ผนึกกำลังเดินหน้าจัดทำคู่มือ ‘ฮาวทูสื่อ’ ข่าวความรุนแรง

เหตุการณ์กราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหนองบัวลำภูสะท้อนความเสื่อมทรุดของสังคมในภาพใหญ่ ขณะที่เสียงตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนก็เซ็งแซ่ตามมา เป็นการตอกย้ำว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ “มีปัญหา” ไม่แตกต่างจากสภาพการณ์ของสังคมโดยรวม โดยเฉพาะข้อหามุ่ง “ขายข่าว” โดยขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อจริยธรรม และจรรยาบรรณ

“ปัญหาที่สื่อไม่มีจริยธรรม ไม่มีจรรยาบรรณ ไม่มีแนวปฏิบัติ หรือมี แล้วไม่ปฏิบัติก็ไม่ต่างอะไรกับสภาพการณ์ที่มีนักการเมือง แล้วไม่ได้ทำหน้าที่นักการเมือง” ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สรุปรวบยอดท่าทีของสังคมที่มีต่อบทบาทสื่อมวลชนในการรายงานข่าวสถานการณ์ความรุนแรงอย่างตรงไปตรงมา

แน่นอนว่าโศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภูไม่ใช่บททดสอบแรก เพราะเกิดปราฏการณ์ทำนองนี้มาหลายครั้ง ไม่ว่าการกราดยิงที่โคราช การจับเด็กเป็นตัวประกัน การปล้นร้านทอง การระบายความเคียดแค้น ซึ่งหากดูข้อมูลย้อนหลังในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีมาต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การครอบครองอาวุธปืน หรือจากภาวะกดดันในการทำงาน ฯลฯ

 

“ทั้งหมดนี้สรุปว่าสังคมมันอยู่ยากมากขึ้น สังคมมันไม่น่ารัก เริ่มที่จะไม่น่าอยู่มากขึ้น ในภาวะแบบนี้การทำหน้าที่ของสื่อก็ยากมาก สื่อจะต้องยืนหยัดจริง ๆ อย่าพูดในเชิงอุดมคติ ถ้าเราอยากเป็นสื่อที่ต้องการสะท้อนสภาพความเป็นจริงของสังคมเพื่อส่งสัญญาณเตือนเวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ไม่ใช่มาสรุปบทเรียนกันอีกแล้ว

 

“แต่เราต้องไปไกลถึงขั้นที่ว่า สื่อต้องบอกกับสังคมว่ามันเกิดอะไรขึ้น และเราจะรับมืออย่างไร ซึ่งพอพูดแบบนี้มันเป็นเรื่องอุดมคติมาก เพราะกลับมาที่ตัวสื่อมีปัญหา เคสนี้ (กราดยิงที่หนองบัวลำภู) ก็มีสื่อหลักเกือบ 10 ช่องที่ถูก กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เรียก

 

“แปลว่าสื่อยังพอใจกับการทำงานแบบเทา ๆ อยู่ พอใจที่จะแย่งซีนในที่เกิดเหตุโดยไม่คำนึงถึงหลักความถูกต้อง หลักสิทธิมนุษยชน ผลกระทบทางสังคม การคำนึงเรื่องความรุนแรง การสร้างภาพจำให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ซึ่งในอนาคตอาจจะส่งผลเสียหายเกินกว่าที่เราจะคาดคิด แย่งกันเล่าเรื่องในลักษณะเร้าอารมณ์ซึ่งไม่เคยหยุดเลย แล้วที่สุดก็ยอมรับว่าแข่งกันที่เรตติ้ง นี่คือสิ่งที่ต้องยอมรับ

 

“ครั้นจะมาทำอย่างที่สื่อควรจะทำหน้าที่จริง ๆ เหมือนกรณีแตงโมที่จะอธิบายภาพที่สังคมควรจะได้ประโยชน์ เช่นว่า การกู้ภัยทางน้ำ ถ้าเราเจอกับตัวเองจะต้องทำอย่างไร หรือการจะเดินทางไปไหนมาไหนจะต้องมีทักษะดูแลตัวเองอย่างไร อย่างนี้เราแทบจะไม่เห็นเลย นี่คือมิติที่ขาดหายไปในการทำหน้าที่ของสื่อ

