Must – See ! Duck Academy สารคดีสร้างแรงบันดาลใจ
“เมื่อชาวนาและเป็ดจับมือ(ปีก)ปกป้องอาหารของพวกเรา” คือที่มาของเรื่องราว Duck Academy ที่บริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด ผลิตสารคดีเกี่ยวกับเกษตรกรชาวนาในจังหวัดลพบุรี ที่เลี้ยงเป็ดเพื่อกำจัดศัตรูพืชทดแทนการใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อได้อาหารที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
Duck Academy เปิดเรื่องด้วยภาพของลูกเป็ดแรกฟัก พร้อมคำบรรยายว่า “มันเกิดมากับภารกิจยิ่งใหญ่ในการปกป้องมวลมนุษย์” แค่เส้นเรื่องก็สร้างความน่าสนใจ และติดตามให้ค้นหาต่อไปแล้วว่า ทำไม จึงโด่งดัง ในต่างแดนกลายเป็นไวรัลบนโลกโซเชียลที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนเกิดกระแสกลับมาถึงประเทศไทย เรียกร้องให้นำ Duck Academy กลับมาฉายเพื่อให้คนไทยได้ดู ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เข้ามามีส่วนอย่างสำคัญจนทำให้ Duck Academy เปิดรอบฉายที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ สามย่าน
กองบรรณาธิการ Media Trust สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในวันแถลงข่าวเปิดตัวพร้อมฉายรอบสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมสารคดีเรื่องนี้คนไทยต้องดู
กองทุนสื่อฯ สร้างคน-สร้างสื่อ
ดร.ธนกร เล่าถึงที่มาที่ไปของการเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนให้คนไทยได้มีโอกาสชม Duck Academy สารคดีสร้างชื่อระดับโลกของไทยว่า ในยุทธศาสตร์การการส่งเสริมการพัฒนาสื่อเราต้องแปลงเป็นกลยุทธ์ 2 สร้าง สร้างที่ 1 คือสร้างคน สร้างบุคลากรตั้งแต่เริ่มต้น ผู้ผลิตหน้าใหม่ๆ รวมถึงผู้ผลิตที่เคยทำงานอยู่แล้ว รวมถึงไปร่วมมือกับผู้ผลิตที่เป็นมืออาชีพ อันนี้เรียกว่าสร้างคน อันที่ 2 สร้างสื่อ สื่อที่สร้างไม่จำเป็นที่กองทุนฯ ต้องไปสร้างเองทั้งหมด สื่อดีๆ ที่มีอยู่แล้วก็มาต่อยอดส่งเสริมเผยแพร่ในตลาดต่อไป
ส่วนโครงการนี้ เป็นเรื่องที่เราได้คุยกับบริษัทป่าใหญ่ ในนามที่เขาเป็นองค์กรที่ทำเรื่องสารคดีโทรทัศน์ พอดี Duck Academy ไปดังอยู่ต่างประเทศพอดี ความจริงเราคุยกันเรื่องจะฝึกอบรมทำโครงการอบรมผู้เขียนสารคดีซึ่งทางป่าใหญ่เขามีประสบการณ์และมีผู้ผลิตหลายรายที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ กองทุนก็คิดจะร่วมมือกันในการทำโครงการฝึกอบรมผู้เขียนสารคดี พอดี Duck Academy เป็นสปริงบอร์ด กลับเข้ามาในประเทศไทย เราจึงใช้โอกาสนี้ในการปลุกให้คนกลับมาสนใจเรื่องการผลิตสารคดี ซึ่งวันนี้เรากำลังจะตอบกับสังคมว่าจริงๆ แล้วคนไทยมีฝีมือ มีความรู้ความสามารถและผลงานสามารถไปแข่งขันในต่างประเทศได้ มีรางวัลเยอะแยะมากมายที่เคยได้รับ เขาเรียกว่าขุมทรัพย์ ด้านความรู้ความสามารถและประสบการณ์เรามีอยู่แล้วจึงอยากเอาตรงนี้มาสร้างกลไกลในการถ่ายทอด จึงเป็นที่มาในความร่วมมือกันวันนี้
อย่างที่เรียนว่าเราคุยกันก่อนหน้านั้นแล้ว เราเจอกันก็จะพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรที่จะร่วมมือกันสร้างผู้ผลิต ความจริงกองทุนฯ สนใจในหลายๆ กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่เฉพาะสารคดีอย่างเดียว เรามีโครงการในการสอนเขียนบทละครโทรทัศน์ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว เราร่วมมือกับสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ที่พี่แดง -ศัลยา สุขวิวัฒน์ ตอนนี้เป็นที่ปรึกษาสมาคมและเป็นนายกสมาคม เปิดโครงการนี้ให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้ามาอบรม อบรมเสร็จก็ให้นำเสนอผลงาน เขียนกันสดๆ ในWorkshop เขียนบทละครโทรทัศน์ แล้วก็ต่อยอดเอามาสร้างจริงด้วย วันนี้มีผลงานคนที่ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรนักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่ทำเสร็จแล้ว ชื่อโครงการว่า Hello Thailand ซึ่งเดือนสิงหาคมจะมีหนังสั้นไปออกที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส สารคดีเราก็จะทำคล้ายๆ กัน
