ถอดประสบการณ์สำนักข่าวระดับโลก AFP รับมือข่าวปลอม

ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ข่าวลวง ข้อมูลบิดเบือนเป็นปัญหาเกิดขึ้นทั่วโลก ที่สำคัญความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การเข้าถึงสื่อที่มากขึ้นของผู้คนยิ่งทำให้ข่าวลวง ข่าวปลอม หลอกกันได้แบบ “เนียนกริ๊บ”

สำนักข่าว เอเอฟพี หรือ อาจั้งฟรังซ์เพรส (Agence France Presse ) ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งบรรยายตัวตนว่า เป็นสำนักข่าวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวภายใต้กฎหมายของฝรั่งเศส ซึ่งกำหนดให้เป็นหน่วยงานที่ “ต้องไม่ประนีประนอมกับความถูกต้องและความเที่ยงธรรมของข้อมูลที่นำเสนอ หรือตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มอุดมการณ์ การเมือง หรือเศรษฐกิจใด ๆ”

เอเอฟพีเป็นสำนักข่าวที่มีฝ่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นหน่วยงานหนึ่งแยกต่างหากเลย มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเป็นร้อยคน อยู่ภายใต้การดูแลของหัวหน้าบรรณาธิการของการตรวจสอบทางดิจิทัลที่สำนักงานใหญ่ของหน่วยงานในกรุงปารีส มีบรรณาธิการระดับภูมิภาคในหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

สเตฟาน เดลโฟร์ (Stephane Delfour)

สเตฟาน เดลโฟร์ (Stephane Delfour)  หัวหน้าสำนักข่าว Agence France-Presse (เอเอฟพี) ประจำกรุงเทพฯ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอม ในงานเสวนาวิชาการและแถลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการและเสริมพลังการทำงานของเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง (Thai Fact-Network) ซึ่งจัด โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 มีประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่ง

ยุคข่าวปลอมท่วมโลก

สเตฟาน กล่าวปูพื้นถึงสถานการณ์ของข้อมูลบิดเบือนหรือข่าวปลอมในโลกว่า มีสถานการณ์เลวร้ายลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยหลายภาคส่วน รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านดิจิทัลก็ตระหนักถึงปัญหาและพยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่แพร่หลายในขณะนี้ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางดิจิทัลถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสื่อแบบดั้งเดิมไปมาก

ข่าวปลอมภาพกองขยะในกรุงปารีสถูกสร้างด้วยโปรแกรมจากปัญญาประดิษฐ์ (AI)

โดยก่อนหน้านี้การพัฒนาดิจิตอลสื่อจะแยกช่องทางการทำงานที่ชัดเจน ทั้งการออกอากาศ สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละส่วนก็จะมีอุตสาหกรรมที่แยกออกจากกัน แต่ในปัจจุบันสื่อต่างๆ เข้ามาแข่งขันในแพลตฟอร์มเดียวกันคือแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้งยังมีคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่เป็นสื่อให้บริการออนไลน์อย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันกันระหว่างสื่อมวลชนและสื่ออื่นๆ  ซึ่งเดิมไม่เคยเป็นคู่แข่งในการแย่งเวลาของผู้ชมไม่ว่าจะเป็นสื่อเกมส์ พาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ แต่ในปัจจุบันสื่อมวลชนมีการแข่งขันกันมากขึ้นเพราะสื่อที่เป็นข่าวอาจจะไม่ดึงดูดผู้ชมเมื่อเทียบกับกิจกรรมออนไลน์อื่นๆ ทั้งยังต้องแย่งแข่งขันกันเพื่อให้มียอดวิว ยอดคลิกมากขึ้น 

ขณะเดียวกันมุมมองของประชาชนที่มองว่าสื่อถูกควบคุม หรือถูกครอบงำ โดยกลุ่มผู้ทรงอำนาจ และกลุ่มการเมือง และกลุ่มทุนต่างๆ ทำให้ความมั่นใจและความเชื่อถือในสื่อลดลง ทำให้สื่อเกิดการแข่งขันเพื่อคงไว้ซึ่งจริยธรรมของสื่อมีต้นทุนการดำเนินการค่อนข้างสูง จากผลที่เกิดขึ้นทำให้ปัญหาข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน และการโฆษณาชวนเชื่อมีการเผยแพร่ไปมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มาก่อน

พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลรับมือ

โดยในช่วงที่ผ่านมาเอเอฟพีได้มีการพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และหวังว่าการทำงานที่เป็นกลางของเอเอฟพีจะแก้ไขความขัดแย้งการแบ่งขั้วและแบ่งแยกในสังคมได้ และเชื่อว่าการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนจะสามารถสร้างให้ผู้ชมผู้ฟังกลับมาเชื่อถือในสื่อมวลชนอีกครั้ง