“ทีนี้กรณีหนองบัวลำภูมันไปไกลมากกว่านั้น เพราะแม้แต่สื่อระดับโลกมันก็ไม่ได้มีมาตรฐานอะไรให้เราเห็นเลย (นักข่าว CNN เข้าไปถ่ายภาพในอาคารเกิดเหตุ) มันอาจจะสะท้อนถึงความล้มเหลวของทฤษฎีสื่อสารมวลชนที่เราเคยมองมาตลอดว่า สื่อมวลชนเป็นเหมือนกับสถาบันหนึ่งในสังคม อันนี้จะต้องทบทวนมากเลย เฮ้ย มันเป็นภาพของความสวยหรูที่เราใช้สอนกันภายในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวเหรอ

 

“หนึ่ง สื่อต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่เลย ข้อเท็จจริงขายยาก ดราม่าดีกว่า เรตติ้งเยอะดี สอง สื่อต้องให้ความรู้ ความรู้คนดูน้อย เอาเรื่องที่ยั่วกิเลสตัณหาดีกว่า คนดูเยอะดี เพราะเล่นกับกิเลสคนเนี่ย เหมือนเล่นกับน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ง่ายไง สาม สื่อต้องทำให้คนยึดมั่นในศีลธรรม คุณธรรม นี่เป็นนิยามสื่อที่ดีจากกองทุนสื่อฯ

 

“เอาเข้าจริงคนทำสื่อรู้ ไม่ใช่ไม่รู้ โดยเฉพาะสื่อหลัก แต่เวลาทำ ทำอีกแบบ เวลามองว่าสื่อทำหน้าที่หรือไม่ทำหน้าที่ ผมอยากให้มองไปไกลกว่านั้น อยากให้มององค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมไม่โทษสื่อมวลชนอย่างเดียวหรือโทษคนอยู่หน้าจอ แต่มองไปถึงว่าสถานีว่ามีนโยบายยังไง ช่องมีนโยบายยังไง คุณไม่รู้หรือว่าจรรยาบรรณที่ถูกต้องของสื่อสารมวลชนเป็นอย่างไร โดยส่วนใหญ่ทุกคนอยู่ในวงการคร่ำหวอดมา 40-50 ปี

 

“นี่พูดสื่อหลักที่เราเรียกว่าเป็นสื่อมวลชนก่อนนะ แต่ถ้านโยบายไม่ชัด เฮ้ย พิธีกรคนนี้ดี มีคนติดตามเยอะ มันไม่ได้ดีเพราะเขาทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดี แต่เพราะเขาเป็นผู้ดำเนินรายการที่เรียกเรตติ้งได้ นโยบายแบบนี้จะให้คนหน้าจอทำยังไง เพราะฉะนั้นโทษใครไม่ได้ ในเมื่อมันเริ่มต้นการประมูลใบอนุญาตมาแพง ๆ ก็ต้องหาเงิน ต้องทำรายได้

 

“แต่ว่าสิ่งที่เราเรียกร้อง เราไม่ได้ปฏิเสธมิติทางธุรกิจ เราต้องการการสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยความอยู่รอดทางธุรกิจกับหลักจรรยาบรรณที่ดีของสื่อ ยากมากนะเรื่องนี้ กองทุนสื่อฯ เกิด เพราะปัญหานี้ เราโทษใครไม่ได้เลย เราจึงอยากให้มีการส่งเสริมมากขึ้น อันนี้เราก็เรียกร้องตัวเองเหมือนกันว่า สื่อดีต้องสร้าง และต้องส่งเสริม”

สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน

 

ดูเหมือนสิ่งที่ ดร.ธนกรกล่าวมาไม่ง่ายที่จะหาทางออก เพราะปัญหานี้เกี่ยวพันกับหลายส่วน “ทางออกคือต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ซึ่งจะทันต่อสถานการณ์หรือเปล่าไม่รู้ เพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมันมาเร็วมาก มาแรงมาก เฉพาะหน้าเราเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรกำกับดูแล เช่น กสทช. กองทุนสื่อฯ องค์กรวิชาชีพ คนทำงานด้านสื่ออาจจะต้องมาหารือกัน

 

“ข้อแรกเลยคือ เวลาเกิดอะไรขึ้นแบบนี้จะต้องมี ‘คู่มือ’ สำหรับทุกฝ่าย เราจะเรียกร้องให้สื่อมวลชนมีคู่มือฝ่ายเดียวไม่พอว่าพื้นที่ไหนเข้าได้ ภาพแบบนี้ไม่ควรถ่าย ภาพแบบนี้ไม่ควรแชร์ ข่าวแบบนี้ไม่ควรเขียน ไม่ควรระบุชื่อผู้เสียหาย ไม่ควรเขียนบรรยายพฤติกรรมผู้ก่อเหตุเพื่อจะสร้างความเป็นฮีโร่ จะต้องเป็นคู่มือของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย หรือคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นคนแรก เขาต้องรู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร

