ลึกจากวงเสวนา การเมืองร้อนแรง ข่าวปลอมยิ่งพุ่ง

วงเสวนา “ถอดบทเรียนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย สู่การสร้างความร่วมมือของภาคีเครือข่าย” เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่าน ณ โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท มีองค์กรภาคีที่มีบทบาทในการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนในประเทศไทย การทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงวิธีการรับมืออย่างรู้เท่าทัน ประกอบด้วย กุลธิดา สามะพุทธิ  Fact checker ประจำกองบรรณาธิการ Co-Fact ประเทศไทย, พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท, ดร.สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อํานวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

 
การเมืองร้อนแรง ข่าวปลอมพุ่ง

กุลธิดา สามะพุทธิ  Fact checker ประจำกองบรรณาธิการ Co-Fact ประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทขององค์กรตนเองว่า 

“Co-Fact มีที่มาจากคําว่า collaborative Fact checking เป็นองค์กรภาคประชาชน ก่อตั้งเมื่อปี 2562 มีองค์กรร่วมก่อตั้งทั้งหมด 8 องค์กร มีทั้งองค์กรภาคประชาชนที่ทํางานด้านสิทธิเสรีภาพ สื่อมวลชน ภาควิชาการ ปัจจุบัน Co-Fact ทํางานหลายด้าน ทั้งเสริมศักยภาพ นักตรวจสอบข้อเท็จจริง จัดวงพูดคุยเสวนาวิชาการ ที่สําคัญมีกองบก.เล็ก ๆ ในการทํางานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเกี่ยวกับผู้บริโภค ด้านสุขภาพ ด้านการตรวจสอบข่าวลวงทางการเมืองด้วย”

กุลธิดา สามะพุทธิ Fact checker ประจำกองบรรณาธิการ Co-Fact ประเทศไทย

กุลธิดา เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์การทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ Co-Fact ด้วยว่า ข่าวลวงในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเมืองปีนี้เป็นปีที่ร้อนแรงมากมีข้อมูลข่าวลวงข่าวบิดเบือนเกิดขึ้นเยอะมาก โดยได้ต้อง ข้อสังเกตจาการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้ 3 ประการ คือ เยอะมาก ฆ่าไม่ตาย และเกิดซ้ำๆ ได้อีก

“จากการทํางานดิฉันมีข้อสังเกต 3 ประการ คือข่าวลวงมีเยอะมาก นอกจากเยอะแล้วยังฆ่าไม่ตายด้วย ต่อให้เราหักล้างยังไงมันก็ยังคงอยู่ หลายประเด็นที่เราหักล้างไปแล้วมันวนซ้ำกลับมาอีก ในฐานะที่เป็น fact checker เองก็เสียใจเหมือนกันว่าทําไมมันถึงหยุดไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากคิดว่าเครือข่ายของเราอาจจะช่วยกันคิดว่าเราจะทํายังไงให้มันหมดไปได้จริง ๆ”

กุลธิดา ยังต้องข้อสังเกตด้วยว่า disinformation จัดการยากกว่า misinformation เพราะmisinformation คือข้อมูลผิดที่มีการส่งต่อโดยเชื่อว่าเป็นข้อมูลจริง ที่ไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่ disinformation คือข้อมูลบิดเบือนที่จงใจผลิตโดยมีเจตนาจะสร้างความเสียหายต่อผู้อื่น โดยเฉพาะประเด็นการเมืองจะพบ disinformation เยอะกว่า misinformation และจัดการได้ยากกว่าด้วย เนื่องจากเป็นการเผยแพร่อย่างจงใจจึงเป็นเหตุผลที่ทําให้เราฆ่ามันไม่ตาย เพราะมีคนพร้อมจะส่งแม้จะรู้อยู่แล้วว่ามันไม่จริง

“ข้อสังเกตสุดท้าย การทํางานในฐานะ fact checker ในการประสานงานขอข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ มักจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องด้วยทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน และอาจจะเป็นเพราะ position ของ co-fact มีความเป็นอิสระ การที่ IFCN (International Fact-Checking Network) ให้ความสําคัญกับความโปร่งใสขององค์กรน่าจะเป็นส่วนหนึ่งด้วย จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาคิดว่าการที่เราสร้างเครือข่าย fact checker ขึ้นมาในตอนนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์มาก และเป็นประโยชน์มากด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เป็น fact checker เองทําให้มีกําลังใจที่จะเป็นช้อนชาในการตักน้ำเสียออกจากแม่น้ำต่อไป”


ท่องคาถา “อย่าเพิ่งเชื่อ” สู้ข่าวปลอม

พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท มีข้อคิดเห็นต่อกรณีข่าวลวง ข่าวบิดเบือนคล้ายกับ co-fact ว่า มีเยอะและจัดการได้ยากเพราะมีขั้นตอน

พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท

“ชัวร์ก่อนแชร์ เราพบคล้ายที่คุณกุลพูด มันเยอะและแก้ไขยากเลือกไม่ถูก อย่าง AFP เขามีกลยุทธ์ในการเลือกคือ เลือกอันที่กระทบมากและเสียหายรุนแรง ที่ต้องเลือกเพราะแต่ละเรื่องมันทํายาก fact checking แต่ละเรื่องมีขั้นตอน เจอแรงเสียดทานหลายอย่าง ถึงแม้จะต้องเจอแบบนี้ แล้วเป็นช้อนชาไปตักขยะในคลองเราก็จําเป็นต้องทำเพราะประชาชนมีเวลาตรวจสอบน้อย เวลาถูกเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่เป็นมูลค่ากับเขา fact checker คอนเทนต์หรือข้อเท็จจริงจะเป็นส่วนไปเสริมทําให้ชีวิตเขาง่ายขึ้น ดีขึ้น”

