“นิด้า-ลาดกระบัง” เปิดผลวิจัยบูรณาการเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอม

จากงานเสวนาวิชาการและแถลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการและเสริมพลังการทำงานของเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง (Thai Fact – Checking Network) ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา นักวิชาการจาก 2 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้นำเสนองานวิจัยด้านแผนงานบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาคีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ร่วมกับกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

 
“นิด้า” เสนอ พัฒนาคน เงิน อุปกรณ์ และการจัดการ

รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เล่าให้ฟังถึงวัตถุประสงค์ของแผนงานบรูณาการการทำงานของหน่วยงานภาคีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง(Fact Checking Network)ว่า มีจุดประสงค์หลัก 2 เหตุผลคือเพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงให้สอดคล้อง และร่วมมือกันเพื่อสร้างพลังในการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย และกระตุ้นให้นักวิชาการ นักวิชาชีพ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ เข้ามาเป็นเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น

รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

รศ.ดร.อัศวิน รายงานผลการวิจัยว่าได้ลงพื้นที่ เก็บข้อมูล 5 ภูมิภาค คือภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง มีการพูดคุยกับสื่อมวลชน นักวิชาการ สมาคมวิชาชีพ ประชาชน และเครือข่ายภาคี เกือบ 400 คน ปัญหาที่พบหลักๆ คือเรื่องการขายของเกินจริง เรื่องคอลเซ็นเตอร์ และข่าวบิดเบือนที่ออกมาในเชิงการเมือง ซึ่งได้ข้อสรุปว่าต้องมีวิธีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแหล่งที่มาก่อน รวมถึงต้องให้ความรู้กับประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อควบคู่ไปด้วย รวมถึงอาจบรรจุเป็นหลักสูตรในการสถาบันการศึกษาต่อไปด้วย

ในเชิงนโยบาย รศ.ดร.อัศวิน มองว่า ต้องมีกฎหมายบังคับใช้ เพื่อให้การทำงานง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ต้องจัดทำระบบฐานข้อมูลให้สามารถใช้งานได้ง่าย โดยเฉพาะการใช้แพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี เพื่อให้ทุกคนสามารถช่วยกันตรวจสอบ และรายงานสถานการณ์ข่าวปลอมได้

ทั้งนี้ ทีมงานของนิด้าได้แบ่งแผนการทำงานออกเป็น 3 ระยะ โดยกำหนดแผนบูรณาการใน 4 มิติด้วยกัน คือการพัฒนาบุคลากร การเงิน วัสดุอุปกรณ์ และการบริหารจัดการ

โดยผลการศึกษา ได้ออกแบบแผนการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาคีตรวจสอบข้อเท็จจริงออกเป็น 3 ระยะคือระยะสั้น ใช้เวลา 1 ปี ระยะกลาง 2-4 ปี และระยะยาว 5 ปีขึ้นไป ผ่านการบูรณาการ 4 ประเด็น ได้แก่

บุคลากร : ในระยะสั้นพยายามให้ความรู้ด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงแก่บุคลากรที่มีอยู่ และขยายไปสู่ระยะกลางในการสร้างบรรณาธิการตรวจสอบและผู้ที่สามารถฝึกอบรมเพื่อไปขยายผล และในระยะยาวนำไปสู่การพัฒนาบุคคลากรในการบริหารจัดการองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริง

การเงิน : ในระยะสั้นมีการระดมแนวทางในการหาทุน ไปสู่ระยะกลางที่จะมีการระดมทุนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสื่อทั้งในและนอกประเทศ และในระยะยาวจะมีการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการใช้เงินค่าปรับจากการทำความผิดด้านข้อมูลข่าวสารมาใช้ในการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง

วัสดุอุปกรณ์ : ในระยะสั้นจะเป็นการจัดหาเครื่องมือที่จำเป็นในการทำงานตรวจสอบ ระยะกลางเป็นการขยายระบบงานเทคโนโลยีให้มีความเชื่อมต่อกัน และในระยะยาวควรมีการพัฒนาระบบที่จะเป็นฐานข้อมูลกลางทั้งในการตรวจสอบเผยแพร่ข้อมูล และนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการทำงาน

การบริหารจัดการ : ในระยะสั้นควรมีการสร้างเครือข่ายในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น และมีการพัฒนายกระดับความสัมพันธ์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในระยะกลาง และในระยะยาวพยายามสานต่อการทำงานร่วมกันไปจนถึงการผลักดันให้เกิดการยกระดับองค์กรตรวจสอบให้ได้รับการรองรับตามมาตรฐานสากล เช่น IFCN หรือ International Fact-Checking Network เป็นต้น

 

“ลาดกระบัง” ชี้ปัญหาอื้อ ขาดทุนสนับสนุน

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.วิชิต อาวัชนากร จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง รายงานผลการศึกษาวิจัยโดยระบุว่า ลาดกระบังมีวัตถุประสงค์หลักในการทำงานวิจัยเพื่อดูแนวโน้มความเป็นได้ในการบูรณาการหน่วยงานและเครือข่ายต่างๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญ ทั้งยังมองว่า กองทุนสื่อฯ ควรเป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้องค์ความรู้ 

ผศ.ดร.วิชิต อาวัชนากร จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ในการจัดเก็บข้อมูลมีการจำแนกการจัดเก็บข้อมูลในเชิงปฐมภูมิ โดยมีการพูดคุยกับหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายของกองทุนสื่อฯ 28 หน่วยงาน พูดคุยกับนักวิชาการ กับสื่อต่างๆ มากกว่า 30 ท่าน 

ในเชิงทุติยภูมิ มีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องหลากหลาย เช่นแนวคิดในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เทคนิคหรือเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบ กระบวนการของการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมาตรฐานของหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง จาก IFCN 

สำหรับปัญหาที่พบในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผศ.ดร.วิชิต พบว่าการบูรณาการการทำงานและการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆของหน่วยงานที่ร่วมกันตรวจสอบในปัจจุบันยังมีน้อย ข้อมูลไม่มีการจัดหมวดหมู่ ตลอดจนเงินทุนสนับสนุนก็มีจำนวนน้อยด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ผศ.ดร.วิชิต ได้ให้ข้อเสนอแนะกับกองทุนสื่อฯ ในเรื่องรูปแบบของการบูรณาการหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าควรมีนักวิชาการ และสื่อต่างๆ เข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยกองทุนสื่อฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องแล้วส่งต่อให้ภาคีเครือข่ายดำเนินงานและส่งผลการตรวจสอบกลับมายังกองทุนสื่อฯ เพื่อดำเนินการต่อไป