 

“ส่วนที่สองเจ้าหน้าที่ที่ไปถึงจะจัดการกับพื้นที่อย่างไร หรือการจัดการกับความเสียหายเฉพาะหน้าจะทำอย่างไร การสื่อสารในภาวะวิกฤตจะต้องทำอย่างไร ทุกวันนี้ไม่มีเลย ไม่มีแนวปฏิบัติสำหรับใครเลยก็ตาม และต่อมาคนที่ไม่ใช่สื่อมวลชน แต่มีกล้องมีมือถืออยู่ในมือ พร้อมที่จะโพสต์ พร้อมที่คอมเมนต์ คุณควรต้องทำยังไง ก็ต้องมีคู่มือ และประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์หรือไทยมุง คนที่รับสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ทุกคนมีหน้าที่หมด”

 

จะเห็นได้ว่าความเกี่ยวข้องที่เชื่อมโยงกันในสถานการณ์วิกฤตหนึ่งนั้น มีผลกระทบที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งผู้จัดการกองทุนสื่อฯ แนะว่า เฉพาะหน้า ถ้ายังไม่สามารถหาทางป้องกันได้ก็ควรมีการตกลงกันเรื่องแนวปฏิบัติก่อนว่า จุดสมดุลควรอยู่ตรงไหน และทางออกในอนาคตข้างหน้าควรเป็นอย่างไร องค์กรวิชาชีพจะสามารถทำหน้าที่ให้เข้มแข็งมากขึ้นได้หรือไม่

 

โมเดลกำกับดูแลสื่อมวลชน

 

พร้อมยกตัวอย่างเรื่องการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนว่า ในโลกนี้มี 3 โมเดล คือ “หนึ่ง กำกับดูแลโดยรัฐ 100% เช่น จีน เป็น state regulation อะไรทำได้ไม่ได้รัฐเป็นคนชี้ และต้องปฏิบัติ รอบ ๆ บ้านเรายังมี เช่น มาเลเซียมีระบบเซ็นเซอร์คือก่อนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจก่อนได้ เมืองไทยเรายกเลิกระบบเซ็นเซอร์ไปนานแล้วก็คือให้เซ็นเซอร์ตัวเอง เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปแล้วหน่วยงานรัฐสามารถตรวจสอบคุณได้ทันที

 

“สอง ระบบกำกับร่วม co-regulation คือรัฐกำกับส่วนหนึ่ง ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบวิชาชีพมาร่วมกำกับส่วนหนึ่ง ประเทศไทยก็ใช้แบบนี้ กสทช.ส่วนหนึ่ง องค์กรวิชาชีพส่วนหนึ่ง เช่น ในกอง บก.ต้องตรวจสอบเนื้อหาเองก่อนไม่ต้องให้ใครมาตรวจสอบ เมื่อรัฐไม่ตรวจสอบแล้วคุณก็ต้องตรวจสอบเองก่อนเผยแพร่ เกิดอะไรขึ้นคุณก็ต้องรับผิดชอบ

 

“สาม การกำกับดูแลกันเอง หรือ self-regulation ซึ่งประเทศไทยยังห่างไกล ตอนไปดูงานญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลสื่อในหน่วยงานของรัฐ ถ้าจะไป อาจจะไปเจอกระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร และมีเจ้าหน้าที่ที่ติดต่อกับสื่อแค่ 2-3 คน เหมือนแค่ผู้ประสานงาน เพราะเขาไม่มีเคสที่ต้องวินิจฉัยว่าสื่อปฏิบัติผิดหลักการหรือจรรยาบรรณของสื่อ

 

“ถ้ามีเรื่องร้องเรียนเขามีองค์กรวิชาชีพจัดการกันเอง จบเลย นี่คือการกำกับดูแลกันเอง เคสร้องเรียนมันจะน้อยมาก เขาไม่มีการละเมิด ยุโรปหลายประเทศก็มีตัวแบบที่ดี เช่น เบลเยียม กสทช.เบลเยียมบอกว่า ปีหนึ่งมีเคสร้องเรียนแค่ 3 เคส มันน้อยมาก เจ้าหน้าที่แทบไม่มีงานทำ เยอรมันก็ค่อนข้างน้อย

ทางออกในระยะสั้น – ระยะยาว

 

