ฟื้นตำนาน “หางเครื่อง” วงดนตรีลูกทุ่ง ภารกิจสร้าง Soft Power

สำหรับมิตรรักแฟนเพลง คอเพลงลูกทุ่ง นอกจากนักร้องประจำวงที่เป็นขวัญใจต้องหอบหิ้วพวงมาลัยไปคล้องคอแล้ว การแสดงความอลังการของ “หางเครื่อง” ที่ต้องจัดชุดใหญ่ ไฟกระพริบ ยิ่งแสงวิบวับ พู่นกประดับสีสันตระการตามากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ของวงดนตรีลูกทุ่ง

ในยุคก่อน หางเครื่อง เหมือนจะเป็นของมีครู เน้นความสวยงามของชุด ท่วงทำนองการเต้นที่พร้อมเพรียง แต่ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนจาก “หางเครื่อง” กลายเป็น “แดนเซอร์” ของดีของเก่าเอกลักษณ์แบบเดิมๆ กลายเป็นของหาดูได้ยาก

“ดนตรีนั้นคือชีวิต
จังหวะคอยลิขิตให้ชีวิตก้าวไป
แสงสีที่สวยสดใส
นั้นเป็นจิตใจที่สดใสเสรี
เสียงปรบมือ คือกำลังใจ
ให้ต่อสู้ไป อย่าได้ถอยหนี
ความภาคภูมิใจที่มี
เกียรติยศศักดิ์ศรี
..จากพวงมาลัย”

ท่อนฮุกเพลง หางเครื่อง ผุดขึ้นมาในความหัวทันทีเมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่กิจกรรมเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา บริเวณลาน Meeting Point ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ซึ่งกลายเป็นสถานที่รวมตัวของกลุ่มคนและหน่วยงานที่มีเป้าหมายร่วมกัน ในการฟื้นฟู สร้างสรรค์ต่อยอด ศิลปะวงการเพลงลูกทุ่ง ให้เป็น Soft Power ด้านศิลปวัฒนธรรม เรียกว่าวันนั้นเป็นการจำลองเวทีเพลงลูกทุ่งขนาดย่อมๆ ฟื้นบรรยากาศความทรงจำดีๆให้กลับมาอีกครั้ง ภายใต้กิจกรรม “จัดประกวดหางเครื่อง” ซึ่งเป็น 1 ใน 5 กิจกรรมของ โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสร้างเครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปในการเข้าถึง รู้จัก อนุรักษ์ และสร้างสรรค์ต่อยอดการเต้นหางเครื่อง เพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ครบรอบ 84 ปี

การแสดงจากหางเครื่อง รุ่นเก๋าวงดนตรีครูสุรพล สมบัติเจริญ อาทิ แดงต้อย-อุษา แก้วนิยม, เนตรแก้ว แววสุดา อุไรวรรณ บัวเนียม, เดือนรัตน์ โสธรบุญ ย้อนยุคให้ชมว่า สมัยก่อนเขามีลีลาท่าทางอย่างไร โดยมี ครูอ๊อด โฟร์เอส ร้องเพลงสด ๆ กล่อม และยังมีช่วงพิเศษจากคุณ ละอองดาว โสธรบุญ (อดีตนักร้องฝาแฝดชื่อดังที่สุดในไทย ละอองดาว สกาวเดือน) ร่วมร้องเพลง เสียงตอบจากเวียดนาม ให้ฟังกันสด ๆ

จาก “หางเครื่อง”สู่ “แดนเซอร์”

กิจกรรมที่ดูจะเป็นไฮไลท์ คือ วงเสวนา “จากหางเครื่องเปลี่ยนผ่านสู่แดนเซอร์” ซึ่งเป็นการเสวนาที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะด้วยความสุข ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร. สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการวิจัย “ลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล” กับ เคน สองแคว ดีเจลูกทุ่งคนดังที่มีความรู้ลึกเรื่องเพลงลูกทุ่งทุกยุคสมัย โดยมีบรรดากูรูลูกทุ่งร่วมเสวนามากมาย อาทิ ครูนพพร พิกุลสวัสดิ์ ซึ่งเป็นครูสอนหางเครื่องและรีวิวประกอบเพลงวงดนตรีสายัณห์ สัญญา-ศรชัย เมฆวิเชียร ยุคเฟื่องฟู คุณอ๊อด โฟร์เอส เจ้าของคณะหางเครื่อง ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าพ่อรำวงชาวบ้าน คุณปิ๋ม ซีโฟร์ นักออกแบบท่าเต้น Choreographer ผู้คิดท่าเต้นเพลงลูกทุ่งยอดนิยมยุคใหม่ที่เราคุ้นหู และ คุณแหวด อรอนงค์ นครสวรรค์ น้องสาวฮาย อาภาพร แดนเซอร์มืออาชีพ ร่วมด้วย หางเครื่องสาวสวยตั้งแต่ยุคเก๋าจนถึงยุคร่วมสมัยที่ชินตากันในปัจจุบัน

