ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป หนังสือพิมพ์ตาย – แข่งขายข่าวดราม่า?

ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป (media landscape) อย่างสิ้นเชิง จนวันนี้กล่าวได้ว่าถึงจุดที่หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยจะไม่มีต่ออีกต่อไป เพราะไม่มีคนอ่านข่าวจากกระดาษอีกแล้ว ชื่อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน และฉบับอื่น ๆ จะเหลือเพียงความเป็น ‘สถาบัน’ แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปสื่อสารในช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งสื่อทั่วโลกก็ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางนี้เหมือนกัน ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์จำนวนไม่น้อยทยอยปิดตัวลง อย่างเช่น newsweek ที่หันไปทำสื่อออนไลน์

 

 “มันไม่อยู่แล้ว จะอยู่คล้าย ๆ สถาบัน อย่าง New York Times ทุกวันนี้เรายังอ่านอยู่ แต่อ่านในรูปแบบดิจิทัลและเชื่อมั่นแบรนด์อยู่ คุณยังคงความน่าเชื่อถือ มีเกียรติของแบรนด์คุณ เช่น มติชนยังมีอยู่ ไทยรัฐยังอยู่ แต่กระดาษจะไม่อยู่แล้ว วันก่อนจะอ่านหนังสือพิมพ์ไปหาซื้อยังไม่ได้” ดร.สังกมา สารวัตร อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉายภาพภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปสักพักใหญ่แล้ว

 

อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ในแง่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนด้านสื่อสารมวลชนจะต้องทำให้นักศึกษาเข้าใจ “ข่าว” ที่นำเสนออยู่ในแต่ละค่ายและแต่ละช่องทางด้วย เช่น สื่อไหนเป็นเสรีนิยม ใครเป็นขวากลางหรือซ้าย เพื่อแยกแยะให้ออกด้วย เพราะปัจจุบันสื่อมีการเลือกข้างชัดเจน ซึ่งอาจารย์สังกมาบอกว่า การเลือกข้างไม่ใช่ปัญหา แต่เลือกแล้วจะต้องมีความหลากหลายด้วย และที่มากกว่านั้นจะต้องเลิกเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship)

 

“อย่างตอนนี้พูดเรื่องประชาธิปไตย มีนักข่าวสายประชาธิปไตย และก็มีสายลิเบอรัล หรือเสรีนิยม ซึ่งต้องให้เด็กเห็นทั้งหมด อย่างสื่ออังกฤษเขาเปิดกว้าง แต่สื่อต้องเลิก self-censorship สื่อต้องพูดเรื่อง freedom of speech นี่คือแก่นของพวกเรา แต่ตอนนี้ self-censorship กันหมด

“ตอนนี้สังคมไทยมันเลือกข้างไปแล้ว ซึ่งก็ต้องไม่ให้ไปสุดขั้วแบบไทยภักดี ท็อปนิวส์ หรือใช้ hate speech ใช้วิทยุชุมชนแล้วไปล้อมเขา สื่อต้องทำหน้าที่ให้เกิด dialogue (สุนทรียสนทนา) ตรงกลางให้ได้ สื่อต้องพูดเรื่องที่คุณไม่เห็นด้วยได้ แต่พูดโดยมีวุฒิภาวะ อย่างในอเมริกามีช่อง newsmax ที่มีเฟคนิวส์และคนลุกฮือไปเผารัฐสภา นั่นก็คือการปลุกระดม อเมริกาก็พยายามใส่เรื่องประชาธิปไตยที่รับฟังกัน ซึ่งก็พูดยากถ้าเจ้าของไม่เอากับเราด้วย แต่ก็ต้องดึงให้มาพูดกันในหลักการให้ได้…

 

แน่นอนว่าภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อมีหลายมิติ รวมทั้งข่าวก็มีหลายประเภท ทั้งด้านที่ดีและด้านที่อันตราย ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้รับสาร แต่ถ้าถึงขั้นที่สื่อลงมือปลุกปั่น ชี้นำอย่างไม่รับผิดชอบก็ยากที่ผู้รับสารจะแยกแยะออก “ที่อเมริกาเราดูว่าไม่อันตราย แต่อันตรายนะ สหรัฐจะต่างกันเรื่องพรรคเรื่องความคิด ที่รวันดาที่ใช้วิทยุปลุกระดมให้คนฆ่ากันเพราะมีความต่างกันเรื่องเชื้อชาติ สามเดือนฆ่ากัน 8 แสน หรือในมาเลเซียต่างกันเรื่องศาสนา แต่บ้านเราไม่ใช่ เราคล้าย ๆ กัน เราไม่รู้จะฆ่ากันเพื่ออะไร เราอาจจะปลดนกหวีดออก ปลดสีส้มออกก็ปลอดภัย