ในโลกพัฒนาแล้ว สื่อมวลชนสามารถกำกับดูแลกันเองได้ แต่เป็นเรื่องอุดมคติสำหรับบ้านเรา และไกลมากที่จะไปถึงจุดนั้น จะมีข้อดีอยู่บ้างที่เรามีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่ต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบด้วย หรือต้องมีจุดตรงกลาง ทางกองทุนสื่อฯ จึงมุ่งให้ความสำคัญไปยังประชาชนผู้รับสาร คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน

 

“เราไม่มีทางเลือกอื่นเลย จะต้องรณรงค์ ซึ่งวันนี้ไปคุยกับน้องนักข่าวใหม่ ๆ จบนิเทศศาสตร์จบสื่อสารมวลชน เขาสอนไหมการสื่อสารในภาวะวิกฤต น้องอาจจะตอบไม่ได้นะ เพราะมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้จำลองสถานการณ์จริง ๆ อาจจะมีแต่หลักการกว้าง ๆ แล้วพอถึงสนามจริงไม่เห็นภาพเลย

 

“ในระยะสั้นจึงต้องร่วมมือกันทำคู่มือ แต่ระยะยาวจะกลับไปที่สถาบันการศึกษา เราอาจจะต้องรื้อกระบวนการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมดโดยเฉพาะการเรียนรู้วิชานิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชน อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ต้องเป็นเจ้าภาพหลักสูตรใน 4 ปี คือ หนึ่ง สอนเรื่อง media literacy (การเท่าทันสื่อ) ไปดูต้นแบบกระทรวงศึกษาแคนาดาก็ได้ เขาทำยังไง เขาเรียนวิชาอะไร เขาฝึกการคิดวิเคราะห์ยังไง เขาฝึกการสื่อสารยังไง

 

“สอง การสื่อสารเชิงบวก ซึ่งกองทุนสื่อฯ พร้อมจับมือกับรัฐบาลในการทำสองเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นยากมาก เกิดเหตุขึ้นอีกก็เป็นแบบเดิมอีก เราก็พูดกันซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนรู้สึกบางทีมันวนอยู่ในอ่างมันไม่ไปไหน เกิดทีก็ถอดบทเรียนที สรุปบทเรียนที ออกข่าวกันทีหนึ่ง นักจิตวิทยาก็มาบอกว่าไม่ให้เผยแพร่ภาพความรุนแรง มันจะเกิดภาพจำ จิตมันจะตกหดหู่ และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า มันก็วนอยู่แบบนี้ แล้วแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรได้ไหม ไม่ได้เลยนะ ไม่ได้เลยจริงๆ

 

“สาม คือสร้างเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก เวลาเกิดเหตุแล้วแถลงเลยว่าเกิดเหตุสิ่งแรกที่ต้องระวัง เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเหตุการณ์เจอนักข่าวขอเข้าไปเขาจะทำยังไง เขาไม่รู้ นักข่าวยิ่งเป็นตัวดื้ออยู่แล้ว แค่ขอก็เข้าไปข้างในแล้ว เพราะนักข่าวเขาอยากได้ข่าว แต่เจ้าหน้าที่ถ้าไปถึงก่อนขึงเชือกเลยหรือตีเส้นก่อน ถ้าล้ำเส้นคุณผิด ถ้าเจ้าหน้าที่ยังไม่ถึง ใครจะไปบอกว่าคุณปิดก่อนเท่าที่ปิดได้ เราไม่มีการจำลองสถานการณ์แบบนี้ มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก”

 

สร้างองค์กรวิชาชีพสื่อที่เข้มแข็ง

 

สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ดร.ธนกร บอกว่า อาจจะเตือนสติกันชั่วคราว ทุกคนรู้ว่าสะเทือนใจ ไม่มีใครกล้าที่จะเอาเรื่องนี้มาหาประโยชน์ทางธุรกิจ เพียงแต่อย่าเผลอ เนื่องจากการทำข่าวอาชญากรรมในปัจจุบันก็ยังมีการละเมิดทั้งผู้ก่อเหตุและผู้ถูกกระทำ หรือผู้เสียหาย แตกต่างจากตัวอย่างเหตุการณ์ 9/11 ที่ไม่ปรากฏภาพศพให้เห็นเลย นั่นเพราะทั้งสื่อและประชาชนในที่เกิดเหตุมีความเข้าใจ

 