ครูนพพร “ครูสอนเต้นยุครีวิว+จินตลีลาตัวพ่อ”

ครูนพพร พิกุลสวัสดิ์ เล่าว่า ยุคก่อนวงลูกทุ่งมีการแสดงเด่น ๆ 2 แบบ คือ การเต้นแนวยุโรป เป็นของ วง “เพลิน พรหมแดน” และที่โดดเด่นมากคือ วง “สายัณห์ สัญญา” เป็นการเต้นแบบรีวิวประกอบเพลง จินตลีลา ที่คล้าย ๆ มิวสิค วิดีโอ ในยุคนี้ แต่แสดงกันสด ๆ เช่นเพลง “ผู้เสียสละ” จะมีฉากแต่งงาน นางเอกกำลังจะแต่งงานกับคนอื่น พระเอกเป็นคนจน อยากไปร่วมงาน แม่พระเอกไม่ให้ไป เพราะกำลังจะให้ลูกชายบวช เจ้าภาพจะไม่ให้พระเอกเข้างาน แม่ถือผ้าไตรตามมา นางเอกลุกจากตั่งที่กำลังจะรดน้ำสังข์วิ่งมาหาพระเอก แม่รีบเอาผ้าไตรมาให้ลูก เจ้าภาพมาดึงนางเองกลับไป แล้วสายัณห์ก็ร้องเพลงเข้าท่อน…“ไปเถิดทั้งคู่ ไปสู่ประตูสวรรค์ น้ำสังข์จะหลั่งลงพลัน ด้วยมือพี่หลั่งรดให้….”

 

ครูนพพรเล่าว่า ยุคนั้นเช็คกันที่คนดู เพลงเศร้ามีคนดูร้องไห้ตามไหม ถ้าไม่ร้องไห้แสดงว่า เราไม่มีความสามารถ

แม่แดงต้อย และเพื่อน ๆ “ชีวิตหางเครื่องรุ่นเก๋าที่ห้ามยิ้มตอนเต้น”

หางเครื่องรุ่นเก๋าจากวงดนตรีครูสุรพล สมบัติเจริญ แดงต้อย-อุษา แก้วนิยม, เนตรแก้ว แววสุดา และ อุไรวรรณ บัวเนียม โดยมีแม่แดงต้อยเล่าให้ฟังว่า เริ่มทำงานตอนอายุ 12 ปี เพราะเป็นลูกสาวของบ้านทำโรงละคร จึงชอบร้องรำทำเพลงตั้งแต่เด็ก ตอนเย็นไปเต้นที่ร้านไก่ย่าง ได้เงินมาช่วยทางบ้าน วันหนึ่งครูสุรพลมากินที่ร้าน ได้เห็น จึงเป็นหนทางเข้าสู่อาชีพหางเครื่องในวงดนตรีที่ดังที่สุดของยุคนั้น “สุรพล สมบัติเจริญ” 

 

หางเครื่องตอนนั้นต้องเคาะเครื่องดนตรีหลายชนิดเป็น เข้าจังหวะดนตรี ต้องเต้นเป็น แต่ยุคนั้น ครูไม่ให้ยิ้ม ให้วางหน้าเฉย ๆ ถ้ายิ้มร่าตอนเต้น เข้าหลังเวทีจะโดนเขกหัว ถ้าเป็นยุคนี้ก็หมายถึงเอ็งจะไปอ่อยใครเขา อะไรแบบนี้เลย จะเห็นได้ว่าหางเครื่องยุคเก๋าเค้าจะสีหน้าเรียบ ๆ ไม่ยิ้มร่าเริงแบบยุคนี้ 

 