 

“สิ่งที่เราขัดแย้งคืออุดมการณ์ซึ่งมันประหลาด ความขัดแย้งนี้มันไม่ทำให้ไปไหนเลย สื่อทำหน้าที่อะไรบ้าง ถ้าสื่อมวลชนเลือกข้างไปแล้วจะทำยังไง ซึ่งแก่นของมันจะต้องมีความหลากหลายหรือ pluralism ที่ต้องมีพหุความคิด นี่คือความฝันของประชาธิปไตย สื่อมวลชนต้องอนุญาตให้มีความคิดที่หลากหลาย… เรื่องเหลือง-แดง เอาเข้าจริง 10 กว่าปีผ่านมา เราก็ยังไม่ออกจากตรงนั้น”

 

อาจารย์สังกมาพูดถึงประเด็นบทบาทสื่อกับการเมืองเพราะสื่อมีหน้าที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับความอยู่ดีมีสุขของพลเมือง และทิศทางการพัฒนาประเทศด้วย

คนรุ่นใหม่ดูคนละแพลตฟอร์มกับคนยุคก่อน

ดร.สังกมา อธิบายความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นโดยยกสิ่งที่ มาร์แชล แม็คลูฮัน (Marshall McLuhan) นักวิชาการด้านสื่อสารชาวคานาดาเคยว่าไว้ในช่วงการปฏิวัติสื่อครั้งสำคัญที่เปลี่ยนจากสิ่งพิมพ์สู่โทรทัศน์ว่า “(รูปแบบ) สื่อนั่นแหละคือข้อความ (สิ่งสำคัญ)” (The medium is the message.)

 

นั่นหมายถึงสื่อเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ความสัมพันธ์เปลี่ยน แม้จะเป็นทฤษฎีเก่า แต่เมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเข้าสู่ยุค digital disruption ก็ได้ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ทั้งการเล่าข่าว (storytelling) การเล่าเรื่องด้วยภาพก็เปลี่ยน กลุ่มเป้าหมายก็เปลี่ยน และวิถีชีวิตผู้คนก็เปลี่ยน

 

ยุคสมัยของสื่อปัจจุบันต่างจากยุคที่อาจารย์สังกมาเคยวิ่งอยู่ในสนามข่าว เพราะนักข่าวยุคนี้ต้องทำได้ทุกอย่าง ทั้งถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ประเด็นต้องได้ ข่าวก็ต้องได้ กราฟฟิกก็ต้องได้ ต้องทำได้อยู่ในตัวคนเดียว ซึ่งได้เปลี่ยนคำเรียกเป็น content creator “ภาพที่เห็นชัดตอนมาสอนหนังสือ คนรุ่นใหม่ไม่ได้ดูแพลตฟอร์มเดียวกับเรา คนที่ดังมาก ๆ ในรุ่นเรา เรียกว่าเป็นปูชนียบุคคลที่เชิญมาบรรยายเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว เด็กไม่รู้จัก คนที่มาก็อึ้ง คนรุ่นใหม่ก็อึ้ง เพื่อน ๆ ก็โดนเลย์ออฟหายไปหมดเลย เพราะภูมิทัศน์สื่อมันเปลี่ยนไว”

นักข่าวพันธุ์เก่ากำลังจะหายไป?

ประเด็นที่อาจารย์ฉายภาพให้เห็นก็คือว่า ผลกระทบต่อคนที่โตมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ (journalism) ซึ่งเป็นนักข่าวพันธุ์เก่า เพราะองค์กรข่าวยุคใหม่ต้องการนักข่าวแบบ multi task ที่ทำได้ทุกอย่าง เช่น คลิปสั้น ๆ ที่เป็นกระแสไปวัน ๆ 2-3 วันก็หายไป นักวิชาการเรียกว่า trivialism ที่เป็นเรื่องเบา ๆ ไร้สาระ ส่วนข่าวที่มีความเป็น journalism ที่ลึกซึ้งและเป็นรากของการทำข่าวเจาะ เกาะติด ขุดคุ้ยในยุคอนาล็อค ซึ่งเป็นหลักของวิชาชีพสื่อที่ต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจ มันหายไป

