วิกฤตยูเครน – สงครามข้อมูลข่าวสาร ชุดความจริงที่ต้องแยกแยะและชั่งน้ำหนัก
สงครามในยูเครนทำให้เกิดความขัดแย้งด้านทัศนะทางการเมืองของพลเมืองโลกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกเรามีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กล่าวคือความขัดแย้งจากฝ่ายที่เป็นคู่กรณี (รัสเซีย-ยูเครนและชาติตะวันตก) และความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเห็นใจและหรือสนับสนุน (รัสเซีย-ยูเครนและชาติตะวันตก)
ความแตกแยกแบบขั้วตรงข้าม ทำให้ Narrative (วิธีการบอกเล่าเรื่องราว) ของความขัดแย้งในยูเครนแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ยังไม่นับความพยายามของบางประเทศที่จะวางตัวเป็นกลาง ซึ่งหากประเทศนั้นสามารถควบคุมสื่อหรือทัศนะของประชาชนได้ ก็ถือเป็นอีกกรณีต่างหาก ความหลากหลายของ Narrative ในการเล่าเรื่องสงครามในยูเครน จึงเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง และเป็นเรื่องท้าทายมากในการอธิบายปรากฏการณ์นี้
การเสพข่าวความขัดแย้งของสงครามจากสื่อในแต่ละขั้ว จึงต้องรู้จักแยกแยะและชั่งน้ำหนัก เพื่อทำความเข้าใจปรากฎการณ์ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ไม่ให้เราหลงเข้าใจผิดไปตามทิศทางการนำเสนอของสื่อซึ่งถูกแทรกแซงและควบคุม (รวมทั้งมีการนำข่าวสารเหล่านั้นมาปั่นกระแสให้เกิดการเลือกข้างอีกด้วย)
กรณีศึกษาสื่อรัสเซีย
เสรีภาพของสื่อในรัสเซียถูกจำกัดอย่างเข้มงวด และสื่อของรัฐรัสเซียนำเสนอมุมมองอย่างเป็นทางการของรัฐบาลรัสเซีย โดยเฉพาะสื่อที่ควบคุมโดยรัฐ เช่น Russia-24, Russia-1, และ Channel One ส่วนใหญ่เป็นไปตาม Narrative ของรัฐบาลรัสเซียเกี่ยวกับสงคราม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะให้ภาพในด้านบวกของประเทศรัสเซียและลดทอนความเสียหายของฝ่ายรัสเซียในการรุกรานยูเครน นอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแลขู่ว่าจะบล็อกการเข้าถึงวิกิพีเดียภาษารัสเซียในรัสเซีย และปรับวิกิพีเดียเป็นเงินสูงถึงสี่ล้านรูเบิล (50,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ฐานเผยแพร่บทความเกี่ยวกับการบุกรุกยูเครน ซึ่งสะท้อนถึงการบาดเจ็บล้มตายในหมู่พลเรือนยูเครนและบุคลากรทางทหารของรัสเซีย โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 หน่วยงานกำกับดูแลขู่ว่า จะบล็อกการเข้าถึงวิกิพีเดียภาษารัสเซียเกี่ยวกับบทความ “Вторжение России на Украину (2022)” (“รัสเซียบุกยูเครน (2022)”) โดยอ้างว่าบทความนี้มี “ข้อมูลที่เผยแพร่อย่างผิดกฎหมาย” รวมถึง “รายงาน” เกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในหมู่เจ้าหน้าที่บริการของสหพันธรัฐรัสเซียและประชากรพลเรือนของยูเครนรวมถึงเด็ก ๆ” (1) (2)
