ๋ง!!จากค่าย”“Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ”
รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัลๆ ละ 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ ผลงานชื่อ “จันทโครพ” จากทีม N.M.T ENTERTAINMENTจากภาคใต้
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 2 รางวัลๆ ละ 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ ผลงานชื่อ “Who dark” จากทีม Thungsong Hometown ภาคใต้ และผลงานชื่อ “Oh My Password” จากทีม HookHook Team ภาคตะวันออก
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 3 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ ผลงานชื่อ “คุณเลือกได้ Choose Your Life” จากทีม 7-11 Team Studio ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ผลงานชื่อ “ผีโพง” จากทีม Ckk Junior Studio ภาคเหนือ และ ผลงานชื่อ “เราอยู่ใกล้กัน” จากทีม BC Studio ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ ผลงานชื่อ “นายฮ้อยคำผาน กับการป้องกันตัวจากศาสตร์มืด” จากทีม หลานสมเด็จย่า ภาคกลาง, ผลงานชื่อ “ADVISER” จากทีม COOL KIDS NEVER SLEEP ภาคกลาง, ผลงานชื่อ “อีโต้” จากทีม สมุยตุ้ย ภาคใต้, ผลงานชื่อ “เรื่องเล่า” จากทีม ๗๓๖ มุ้บมิ้บ STUDIO ภาคกลาง, ผลงานชื่อ “Outcast” จากทีม แป้งเย็น ภาคตะวันออก, ผลงานชื่อ “infoolencer (อินฟูลเอนเซอร์)” จากทีม The SMP ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ผลงานชื่อ “SMS SK1” จากทีม Engineer SK1 ภาคใต้, ผลงานชื่อ “kk game” จากทีม kangkangproduction ภาคกลาง, ผลงานชื่อ “สังคมที่ล่มสลาย” จากทีม Odlgos ภาคเหนือ และ ผลงานชื่อ “อย่าเชื่อ Don’t Believe” จากทีม เยาวชนพลเมืองSKP ภาคเหนือ และรางวัล Popular Vote จำนวน 1 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ ผลงานชื่อ “กินกับก้อง” จากทีม ผักหวาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.