 

“โลกรอบตัวมันเปลี่ยน แต่เราไปทำข่าวแค่ 15 วิ เลยเกิดเหตุการณ์อย่างลุงพล เอาเรตติ้ง นักข่าวก็มาบ่นว่าไปทำข่าวเจาะแล้ว บก.ไม่เอา ฝั่งองค์กรสื่อก็เปลี่ยน แต่ก่อนถ้ามติชนเปิดประเด็นจะหนาวกันทุกสำนัก แต่ทุกวันนี้ข่าวคล้าย ๆ กันหมด ลอกข่าวกันอีกต่างหาก ทุกวันนี้อ่านข่าวเหมือนกันทุกตัวอักษร

 

“เคยไปประชุมกับสมาคมนักข่าว เขาจะเรียกร้องนักข่าวต้องอย่างนั้นอย่างนี้ บอกว่าต้นน้ำสอนไม่ดี มหาวิทยาลัยสอนยังไง จริง ๆ ต้องดูกลางน้ำ ปลายน้ำ ดูองค์กรสื่อ ถ้าตามข่าวต่างประเทศ องค์กรข่าวจะต้องสอนให้นักข่าวโตมาเหมือนนักข่าวฝรั่ง”

 

ดร.สังกมายกตัวอย่าง นาโอมิ ไคลน์ (Naomi Klein) ที่เติบโตจากนักข่าว (ไคลน์เป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์หญิงชาวแคนาดาชื่อดังระดับโลกที่เขียนหนังสือวิพากษ์ทุนนิยม เช่น No Logo: Taking Aim at the Brand Bullies’, The Shock Doctrine: The Rise of Disaster Capitalism ฯลฯ) หรือ บ็อบ วูดเวิร์ด (Bob Woodward) ที่ทำข่าว watergate ทุกวันนี้ยังเข้มข้นกับการทำข่าว, คริสติอาน อมานปอร์ (Christiane Amanpour) นักข่าวและผู้ประกาศข่าวชื่อดังของ CNN ในลอนดอน หรือ มาเรีย เรสซา (Maria Ressa) นักข่าวฟิลิปปินส์ที่เพิ่งได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของนอร์เวย์ ประจำปี 2021  

 

“คนพวกนี้องค์กรจะให้ทำข่าวเจาะ ต้องมีเวลาอ่านหนังสือ องค์กรต้องสร้างกลไกให้นักข่าวทำข่าวเจาะ มีทีมวิจัยช่วยทำงาน ซึ่งเคยคุยกับสมาคมฯ ก็บอกว่านักข่าวนำเสนอภาพรุนแรง นักข่าวต้องมีจริยธรรม แต่คุณก็เป็น บก. ข้างใน ซึ่งคนที่ตำหนิก็เป็นหัวหน้ากันทั้งนั้นเลย หลังจากนั้นเขาก็ไม่เชิญเราอีกเลย (หัวเราะ) คุณก็เอายอดขายอยู่ดี แต่คุณเทศนาคนอื่น

 

“ประเด็นของเราคือว่า องค์กรสื่อต้องมีโครงสร้างสนับสนุนให้นักข่าวเติบโตสาย journalism อย่างเข้มข้น ยกตัวอย่าง นาโอมิ ไคลน์ ที่เขียนหนังสือโดยมาเชื่อมโยงกับข่าวซึ่งน่าอ่าน ซึ่งถ้าไม่ใช่นักข่าวนักวิชาการเขียนไม่ได้ ไม่สนุก ฉะนั้นต้องทำให้นักข่าวไปทำมากกว่าใช้ไปทำคลิปไปวัน ๆ บางทีมีสปอนเซอร์คอนเทนต์อีก”

 

เอาเข้าจริงแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าใครเป็นสื่อเพราะมีสื่อหลากหลายมาก และก็ตามมาด้วยปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ซึ่งคณะที่สอนด้านสื่อสารมวลชนต้องให้ความสำคัญเรื่องความน่าเชื่อถือ, การตรวจสอบ และความรับผิดชอบของสื่อต่อสังคม

 