สำหรับคนที่สนใจอยากจะพัฒนาตัวเองในการทำสารคดีทางโทรทัศน์ เราจะเตรียมความพร้อมให้ เรามีมืออาชีพ เรามีองค์ความรู้ เรามีคนที่มีประสบการณ์สอนเทคนิคต่างๆ แล้วเวลากองทุนทำงาน กองทุนจะให้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติ จุดยืนของกองทุนเราไม่ได้ทำงานในเชิงตั้งรับ แต่รุกด้วยถ้ารู้ว่าในไลน์การผลิต โปรดักชั่นต่างๆ ตรงไหนดีเด่นดัง ตรงไหนน่าสนใจเราก็จะเข้าไป
เมื่อขอให้ ดร.ธนกร ช่วย Spoil สาระที่สารคดีเรื่องนี้ต้องการสื่อ “ ผมคิดว่าเป็นการสะท้อนการปะทะของโลกที่เป็นสังคมชนบทของสังคมเกษตร กับโลกทุนนิยมที่มีการค้า การลงทุน การผลิตขนาดใหญ่ ซ่อนอยู่ในสารคดีด้วย การต่อสู้เพื่อรักษาวิถีแบบธรรมชาติ พยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ปลอดจากสารเคมี วิถีชีวิตในชนบทจริงๆ มันเป็นอะไรที่งดงามเป็นคุณค่าดั้งเดิม แต่มากระทบกับความเจริญในโลกวัตถุหรืออุตสาหกรรมสมัยใหม่ มันเป็นการสะท้อนการเปลี่ยนแปลง หรือการเคลื่อนตัวของสังคมที่ออกมาในรูปแบบสารคดี ในแง่ของโปรดักชั่น เทคนิคการถ่ายดีมาก ถือเป็นสื่อน้ำดี ได้ทั้งรูปแบบ และเนื้อหาเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่จะมาสร้างสรรค์สารคดี เป็นต้นแบบที่ดีทีเดียว”
ศักยภาพ Content Creator ของไทยไปได้ระดับโลก
“งานผลิตของเมืองไทย จริงๆ เรามีผลงานที่ดีเยอะ แต่หลายครั้งที่เราเห็นว่าผู้ผลิตทำงานไปโดยลำพังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่มีอยู่น้อยมาก หลายชิ้นงานคนไทยไม่รู้จัก แต่ไปดังในต่างประเทศ ไปได้รางวัลมากมาย แล้วก็เช่นเดียวกันไปได้รางวัลกลับมาแล้วคนไทยถึงหันมาสนใจดู
“ส่วนเรื่องนี้ด้วยความที่โลกโชเชียลค่อนข้างเข้าถึง ทำให้คนได้รู้จัก ไม่แปลกที่จะเป็นโอกาสให้คนไทยได้กลับมาดู เมื่อได้ดูแล้วเชื่อว่า หลายคนมีแง่มุมต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป สิ่งที่เราต้องการคือ เราต้องการให้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ผลิต และเป็นกำลังใจให้ผู้ผลิต เดิมตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานดีๆ อยู่แล้ว ที่สำคัญเราเชื่อว่าถ้าวันหนึ่งเรามีผู้ผลิตที่มีคุณภาพ มีจำนวนที่มากพอ ผลงานก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น คุณภาพก็มีให้เลือกมากขึ้น เราก็จะสามารถส่งชิ้นงานไปต่างประเทศได้มากขึ้น ปีหนึ่งไม่ใช่เรื่องเดียว อาจจะหลายๆ เรื่อง แล้วไม่ใช่สารคดีเรื่องเดียว อาจจะมีละครซีรี่ หรืออาจจะมีภาพยนตร์ ซึ่งวันนี้ทั่วโลกให้ความสนใจประเทศไทย ณ วันนี้ที่โด่งดังมากๆ คือ King The Land ที่เกาหลีมาถ่ายทำในประเทศไทย กองทุนสื่อฯทำงานร่วมกับเกาหลีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เขารู้ว่าเรามีของดีเยอะมาก เคยเชิญชวนเขาอยากให้มาถ่ายทำในประเทศไทย เราก็แอบยิ้มอยู่ในใจว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งตอนที่ เราไปทำความร่วมมือกับ Korea Creative Content Agency (KOCCA) ก็ดี หน่วยงานในเกาหลีก็ดี เราอยากเห็นความร่วมมือในงานผลิตระหว่างไทยกับเกาหลี เราเห็นเขามาถ่ายทำ King The Land ไปเช็คอินตามจุดต่างๆ Duck Academy ก็เช่นเดียวกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นในหลายสิ่งหลายอย่าง”