หางเครื่องรุ่นแม่ นอกจากเคาะเครื่องดนตรีเข้าจังหวะได้ดีแล้ว ยังต้องแสดงเป็นด้วย เพราะแต่ละเพลงจะมีการแสดงประกอบ เช่นเพลงน้ำตาจ่าโท ครูสุรพลเขาจะเป็นพ่อ ฉันเป็นลูก ครูเป็นทหารด้วย ขายขนมปลากริมไข่เต่าด้วย มีฉากกอดลูก (ตอนเพลงร้องว่า “ลูกเอ๋ยแม่จากเจ้าไป พ่อยังเลี้ยงได้นะลูกยา) ร้องเพลงไปต้องร้องไห้ไปด้วย บางทีแสดงหลาย ๆ รอบ ครูชักจะร้องไห้ไม่ออก ก็เอายาหม่องมาทาที่หน้าผากฉัน พอพ่อกอดลูกซบมาที่หน้าลูก โดนยาหม่อง น้ำตาก็ไหลได้… (ผู้ชมหัวเราะพร้อมปรบมือเกรียวกราว)

 
ครูอ๊อด โฟร์เอส “จากคาเฟ่สู่เจ้าพ่อรำวงชาวบ้าน”

จากชีวิตที่ทำมาหากินในคาเฟ่ ทั้งร้องเพลง แสดงตลก (วงลอยฟ้า วงชูศรี เชิญยิ้ม วงศรีหนุ่ม เชิญยิ้ม ฯลฯ)  เกิดพลิกผันเมื่อเสี่ยบุญเลี้ยงตาย วงการคาเฟ่ตกต่ำ ชีวิตย่ำแย่ ตอนนั้นเป็นอัมพฤกษ์ เดินไม่ได้ ปากเบี้ยว แต่มีเมียที่เคยเป็นหางเครื่องวงพุ่มพวง ก็เลยช่วยกันคิดหาวิธีทำมาหากิน จับลูกหลานในบ้านมาช่วยกันตั้งวงรับเต้น เป็นหางเครื่องให้ทุกวง รับงานกับวงลูกทุ่งทั่วไป พอผ่านไป ก็คิดทำแบบนางรำ คือเอาวงเต้นลูกทุ่งมาทำเพราะผมอยากให้ลูกทุ่งเดิม ๆ กลับมา แบบมีละครเพลง มีแบบเดิม ทำสองครั้งไม่สำเร็จ มาดีตอนทำรำวงชาวบ้าน ผมเอาเพลงเก่า ๆ กลับมา รับงานไปทั่ว จนเพลงเก่า ๆ กลับมาดัง คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก เช่นเพลง เสียงเรียกจากหนุ่มไทย (สุรพล สมบัติเจริญ) และเพลงแก้ เสียงตอบจากเวียดนาม (ละอองดาว โสธรบุญ)     

 
ปิ๋ม ซีโฟร์ “ ผู้นำหางเครื่องสู่แดนเซอร์ยุคปัจจุบัน”

ปิ๋ม ซีโฟร์ นักเต้นรองชนะเลิศ ท็อปสตาร์พาเหรด ช่อง 3 แดนเซอร์สไตล์แจ๊ส ที่พลิกผันมาเป็นนักออกแบบท่าเต้นของเพลงลูกทุ่งยุคใหม่ ที่เริ่มเปลี่ยนผ่านจากเพลง “รักจริงให้ติงนัง” ของ รุ่ง สุริยา จนบางทีก็มีคนเรียกเธอว่า “ปิ๋ม ติงนัง” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำให้เธอได้มาออกแบบท่าเต้นให้เพลงลูกทุ่งยุคใหม่

ตอนนั้น พี่วิทยา ศุภพรโอภาส ให้โอกาสบอกว่า มีศิลปินคนนึงดังมากจากเพลง “วอนพ่อตากสิน” ซึ่งเราไม่รู้จักหรอกว่าใคร พอไปเจอกันเราก็รู้สึกปิ๊ง เพราะเรารู้สึกว่าคนนี้มีแววจะต้องดัง เลยตัดสินใจเลย พอเราไปออกแบบท่าเต้นให้กับ รุ่ง สุริยา เพลงติงนังก็ดังเปรี้ยงขึ้นมา เราเลยกลายเป็น ปิ๋ม ติงนัง ไปพักใหญ่

การออกแบบท่าเต้นให้เพลงลูกทุ่งของปิ๋ม แตกต่างจากยุครีวิวประกอบเพลง และจินตลีลาโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะเราต้องทำงานให้ค่ายเพลง และต้องทำตามที่ตลาดต้องการ นักเต้นจะยิ้มร่า ถ้าเป็นยุคแม่แดงต้อย แดนเซอร์รุ่นนี้คงไม่ได้ทำงาน (หัวเราะ) และการแต่งกายก็แตกต่างกันออกไป ให้เข้ากับยุคสมัย