“คนที่ห่วงว่าภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนจะปรับอย่างไร ซึ่งถึงเวลาหนึ่งก็ต้องการสื่อที่มีวุฒิภาวะเพื่อทำหน้าที่กรองเนื้อหา แต่จะทำอย่างไรให้อนาล็อคซ้อนกับดิจิทัลให้ได้ หรือเป็น data journalism ให้มีความเป็นนักข่าวที่แข็งแรง ไม่ใช่ไม่มีคนกลั่นกรอง วิชาชีพนิเทศฯ ต้องแข็งแรง แพลตฟอร์มจะเปลี่ยนอย่างไร แต่เราเป็นนักเล่าเรื่องก็เปลี่ยนแค่วิธีการเล่าเรื่องไป

 

“แฟร์น็อง โบรเดล (Fernand Braudel) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเขาพูดว่า ถ้ามองการเปลี่ยนแปลงจะใช้ระยะเวลาหนึ่ง ตอนนี้เราอยู่ในระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านของอิทธิพลเก่า จากสองขั้วอเมริกา-รัสเซีย มาเป็นอเมริกา รัสเซีย จีน มีบริคส์ มีอินโดฯ นี่คือการเปลี่ยน และมีการเปลี่ยนเทคโนโลยี เปลี่ยนเรื่องความแตกต่างของเจนเนอเรชั่นและคุณค่าบางอย่างทั่วโลกไปหมด เด็กเขาก็ work-life balance (ปรับสมดุลชีวิตทำงาน) ที่ แฟร์น็อง โบรเดล พูดช่วงของการเปลี่ยน ซึ่งถ้าใครมองไม่เห็นมันอันตราย บางคนมองไม่เห็นปลายคลื่นข้างบนที่มา”

สร้างการเท่าทันสื่อและสนับสนุนสื่อน้ำดี

จากพายุข่าวยุคโซเชียลมีเดียที่แข่งกันด้วยความเร็ว รวมทั้งสถานการณ์ที่สื่อเลือกข้างมากขึ้น ประเด็นที่ต้องพูดกันมากขึ้นก็คือเรื่องทักษะการเท่าทันสื่อ (media literacy) ของผู้รับสาร ซึ่งอาจารย์สังกมาบอกว่าแต่ละวันมีข่าวมากถึง 3-4 หมื่นชิ้น ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำลังทำเรื่อง media literacy ให้เป็นวาระแห่งชาติ

 

“กสทช.กำลังทำเยอะอยู่ แต่เริ่มช้า ต้องเข้าไปทำเป็นหลักสูตรตั้งแต่อนุบาล ที่เยอรมันเขาสอนว่าป้ายแบบนี้เชื่อได้มั๊ย ใส่ไปในทุก ๆ วิชา เรื่องสื่อมันอยู่ในทุก ๆ ส่วน ถ้าเราปฏิเสธสื่อ มองว่าไม่สำคัญ ไม่อยู่ในแผนโครงสร้างวิชา เสร็จเลย...ประเทศไทยมีการพูดเมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว พอใช้คำว่ารู้เท่าทันสื่อก็ดูเหมือนเขาไม่ใจใจเราหรือเปล่า หรือมาจับผิด หลัง ๆ มาจับผิดเฟคนิวส์ ไอโอ โฆษณาปลอม ยาปลอม ตอนนี้ก็เป็น digital literacy พ่อแม่เราแชร์ทุกวัน ซึ่งไทยต้องทำเป็นหลักสูตรจริงจัง

 

“ตอนนี้ (ดร.สังกมา) ก็ทำเรื่องนี้อยู่กับ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้งบฯ ดีอีเอส (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ก็ทำ ซึ่งทุกประเทศเขาทำมานานแล้ว ทำจริงจังมาก อย่างฟินแลนด์เขาพัฒนาครู ประเทศไทยไม่พัฒนาครู อาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานงกงก ครูให้ไปเฝ้าแม้กระทั่งตู้น้ำ ยุโรปไม่ต้องพูดถึงเขาเป็นวาระเป็นนโยบายเลย บ้านเราครูยังมาตัดขอบถุงนมให้เด็กจะเอาเวลาที่ไหนไปพัฒนา...แต่ของเราก็เริ่มทำแล้ว กสทช.ก็กำหนดไว้ในวาระ แต่สื่อก็ทำ อย่างรายการชัวร์ก่อนแชร์ ญี่ปุ่นนี่ทำเยอะมาก อย่างเรื่อง PDPA (พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล) ที่เราเอามา”