ข้อมูลบิดเบือนที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นายสเตฟาน กล่าวว่า ทางเอเอฟพี มีความเชื่อว่าการเป็นสื่อมวลชนที่ดี คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนการเผยแพร่ ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มต้นการตรวจสอบระบบข้อเท็จจริงทางดิจิทัล โดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่เพียงหนึ่งคน จนปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่มากกว่า 140 คน และมีการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนแล้วใน 82 ประเทศ ครอบคลุม 26 ภาษาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ เอเอฟพี ยังได้ทำงานร่วมกับ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ อาทิ Meta , TikTok , X พร้อมแสดงตัวอย่างของข้อมูลบิดเบือน ข่าวปลอม ที่ผลิตโดยหมอประมาณ 50 คน แต่เข้าถึงประชาชนได้หลายล้านคน และในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าข่าวหรือสถานการณ์ต่างๆ ถูกเผยแพร่อย่างบิดเบือน เนื่องจากการผลิตข่าวปลอมหรือข้อมูลบิดเบือนสามารถทำได้ง่าย และเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว

อีกทั้งปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ของบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการตกแต่งภาพและสร้างข่าวปลอมมากขึ้น รวมถึงสิ่งที่พบในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย คือ การใช้ประทุษวาจามากขึ้น และแพลตฟอร์มเองก็มีการเปลี่ยนรูปแบบเงื่อนไขการยืนยันตัวตน ทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์มีการเปลี่ยนเงื่อนไขผู้ใช้งานเพื่อทำให้ผู้ใช้งานบนเครือข่ายสามารถเข้าถึงผู้เผยแพร่ข่าวปลอมและสร้างข้อมูลบิดเบือนได้ง่ายขึ้น และยังสามารถแชร์ส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นได้ง่ายขึ้นด้วย

ทางเอเอฟพี จึงอยากเผยแพร่องค์ความรู้และเทคนิคในการตรวจสอบข่าวกรองให้สื่อมวลชน และเชื่อว่าทุกสำนักข่าวมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ชมผู้ฟังขององค์กรตนเอง โดยต้องหาทางสร้างความสัมพันธ์การเข้าถึงกลุ่มผู้ชมผู้ฟังในช่วงอายุน้อย โดยส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีความโปร่งใส และเชื่อว่า ด้วยเทคนิคการตรวจสอบ ทั้งการค้นหาตำแหน่งของภาพในแผนที่ดิจิทัล การตรวจสอบภาพย้อนกลับ เทคนิคเหล่านี้จะเป็นเทคนิคที่ช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสในการรายงานข่าว และเชื่อว่าจะช่วยให้ตรวจสอบแหล่งข่าวข้อมูลบนโลกออนไลน์รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง 

เร่งสร้างเครือข่ายสู้ข่าวปลอม

สเตฟาน ยังกล่าวถึงปัจจัยในการตรวจสอบข่าวบิดเบือนด้วยว่า ในโลกยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลบิดเบือนจำนวนมาก ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง จะเลือกอย่างไรว่าจะทำงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากโพสต์ไหน โดยสามารถพิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.โพสต์นั้นมีผลกระทบวงกว้างมากแค่ไหน 2.มีโอกาสสร้างความเสียหายได้มากแค่ไหน ทั้งนี้สเตฟานยังได้เปรียบเทียบอุปมาอุปไมยการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเปรียบเสมือนการพยายามทำความสะอาดแม่น้ำที่มีมลภาวะด้วยช้อนชา แต่ก็ต้องมีคนทำหน้าที่เหล่านั้นซึ่งก็คือ สื่อมวลชนนั่นเอง

ความร่วมมือระหว่าง เอเอฟพี และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ทั้งนี้ เอเอฟพี ได้ร่วมมือกับกองทุนพัฒนาสื่อฯ ในการเผยแพร่หลักสูตรการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนด้วยเทคนิคและเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2020 และในปีนี้ยังได้มีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมผู้ตรวจสอบข้อมูลบิดเบือน ทั้งในระดับต้น หลักสูตรสำหรับบรรณาธิการข่าว และสื่อมวลชน ที่ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับหรือ ตรวจสอบข้อมูลบิดเบือน จากองค์ความรู้ของ เอเอฟพีด้วย

การรับมือกับสถานการณ์ข่าวปลอม ดูไปแล้วเหมือนการต่อสู้ ที่เชื่อว่า เป็นสงครามยืดเยื้อ เพราะฝ่ายที่ตั้งใจผลิตข่าวปลอมก็ต้องปรับกลยุทธ์ กลวิธี ไม่หยุดนิ่งแน่นอน