แต่ก็ยังมีชาวรัสเซียที่พยายามแหกกำแพงเหล็กของการปิดกั้นสื่อ เช่น เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 Marina Ovsyannikova บรรณาธิการของ Channel One ขัดจังหวะการถ่ายทอดสดเพื่อประท้วงการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยถือโปสเตอร์ที่เขียนเป็นภาษารัสเซียและภาษาอังกฤษว่า “หยุดสงคราม อย่าเชื่อโฆษณาชวนเชื่อ, ที่นี่คุณกำลังถูกหลอก” แต่ผลของการต่อต้านเรื่องเล่าของทางการรัสเซียก็คือ Ovsyannikova ถูกจับและถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจมอสโก สำนักข่าว Tass กล่าวว่า เธออาจถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายว่าด้วยการทำให้กองทัพเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ฉะนั้นการเผยแพร่ข่าวออกสู่สาธารณะโดยมุ่งเป้าไปที่การทำลายชื่อเสียงของกองทัพรัสเซียจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และห้ามการแพร่กระจาย “ข่าวปลอม” หรือ “การเผยแพร่ข้อมูลเท็จโดยจงใจเกี่ยวกับการใช้กองกำลังของสหพันธรัฐรัสเซียในที่สาธารณะ” (3) ซึ่งข่าวปลอมในที่นี้อาจจะไม่ใช่ข่าวปลอม แต่เป็นข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสถานะของรัฐบาลและกองทัพรัสเซีย เช่น การเปิดเผยยอดทหารที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมากกว่าตัวเลขที่ทางการระบุ
อีกตัวอย่างก็คือ ทางการรัสเซียปิดกั้นการเข้าถึง Echo of Moscow และ Dozhd (TV Rain) สถานีโทรทัศน์อิสระแห่งสุดท้ายของรัสเซีย โดยอ้างว่าพวกเขาเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับกองทัพรัสเซียและเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรง (4) Novaya Gazeta หนังสือพิมพ์อิสระวิจารณ์รัฐบาลรัสเซียต้องระงับการพิมพ์ หลังได้รับคำเตือนจาก Roskomnadzor ซึ่งทำการสืบสวนสื่ออิสระของรัสเซียหลายแห่ง ฐานเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสงครามหรือการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน ซึ่ง Roskomnadzor เป็นหน่วยงานบริหารของรัฐบาลกลางรัสเซียที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ ควบคุม และเซ็นเซอร์สื่อมวลชนของรัสเซีย พื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม กำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย การปกป้องความลับของข้อมูลส่วนบุคคลที่กำลังดำเนินการ และการจัดระเบียบงานบริการคลื่นความถี่วิทยุ
กรณีศึกษายูเครนและสื่อตะวันตก
กรณีของยูเครนและชาติตะวันตกที่สนับสนุนยูเครน ไม่มีพฤติกรรมเรื่องการเซนเซอร์สื่อที่ชัดเจนเหมือนกับรัสเซีย แต่ก็หนีไม่พ้นการถูกกล่าวหาด้วยเช่นเดียวกับรัสเซีย นั่นก็คือ สื่อยูเครนและชาติตะวันตกล้วนถูกกล่าวหาว่าโฆษณาชวนเชื่อ และก่อสงครามข้อมูลในระดับต่าง ๆ
โดยทั่วไปแล้ว สื่อยูเครนและชาติตะวันตกกำหนดสถานะตัวเองว่า มีความเป็นกลางมากกว่ารัสเซีย นอกจากจะพยายามชี้ให้เห็นว่าสื่อรัสเซียถูกควบคุมโดยรัฐแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่า Narrative ของฝ่ายรัสเซียเป็นเรื่องเท็จ (ในขณะที่รัสเซียชี้ว่าการรายงานของชาติตะวันตกและยูเครนคือเรื่องเท็จและลงโทษสื่อในรัสเซียที่รายงานข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม) ตัวอย่างที่ชัดเจนมาจากช่วงก่อนการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เช่น ในช่วงที่รัสเซียเริ่มเคลื่อนไหวรุกรานยูเครนครั้งแรก ๆ ในปี 2557 BBC รายงานว่าสถานีโทรทัศน์ของรัฐรัสเซีย “ดูเหมือนจะใช้เทคนิคการปรับสภาพจิตใจที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นอารมณ์ที่รุนแรงของการรุกรานและความเกลียดชังในตัวผู้ชม” (5) สอดคล้องกับตามรายงานของ The Guardian สื่ออังกฤษเช่นกันที่ระบุในช่วงเวลาเดียวกันว่า การกระทำของสื่อรัสเซียในรูปแบบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “ปฏิบัติการสงครามข้อมูล-จิตวิทยา” ที่ทำงานประสานกัน (6) ท่าทีของสื่ออังกฤษนี้คือการให้ภาพว่ารัสเซียทำสงครามจิตวิทยาและการโฆษณาชวนเชื่อ และผลก็คือข้อมูลของรัสเซียไม่น่าไว้วางใจ
เนื่องจากภาษายูเครนและรัสเซียมีความคล้ายคลึงกันมาก อีกทั้งภาคตะวันออกของยูเครนยังมีผู้พูดภาษารัสเซียเป็นจำนวนมาก (ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รัสเซียอ้างเหตุผลรุกรานยูเครนเพื่อทำการปกป้องคนพูดภาษารัสเซียเหล่านี้) ดังนั้นสื่อภาษารัสเซียจึงเป็นแหล่งข้อมูลของชาวยูเครนด้วย ทว่า ข้อมูลภาษารัสเซียกลายเป็นแหล่งของการโฆษณาชวนเชื่อไป กระนั้นก็ตามก่อนการรุกรานเต็มรูปแบบไม่นาน คนยูเครนเริ่มสลัดตัวจากสื่อแบบเดิม ๆ เช่น ทีวีที่ถูกครอบงำโดยสื่อของรัสเซียได้ง่าย จากโพลของ Research & Branding Group ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (ราว 1 ปี ก่อนการรุกรานเต็มรูปแบบ) พบว่า เป็นครั้งแรกที่ชาวยูเครนนิยมอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งข่าวหลักแทนโทรทัศน์ โดย 51% ชอบใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า และ 41% ชอบทีวี (7) แต่ตัวเลขผู้ชอบอย่างแรกอาจจะมากขึ้นหลังการรุกรานในปี 2565 โดยเฉพาะหลังการรุกราน ประธานาธิบดียูเครน Volodymyr Zelenskyy ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อโพสต์ข้อความ วิดีโอ และภาพถ่ายเพื่อตอบโต้การบิดเบือนข้อมูลของรัสเซียเกี่ยวกับตัวเขา ระหว่างการรุกรานยูเครนของรัสเซียในปี 2565
ภาพที่ตัดกันระหว่างการให้ภาพสงครามของรัสเซียกับยูเครนและชาติตะวันตก จะเห็นได้ชัดจากคำกล่าวของนักประวัติศาสตร์ Timothy D. Snyder ที่กล่าวว่า “ตอนนี้ยูเครนเป็นที่ตั้งของสื่อเสรีที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในภาษารัสเซีย เนื่องจากสื่อที่สำคัญทั้งหมดในยูเครนปรากฏในภาษารัสเซีย และเนื่องจากเสรีภาพในการพูดมีอยู่ทั่วไป ความคิดของปูตินเรื่อง การปกป้องผู้พูดภาษารัสเซียในยูเครนนั้นไร้สาระในหลายระดับ แต่หนึ่งในนั้นคือ ผู้คนสามารถพูดสิ่งที่พวกเขาชอบในภาษารัสเซียในยูเครน แต่พวกเขาไม่สามารถทำได้ในรัสเซียเอง” (8)
กระนั้นก็ตาม สื่อยูเครนก็ไม่ได้รายงานเป็นกลาง Joseph L. Black ศาสตราจารย์ด้านการวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ระบุว่า สื่อยูเครนใช้ภาษาที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ต่อพวกกบฏแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการหนุนหลังจากรัสเซีย โดยเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น “แมลงศัตรูพืช” และเรียกร้องให้ “กำจัดพวกมันที่เป็นสัตว์ร้าย” ในทัศนะของ Joseph L. Black ข่าวประชาสัมพันธ์และเว็บไซต์ทางการของรัสเซียนั้นในแง่ภาษาแล้วไม่ได้ก้าวร้าวเท่ากับสื่อยูเครน (9) เช่นเดียวกับ Mikhail A. Molchanov ศาสตราจารย์และอดีตหัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเซนต์โธมัส กล่าวว่า สื่อของยูเครนวาดภาพรัสเซียอย่างสม่ำเสมอว่าเป็น “พวกอื่น” ไม่ใช่ชาวยุโรปเหมือนยูเครนและชาติตะวันตก แต่เป็นพวกเอเชีย (10) การใช้ Narrative ที่สร้างความเป็นอื่นนี้เป็นอันตรายในแง่สังคมศาสตร์ เพราะตอกย้ำการเหยียดเชื้อชาติและลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย ทำให้ยูเครนตกอยู่ในวังวนของสงครามข้อมูลข่าวสารและการโฆษณาชวนเชื่อที่ไร้ความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับที่พวกเขากล่าวหารัสเซีย
กรณีศึกษาสื่อจีน
จีนเป็นกรณีพิเศษที่น่าสนใจ โดยจีนปฏิเสธที่จะประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และงดออกเสียงหรือเข้าข้างรัสเซียในการโหวตของสหประชาชาติในสงครามในยูเครน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียูเครน Volodymyr Zelenskyy กล่าวว่า เขาพอใจกับนโยบายความเป็นกลาง โดยระบุว่า “จีนได้เลือกนโยบายที่จะอยู่ห่าง ๆ แล้ว ณ ตอนนี้ ยูเครนพอใจกับนโยบายนี้แล้ว ก็ยังดีกว่าช่วยสหพันธรัฐรัสเซีย และผมอยากจะเชื่อว่าจีนจะไม่ดำเนินนโยบายอื่น เราพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่นี้แล้ว พูดตามตรง” (11)
เช่นเดียวกับรัสเซีย สื่อของจีนถูกควบคุมโดยรัฐ แต่ที่ต่างจากรัสเซียคือ การควบคุมโดยรัฐเป็นไปตามกลไกรัฐ ไม่ใช่การแทรกแซงตามอำเภอใจ ดังนั้นรัฐจึงอาจกำหนดทิศทางการรายงานข่าวให้สื่อต่าง ๆ เอาไว้แล้ว เช่น สื่อหลายแห่งโดยเฉพาะในโลกตะวันตกเชื่อว่าสื่อจีนดำเนินการรายงานแบบคัดเลือก เช่น Deutsche Welle และ CNN ตั้งคำถามเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงคำพูดบางคำ เช่น “การบุกรุก” และ “การโจมตี” และอคติเอนเอียงต่อข้อมูลจากทางการรัสเซีย ตลอดจนการส่งเสริมการต่อต้านสหรัฐฯ ภายในประเทศจีน
ด้าน The Wall Street Journal เชื่อว่าสื่อต่าง ๆ ของรัฐบาลจีนใช้ความยับยั้งชั่งใจในการรายงานข่าวความขัดแย้ง ซึ่งบ่งชี้ถึงท่าทีระมัดระวังของรัฐบาลจีน ส่วน Radio France Internationale เชื่อว่าแม้จีนจะไม่ประณามการรุกรานของรัสเซีย แต่ก็ไม่สนับสนุนให้พลเมืองของตนสนับสนุนชาวยูเครน และไม่สนับสนุนรัสเซียอย่างเปิดเผย
อย่างไรก็ตาม ชาวจีนจำนวนมากแสดงความเห็นสนับสนุนรัสเซีย โดยเข้าอกเข้าใจถึงความกังวลของรัสเซียต่อความมั่นคงของชาติ และเนื่องมาจากความสัมพันธ์รัสเซีย-ยูเครนที่เสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากท่าทีของ NATO และชาติตะวันตก รวมถึงยกย่องประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ว่าเป็นวีรบุรุษที่กล้าท้าทายชาติตะวันตก
ในทางกลับกันก็มีกลุ่มบุคคลในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต่อต้านสงครามอยู่ด้วย เช่น บรรดาอาจารย์หลายคน และศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงของสถาบัน รวมทั้งมหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยชิงหัวได้แถลงการณ์ต่อต้านสงครามต่อสาธารณะ แต่ข้อความเหล่านี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากชาวเน็ตและถูกเซ็นเซอร์หรือลบบน