 

จะส่งเสริมสื่อที่ดีมีคุณภาพอย่างไร “คนทำหน้าที่ดูแลวิชาชีพสื่อ เช่น กสทช. ที่อังกฤษเขาเรียก ofcom เขาให้การช่วยเหลือสื่อ แต่ของเราไปตามดุ ตามไล่บี้ ซึ่งอีกขาที่ต้องเพิ่มคือ social media entrepreneurship อย่างเช่น จะให้ความรู้สื่อที่อาจจะไม่สามารถทำงานภายใต้องค์กรได้ แต่จะออกมาผลิตสื่ออย่างไรที่มีเรื่องจริยธรรมด้วย ซึ่ง กสทช.ที่ดูแลสื่อจะต้องทำหน้าที่ในการสร้างศักยภาพสื่อด้วย และต้องทำมากขึ้น

 

“หรือกองทุนสื่อฯ ก็ต้องจัดสรรงบฯ สนับสนุนการทำสื่อให้มีคุณภาพ ไม่งั้นเขาก็ต้องทำงานที่ตอบสนองสปอนเซอร์ อย่างเช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีงบสนับสนุนการทำสื่อแบบนี้ ไม่อย่างนั้นสู้ทุนนิยมไม่ได้ ส่วนลูกศิษย์ไม่มีใครอยากมาทำข่าว เพราะจนด้วย เหนื่อยด้วย ยากด้วย ตายก็ง่าย แต่ก็ถ้าให้ไปรับใช้ทุนนิยมไปกันเต็มเลย ยกมือไปดูงานแกรมมี่กันเต็มเลย

 

“ร้อยคนจะมีคนชอบด้านข่าวสักสิบคน ซึ่งมหาวิทยาลัยในแง่วิชาการต้องทำหน้าที่ public interest หรือประโยชน์สาธารณะ แต่ก็มีวิธีคิดว่าต้องวิ่งทำเงินด้วย ที่อื่น (บางประเทศ เช่น ตะวันตก) เขาไม่ให้ปริญญาใบแรกกับคณะนิเทศศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ เป็นวิชาที่ต้องไปฝังอยู่ในด้านมนุษยศาสตร์ ไม่เช่นนั้นคุณจะไม่มีความคิดเรื่องมนุษย์

 

“แต่ประเทศไทย มหาวิทยาลัยมันเปิดด้านนี้เยอะเพราะเด็กฮิต เด็กอยากเป็นนักสร้างหนัง อยากเป็นยูทูปเบอร์ แต่จริง ๆ คุณต้องสร้างให้เขาเป็นมนุษย์ด้วย เช่น ที่ มช.เขาบังคับเรียนด้านสังคม ซึ่งก็ขึ้นกับ core ของแต่ละมหาวิทยาลัย เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาว่าจะใส่อะไรเข้าไป เพราะมหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้างพลเมือง แต่มหาวิทยาลัยไปวิ่งลู่หาเงิน อาจารย์ก็วิ่งไปทำเรื่องประเมิน”

สมาคมวิชาชีพสื่อต้องปรับวิธีคิด

การแทรกแทรกแซงสื่อก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง หรือรับใช้ทุนมากจนเกินไป และได้พูดถึงการกำกับกันเองมานาน ซึ่งในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงนี้มีคำถามเช่นกันว่าสมาคมวิชาชีพสื่อควรมีบทบาทอย่างไร ทั้งเรื่องความน่าเชื่อถือ เรื่องจริยธรรม และจรรยาบรรณ “ปัญหาของเขาคือเรื่องคนแต่ละรุ่น และแก่นของมันคือ freedom of speech (เสรีภาพในการพูด) เรายังพูดกันไม่ได้เรื่องการตรวจสอบกันเอง เรื่อง พ.ร.บ.สื่อก็ยังเถียงกันอยู่

 

“ในแง่องค์กรวิชาชีพสื่อต้องมาถามตัวเองเหมือนกัน เพราะเขายังเทศนาเด็กกันอยู่เลย นักข่าวด้วยซ้ำที่ไปยื่นหนังสือถึงรัฐบาล (เรื่องความปลอดภัยการทำข่าวม็อบ) ไม่ใช่ให้มันเจ็บก่อนจะได้เป็นหลักฐาน  เขา (สมาคมวิชาชีพ) ต้องทันกับการ disrupt ด้วย องค์กรวิชาชีพสื่อต้องขยาย mind set ตัวเองในการทำงานกับคนรุ่นใหม่หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนยังไง...ไม่ใช่นั่งคุยกันเอง แต่ต้องเชิญนักวิชาการที่หลากหลายเข้ามาด้วย ไม่ใช่กลุ่มซ้ำ ๆ”