“อยากบอกว่าจริงๆ แล้วคนไทยในงานโปรดักชั่นมีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ มีหลายคนที่ผลงานดีมาก เราเพียงแต่เข้าไปต่อยอด หลายๆ ครั้งเราไม่ได้ไปเริ่มต้นเลย เราไปต่อยอดไปสนับสนุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยก็มีหลายหน่วยงาน ความจริงกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นหน่วยงานเล็กๆ มีงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด เราก็บอกกับหน่วยงานที่ทำงานคล้ายๆ กับเราว่ามาร่วมมือกับเราเถอะ เราสามารถจับมือกันได้ เราพร้อมที่จะเดินเข้าไปหาทุกหน่วยงานที่เราเชื่อว่าสามารถเป็นพันธมิตรและเครือข่ายเราได้ ถ้าวันหนึ่งในระดับนโยบายภาครัฐ เห็นความสำคัญของงาน Content หรือสื่อที่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างจริงจัง มีมาตรการในการส่งเสริมสนับสนุนที่ชัดเจน เราเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างความก้าวหน้าการเติบโต”
จุดกำเนิด Duck Academy
สุริยนต์ จองลีพันธ์ ผู้กำกับสารคดี Duck Academy เล่าถึงความเป็นมาของสารคดีเรื่องนี้ให้ฟังถึงการการเดินทางของ Duck Academy ที่ใช้ระยะเวลาเดินทางถึง 10 ปี ก่อนจะมาถึงวันนี้
Duck Academy เกิดขึ้นในปี 2556 หรือเมื่อ10 ปีก่อน ทีมงานของ “รายการหอมแผ่นดิน” ได้พบลุงสมนึก ชาวนาจากจังหวัดลพบุรีมีวิธีทำนาโดยใช้เป็ดกำจัดศัตรูพืช ออกอากาศใน “รายการหอมแผ่นดิน” ตอน “ชาวนาทระนง” ออกอากาศทาง ช่อง 9 อสมท.HD รายการได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำในปี 2556 โดยมี ธกส. หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้การสนับสนุน ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเห็นคุณค่าและรักในความเป็นประเทศเกษตรกรรมของแผ่นดินไทย
ต่อมา ป่าใหญ่ ครีเอชั่น นำสารคดี Duck Academy ออกไปเผยแพร่และจำหน่ายในตลาดโลก จนได้รับรางวัล Best ASEAN Project Pitch จากเทศกาล Asian Side of the Doc (2561) และ Best Short Documentary จาก Devour The Food Film Fest ที่ประเทศแคนาดา (2562) นอกจากนี้ ยังฉายในเทศกาลสารคดีนานาชาติและสถานีโทรทัศน์หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สวิสเซอร์แลนด์, โปแลนด์, โครเอเชีย, เม็กซิโก, แคนาดา, ไอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และสิงคโปร์ รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ทั่วโลก เช่น Deutsche Welle และ NHK World ฯลฯ
Duck Academy โรงเรียนกินนอนสอนเป็ด เป็นสารคดีเกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการผลิตอาหารปลอดภัยของชาวนาไทยที่ไม่ยอมใช้สารเคมีในการทำนา แต่ฝึกเป็ด 3,000 ตัว ให้เป็นผู้ช่วยกำจัดศัตรูพืชและให้ปุ๋ยอินทรีย์ สารคดีเรื่องนี้ผสานการเล่าเรื่องอย่างน่ารัก สนุกสนาน จนได้รับคำชมจากคณะกรรมการเทศกาลสารคดีที่ประเทศแคนาดาว่า “มีเทคนิคเล่าเรื่องที่แปลกใหม่”
จากวันนั้นถึงวันนี้ ครบ 10 ปีพอดีที่ สารคดี Duck Academy เรื่องราวของลุงสมนึกได้นำฝูงเป็ดบินกลับบ้านมาให้คนไทยได้เห็นว่า การเป็นชาวนาที่ว่ายากแล้ว แต่การเป็นชาวนาที่ตั้งใจผลิตข้าวปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคนั้นเป็นเรื่องยากกว่า เพราะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม การเคารพในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ การพึ่งพาอาศัย และการเห็นคุณค่าของผู้มีพระคุณ
หลายคนที่ได้ชมสารคดี Duck Academy โรงเรียนสอนเป็ด ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องราวของเป็ดสร้างความสนุกสนาน แต่แฝงไปด้วยเนื้อหาสาระ และชื่นชมลุงสมนึก ที่สามารถฝึกเป็ด 3,000 ตัว ให้ปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างพร้อมเพรียง สะท้อนให้เห็นถึงความอดทน และความเพียรพยายามในการฝึกเป็ด เพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย
สำหรับผู้สนใจ รวมตลอดถึงบรรดา Content Creator สารคดี Duck Academy มีกำหนดฉายตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ไปจนถึง วันที่ 3 สิงหาคม 2566 ที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ สามย่าน
ส่วนใครที่ไม่มีโอกาสได้ดูในโรงภาพยนตร์ ก็คงต้องลุ้นกันว่า จะมีโอกาสได้ชม Duck Academy ในเวอร์ชั่น On Air ทางโทรทัศน์หรือเปล่า เพราะแว่วว่า มีความพยายามที่จะนำไปออกอากาศอยู่ด้วยเหมือนกัน