สิ่งที่ชัวร์ก่อนแชร์ได้รับบทเรียนมา เราอยากจะทําให้คนป้องกันตัวเองเป็น คือต้องไม่แชร์และไม่เชื่อด้วยซ้ำ ศัพท์ทางไซเบอร์ security จะมีคําว่า zero touch ผมคิดว่าวิธีนี้อาจจะยกมาใช้กับเราได้เหมือนกัน คืออย่าเพิ่งเชื่อเอาไว้ก่อน ถ้าเรื่องมันสําคัญและจําเป็นกับเราจริง ๆ  ก็ให้ความสําคัญกับมันในการตรวจสอบเพิ่มเติม”

 

สร้างแรงจูงใจ Report ข่าวปลอม

ดร.สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อํานวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แสดงทัศนะเห็นด้วยต่องานวิจัยของนิด้าและลาดกระบัง ที่มาเป็นส่วนเสริมแนวทางการแก้ไขตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กับภาคีเครือข่ายต่อไป

ดร.สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อํานวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

“ปกติเราทํางานจากประสบการณ์ไม่มีเวลาไปทำวิจัย เราไม่มีกําลังคนที่จะทําเรื่องการวิจัยพวกนี้ ปกติเรายินดีกับทุกหน่วยงานที่ต้องการจะทํางานวิจัยและต้องการข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เราก็จะแชร์ให้ตลอดเพื่อให้เกิดข้อค้นพบใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดบทสรุปของข่าวปลอม ว่ามีรูปแบบอย่างไรบ้าง ซึ่งทั้งสองงานวิจัยก็ทําได้อย่างยอดเยี่ยม ต้องขอบคุณกองทุนสื่อฯ ด้วยที่ให้ทุน เพราะมันเป็นสิ่งจําเป็น และเป็นเรื่องที่สําคัญต่อประเทศในอนาคต”

ดร.สันติภาพ ยังแสดงทัศนะเสริมเรื่องการใช้เงินเป็นแจงจูงใจในการสร้างความสนใจการตรวจสอบข้อมูลของข่าวลวงข่าวปลอมด้วยว่า

“ต่อไปเราจะต้องใช้เงินในการขับเคลื่อน กรณีช่วยกัน report เหมือนแจ้งจับ ใครแจ้งปุ๊บจับได้มีเรื่องของมูลค่ามอบให้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนมาสนใจเรื่องนี้เยอะขึ้น เชื่อว่าหลาย ๆ คนไม่ได้มองว่าเราเป็นช้อนซะทีเดียว เราทําตัวเป็นเหมือนเครื่องกรอง เป็นภูมิต้านทานที่อยู่ที่บ้าน เราต้องการจะเป็นอย่างนั้น สุดท้ายเขาจะรู้ว่าต้องป้องกันตัวเองอย่างไร หรือถ้าไม่รู้ก็สามารถสอบถามผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อจะป้องกันตัวเองทําให้ทุกคนมีภูมิต้านทานมากยิ่งขึ้น ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนก่อน อย่ารีบร้อนเกินไป ต้องหาข้อมูล ต้องมีการป้องกันตัวเองในระดับหนึ่ง”

ดร.สันติภาพ ยังได้กล่าวทิ้งทายถึงความร่วมมือในการส่งต่อข้อมูลในฐานะที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐ ให้กับองค์กรภาคีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

 
กองทุนสื่อฯ หวังพลังทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหา

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวถึงบทบาทของกองทุนสื่อฯ ต่อการทำงานสนับสนุนด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า

“เราคงไม่เรียกตัวเองว่าเป็นศูนย์กลาง เรียกว่าเราเป็นศูนย์ในการประสานความร่วมมือ มองว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเริ่มจากการชี้เบาะแส เราต้องรู้ว่าเราจะต้องส่งต่อให้ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงคนไหน จากนั้นต้องมีการตรวจสอบยืนยัน บรรณาธิการอ่านผลการตรวจสอบ จากนั้นก็เก็บเป็นข้อมูลแล้วเผยแพร่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเป็นผู้สนับสนุนภาคีเครือข่ายหากต้องการมีการบูรณาการร่วมกันในการทํางาน นอกจากภาคีที่เป็นพันธมิตรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์กร สื่อมวลชนต่าง ๆ สํานักข่าวต่าง ๆ ก็ควรจะต้องมีการนําเอากระบวนการและการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปใช้ในกระบวนการบรรณาธิการต่อไป ที่สำคัญหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์การมหาชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ควรจะต้องมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้อยู่ในหน่วยงานตัวเองด้วย

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

“กองทุนสื่อฯ ไม่ได้ทําหน้าที่ในการตรวจสอบข่าวปลอมด้วยตัวเอง แต่ทํางานร่วมกับภาคีเครือข่าย เรามีการอบรมให้ความรู้ ทําหลักสูตรพัฒนาผู้ตรวจสอบข่าวปลอมร่วมกับ AFP มานานแล้ว และในปีนี้เราจะทําขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งคือจะจัดอบรมบรรณาธิการในการตรวจสอบข่าวปลอม เหมือนเป็นคนยืนยันข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เป็นผลการตรวจสอบ การอบรมให้ความรู้ เราทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัล ไปอบรมตามสถานศึกษาต่างๆ ให้เด็กและเยาวชนด้วย ที่บอกว่าเราเป็นช้อนชา จะมาตักน้ำเสียออกจากแม่น้ำมันดูเหนื่อยดูสิ้นหวังมาก แต่ถ้าเรามีสัก 68 ล้านช้อน ผมว่าเราอาจจะตักออกหมดก็ได้”