 

หมายถึงถ้าไม่ขยับเรื่องนี้สมาคมวิชาชีพก็เลิกพูดเรื่องจรรณยาบรรณ “เรื่องจรรยาบรรณก็ต้องดูว่าพูดบนฐานอะไร เช่น เรื่องความเป็นกลาง บางเรื่องก็เห็นชัดอยู่ เราต้องรักษา marginal voice (เสียงข้างน้อย) ด้วย สื่ออยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และต้องผลักดันเรื่องนี้ คุณต้องคิดตรงนี้ก่อน

 

“คำว่า Democratization นักวิชาการเรียกว่า กระบวนการทำให้มันเป็นประชาธิปไตย แล้วมันจะขึ้นเป็นเวฟ นักวิชาการทั่วโลกเขาทำ ซึ่งประเทศไทยถอยหลังและเสรีภาพสื่อก็ถอยหลัง มีงานวิชาการศึกษาบอกว่าประเทศไทย reverse ซึ่งขาสำคัญคือ สื่อมวลชนต้องพูดให้สมดุล พูดเรื่องจริยธรรมก็ต้องพูดเรื่อง freedom of speech ด้วย และต้องเปิดพื้นที่ให้หลากหลาย

 

“ถ้าอ่านหนังสือน้อยเมื่อไหร่ ตัวเราก็มีปัญหาเหมือนกัน นักวิชาการทั่วโลกที่เขาพูดกัน มันจะมีเปเปอร์ใหม่ ๆ มีนักข่าวรุ่นใหม่ ๆ อย่างที่เซียร์ราลีโอนทำงานเข้มข้น สื่อมีเกียรติ นักข่าวแก่ ๆ ยังวิ่งภาคสนามอยู่ ของเราพอแก่หน่อย ใส่สูท กินไวน์แล้ว นักข่าวก็คือนักข่าว”

 

อะไรเป็นเงื่อนไขให้เสรีภาพสื่อบ้านเราแย่ลง “อยู่ที่จะให้น้ำหนักอย่างไร พอมีเรื่องทุน เขา (ยกตัวอย่างนักข่าวบางคน) ก็ไม่เอา เพราะไม่อิสระ มันเกิดอะไรขึ้นที่สื่อไม่ทำหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตย คำตอบก็คือ ประชาธิปไตยไทยมันกำลังถอยหลัง สมัยก่อนดาไลลามะ อองซานซูจีก็มาเมืองไทย ใคร ๆ ก็มาเมืองไทย มาเจรจา peace talk เดี๋ยวนี้เขาไม่มา มาแล้วโดน...หมด

 

“ประเทศไทยมันไม่ได้เป็นเจ้าแม่ด้านประชาธิปไตย อินโดนีเซียมันเอาไปแล้ว ประเทศไทยมันอยู่ที่เดิมมา 10 กว่าปี เราไปเรียนสิงคโปร์ สิ่งที่สิงคโปร์กลัวคือ คนไทยสามัคคีกัน เราสามัคคีกันเมื่อไหร่มันสู้ไม่ได้ มันดีใจมากที่เราทะเลาะกันอยู่อย่างนี้ ไม่ไปไหน นักข่าวก็ต้องคุยกับคนที่หลากหลาย คุณไปอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำหมดแล้ว ใส่สูทผูกไท แก่นของคุณต้องอยู่กับผู้คน นี่คือนักข่าว”

 

แม้สื่อจะมีข้อจำกัดเรื่องทุน แต่อาจารย์สังกมาย้ำว่า สื่อต้องมีบทบาทส่งเสริมประชาธิปไตย เพราะถือเป็นหน้าที่ ส่วนเรื่องทุนเป็นหน้าที่ กสทช. กองทุนสื่อฯ หรือ สสส. ที่จะต้องสนับสนุนสื่อที่มีคุณภาพ นี่คือโจทย์ที่สมาคมวิชีพสื่อต้องมาคุยกันในเรื่องนี้

ดร.สังกมา สารวัตร