ถามว่า ระหว่างมีองค์ความรู้แล้วไม่ปฏิบัติกับไม่มีองค์ความรู้ในการจัดการเรื่องนี้ ให้น้ำหนักด้านไหนมากกว่ากัน “สองส่วน คนที่เป็นประชาชนรู้เท่าไม่ถึงการเยอะอยู่ และมีพลังเพราะเขาสามารถเป็นสื่อเองได้ แต่ไม่ใช่สื่อมวลชน การเป็นสื่อได้ จิตเขาอาจไม่ได้คิดร้ายหรอก เขาไม่ได้มีเจตนาทำร้ายใคร แต่มีการแชร์ภาพความรุนแรงกันในไลน์เยอะมาก เพราะรู้เท่าไม่ถึงการ คนเหล่านั้นไม่ใช่คนชั่วอะไร ไม่ใช่คนมีปัญหาทางศีลธรรมด้วยซ้ำ แต่ทำไปเพราะความไม่รู้ เพราะสังคมไม่ได้บอกเขา กลุ่มนี้ให้อภัยได้ เพราะไม่รู้ แต่มีผลมากเหมือนกัน ต่างจากกลุ่มสื่อมวลชนที่รู้ แต่มีเหตุผลความจำเป็นในเชิงธุรกิจ”

 

เราแทรกขึ้นว่า จึงยังมีคำถามจากสื่อว่า (ผู้สูญเสีย) รู้สึกยังไง และคนในสังคมก็รุมกันด่าว่าไม่มีคำถามที่ดีกว่านี้แล้วหรือ? “ประชาชนเดี๋ยวนี้ฉลาดขึ้น และหลายครั้งสื่อสังคมออนไลน์ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบสื่อหลัก และสื่อหลักที่เฟค แต่การที่ไม่รู้ และรู้แล้วไม่ปฏิบัติ ความยากในการทำให้มันดีขึ้นมันพอกัน สำหรับผม ผมอยากเห็นการลุกขึ้นมาของผู้ประกอบวิชาชีพที่จะเรียกตัวเองให้เป็น ‘องค์กรวิชาชีพที่เข้มแข็ง’ และมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างผู้ปฏิบัติอาชีพที่ต้องทำด้วยจิตวิญญาณ ทำด้วย code of conduct กับผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการ

 

“แต่ทุกวันนี้คนที่นั่งหน้าจอก็เป็นเจ้าของกิจการเอง ทุกคนก็ทำเป็นธุรกิจสื่อ ธุรกิจพิธีกร ธุรกิจอีเวนต์ แล้วก็มาเป็นสื่อมวลชนด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ องค์กรกำกับดูแลก็อาจจะต้องแยกให้ชัดเจนว่า อันไหนเป็นแรงจูงใจเชิงบวกสำหรับคนทำดี ทำหน้าที่สื่อมวลชน หรือเป็นองค์กรที่ยืนหยัดการทำหน้าที่ในการรักษามาตรฐาน ก็ต้องให้กำลังใจกันและกองทุนสื่อฯ ก็อยากจะเข้าไปร่วมมือ

 

“แต่องค์กรไหนแย่ เผลอไม่ได้ เผลอขายข่าว อันนี้ก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ กสทช.และเราจะต้องไปช่วย กสทช.คิด ส่วนประชาชนทั่วไป กระทรวงศึกษาฯ กองทุนสื่อฯ หรือภาคประชาสังคมอาจจะต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะสื่อสาธารณะ เช่น ไทยพีบีเอส หรือแม้แต่ สสส. ต้องร่วมกันสร้างให้เกิดเป็น social movement หรือองค์กรที่เน้นการส่งเสริมศีลธรรม ความเป็นมนุษย์ จะต้องจับมือกันสร้างให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม มันจะไปไกลกว่าการใช้กฎหมาย หรือการใช้งบประมาณ

 

“คนมันต้องตื่น มันต้องระเบิดออกมาจากข้างใน มันต้องมีความรู้สึกว่าปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้แล้ว เราอยากเห็นพลเมืองที่ตื่นรู้และมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เช่น ถ้าช่องไหนมีการรายงานข่าวแบบเรียลลิตี้จะต้องเกิดทัวร์ลงเป็น social sanction (การลงโทษทางสังคม) เพราะหลายครั้งเราไปรายงานข่าวที่เข้าทางผู้ก่อเหตุ

 