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 นักประวัติศาสตร์ชาวจีนห้าคนได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการบุกรุก โดยระบุว่า “ภัยพิบัติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์มักเริ่มต้นจากความขัดแย้งในท้องถิ่น” อย่างไรก็ตาม จดหมายถูกลบออกจากอินเทอร์เน็ตโดยการเซ็นเซอร์ของจีนหลังจากผ่านไปสามชั่วโมง (12)
โดยรวมแล้ว รัฐบาลจีนและคนจีนมีท่าทีไม่เอียงจนชัดเจน Joseph Torigian จากมหาวิทยาลัยอเมริกัน กล่าวถึงจุดยืนของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนว่าเป็น “การปรับสมดุล” โดยระบุว่า “ทั้งสองประเทศ (จีนกับรัสเซีย) มีมุมมองเชิงลบในทำนองเดียวกันเกี่ยวกับบทบาทของอเมริกาในยุโรปและเอเชีย” แต่จีนไม่เต็มใจที่จะให้ผลประโยชน์ทางการเงินเสี่ยงที่จะสนับสนุนรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีน “พยายามรักษาชื่อเสียงของตนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความรับผิดชอบ” (13)
ท่ามกลางความรุนแรงของสถานการณ์และสงครามข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศคู่ขัดแย้ง ตลอดจนบทบาทสื่อมวลชนที่ไม่มีเสรีภาพอย่างแท้จริง ดังนั้น “ข่าว” กับ “การโฆษณาชวนเชื่อ” จึงอาจแยกจากกันไม่ออก การบริโภคข่าวสงครามจึงต้องมีสติ ต้องติดตามข้อมูลที่หลากหลายและมีการชั่งน้ำหนัก ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เราเกิดอคติ และเข้าใจสถานการณ์ผิดไปจากข้อเท็จจริง
อ้างอิง:
- Cole, Samantha (2 March 2022). “Russia Threatens to Block Wikipedia for Stating Facts About Its War Casualties, Editors Say”. Vice.
- “Moscow threatens to block Russian-language Wikipedia over invasion article”. National Post. 1 March 2022.
- “Russia-Ukraine war: Marina Ovsyannikova interrupts Russian show”. Al Jazeera. 15 March 2022.
- “Russia Blocks 2 Independent Media Sites Over War Coverage”. The Moscow Times. 1 March 2022.
- Ennis, Stephen (4 February 2015). “How Russian TV uses psychology over Ukraine”. BBC.
- Peter Pomerantsev (9 April 2015). “Inside the Kremlin’s hall of mirrors”. The Guardian.
- “In a first, internet bypasses TV as main news source for Ukrainia ns”. www.unian.info.
- Snyder, Timothy (16 April 2014). “Putin’s Project”. Frankfurter Allgemeine Zeitung.
- J. L. Black, Michael Johns (2016). The Return of the Cold War: Ukraine, The West and Russia. Routledge.
- Molchanov, Mikhail (5 May 2015). “Russia as Ukraine’s ‘Other’: Identity and Geopolitics”. E-International Relations.
- “Zelensky: Ukraine is fine with China’s position on war with Russia”
- “‘They were fooled by Putin’: Chinese historians speak out against Russian invasion”. The Guardian. February 28, 2022.
- Torigian, Joseph. “China’s balancing act on Russian invasion of Ukraine explained”. The Conversation.