ก่อนหน้านั้น ครูอ๊อด โฟร์เอส บอกว่า ชาวลูกทุ่ง จะแต่งกายแบบให้เกียรติตัวเอง ให้เกียรติผู้ชม ไม่เหมือนยุคนี้ ซึ่งทางปิ๋ม ซีโฟร์ ขอใช้สิทธิ์พาดพิงว่า ในปัจจุบัน อาจมีการแต่งกายที่ดูล่อแหลมบ้างเพราะเราทำงานให้ธุรกิจที่เขาต้องการ แต่ไม่ให้นักเต้นเสี่ยงมาก มีการป้องกัน และบางเพลงก็ไม่จำเป็น เช่น รักจริงให้ติงนัง แต่งตัวคล้ายทหาร ท่าเต้น เราก็ไปศึกษาการเดิน การทำท่าทางของทหารที่กองเรือยุทธการฯ มาจริง ๆ

รักเพลงลูกทุ่งน้อยๆ แต่ขอให้รักนานๆ

ทั้งบรรยากาศ การแสดง และสาระเล่าสู่กันฟังของคนในวงการ พาใจอิ่มเอมปิติ งานนี้ต้องสิบนิ้วพนมกราบแทบอกผู้เกี่ยวข้องที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ไล่เรียงรายนามตั้งแต่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ซึ่งสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัย “โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล” คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ สถาบันอุดมศึกษา ผู้ทำหน้าที่สกัดองค์ความรู้เพื่อรับใช้ประชาชน ศูนย์การค้าเอ็มบี เค เซ็นเตอร์ ผู้สนับสนุนสถานที่ และท่านอื่นๆที่มิอาจเอ่ยนามได้ทั้งหมด

ความภารกิจนี้สำเร็จมากน้อยอย่างไรเป็นเรื่องของอนาคต และการทุ่มเท แน่นอนว่า การฟื้นตำนานอาจไม่ถึงขั้น เกิด Big Bang  เสียงออดอ้อนของสายัณห์ สัญญา ประโยคที่ว่า รักสายัณห์น้อยๆ แต่รักสายัณห์ นานๆ ก็น่าจะพอนำมาปรับใช้กับเป้าหมายที่จะเดินไปให้ถึงกันได้


ดร.สุกัญญา “เจ้าของโครงการวิจัย ดร.จากอังกฤษผู้รักเพลงลูกทุ่งและลิเกไทย”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีและหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า กิจกรรมประกวดหางเครื่องจะรับสมัคร นักเรียนนักศึกษา อายุ 15-22 ปี มาร่วมสร้างทีมส่งเข้าประกวด โดยจะจัดควบคู่ไปกับการเสวนาย่อยที่จะมุ่งถอดบทเรียนและจัดการองค์ความรู้ที่ได้รับจากศิลปินลูกทุ่งของแต่ละภาคและเครือข่ายศิลปิน รวมทั้งนักวิชาการลูกทุ่งไทยที่ได้สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้เป็นอย่างดี  ซึ่งทางคณะนิเทศศาสตร์เตรียมพร้อมดำเนินโครงการนี้มาเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว 

ภารกิจที่สำคัญทางด้านการศึกษา วิชาการ วิชาชีพและงานวิจัยต่อยอดองค์ความรู้ เป็นภารกิจที่คณะนิเทศศาสตร์ให้ความสำคัญมาตลอด ซึ่งโครงการนี้เราได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกในทุกองค์ประกอบของการสร้างสรรค์เพลงลูกทุ่ง ทั้งครูเพลง นักร้อง นักดนตรี หางเครื่อง ห้องบันทึกเสียง ผู้จัดจำหน่าย และอีกหลายภาคส่วนที่ประกอบสร้างเป็นเพลงลูกทุ่งไทยซึ่งเป็นศิลปะ วัฒนธรรมสำคัญที่คนไทยชื่นชอบมาตลอด โดยจะประกาศกำหนดการ กติกา และรางวัล ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

ติดตามกติกาการสมัครและแข่งขันที่จะกระจายไปใน 4 ภูมิภาค ได้ที่
https://www.facebook.com/commartschulaoffcial