“อย่างเช่น กราดยิงที่โคราช แทนที่ผู้ก่อเหตุจะถูกจัดการโดยเจ้าหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น กลายเป็นส่งข่าวให้ผู้ก่อเหตุ รู้เลยว่าผู้เสียหายอยู่ตรงไหนอย่างไร มันน่าเศร้ามาก มันทำได้อย่างไร คุณเป็นสื่อแบบไหนอ่ะ คนดูจึงต้องมีสติมาก ๆ การที่คุณดูแล้วสนุก คุณกำลังทำร้ายคนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม สนุกแบบรู้เท่าไม่ถึงการ”

 
วิธีปฏิบัติในกองบก. อาจมีปัญหา

 

อีกประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม นั่นคือขาดการส่งต่อวิธีปฏิบัติในกองบรรณาธิการ “มันไม่มีรากไม่มีพื้น โทษเขาก็ไม่ได้ เพราะกระบวนการบ่มเพาะหรือการเตรียมคนให้พร้อมไปปฏิบัติหน้าที่มันไม่พอ สื่อต้องการแข่งขัน แต่คนปฏิบัติหรือนักข่าวยังไม่พร้อม การลงทุนด้านบุคลากรเราน้อยมาก หลายช่องลงทุนทำสตูดิโอเป็นร้อยล้าน คุณทำได้นะ แต่ให้ฝึกอบรมนักข่าวหน้าใหม่สักสามเดือนเป็นภาระ เป็นต้นทุน อันนี้ก็เป็นช่องว่าง ซึ่งกองทุนสื่อฯ ก็คิดว่าจะเอามาทำเอง

 

กล่าวอย่างถึงที่สุด คนขับรถยังต้องมีใบขับขี่ ตำรวจก็ต้องฝึกการใช้อาวุธ คนเป็นสื่อก็ต้องผ่านการฝึกฝนเพราะมีปากกามีคีย์บอร์ดเป็นอาวุธด้วยเช่นกัน ซึ่งกองทุนสื่อฯ อยากให้ผู้รับสารหรือผู้ชมแยกแยะระหว่างบทบาทสื่อกับสื่อมวลชนให้ออก โดยกองทุนสื่อฯ พร้อมร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพและผู้ประกอบการสื่อ เพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนใหม่ ๆ  ขณะเดียวกันก็จะจัดทำหลักสูตรหรือคู่มือสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อจะได้ทราบว่าก่อนที่จะคิดเขียนหรือโพสต์ ควรคำนึงถึงอะไรบ้างเพื่อจะได้ คิดดี ทำดี โพสต์ดี หรือตั้งสติดี ๆ ในการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร

สำหรับเหตุการณ์กราดยิงภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อบต.อุทัยสวรรค์ เกิดขึ้นที่อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ซึ่งนับเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ของประเทศไทย เนื่องจากเป็นการสังหารหมู่เด็กเล็กขณะนอนพักกลางวัน ซึ่ง ดร.ธนกรมองว่า เหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ถือเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะของสังคมไทย หรือนี่คือการส่งสัญญาณเตือนสภาพของสังคมที่มันทรุดตัวลงหรือไม่ เป็นคำถามที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันขบคิด โดยเฉพาะบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนก็ต้องมาร่วมกันคิดทั้งองคาพยพ ไม่เช่นนั้นสื่อมวลชนจะตกอยู่ในสภาวะไม่ต่างจากสังคมใหญ่ ซึ่งต้องยอมรับว่าถ้าสังคมใหญ่เราดูไม่ดี ไม่นิ่ง ไม่เป็นระบบ ไม่สงบเรียบร้อย ก็ไม่แปลกที่สื่อไม่มีทิศทาง แล้วก็ไม่ได้ยืนอยู่บนหน้าที่ที่ควรจะเป็น

 

นอกจากที่กล่าวมา หากสื่อมวลชนไม่ปรับบทบาทนี้ให้เป็นที่ยอมรับ ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐก็จะใช้กลไกทางกฎหมายเข้ามาจัดการหรือควบคุม และจะกลายเป็นประเด็นการแทรกแซงสื่อที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งองค์กรสื่อและสังคมไทยควรปิดโอกาสไม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อตกอยู่วังวนการลิดรอนสิทธิเพราะ ‘เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน’

Dr. Dhanakorn's

"สำหรับผม ผมอยากเห็นการลุกขึ้นมาของผู้ประกอบวิชาชีพที่จะเรียกตัวเองให้เป็น ‘องค์กรวิชาชีพที่เข้มแข็ง’ และมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างผู้ปฏิบัติอาชีพที่ต้องทำด้วยจิตวิญญาณ ทำด้วย code of conduct กับผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการ"