คนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น
แนวโน้มมลพิษลดลง

มลพิษอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ และเป็นหนึ่งในพันธกิจที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและหันไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการคมนาคมและขนส่งซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุการก่อมลพิษอากาศ

 

ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ถือได้ว่ามีการปรับตัวและเปลี่ยนโฉมเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างมีนัยสำคัญ อย่างเช่น หลายประเทศในยุโรปได้ประกาศนโยบายยกเลิกจำหน่ายรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิง ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

โจทย์สำหรับบ้านเราก็คือจะสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้คึกคักมากขึ้นได้อย่างไร เช่น มาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อาทิ แบตเตอรี่ สถานีชาร์จ การลดภาษีนำเข้า ฯลฯ ซึ่งจนถึงขณะนี้ถือได้ว่ามีแนวโน้มที่ดีโดยมีรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภทรวมกันประมาณ 3 แสนคัน

 

แต่ประเด็นที่น่าสนใจและมีความสำคัญไม่แพ้การเพิ่มปริมาณรถไฟฟ้าคันใหม่บนท้องถนนก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV Conversion นั่นก็คือการนำรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงที่มีอายุการใช้งานมานาน หรือรถเก่าเกิน 10 ปี ไปดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้าเหมือนที่ช่วงก่อนหน้านี้มีการนำรถยนต์ไปติดตั้งระบบแก๊ส เพื่อประหยัดค่าน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีบางหน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนการทำรถยนต์ดัดแปลง เช่น กฟผ. แต่ราคาค่าเปลี่ยนอุปกรณ์อาจจะยังสูงอยู่

 

อย่างไรก็ตาม มีคำถามตามมาอีกด้วยว่า เมื่อจำนวนรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งกลุ่มซื้อรถยนต์ใหม่และการนำรถเก่าไปดัดแปลง แล้วเครื่องยนต์รถเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจะนำไปทิ้งที่ไหน เพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะเกลื่อนเมือง คำตอบที่ได้ในเบื้องต้นก็คือ สามารถนำเครื่องยนต์เก่าเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรได้

 

ยกตัวอย่าง ประชาชนนิยมกำจัดวัสดุทางการเกษตรด้วยวิธีการเผาทำลายและเป็นสาเหตุในการก่อมลพิษหรือฝุ่น PM2.5 ดังนั้น เพื่อลดแหล่งกำเนิดฝุ่นควัน จึงจะต้องหาทางลดการเผาในที่โล่งของภาคการเกษตรลง โดยส่งเสริมและสนับสนุนการใช้วัสดุทางการเกษตรเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ เช่น นำเครื่องยนต์เก่าไปผลิตก๊าซชีวภาพ นอกจากนั้นยังนำไปผลิตถ่านชีวภาพหรือไบโอชาร์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรแล้ว ยังสามารถช่วยแก้ปัญหามลพิษอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย